ย้อนรอย: ศักดิ์ ปากรอ : จากนักโทษประหาร เหลือโทษจำคุก 13 ปี,
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2540 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้รับแจ้งว่า เกิดเหตุการฆ่าหมู่ครอบครัว "บุญทวี" ซึ่งเมื่อตรวจสอบภายในบ้านพบศพของ นายประภาส บุญทวี อายุ 43 ปี หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านระวะ ต.ระวะ จ.สงขลา และลูกชายอีก 3 คน อายุไล่เรียงกันตั้งแต่ 13 ปี, 11 ขวบ และ 9 ขวบ ถูกแขวนคอห้อยกับราวบันได ส่วนห้องนอนชั้นบนพบร่างของ นางเจียมจิต บุญทวี ภรรยาของนายประภาส ถูกมัดมือมัดเท้า มีบาดแผลถูกทุบด้วยของแข็งที่ศีรษะและใบหน้า ซึ่งทั้งหมดเสียชีวิตประมาณ 12 ชั่วโมง
ตำรวจพุ่งเป้าการฆ่ายกครัวไปเป็นการฆ่าเพื่อชิงทรัพย์สิน เนื่องจากพบว่าข้าวของในบ้านถูกรื้อค้น จึงพบว่าพระเครื่องหลายร้อยองค์ที่นายประภาสร่วมจัดสร้างกับเจ้าอาวาสวัดป่าขาด ใน อ.สทิงพระ หายไปทั้งหมด ในขณะเดียวกันตำรวจเมืองยะลาได้รับเบาะแส ซึ่งระบุว่า “ศักดิ์ ปากรอ” หรือนายเรืองศักดิ์ ทองกุล และเพื่อนอีกคนนำพระเครื่องรุ่นเดียวกับที่หายไปจากบ้านพักของ นายประภาส บุญทวี หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา ว่ามีวัยรุ่น 2 คน เอาพระเครื่องรุ่นดังกล่าวไปให้ ผู้ใหญ่บ้านที่ อ.ธารโต จ.ยะลา
การตามล่าฆาตกรโหด จึงเริ่มต้นขึ้น โดยทางญาติของศักดิ์ ที่สงขลา เผยว่า ศักดิ์ ได้หนีไปกบดานกับญาติที่กาญจนบุรีแล้ว เจ้าหน้าที่จึงตามไปจับกุม จนกระทั่งวันที่ 21 พ.ค. 40 มีคนเห็น “ศักดิ์ ปากรอ” กำลังยืนอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวของตัวเองอยู่และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าล็อคตัวคาหน้าแผงหนังสือ
จากการสอบสวน ศักดิ์ ปากรอ ปิดปากเงียบ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้หลักจิตวิทยา ทำเป็นชื่นชมว่า "ศักดิ์ ปากรอ" ใจกล้ามาก ๆ ทำให้มันยอมเปิดปากด้วยสีหน้าท่าทางที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจว่า “ผมนี่แหละเป็นคนทำร่วมกับน้อง ม.5 ชื่อจ้อง วางแผนก่อเหตุมาสองครั้งแล้ว ครั้งแรกไม่สำเร็จเพราะน้องที่ไปด้วยอีกคนใจไม่ถึง” ศักดิ์ ปากรอ อ้างว่า การก่อเหตุครั้งนี้ได้ร่วมกับจ้อง หรือนายสงกรานต์ แก้วอุบล ซึ่งรู้จักระหว่างพักอาศัยอยู่ในหอพักใกล้โรงเรียน ชักชวนให้ไปด้วยโดยไม่บอกว่าจะพาไปไหน
โดยเวลาประมาณ 15.00 น. วันที่ 25 เม.ย. 40 ได้เข้าไปในบ้านพักของนายประภาส เพื่อหวังชิงทรัพย์ เพราะทราบข่าวว่าผู้ตายเพิ่งขายวัวชน ได้เงินมา 1 ล้านบาท ซึ่งในเวลานั้นนายประภาสยังเดินทางมาไม่ถึงบ้าน ซึ่งเข้าไปรอในบ้านได้ไม่นานบุตรชายทั้ง 3 คน ของนายประภาสเดินทางมาถึงบ้านก่อน จึงจับมัดมือมัดเท้า ต่อมาภรรยาของนายประภาสเดินทางกลับมาถึงก็จับมัดมือมัดเท้า จับโยนขึ้นไปไว้บนเตียงนอน แต่ยังไม่ลงมือฆ่าใคร
ศักดิ์และคู่หู รอจนกระทั่งหมอประภาสกลับมาถึงบ้าน จึงช่วยกันล็อกตัวจับมัดไว้อีกคน พร้อมกับเริ่มกระบวนการข่มขู่เพื่อหวังให้หมอประภาสบอกที่ซ่อนเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งก็ถูกปฏิเสธ โดยหมอประภาสบอกเพียงว่าไม่มีเงิน
“ทุบเมียหมอ เอาหัวโขกกับเตียงเหล็ก บังคับให้หมอบอกที่ซ่อนเงินจนเมียหมอตายต่อหน้าต่อตาหมอกับลูกๆ ซึ่งหมอได้แต่ตะโกนเหมือนคนบ้าบอกให้ฆ่าเขาแทน ตอนนั้นไอ้จ้องมันอยู่ชั้นล่างของบ้านด้วยท่าทางตกใจและตะโกนให้หยุดแต่ผมไม่หยุด” ศักดิ์ ให้การต่อตำรวจ
ศักดิ์ สารภาพว่า พยายามขู่ให้หมอประภาสบอกที่ซ่อนเงิน แต่ก็ไม่สำเร็จโดยหมอประภาสบอกเพียงว่าไม่มีเงินจริงๆ ศักดิ์จึงใช้เชือกผูกคอลูกชายของหมอประภาสทีละคนโดยเริ่มจากคนเล็กก่อน หลังจากผูกคอแล้วได้ถีบตัวเด็กตกจากบันไดเพื่อแขวนคอทีละคน ซึ่งระหว่างนั้นหมอประภาสได้ร้องขอให้ฆ่าเขาก่อน
“ไอ้จ้องมันกลัวมาก มันตะโกนบอกให้ผมหยุด ผมไม่หยุด ผมบอกหมอให้บอกที่ซ่อนเงินแต่มันไม่บอก ผมก็แขวนคอลูกหมอทีละคนจนหมอสลบไปเลย พอฟื้นขึ้นมาผมเลยจับมาแขวนคอเป็นคนสุดท้าย
ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไร คนจะตายมันก็ต้องตาย” ศักดิ์ ปากรอ สารภาพต่อตำรวจโดยไม่มีท่าทีสะทกสะท้าน
พยานหลักฐานต่างๆ ถูกรวบรวมสรุปลงในสำนวนและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาตรงกันคือให้ประหารชีวิต แต่เมื่อถึงชั้นศาลฎีกา เห็นว่าคำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงให้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต
นายศักดิ์ ถูกส่งเข้าคุมขังในเรือนจำบางขวาง ก่อนจะโอนย้ายไปคุมขังในเรือนจำจังหวัดสงขลา โดยได้ติดคุกอยู่จริงๆ
เพียง 13 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัว หลังพ้นโทษ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น นายเนติราษฎร์ นพวงศ์ โดยได้เข้าไปอยู่ในสังกัดซุ้มมือปืนชื่อดังใน อ.สิงหนคร จ.สงขลา รับงานคุ้มกันนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่ง ก่อนจะย้ายภูมิลำเนามาพักอาศัยที่ อ.สะเดา เพื่อติดตามนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งใน อ.สะเดา
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเดา จ.สงขลา รับแจ้งว่า เกิดเหตุยิงกันที่บ้านแห่งหนึ่ง พบคนเจ็บคือ นายเนติราษฎร์ นพวงศ์ อายุ 39 ปี เป็นคนเดียวกันกับ "นายศักดิ์ ปากรอ" ผู้ต้องหาฆ่ายกคร้ว โดยเจ้าตัวถูกยิง 2 นัดที่หน้าอก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ปิดตำนานมือฆ่า 5 ศพ ด้วยวัย 39 ปี
ที่มา
RIP การลดโทษในไทย