ลองติดตามเพจนี้ดูครับ ได้ความรู้มาก ๆ
https://www.facebook.com/shiplostmyhome
ระหว่าง เฮียวิดวะ ส.ดีเวลอปเปอร์ กับ ตี๋นักตรวจ หมูปิ้งอร่อยจุงเบย มา
แต่ไม่ทันข้ามคืน ต้นทางเค้าก็ลบคลิปไป
วันนี้หลังไมค์ก็ถล่มมาตามคาด อยากให้เขียนถึงมวยคู่นี้
ตอนแรกเห็นว่า ต้นทางลบคลิปแล้ว จะไม่เขียนเมื่ออยากรู้ ก็มาเหลากันหน่อยแล้วกัน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ในการตรวจรับอาคาร เช่น บ้าน หรือ คอนโด มีบริษัท หรือ คนรับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาชีพ
ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก หรือ วิศวกร รับจ้างตรวจ ราคามีตั้งแต่ 1500 บาท ไปถึงหลักหมื่นแล้วแต่ขนาดของอาคาร และความต้องการในการตรวจสอบ
ถ้าบ้านหลังใหญ่ มันก็แพงกว่าบ้านที่มีพื้นที่น้อยกว่าแหง๋มๆ แต่การคิดราคา ตามความต้องการของเจ้าของบ้านนี่มันอะไร ?
ก็เรียกให้มาตรวจอาคาร มันจะมีอะไรมากกว่านี้ละ ?
เชื่อว่า หลายคนคิดแบบนี้
ดังนั้น เรามาเหลาเรื่องนี้กันนี่แหละ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
การตรวจอาคารน่ะ มันมีเพื่อตรวจความเรียบร้อยก่อนการรับมอบ
ให้อาคารนั้น เปลี่ยนการครอบครอง จากของเจ้าของโครงการ มาเป็นของคนซื้อบ้าน
พิธีกรรมนี้ มีขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ไม่ได้หมายถึงว่า กฎหมายบังคับให้มี
แต่มีขึ้นเพื่อเวลาที่มีปัญหากันทางกฎหมาย
ฝ่ายคนขายจะได้ใช้ประโยชน์ว่า ก็คนซื้อตรวจแล้ว จะบ่นอะไร ?
ต่อมาคนซื้อก็รู้ทัน ไม่ยอมให้ถูกเอาเปรียบ
ก็ตรวจเองไม่ได้ ก็จ้างคนที่มีความรู้มาตรวจ
จะได้ไม่เสียเปรียบ ไม่เสียรู้
เกิดเป็นการตรวจรับอาคารก่อนโอนขึ้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ทีนี้ ไอ้การตรวจก่อนการรับโอนเนี่ย มันก็หมายความรวมไปหมด
ทั้งความเรียบร้อยขององค์ประกอบอาคารต่างๆ
และ “ ความผิดพลาด ผิดหลักของการก่อสร้าง ” ด้วยไอ้ “ ความผิดพลาด ผิดหลักของการก่อสร้าง ” นี่ละครับ
ที่แอดพูดถึง ว่ามันคืออีกส่วนหนึ่งในการตรวจรับ
ซึ่ง สิ่งนี้ มันไม่ใช่เจ้าของบ้านทุกคนหรอกที่รู้ ว่าบ้านตัวเองมีความเสี่ยง
เพราะส่วนใหญ่แล้ว จขบ มักนึกแค่ว่า เมื่อได้รับแจ้งให้ตรวจรับ
ก็ต้องตรวจสี ตรวจกระเบื้อง ประตูหน้าต่าง ปลั๊กไฟ สวิตช์
ว่ามันสวยงามเรียบร้อย ใช้งานได้ดีหรือยัง
โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องสำคัญว่า
1 สิ่งที่มองไม่เห็น มันถูกต้องเรียบร้อยหรือไม่ ?
2 สิ่งที่คิดไม่ถึง มันมีอะไรบ้าง และมันเป็นยังไง
3 สิ่งที่ไม่รู้ว่าต้องเป็นยังไง มันเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรรึเปล่า ?
และ ไอ้สามอย่างที่ว่าไป ควรต้องตัดสินในอย่างไร
ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และ เป็นผลดีต่อเจ้าของอาคารในระยะยาว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ตรงนี้ ทำให้ราคาของการตรวจรับมันต่างกันไป
ที่รับจ้างกันแบบราคาไม่แพง ส่วนใหญ่แล้ว
จะทำการตรวจความเรียบร้อยแบบทั่วไปเท่านั้น
แทบไม่ต่างจากที่เจ้าของบ้านดูเอง
ประโยชน์คือ เจ้าของบ้านจะไม่ต้องเหนื่อย
แต่ก็ไม่ได้อะไรมากเท่าที่ควร
ส่วนผู้ตรวจที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอีก
มีอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการตรวจสอบ
มีประสบการณ์มากๆ พวกนี้จะให้รายละเอียดการตรวจได้มากขึ้น เพราะ
เค้าจะเห็นถึงสิ่งที่เจ้าของบ้านเองมองไม่เห็น
คิดถึง ในสิ่งที่เจ้าของบ้านคิดไม่ถึง
และ รู้ในสิ่งที่เจ้าของบ้านไม่รู้ในด้านงานก่อสร้าง
ราคาก็สูงขึ้นไป มาตรฐานงานก็ดีขึ้นไป
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สองแบบข้างต้นที่ว่า มันจะมีเรตที่เค้าเรียกมาเองแต่แรก
โดยผู้ตรวจก็มักจะไม่ได้บอกหรอก ว่า ทำไมเรียกราคาเท่านั้น
และส่วนใหญ่ เจ้าของบ้านก็จะคิดไปเองว่า
มันก็ตรวจแบบเดียวกันนั่นแหละ แค่คนคิดถูกกับแพงต่างกัน
จ้างถูก ก็ได้เหมือนจ้างแพง แล้วจะจ่ายแพงกว่าทำไมละคะ
ถ้าเจ้าของบ้านจะยอมจ่ายมากหน่อย ส่วนใหญ่แล้ว
มันจะเป็นกรณีที่ เจ้าของบ้านนั้นเริ่มรู้ว่า มีอะไรผิดปกติในบ้านตัวเอง
จึงต้องการให้มีการตรวจพิเศษ หรือ การตรวจนั้น ต้องการรายงานพิเศษบางอย่างเช่น
ให้ทำราคาเทียบ ระหว่างมูลค่าที่ทำจริง กับ เงินที่เบิกไป
หรือ ให้ตรวจสอบโครงสร้าง เพราะไม่มันใจในโครงการ
ตรวจสอบวัสดุ ว่าตรงตามแบบที่ระบุหรือไม่ เป็นต้น
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ทีนี้ ในความเป็นจริง เนื่องจากคนตรวจเองก็มีหลายแบบ
ทั้งแบบที่ทำเป็นอาชีพ จากความชำนาญ
และแบบที่ทำไปเพราะไม่รู้จะทำอะไรกิน
เมื่อเจ้าของบ้านก็แยกไม่ได้ และไม่รู้จะแยกยังไง
การจ้างทำงานแบบนี้ ก็เหมือนการเปิดกาชาปอง
จ่ายซะแพง ได้เกลือ ( งงละซิ หมายถึง จ่ายแพงแต่ได้ของไม่ดี )
คนก็มีแนวโน้ม จ่ายถูกมากกว่า
คนที่ทำงานแบบถูกก็รอดชีวิตมากกว่า ตามกฎการวิวัฒนาการ
ไอ้ที่ทำดี ทำแพงก็สูญพันธ์ ส่วนที่หาได้ง่ายก็เป็นแบบไม่มีคุณภาพ
งานที่ไปตรวจส่วนใหญ่ เลยกลายเป็นการแข่งขันทำเปเปอร์มาเช่ไป
คือ ติดโพสต์อิทให้เยอะไว้ก่อน ( ไม่ได้ว่าน้องตี๋ในคลิปเด้อ พูดภาพรวม )
ทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของบ้านควรได้จากการจ้างคนไปตรวจรับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เออ แล้วเจ้าของบ้านควรได้อะไร ?
ตอบง่ายๆ และจงจำไว้ให้ขึ้นใจ ว่าเจ้าของบ้านต้องได้
สิ่งที่เจ้าของบ้านไม่เห็น ไม่รู้ และ คิดไม่ถึง
ผู้ตรวจ มีหน้าที่เข้าตรวจในจุดที่เข้าถึงได้ยาก ที่เจ้าของบ้านไม่เห็น
เช่น ใต้หลังคา เพื่อดูว่า หลังคาแข็งแรง ถูกต้องตามแบบมั้ย
ฉนวนเป็นอย่างไร การเดินงานระบบใต้หลังคาโอเคมั้ย
แผ่นฝ้าตรงสเปคหรือไม่ เดินสายไฟได้เรียบร้อยมีรอยขาดรึเปล่า
ชายคาต่างๆ ถูกปิดป้องกันแมลงและนกอย่างดีพอใช่หรือไม่
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ตรวจมีหน้าที่ตรวจในสิ่งที่คนทั่วไป ไม่รู้
เช่น ตรวจการต่อสายไฟฟ้าในปลั๊ก และสวิตช์
ตรวจขนาดสายไฟฟ้าที่เดินไปตามจุดต่างๆ
ตรวจระบบน้ำ ระบบปั๊ม ตรวจสอบน้ำรั่วซึม ตรวจวาล์ว ก๊อก
ตรวจระบบล๊อค ลูกบิด กลอน
ตรวจอุปกรณ์และสุขภัณฑ์ ตรวจการ Finnish ผิวต่างๆ
ว่ามันทำไว้ได้ถูกต้องหรือไม่ ทำได้ดีหรือเปล่า
โดยเครื่องมือและประสบการณ์ของผู้ตรวจ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ตรวจต้องตรวจในสิ่งที่เจ้าของบ้าน คิดไม่ถึง
การคิดไม่ถึงคือ เห็นแต่ไม่รู้ว่ามันคือปัญหา
หรือ ไม่รู้ว่า สิ่งเล็กน้อยที่เห็นมันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
เช่น การตรวจเศษดินทรายในระบบท่อน้ำดี
เจ้าของบ้านที่ไหนจะรู้ว่าต้องตรวจ และตรวจอย่างไร
และเมื่อตรวจเจอ มันจะส่งผลระยะยาวต่อก๊อกยังไง เช่น ตรวจเจอเศษกรวดในก๊อกจำนวนมาก เมื่อทำความสะอาดแล้ว
เปิด ปิดน้ำ พบว่า เมื่อปิดน้ำ ก๊อกยังมีน้ำหยดต่อสักพักก่อนจะหยุดสนิท
ผู้ตรวจต้องสั่งให้เปลี่ยนก๊อกตัวใหม่ทันที เพราะ
เศษกรวดได้เข้าไปติดในระบบวาล์วแล้ว เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ
ก๊อกจะถูกเสียดสีทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ต้องสั่งเปลี่ยน ซึ่ง แบบนี้เจ้าของบ้านที่ไหนจะคิดถึง ?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สุดท้าย สิ่งที่ผู้ตรวจงานต้องมี และต้องให้แก่เจ้าของบ้าน
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเจ้าของบ้านเอง ก็ต้องคาดหวัง
ที่จะได้สิ่งนี้ด้วย นั่นคือ
คำแนะนำ และการชี้ขาดในการจัดการความบกพร่องที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด
ผู้ตรวจรับ ไม่ได้มีหน้าที่จับผิด แต่ มีหน้าที่แนะนำให้แก้ไขในสิ่งที่จำเป็น
พร้อมทั้งบอกแนวทางในการแก้ที่ถูกต้อง
ซึ่งรวมไปถึงการบอกให้ทำใจ ไม่ต้องแก้ด้วย
ถ้าการแก้นั้น จะทำให้ดีเฟคเดิมหาย แต่เกิดดีเฟคใหม่แทน
หรือการแก้จะทำให้บ้านช้ำหนักไปกว่าเดิม
หรือ สิ่งที่เห็นเป็นดีเฟคนั้น จริงๆเป็นแค่ธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ในคลิป มีหลายคนชอบใจ เฮียวิศวะ เพราะแกก็มีส่วนที่พูดถูก
ในส่วนที่บอกเป็นนัยว่า “อย่าให้อาชีพนี้เป็นเพียงแค่การกลั่นแกล้งคนอื่น”
ซึ่งส่วนตัว แอดมินก็รอให้มีคนทำแบบนี้บ้างอยู่แล้ว
เพราะหลังๆ วงการตรวจรับ มันกลายเป็นงานโยนชั่วให้คนอื่น
โดยตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบต่ออะไรเลยไปแล้ว
แต่อยากบอกเฮียว่า สิ่งที่เฮียทำก็ผิด และผิดกฎหมาย
ไปกักขังเค้าเอาไว้แบบนั้น มันก็เกินเหตุไป แถมคำพูดที่ใช้
ถ้าเปลี่ยนเป็นการสอนน้องด้วยความเมตตาแทน
มันอาจจะเป็นคลิปตัวอย่างที่เอาไว้สอนใจผู้ตรวจในวงกว้างได้เลย
( จริงๆคลิปนี้ก็สอนได้เยอะนะ 5555 )
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ส่วนน้องตี๋ ( คงน้องแหละเนาะ )
ต้องทำความเข้าใจการตรวจรับใหม่หลายอย่าง
ไปเรียนรู้ถึง วิธีการทำงานจริงให้เข้าใจ
เพื่อให้เห็นว่า อะไรแก้ได้ แก้ไม่ได้ อะไรคือหลัก อะไรคือรอง
การแก้บางอย่าง ส่งผลเสียมากกว่าผลดี
ก็ต้องสามารถอธิบายให้เจ้าของบ้านเข้าใจได้ด้วย
และ การแจ้งดีเฟค ไม่จำเป็นต้องแจ้งเป็นจุด
แทนที่จะติดดีเฟคไว้ 10 จุดบนพื้นที่มันกลวง
ก็บอกไปเลยว่า พื้นห้องนั่งเล่น มีดีเฟคพื้น 30% ของพื้นที่
บอกแบบนี้ เวลาเค้าแก้ เค้าก็ต้องหาเองว่าตรงไหน และแก้ให้หมด
แต่ถ้าไปบอกเค้าเป็นจุด ว่ามี 10 จุด
แต่จริงๆ เราตรวจพลาด หรือในการแก้มันจะทำให้เกิดจุดใหม่ด้วย
กลายเป็น แก้ 10 จุดตามที่เราบอก แต่เกิดมีจุดใหม่ขึ้นหลังแก้
เค้าก็จะบอกว่า แก้ตามที่บอกหมดแล้ว จะให้แก้รอบสองอะไรอีก
ทำไมไม่บอกให้ครบทีเดียว ..... ถ้าบอกเป็น % จะไม่มีปัญหานี้
และไม่ดูว่า เป็นเรื่องเยอะ เรื่องใหญ่ด้วยแหละ
อีกอย่างนะ เอ็งรับเงินเจ้าของบ้านมาตรวจงาน
อยู่โดนด่า เอ็งไม่ตอบโต้ ไม่ดีเฟนด์งานตัวเอง
ไม่บอกเหตุผลในสิ่งที่ทำ แต่กลับบอกว่า
ถ้าอย่างนี้ไม่ตรวจแล้ว เอ็งจะทิ้งงานที่เป็นความรับผิดชอบตัวเองง่ายๆแบบนี้ไม่ได้ซิ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สรุปคือ ผิดทั้งคู่จ๊ะ
แต่เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ควรดูไว้และทำความเข้าใจ