ภาพที่ 1 โปสเตอร์ฟุตบอลโลก ปี 1966
"
ชาติยุโรปและอเมริกาใต้ครอบงำฟุตบอลโลกมานาน ในฐานะที่พวกเราเป็นตัวแทนของเอเชีย แอฟริกา รวมทั้งคนผิวสี ผมอยากเห็นพวกท่านทั้งหลายเอาชนะคู่แข่งสัก 1-2 นัด "
คำกล่าวจากคิม อิล-ซอง ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือแก่คณะนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ซึ่งกำลังจะเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ประเทศอังกฤษ ณ วันที่ 10 มิถุนายน 1966
ณ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1966 (พ.ศ.2509)
มีหนึ่งเกมฟุตบอลโลก ครั้งที่ 8 ที่ได้รับการกล่าวถึงไม่น้อยกว่าประตูปริศนาที่นำไปสู่การเป็นแชมป์โลกของอังกฤษ คือเกมที่พระเอกของเรื่องกลับเป็นประเทศที่คนทั้งโลกยุคนั้นไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ในยุคที่โลกมีการแบ่งอุดมการณ์ออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน แต่ฟุตบอลคือกีฬาสากลที่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีเรื่องของการเมือง เพราะมันคือ Soft Power หนึ่งที่แสดงศักยภาพของชาติ โดยเฉพาะในนามของประเทศโลกที่สาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเกิดใหม่ และอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ชัยชนะเหนือชาติตะวันตกซึ่งมีเกียรติประวัติระดับแชมป์มาแล้วกลายเป็นเรื่องที่ยังคงได้รับการผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าประเทศของพวกเขาจะยังคงความเป็น “แดนสนธยา” ในสายตาชาวโลกต่อไป
วันนี้ จะขอนำเสนอ กว่าจะเป็นตำนานของ “ทีมชาติเกาหลีเหนือ” เมื่อ 50 ปีที่แล้ว จากรัฐคอมมิวนิสต์ที่เจ้าภาพ(เกือบจะ)ไม่ยอมให้เข้าประเทศ สู่การแจ้งเกิดผ่านกีฬามหานิยม ณ ดินแดนต้นกำเนิดฟุตบอลสมัยใหม่
หมายเหตุ ด้วยเวลาของผู้เขียนอันจำกัด เนื้อหาที่นำเสนอจะบรรยายจนถึงเพียงฟุตบอลโลกที่ประเทศอังกฤษเท่านั้น
เส้นทาง“ชอลลิมา”จากดินแดนไม่มีใครรู้จัก สู่ตำนานล้มยักษ์ในแดนผู้ดี
ก่อนโสมแดงจะปรากฏ...
ในช่วงที่เกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น สมาคมฟุตบอลแห่งโชซอน ก่อตั้งในปี 1933 เพื่อดำเนินงานฟุตบอลภายในคาบสมุทรเกาหลี แต่เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาแผ่อิทธิพลทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้ นำไปสู่สงครามเกาหลีระหว่างปี 1950-1953 จนบ้านเมืองทั้งสองฝั่งพังพินาศย่อยยับ
ภาพที่ 2 สภาพกรุงเปียงยางหลังสงครามเกาหลี
อย่างไรก็ตาม หลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวที่ปันมุมจอม (Panmunjom) ได้เพียงหนึ่งปี เกาหลีใต้ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่สวิตเซอร์แลนด์ได้สำเร็จ แต่ทว่าลงเล่นไปเพียงสองนัด (กับฮังการีและตุรกี) พวกเขาเสียไปถึง 16 ประตูเลยทีเดียว จากนั้นอีกสองครั้งถัดมา ก็ไม่มีทีมจากเอเชียผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย แม้ว่าเวลานั้นทวีปเอเชียจะมีฟุตบอลทัวร์นาเมนต์เกิดขึ้นแล้ว ทั้งเอเชี่ยน คัพ ซึ่งเกาหลีใต้ครองแชมป์ได้ในสองสมัยแรก, ปรี-โอลิมปิก รวมทั้งในเอเชี่ยนเกมส์และกีฬาแหลมทองหรือเซียฟ เกมส์ (ชื่อกีฬาซีเกมส์ในสมัยนั้น)
ภาพที่ 3 ฟุตบอลโลก 1954 รอบคัดเลือก ระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น
คลิป เกาหลีใต้-ฮังการี ในบอลโลก 1954 (สังเกตช่วงท้ายจะมีบรรยายถึงปัญหา “ตะคริว” ของพวกเขา)
VIDEO
คลิป เกาหลีใต้-ตุรกี
VIDEO
จากที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้แม้การเปิดตัวในฟุตบอลโลกจะไม่สวยหรูเหมือนตอนเล่นรอบคัดเลือกที่สนามในญี่ปุ่น (ดังภาพข้างบน) แต่ต่อมาพวกเขาครองแชมป์เอเชียถึงสองสมัยซ้อน ตรงกันข้าม เรื่องราวของทีมชาติเกาหลีเหนือในช่วงเดียวกัน เป็นสิ่งที่ผู้สนใจต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการหาข้อมูลจากหลายแหล่ง ซึ่งคงใช้เวลานานมาก ในที่นี้ก็จะขอนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาในช่วงนั้น จากข้อมูลเท่าที่สืบค้นมาได้พอสังเขปแก่เวลา
แรกเริ่ม
ทีมชาติเกาหลีเหนือเริ่มก่อร่างขึ้นโดยรับเอารูปแบบมาจากสหภาพโซเวียต, ฮังการี รวมถึงยุโรปตะวันออก ต่อมาได้นำเอาปรัชญา “จูเช่” (Juche) มาใช้กับการสร้างทีมชาติด้วย โดยเน้นการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและการสร้างระเบียบวินัยตามแนวทางของระบอบทหาร นอกจากนี้มีการสร้างทีมฟุตบอลขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคทหาร และภาคแรงงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของขุนพลชอลลิมาอันยิ่งใหญ่ในภายภาคหน้า เมื่อเกาหลีเหนือเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่าในปี 1958
การหาประสบการณ์ โดยตระเวนแข่งขันกระชับมิตรกับทีมในยุโรปตะวันออก ตลอดจนสโมสรจากรัสเซียที่มาเยือนเปียงยาง ผลจากการหาประสบการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญไม่เพียงจะได้เรียนรู้โลกกว้าง พวกเขายังค้นพบจุดที่ควรแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องของสรีระที่เสียเปรียบชาวยุโรป ซึ่งมีผลต่อความแข็งแกร่งในการเข้าปะทะ รวมทั้งการใช้ความเร็วในการสร้างความเหนือกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม เริ่มต้นด้วยการส่งทีมแข่งขันในมหกรรมกีฬาของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่มีขื่อว่า GANEFO (Games of the New Emerging Forces) ที่อินโดนีเซีย เมื่อปี 1963 ซึ่งได้รองแชมป์ แม้พวกเขาจะถอนตัวจากโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียวในปีต่อมา ทั้งที่ผ่านรอบคัดเลือกแล้ว แต่พวกเขาก็คว้าแชมป์รายการ GANEFO 1965 ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพ โดยชนะคู่แข่งทุกทีมและไม่เสียประตูเลย
ภาพที่ 4 เกาหลีเหนือใน GANEFO ปี 1965 (ภาพนี้เป็นเกมระหว่างเกาหลีเหนือกับเวียดนามเหนือ ซึ่งพวกเขาเฉือนชนะไป 1-0)
ภาพที่ 5 ตารางคะแนนในปี 1965
เส้นทางสู่ฟุตบอลโลก 1966
ฟีฟ่าได้แบ่งโควตา 16 ทีมในรอบสุดท้าย ออกเป็น โซนยุโรป 10 ทีม (รวมอังกฤษเจ้าภาพ) โซนอเมริกาใต้ 4 ทีม (รวมบราซิลแชมป์เก่า) โซนคอนคาเคฟ 1 ทีม และโซนเอเชีย โอเชียเนีย และแอฟริกา 1 ทีม
ภาพที่ 6 รายชื่อประเทศที่สมัครแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 รอบคัดเลือก จากเอกสารของฟีฟ่า
เกาหลีเหนือ
สำหรับในทวีปเอเชีย มีเพียงสองชาติที่ผ่านคุณสมบัติ คือ เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม จากการแบ่งโซนของฟีฟ่าในครั้งนั้น ได้รวมออสเตรเลียกับแอฟริกาใต้ด้วย ต่อมาแอฟริกาใต้ถูกฟีฟ่าตัดสิทธิ์ เนื่องจากปัญหาลัทธิแบ่งแยก (apartheid) ก่อนที่เกาหลีใต้เพื่อนบ้านจะตัดสินใจขอถอนตัวจากรอบคัดเลือก หลังฟีฟ่าตัดสินใจย้ายสังเวียนรอบคัดเลือกจากญี่ปุ่นไปยังกัมพูชา เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับออสเตรเลีย จึงจำเป็นต้องหาสนามกลาง
ภาพที่ 7 สนามโอลิมปิก สเตเดี้ยม ในกรุงพนมเปญ ที่เปิดใช้งานใหม่เมื่อทศวรรษ 1960
จนกระทั่งเจ้าชายนโรดมสีหนุ ผู้นำกัมพูชาในเวลานั้น ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคิม อิล-ซอง ยินดีรับเป็นเจ้าภาพ ทั้งสองทีมจึงมาดวลแข้งกันท่ามกลางชาวเขมรที่มาเป็นสักขีพยานเต็มสนามโอลิมปิก สเตเดี้ยม (ประมาณ 3-4 หมื่น บางแหล่งระบุ 6 หมื่น) ที่เพิ่งเปิดใช้ในปี 1963 เพื่อเตรียมใช้จัดกีฬาเซียฟเกมส์ ครั้งที่ 3 แต่ยกเลิกเพราะปัญหาการเมืองภายในกัมพูชา ความเป็นทีมเวิร์คที่ดีกว่า ทำให้ขุนพลโสมแดงเอาชนะขุนพลซอคเกอร์ รูส์ ทั้งสองนัดรวม 9-2 (6-1 และ 3-1 ตามลำดับ)
คลิปเกมเพลย์ออฟที่กัมพูชา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิดีโอในบรรณานุกรมตอนท้าย
VIDEO
เส้นทางต่อไป เกาหลีเหนือในฐานะตัวแทนโซนเอเชีย ยังจะต้องไปชิงโควตาเพียง “ใบเดียว” กับอีกสามทีมจากโซนแอฟริกา แต่เนื่องจากในปี 1964 ทั้ง 15 ชาติที่สมัครแข่งขัน และได้จัดแบ่งสายรอบคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัดสินใจขอถอนตัว เพื่อประท้วงฟีฟ่า เนื่องจากพวกเขาคิดว่า โซนแอฟริกาควรจะได้โควตา 1 ที่โดยอัตโนมัติ รวมถึงความไม่พอใจที่ฟีฟ่ารับแอฟริกาใต้เข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง หลังจากถูก CAF แบนออกไปตั้งแต่ปี 1958 (ซึ่งภายหลังเจอแรงกดดันจากชาติแอฟริกา แอฟริกาใต้จึงถูกแบนตามเหตุผลข้างต้น) จากผลดังกล่าว ทำให้พวกเขาผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นทีมจากทวีปเอเชียทีมที่สามต่อจากดัตช์ อีสต์ อินดี้ส์ (ปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย) และเกาหลีใต้
ก่อนจะได้ย่ำดินแดนต้นกำเนิดฟุตบอล
การเข้ารอบสุดท้ายของเกาหลีเหนืออย่างมีโชคเพราะทีมจากแอฟริกาคว่ำบาตรตั้งแต่ต้น สร้างความกังวลใจแก่อังกฤษ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ในยุคนั้นยังแบ่งออกเป็นสองอุดมการณ์การเมืองคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสองสายคือ สายสหภาพโซเวียตกับสายจีน(แผ่นดินใหญ่) อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่สนับสนุนดินแดนฝ่ายใต้เมื่อคราวสงครามเกาหลี แน่นอนว่า การเข้ามาของเกาหลีเหนือเกรงว่านานาชาติจะไม่พอใจ ทั้งที่สหภาพโซเวียต, ฮังการี รวมถึงบัลแกเรีย ต่างก็เป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน
ปัจจัยสำคัญคือ เกาหลีใต้ เพราะหากยอมรับการเข้ามาของประเทศที่เป็นอริทางการเมือง ก็เท่ากับยอมรับนั่นเอง อังกฤษจึงคิดที่จะปฏิเสธวีซ่าแก่ทีมชาติเกาหลีเหนือเพื่อตัดปัญหา แต่ทางฟีฟ่าเตือนว่า หากอังกฤษปฏิเสธวีซ่าแก่นักฟุตบอลเกาหลีเหนือ (ซึ่งเข้ารอบตามกฎรอบคัดเลือกที่บังคับใช้เมื่อปี 1958) ก็อาจจะต้องย้ายเจ้าภาพในรอบน็อกเอาต์หรือยกเลิกไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าอังกฤษจะต้องเสียหายอย่างหนัก เพราะการเมืองกับกีฬาควรแยกออกจากกัน
ดังนั้นทางการอังกฤษจึงให้เพียงธงชาติเกาหลีเหนือได้โบกสะบัดได้เท่านั้น ส่วนเพลงชาติ “แอกุกกา” (Aegukka – เพลงรักชาติ) นั้น ถูกห้ามเล่น (นอกจากเกมแรก และนัดชิงชนะเลิศ) รวมทั้งยกเลิกแสตมป์ที่ระลึกซึ่งปรากฏภาพธงชาติเกาหลีเหนือ แต่ที่สำคัญ ทางเจ้าภาพยังให้ใช้ชื่อ North Korea แทน DPRK ซึ่งเป็นชื่อทางการของประเทศ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อังกฤษไม่ยอมรับการมีอยู่ของประเทศนี้เหมือนกับเกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก ณ แดนอีสาน
เกาหลีเหนืออยู่ในโถ Rest of the World ถูกจับขึ้นมาอยู่กลุ่มสี่ประกอบด้วย อิตาลี (ทีมวาง) แชมป์โลก 2 สมัย, สหภาพโซเวียต แชมป์ยุโรป ปี 1960 และชิลี ซึ่งได้อันดับสามเมื่อครั้งที่แล้ว โดยพวกเขาเล่นที่เมืองมิดเดิลสโบรซ์ทั้งสามนัด และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวเมือง ก่อนการแข่งขัน เกาหลีเหนือมีอัตราการคว้าแชมป์โลกสูงถึง 100-1ซึ่งยังมากกว่าเม็กซิโกกับสวิตเซอร์แลนด์ (ทีมอื่นที่น่าสนใจ อังกฤษ 4-1 บราซิล 2-1 อิตาลี 7-1 อาร์เจนติน่า 9-1 เยอรมนีตะวันตก 10-1 เป็นต้น)
ภาพที่ 8 การจับฉลากแบ่งสายฟุตบอลโลก 1966 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดเป็นครั้งแรก
เส้นทางของเพื่อนร่วมกลุ่ม
อิตาลี
หลังตกรอบก่อนรองชนะเลิศใน “สงครามแห่งซานดิอาโก้” ขุนพลอัซซูรี่ถูกจับอยู่กลุ่ม 8 ร่วมกับสกอตแลนด์ โปแลนด์ และฟินแลนด์ สองนัดสุดท้ายแม้จะแพ้สกอตแลนด์ก่อน 0-1 แต่ก็เปิดบ้านถล่มไป 3-0 ที่เนเปิลส์
ผู้เล่นน่าสนใจในชุดนี้คือ ซานโดร มาซโซล่า (Sandro Mazzola) ศูนย์หน้าจากอินเตอร์มิลาน จิอันนี่ ริเวล่า (Gianni Rivera) มิดฟิลด์จากเอซี มิลาน ซึ่งทั้งคู่จัดว่าเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดของยุคนั้น จากผลงานและเกียรติประวัติกับต้นสังกัด พวกเขาจึงหวังจะทำผลงานให้ดีกว่าเดิมเพื่อลบล้างความอัปยศจากครั้งที่แล้ว
สหภาพโซเวียต
ทีมหมีขาวที่ทำผลงานได้ดีตลอดยูโรสองครั้งที่ผ่านมา อยู่ร่วมสายเดียวกับเวลส์ กรีซ และเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาเริ่มแข่งขันช้ากว่าเพื่อน แต่ก็ดีพอในการคว้าแชมป์กลุ่ม การแพ้เวลส์เพียงนัดเดียวจึงไม่มีผลสะเทือนใดๆ
ชุดนี้นำโดยเลฟ ยาชิน (Lev Ivanovich Yashin) สุดยอดนายทวารแห่งรัสเซีย ที่ลงเล่นฟุตบอลโลกสมัยที่สามในวัย 36 ปี ผู้เล่นมีทั้งจากสโมสรในรัสเซีย, ยูเครน, จอร์เจีย, เบลารุส และอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นรัฐภายใต้สหภาพโซเวียตทั้งสิ้น
ชิลี
หลังจากคว้าอันดับสามในฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย พวกเขาอยู่ในกลุ่มเดียวกับเอกวาดอร์และโคลอมเบีย เมื่อครบโปรแกรมคะแนนเท่ากับเอกวาดอร์ จึงต้องเล่นเพลย์ออฟกันที่ประเทศเปรู และเป็นชิลีที่ชนะไป 2-1 ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย
ทีมชุดนี้นำโดย “ลิโอเนล ซานเชซ” (Leonel Sánchez) ดาวซัลโวเมื่อครั้งที่แล้วซึ่งรับหน้าที่กัปตันทีมด้วย ในชุดนี้มีผู้เล่นจากครั้งที่แล้วติดมาด้วย 9 คน และเป็นทีมเดียวในรายการนี้ที่หมายเลขหนึ่งไม่ใช่ผู้รักษาประตู
ภาพที่ 9 รายชื่อผู้เล่นทีมชาติเกาหลีเหนือ ชุดฟุตบอลโลก 1966 ทั้ง 22 คน
ภาพที่ 10 โฉมหน้าผู้เล่นบางส่วนของเกาหลีเหนือ
ภาพที่ 11 ผู้จัดการทีม มยอง รเย-ฮยอน (Myung Rye-hyun)
นัดแรกขุนพลชอลลิมาก็เจอของแข็งอย่างสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นลูกพี่ใหญ่แห่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ แม้นายทวารที่ลงสนามจะไม่ใช่เลฟ ยาชิน แต่พวกเขาก็ต้านความแข็งแกร่งของรองแชมป์ยูโรครั้งที่สองไว้ไม่ได้ จึงพ่ายไป 0-3 ส่วนอิตาลีที่ลงเล่นวันต่อมาเอาชนะชิลี ซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าจากศึกแห่งซานดิอาโก้ (Battle of Santiago) 2-0
นัดที่สองขุนพลชอลลิมาเจอกับชิลี และโดนนำตั้งแต่นาที 26 จากลูกโทษของมาร์กอส แม้ชิลีจะมีโอกาสอีกหลายครั้ง แต่ก็ยิงเพิ่มไม่ได้ ใกล้เคียงที่สุดคือฟรีคิกช่วงท้ายครึ่งแรกที่โหม่งในระยะเผาขนออกไปอย่างน่าเสียดาย เกมทำท่าจะจบลงด้วยชัยชนะของชิลี แต่แล้วก่อนหมดเวลาสองนาที ลิม ซุง-ซอน (เบอร์ 5) เปิดฟรีคิกจากกลางสนาม ผู้เล่นชิลีโหม่งสกัดมาเข้าทาง
พัค ซึง-จิน (Pak Seung-Jin) กัปตันทีมซัลโวเต็มแรงตีเสมอได้สำเร็จ อีกทั้งกลายเป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่ทำประตูในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ขณะที่ผลอีกคู่ในวันต่อมา อิตาลีพ่ายต่อสหภาพโซเวียต 0-1 ทำให้ขุนพลหมีขาวหลังม่านเหล็กการันตีผ่านเข้ารอบต่อไปแน่นอนแล้ว ส่วนอัซซูรี่เตรียมลูบปาก...
นัดชี้ชะตา
เกมนัดสุดท้ายคู่แรกที่อายร์ซัม พาร์ค (Ayresome Park สังเวียนเหย้าของมิดเดิลสโบรซ์ระหว่างปี 1903-1995) ขุนพลชอลลิมาลงสนามในเสื้อแดงกางเกงขาวพบกับอิตาลีเสือน้ำเงินกางเกงดำที่องค์ประกอบดูเหนือกว่าอยู่หลายขุม ระหว่างนักฟุตบอลอาชีพกับทหารอาชีพ โดยนัดนี้ รัฐบาลเปียงยางส่งกองเชียร์ชายหญิงจำนวน 12 คน เดินทางมาเชียร์พวกเขาในสนามด้วย
ภาพที่ 12 กัปตันทีมทั้งสองชาติ บุลกาเรลลี่จับมือพัค ซึง-จิน ก่อนเกมชี้ชะตา
ทั้งคู่เปิดเกมแลกกันตั้งแต่เริ่มเลย แม้ว่าอิตาลีขอเพียงเสมอแล้วชิลีไม่ชนะก็จะผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ไปเลย เกมผ่านมาถึงนาทีที่ 34 บุลกาเรลลี่ (Giacomo BULGARELLI) ซึ่งทำหน้าที่กัปตันทีมอิตาลีในเกมนี้ ตามเข้าด้านหลัง พัค ซึง-จิน ที่กำลังจะพาบอลไปต่อ แต่ทว่าเจ้าตัวกลับเจ็บซะเองจนไม่สามารถเล่นต่อได้ ซ้ำร้ายยิ่งนัก ยังไม่มีกฎเปลี่ยนตัว (ที่เพึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1970) ทำให้อิตาลีจำต้องเล่น 10 คนตลอดเวลาที่เหลือ
จนมาถึงนาทีที่ 41
พัค ดู-อิค (Pak Doo-Ik) ผู้เล่นกองหน้าวิ่งหนีตัวประกบ ก่อนได้จังหวะสับไกยิงผ่านอัลแบร์โตซี่ (Enrico ALBERTOSI) เข้าไปให้ทีมม้าบินจากตะวันออกไกลพลิกขึ้นนำ 1-0 ครึ่งหลังแม้อิตาลีจะพยายามบุกอย่างหนัก แต่วันนี้พวกเขาโชคไม่ดีจริงๆ เพราะลำพังผู้เล่นก็น้อยกว่าอยู่แล้ว นัดนี้แผงหลังของโสมแดง รวมทั้ง รี ชาง-มยง (Ri Chang Myong) นายทวารวัยเพียง 19 ปี ที่ต้องคอยป้องกันลูกยิงของผู้เล่นอิตาลี เพราะพวกเขาไม่เพียงมี “ท่านผู้นำ” (คิม อิล-ซอง) แต่ยังมีประชาชนที่คอยรับฟังการรายงานสดทางวิทยุในตอนเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่นอีกด้วย แม้ว่าสกอร์จะยังนำ แต่พวกเขาเองก็พยายามทำเกมสวนกลับบุกหวังประตูที่สองด้วยเช่นกัน
จนเมื่อเสียงนกหวีดยาวดังขึ้น อีกทั้งในวันถัดมา ชิลีก็ไม่สามารถเอาชนะโซเวียตได้ ประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกจึงได้จารึกชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กจากทวีปเอเชียตะวันออกไกล เหนืออดีตแชมป์โลกสองสมัย กลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำที่ตราตรึงผู้ชมในสนาม ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขผู้ชมกลับมีจำนวนน้อยติด 1 ใน 3 ของครั้งนี้ด้วยซ้ำ ตลอดจนผู้ชมทางสื่อออนไลน์ในยุคนี้
ภาพที่ 13 ประตูชัยดับอัซซูรี่ของ พัค ดู-อิค
ภาพที่ 14 นักเตะเกาหลีเหนือร่วมดีใจหลังจากพลิกล็อคเอาชนะอิตาลีได้
แม้ว่าขุนพลชอลลิมาจะถูกยูเซบิโอและผองเพื่อนทีมชาติโปรตุเกสหยุดไว้ที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่พวกเขาก็ได้สร้างความประทับใจให้กับคนอังกฤษ โดยเฉพาะชาวเมืองมิดเดิลสโบรซ์ ซึ่งเกมรอบ 8 ทีมที่พบกับทีมมาแรงสุดในครั้งนี้อย่างโปรตุเกส ก็ได้ชาวเมืองมิดเดิลสโบรซ์จำนวนราว 3000 คนตามมาเชียร์พวกเขาด้วย
พวกเขาเหล่านี้ถือว่าโชคดีอย่างยิ่งที่ไม่เพียงมีโอกาสได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตก ซึ่งตรงข้ามกับดินแดนที่พวกเขาอยู่อย่างสิ้นเชิง แต่ยังสร้างชื่อเสียงที่ยิ่งใหญ่แก่ประเทศ และวงการฟุตบอลเอเชียอีกด้วย
ภาพที่ 15 ขุนพลชอลลิมา 1966 ที่เหลืออยู่กลับมาเยือนเมืองมิดเดิลสโบรซ์เมื่อปี 2002 แม้จะไม่ใช่อายร์ซัม พาร์ค ซึ่งยกเลิกการใช้งานเมื่อปี 1995 แต่แฟนบอลในริเวอร์ไซด์ สเตเดี้ยม ก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ภาพที่ 16 พัค ดู-อิค ผู้ยิงประตูใส่อิตาลี ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ประตูที่เขาทำได้จากการติดทีมชาติเพียง 5 นัดเท่านั้น (ตามที่บันทึกในฐานข้อมูลของเว็บฟีฟ่า)
ภาพที่ 17 พัค ดู-อิค เป็น 1 ในตัวแทนชาวเกาหลีเหนือในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก 2008 “ปักกิ่งเกมส์”
แม้เรื่องราวจะผ่านมาครึ่งศตวรรษแล้ว แต่วีรกรรมเขี่ยขุนพลอัซซูรี่ตกรอบที่อังกฤษ ยังคงเป็นที่กล่าวขานมาจนทุกวันนี้ ข้อมูลขุนพลชุดนั้นที่ปรากฏในวิกิพีเดียส่วนใหญ่มีเพียงเล็กน้อย อีกทั้งที่ปรากฏในสารคดี “The Game of Their Lives” ที่ออกฉายในปี 2002 ก็ปรากฏนักฟุตบอลเพียง 7 คนเท่านั้น ซึ่งรวมทั้งฮีโร่ผู้ดับอิตาลีอย่าง พัค ดู-อิค ดังนั้นแฟนฟุตบอลทั่วโลกจึงยากที่จะรู้แน่ชัดว่า พวกเขาเหล่านี้ ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ภาพที่ 18 โปสเตอร์สารคดี “The Game of Their Lives” จัดทำโดย Daniel Gordon กับ Nicholas Bonner ซึ่งต้องใช้เวลาทำเรื่องต่อรัฐบาลเปียงยางถึง 4 ปี กว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเพื่อถ่ายทำได้
ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของพัค ดู-อิค จากสารคดีดังกล่าว
“
When I scored that goal the people of Middlesbrough took us to their hearts. I learnt that playing football can improve diplomatic relations and promote peace. ”
(แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า)
“เมื่อผมยิงประตู(สำคัญ) ซึ่งทำให้พวกเรา(ทีมชาติเกาหลีเหนือ)เข้าไปอยู่ในใจชาวมิดเดิลสโบรซ์ ผมจึงได้เรียนรู้ว่า การเล่นฟุตบอลทำให้ความสัมพันธ์กับนานาประเทศดีขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมสันติภาพบนโลกนี้ด้วย”
ภาพที่ 19 ทีมชาติเกาหลีเหนือ ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย กับโปรตุกส
สารบัญรูปภาพ
บรรณานุกรม
ขอจบการนำเสนอเพียงเท่านี้
ปล. วันนี้ครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์พอดี งานนี้จึงใช้เวลานานพอสมควร ทั้งๆที่ผมมีภาระงานมาก จึงไม่สามารถเขียนได้ดีนัก อีกหลายประเด็นยังนำเสนอได้ไม่ละเอียดพอ คงต้องใช้เวลาอีกนานในการค้นคว้าอ่านต่อจนกว่าจะตกผลึก จึงอาจมีข้อผิดพลาดในบางจุด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการเยี่ยมชมครับ