[LFC] วัฒนธรรมคนที่ชั่ยมาจากไหน - Scouse Bastard
วัฒนธรรมคนที่ชั่ยมาจากไหน
ถ้าเราดูจากคำโฆษณาขายหนังสือของเอียน เกรแฮม(อยู่ท้ายคิวกองดองผม) ที่บอกว่าในช่วงต้นพวกเขาไม่มีความน่าเชื่อถือมากนักเพราะไม่มีผลงาน นี่ก็ค่อนข้างชัดว่า วัฒนธรรมคนที่ชั่ย ไม่ได้เป็นของ FSG แต่ต้นครับ คนที่สร้างมันขึ้นมาก็คงเป็นสามสหาย เอ็ด เอียน คล็อป นั่นแหละ และสุดท้ายผลงานมันดีจน FSG เอาด้วยแล้วกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร
หลายคนอาจถามว่ามันดียังไงก็ลองคิดดูว่า นโยบายสุดโต่งแบบนี้มันดันทีมจากขอบเหวล้มละลาย ขึ้นมาเป็นทีมอันดับสองของลีกได้ ภายในเวลาประมาณ 6-7 ปีน่ะครับ แน่นอนว่ามันไม่สมบูรณ์มีที่ให้ต้องแก้อีก แต่ผลงานมันจับต้องได้
ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้วางอยู่บนข้อเท็จจริงสองอย่าง
1. ต้นทุนการซื้อขายนักเตะสูง ต้นทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงค่าตัวหรือค่าเหนื่อยครับ แต่หมายถึงค่าเอเยนต์ ซื้อนักเตะคนหนึ่งมา 20 ล้าน ปีถัดไปขายไป 20 ล้าน ดีลนี้ไม่เท่าทุน แต่ขาดทุน ค่าเอเยนต์แล้ว 10-20% (2-4 ล้าน)
2. เราประเมินคุณภาพนักเตะได้ "ไม่แม่น" เกรแฮมบอกทำทุกทางแล้วก็เชื่อมั่นได้แค่ 70% ยังมีเหตุไม่คาดคิดอีกเยอะที่ทำให้ซื้อมาแล้วทำไม่ได้อย่างที่คาด
ข้อสรุปที่ทีมซื้อขายใช้จึงเป็น
1. ซื้อนักเตะที่ดีกว่าจุดอ้างอิงอย่างเด่นชัด ในราคาที่มีส่วนลด และมีโอกาสขายออก => นักเตะอายุน้อย/สโมสรอยากขาย-ร้อนเงิน/เงินเดือนไม่สูงเมื่อเทียบกับความสามารถ
2. ถ้านักเตะทำได้ตามที่คิด เก็บนักเตะให้นานที่สุด จะได้ไม่ต้องเข้าตลาดใหม่
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าคนที่ผลักนโยบายนี้ไปสู่จุดสุดโต่งคือคล็อป การปฏิเสธไม่หาตัวแทนของฟาน ไดจ์ แล้วดันได้ผลดี กลายเป็นการเซ็ตมาตรฐานให้สโมสร - ไม่ได้ก็ไม่เอา ในขาเข้า พร้อมๆกับการดูแลแบบลูกรัก ไม่ขายใคร ถ้าเขาไม่อยากจากไป ก็ตัดโอกาสทำกำไรจากตลาดนักเตะจากการมี "ข้อมูลนักเตะที่ดีกว่า" ไม่มีนักเตะออก ก็ยิ่งไม่มีนักเตะเข้า พาเรามาอยู่ในจุด Limbo ในปัจจุบัน
นโยบายนี้จะเปลี่ยนหรือไม่?
ผมว่าแฟนบอลน่าจะเสียงเอกฉันท์ว่าควรเปลี่ยน และผมก็คิดว่ามันจะเปลี่ยนเหมือนกัน แต่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดิม
1. ขาออก เราเริ่มเห็นแล้วจากการขายนักเตะเยาวชนจำนวนมาก นักเตะทั้งหมดที่ขายคือนักเตะที่มีโอกาสน้อยมากที่จะได้อยู่ในชุดใหญ่ในระยะสองปี(เช่นคาวัญโญ่ หน้าเขามีดิอาส กักโป และอาจมีดาร์วินที่ย้ายมาเล่นได้อีก) นักเตะพวกนี้ประเมินง่าย ก็เลยขายเร็ว
2. กลุ่มที่ซับซ้อนขึ้นคือนักเตะหมุนเวียนในชุดใหญ่ กลุ่มนี้ขายเฉยๆไม่ได้แต่ต้องมีตัวแทน เราเริ่มเห็นข่าวแล้วกับโกเมส หรือที่ลืออย่างซิมิคาส - ดีลกลุ่มนี้จะเป็นตัววัดฝีมือของ DOF - ผมว่าเอ็ด(+FSG) คันมืออยากขายกลุ่มนี้ทำกำไรมานานแล้ว
3. นักเตะแกนหลักน่าจะเป็นแนวคิดเดิม คือถ้าไม่โปรโมทขึ้นมาจากนักเตะหมุนเวียน ก็จะรอ "คนที่ชั่ย"
พูดง่ายๆคือขาเข้าจะยังเป็นแบบคล็อป แต่ขาออก นี่น่าจะเปลี่ยนไป ถ้าทายถูกเราน่าจะเห็นภาพนี้ชัดขึ้นในซัมเมอร์หน้า(หรืออาจจะปีนี้ ถ้าโจย้ายแล้วฮิวส์หาตัวแทนได้) เราน่าจะเห็นนักเตะเข้า-ออก ชุดใหญ่ปีละ 2-3 คนและ Big Deal "คนที่ชั่ย" ซัก 3-4 ปี/ครั้ง
ปล1. ข้อเท็จจริงสองข้อนั้นเป็นจริงกับทุกทีม แต่เราจะเห็นว่าเชลซี เลือก Optimize ไปอีกทาง กลยุทธของลิเวอร์พูลคือซื้อให้แม่นแล้วถือให้นาน แต่ของเชลซีคือซื้อถูกๆเยอะๆ แล้วมาร่อนหาเพชร
หลายคนน่าจะยังไม่เข้าใจว่าทำไม "คนที่ชั่ย" มันถึงพาทีมใกล้ล้มละลายมาตรงนี้ได้
มองแบบนี้นะครับ ก่อนยุคยิลเลตต์ ลิเวอร์พูลมีงบซื้อนักเตะประมาณปีละ 30-40 ล้านปอนด์ สมมุติแมนยูมีประมาณ 2 เท่าของเรา
ถ้าซื้อขายแบบปกติ เราจะไม่มีทางซื้อนักเตะคุณภาพสูงกว่าแมนยูได้เลย แปลว่าผลงานไม่มีทางดีขึ้น เว้นแต่จะเติมเงินแข่งกัน(และยอมรับเถอะ สิบเฮนรี่ก็จ่ายเงินสู้ ชีค กับโรมัน ไม่ได้)
แต่ถ้าซื้อนักเตะแค่สองคนในสามปี เราจะได้นักเตะราคาเฉลี่ย 60 ล้าน ซึ่งปกติซื้อไม่ได้ ในขณะที่ถ้าแมนยูซื้อๆขายๆ กับนักเตะ 6-70 ล้านที่ไม่ยกระดับทีม ในเวลา 3-4 ปี คุณภาพนักเตะลิเวอร์พูลจะไล่ทัน
นี่คือเหตุผลหลักที่เอาแต่ "คนที่ชั่ย" และไม่เอา "คนที่เกือบชั่ย" มันคือยุทธศาสตร์ในการลดความสูญเปล่ากับความผิดพลาด เพื่อผลลัพธ์ระยะยาว
ดังนั้นการถามว่า ทำไมไม่เอา "คนที่เกือบชั่ย" จึงผิดประเด็นแต่ต้นแล้ว เพราะยุทธศาสตร์จะเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ก็ต่อเมื่อมันมีเกณฑ์ที่ชี้ชัดว่าจะไม่ทำอะไร
“The essence of strategy is choosing what not to do.” - Michael E. Porter
และสิ่งที่เขาเลือกจะไม่ทำก็คือ "คนที่เกือบชั่ย"
Cr.
https://www.facebook.com/share/p/WHhUDSUKFtmRZ8Aq/?mibextid=qi2Omg
ผมชอบการวิเคราะห์ของเพจนี้มาก
ส่วนตัวนโยบายตอนนี้ผมว่ามันดูตึงไปนิด ที่จะไม่เอาคนที่เกือบชั่ยเลย แม้ไม่ได้ใคร เพราะตอนนี้ตัวที่จะมาหมุนลงเล่นบอลถ้วยก็เหลือน้อยแล้ว ถ้ามีใครเจ็บอีกก็อาจจะงานหยาบ ถ้าปล่อยโกเมซอีกคงต้องมีตัวแทนแน่นอน ไม่งั้นต้องไม่ปล่อย สุดท้ายผลงานจะเป็นตัวปรับสมดุลของระบบคนที่ชั่ยเอง ว่าจะไปทางไหนต่อ