คาถาชินบัญชร กับชัยมงคลคาถาพาหุงมหากา ต่างกันไหมครับ
คำบอกเล่าของคนเก่าแก่บอกเป็นสุดยอดคาถาทั้งคู่ โดยบทสวดคาถาชินบัญชร เป็นอัญเชิญสิ่่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายมาประทับตัวเรา ออกแนวเมตตามหานิยม ส่วนพาหุงมหากาหรือเรียกทั่วไปคือคาถาพระพุทธเจ้าปราบมาร ออกแนวรุนแรงหน่อย
ผมก็ไม่รู้หรอกทั้งสองคาถาดียังไงนะ แต่เคยได้รับคำบอกกล่าวจากคุณพ่อก็เล่าให้ฟังหน่อยๆว่า เป็นบทสวดที่ดี แต่ต้องรู้จักใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ว่าย้อนไปเมื่อปี2500-2520 ป่าในเมืองไทยยังอุดมสมบูรณ์ คุณพ่อผมสมัยหนุ่มๆชอบหาของป่า ล่าสัตว์ยิงสัตว์ ระยะเวลาบางครั้งหายไปเป็นอาทิตย์ก็มี บอกเวลาเข้าป่าก็ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขาบอกกล่าวเขา พร้อมกับเซ่นไหว้ เป็นพิธีรีตองก่อนเข้าป่า การนอนในป่าก็เหมือนไปอาศัยบ้านเขาในแต่ละอาณาเขต เจ้าที่ ผี เปรต อสุรกาย มีทั้งดีและไม่ดี ก็จะมีกฎเหล็กในการนอนป่าทั้งเรื่องนอนบนห้าง ส่วนที่พึ่งทางใจก็ใช้บทสวดมนต์นี่แหละ บทสวดมนต์ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเลย คือการใช้บทสวดพาหุงมหากา ถ้าจะใช้ ใช้ต้องแจ้งต่อเจ้าป่าเจ้าเขา รุกขเทวดา สัมภเวสี ต่างๆว่าใครยินดีจะรับฟังก็ขอเชิญอนุโมทนาสาธุ แต่หากท่านใดไม่พร้อมรับฟังก็จงออกสถานที่ไปซักครู่ ผมก็ถามเพราะอะไร เปรต อสุรกาย ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรืออมนุษย์ ทั้งหลาย โดยเขาอยู่อย่างนั้นในป่ามานาน ไม่ได้เคยสัมผัสธรรมะมาก่อน จิตใจเลยหยาบ เป็นต้น กันเรื่องของหาว่ามาลองดีด้วยครับ
ก็เป็นคำเล่านะครับ
บทพาหุง คือ บทที่ให้ระลึกถึงชัยชนะที่สำคัญๆของพระพุทธเจ้า 8 ประการ ...
- บทที่ 1. แสดงถึงชัยชนะมารทั้งหมด ด้วยบารมีทั้งหมด ทั้ง 30 ทัศ ที่พระองค์เคยสะสม บำเพ็ญสร้างมาในภพชาติต่างๆในอดีต นับไม่ถ้วน
- บทที่ 2. แสดงถึงการชนะคนขี้โกรธ ด้วยขันติ ความอดกลั้น อดทน
- บทที่ 3. แสดงการชนะสัตว์ร้าย ด้วย เมตตา
- บทที่ 4. แสดงถึงการชนะคนร้าย หรือ โจรร้าย ด้วยอิทธิฤทธิ์ หรือ ความสามารถที่เหนือธรรมดา ปราบจนเขายอมรับ
- บทที่ 5. แสดงถึงการชนะการโดนกล่าวร้าย โดนใส่ร้ายป้ายสี ด้วยความนิ่งเฉย อดทน อดกลั้น
- บทที่ 6. แสดงถึงการชนะคนที่ทิฏฐิมาก หัวดื้อ ด้วยปัญญา
- บทที่ 7. แสดงถึงการชนะพวกเทวดาที่มีฤทธิ์ เช่น พญานาค ด้วยการให้บริวาร(คือพระโมคคัลลานะ)ที่มีฤทธิ์เหนือกว่ามันไปปราบแทน
- บทที่ 8. แสดงถึงการชนะพวกเทวดาชั้นสูงสุด คือพวกพรหม ที่มีทิฏฐิหนาแน่นที่สุด ด้วยญาณ(ปัญญาระดับพิเศษ)
ส่วนตัวผมชอบบทที่ 6 ครับ
Spoil
บทที่ ๖ สัจจกนิครนถ์ ต้องอับจนด้วยวิมุตติปัญญา
พุทธชัยมงคลคาถาบทที่ ๖ กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อสัจจกนิครนถ์ เป็นการเอาชนะกันด้วยความแยบคายทางปัญญา คาถาบทนี้นิยมใช้สำหรับการเอาชนะการโต้เถียงและการโต้วาทีต่างๆ
ที่มาของชัยชนะครั้งนี้ มีดังนี้
ในครั้งพุทธกาลนั้น มีศาสนาที่รุ่งเรื่องอีกศาสนาหหนึ่ง เรียกว่าศาสนา เชน มีมหาวีระหรือท่านนิครนถ์นาฏบุตรเป็นศาสดา นักบวชของศาสนาเชนนี้เรียกว่า นิครนถ์ ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาเชน ต่างก็มีผู้นับถืออยู่มากมาย แต่ศาสดาของทั้งสองศาสนากลับไม่เคยพบหน้ากันมาก่อนแมต้แต่ครั้งเดียว
สำหรับที่เมืองเวสาลี ก็มีอาจารย์นิครนถ์หญิงคนหนึ่งและชายอีกคนหนึ่งต่างเล่าเรียนวาทะมากันคนละ ๕๐๐ ทั้งสองตอบโต้กันด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยมไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ กษัตริย์ลิจฉวีจึงเชิญให้ทั้งสองอยู่เป็นอาจารย์ของพระกุมาร ต่อมาเมื่อนิครนถ์ทั้งสองได้อยู่ด้วยกัน มีบุตร ๑ คน และธิดา ๕ คนนั้นเป็นบัณฑิต ต่อมาได้โต้วาทะกับพระสารีบุตรและพ่ายแพ้ ทั้ง ๔ จึงเข้าบวชในสำนักภิกษุณีและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนบุตรชายอีก ๑ คนนั้นมีชื่อว่าสัจจกนิครนถ์ เป็นผู้มีปัญญามากเพราะได้เล่าเรียน ๑,๐๐๐ วาทะจากบิดามารดา และยังได้ไปเรียนสำนักอื่นๆอีก ต่อมาก็ได้เป็นอาจารย์ของพระกุมารกษัตริย์ลิจฉวี (ในพระอรรถกถา พระพุทธเจ้าทรงเรียกสัจจกนิครนถ์ว่า อัคคิเวสสนะ)
ในยุคนั้นมีอาจารย์นิครนผู้มีปัญญาจำนวนมาก เช่น ท่านปูรณะกัสสปนิครนถ์ ท่านมักขลิโคสาลนิครนถ์ ท่านอชิตเกสกัมพลนิครนถ์ ท่านปกุธะกัจจายนะนิครนถ์ ท่านสัญชัยนิครนถ์ และท่านเวลัฏฐบุตรนิครนถ์ เป็นต้น แต่ผู้ที่มีปัญญามากที่สุด มีไหวพริบ มีวาจาแหลมคม จนอาจารย์นิครนถ์อื่นๆไม่มีใครสู้วาทะได้ก็คือ สัจจกนิครนถ์
สัจจกนิครนถ์ มีความทะนงตนเองว่าเป็นผู้รู้มาก จนต้องเอาแผ่นเหล็กมารัดท้องไว้ เกรงว่าท้องจะแตกตาย เนื่องจากภายในท้องตนเองมีความรู้อยู่มากมาย ด้วยความหลงตัวเอง สัจจกนิครนถ์ กล้าประกาศว่า ทั่วทั้งเวสาลี ไม่มีสมณะ พราหมณ์ คณาจารย์ หรือแม้แต่พระอรหันต์องค์ใด ที่มีปัญญาสูงส่งสามารถโต้ตอบปัญหากับเขาได้โดยไม่ประหม่าหวั่นไหว เขาคุยอวดอ้างถึงขั้นว่า อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้เสาศิลาหากต้องตอบโต้ปัญหาด้วย เสานั้นยังต้องประหม่าสะทกสะท้านหวั่นไหว ด้วยความเชื่อมั่นในความรู้ของตน สัจจกนิครนถ์ก็มักจะคอยหาเรื่องโต้ตอบปัญหาต่างๆกับบรรดาพระสาวกอยู่เสมอ
วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ ได้พบกับพระอัสสชิเถระ ผู้เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร เข้าได้ถามว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร พระอัสสชิตอบว่า "ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของเรา" สัจจกนิครนถ์มีความเห็นเป็นตรงกันข้าม จึงประกาศจะเอาชนะพระพุทธเจ้าด้วยวาทะ เขาพร้อมดด้วยศิษย์ที่เป็นเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ คน จึงไปถามปัญหากับพระพุทธเจ้าที่ป่ามหาวัน
สัจจกนิครนถ์ : "ดูก่อน พระสมณโคดม ได้ยินว่าท่านสอนขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนของเรา ใช่หรือไม่"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ คำสอนของเรา คือ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตนของเรา สัญญาไม่ใช่ตัวตนของเรา สังขารไม่ใช่ตัวตนของเรา วิญญาณไม่ใช่ตัวตนของเรา สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้"
สัจจกนิครนถ์ : "ดูก่อนพระโคดม ธรรมดาพืชพันธ์ุเจริญงอกงามได้ เพราะอาศัยแผ่นดิน ฉันใด บุคคลก็ย่อมต้องมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร และมีวิญญาณเป็นตัวตนของเรา ฉันนั้น"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์ : "ถูกแล้ว พระโคดม"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้นเราจักสอบถามท่านว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าอชาตศัตรู อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้คุณให้โทษบุคคล ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ใช่หรือไม่"
สัจจกนิครนถ์ : "ถูกแล้วพระโคดม อย่าว่าแต่พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าอชาตศัตรูเลย แม้วัชชีและมัลละ ก็อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในแว่นแคว้นของตนได้เช่นกัน"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ถ้าเช่นนั้นจะกล่าวว่ารูปเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร หากรูปเป็นของเรา เราต้องเป็นผู้กำหนดรูปของเราเองมิใช่หรือ"
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามซ้ำ สัจจกนิครนถ์ ก็ยังนิ่งเฉย
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ บัดนี้ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่งอยู่ ท่านรู้หรือไม่ว่าผู้ใดอันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึง ๓ ครั้ง มิได้แก้ ศีรษะของผ็นั้นจะแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง"
สัจจกนิครนถ์ได้ฟังก็ตกใจกลัวจนขนลุกชัน กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอท่านจงถามต่อเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่ารูปเป็นตัวตนของเรา แสดงว่าท่านมีอำนาจในรูปของท่าน ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์ : "มิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านเชื่อว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นตัวตนของเรา ดังนั้น ท่านจึงมีอำนาจในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดังนี้หรือ"
สัจจกนิครนถ์ : "มิได้เลยพระโคดม ผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ดังนั้นท่านจะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง"
สัจจกนิครนถ์ : "ไม่เที่ยง"
พระพุทธเจ้า : "ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข"
สัจจกนิครนถ์ : "สิ่งนั้นเป็นทุกข์"
พระพุทธเจ้า : "สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนอยู่ ควรหรือที่จะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา"
สัจจกนิครนถ์ : "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้า : "ดูก้อนอัคคิเวสสนะ ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา มีอยู่หรือ"
สัจจกนิครนถ์ : "ไม่มีเลย พระโคดม"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั้นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้หรือ
สัจจกนิครนถ์ : "มิใช่เลย พระโคดมผู้เจริญ"
พระพุทธเจ้า : "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ บุรุษต้องการแก่นไม้ ถือเอามีดคมไปสู่ป่า เขาไปตัดฟันต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่ง เขาก็ไม่พบแม้แต่กระพี้ และแก่น ฉันใด ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านอันเราซักไซร้ไล่เรียง ก็ว่างเปล่าในถ้อยคำของตนเองเหมือนต้นกล้วยฉันนั้น ท่านกล่าววาจาในที่ชุมชนเมืองเวสาลี ว่าไม่มีสมณะ พราหมณ์ คณาจารย์ หรือแม้แต่อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ที่โต้ตอบกับท่านได้โดยไม่เกิดอาการประหม่าหวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ แม้แต่คนเดียว ดูก่อนอัคคเวสสนะ บัดนี้หยาดเหงื่อของท่านหยาดหยดจากหน้าผาก ลงยังผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนเหงื่อของเราหามีไม่"
สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่ง คอตก ก้มหน้า หมดปฏิภาณ พ่ายแพ้แก่พุทธปัญญาของพระพุทธองค์ และได้นิมนต์พระพุทธเจ้าไปรับภัตตาหาร ที่อารามของตนเองในวันรุ่งขึ้น...........................................