BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
ผู้จัดการทีม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 30 Oct 2009
ตอบ: 168457
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 02:24
คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)

ฤดูกาล 2020 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบการแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกครบ 70 ปี หลังจากมีการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1950 อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลนี้มีความยากลำบากจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันฟอร์มูล่าวันเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาอีกหลายรายการ


ปฏิทินการแข่งขันปี 2020
ฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกเป็นการแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนสะสม ซึ่งจำนวนสนามในปฏิทินการแข่งขันแต่ละปีขึ้นอยู่กับการลงนามร่วมกันในสัญญาการจัดการแข่งขันระหว่างสนามนั้นๆ กับผู้ถือลิขสิทธิ์ทางการค้าของการแข่งขัน ปัจจุบันฟอร์มูล่าวันบริหารงานโดยลิเบอร์ตี้มีเดีย ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์รายใหญ่ของอเมริกา

ฤดูกาล 2020 มีสนามที่ต้องชิงชัยตามประกาศดั้งเดิมทั้งสิ้น 22 สนาม โดยมีสนามเวียดนามเป็นน้องใหม่ และสนามเนเธอร์แลนด์ได้กลับสู่ปฏิทินการแข่งขันหลังจัดการแข่งขันครั้งล่าสุดในปี 1985 อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต โดยปฏิทินการแข่งขันนับถึงปัจจุบันมีดังนี้

สนามที่ 1: 15 มี.ค. - เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
สนามที่ 2: 22 มี.ค. - ซาคีร์ บาห์เรน (ประกาศให้แข่งขันโดยไม่มีผู้ชมในสนาม)
สนามที่ 3: 5 เม.ย. - ฮานอย เวียดนาม
สนามที่ 4: 19 เม.ย. - เซี่ยงไฮ้ จีน (*เลื่อนการแข่งขันอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจาก COVID-19)
สนามที่ 5: 3 พ.ค. - แซนด์วูร์ต เนเธอร์แลนด์
สนามที่ 6: 10 พ.ค. - บาร์เซโลน่า สเปน
สนามที่ 7: 24 พ.ค. - มอนติคาร์โล โมนาโก
สนามที่ 8: 7 มิ.ย. - บาคู อาเซอร์ไบจัน
สนามที่ 9: 14 มิ.ย. - มอนทรีออล แคนาดา
สนามที่ 10: 28 มิ.ย. - เลอ กาสแตลเลต์ ฝรั่งเศส
สนามที่ 11: 5 ก.ค. - สปีลเบิร์ก ออสเตรีย
สนามที่ 12: 19 ก.ค. - ซิลเวอร์สโตน สหราชอาณาจักร
สนามที่ 13: 2 ส.ค. - บูดาเปสต์ ฮังการี
สนามที่ 14: 30 ส.ค. - สปา-ฟรองคอร์ชองป์ เบลเยี่ยม
สนามที่ 15: 6 ก.ย.- มอนซ่า อิตาลี
สนามที่ 16: 20 ก.ย. - สิงคโปร์
สนามที่ 17: 27 ก.ย. - โซชิ รัสเซีย
สนามที่ 18: 11 ต.ค. - ซูซูกะ ญี่ปุ่น
สนามที่ 19: 25 ต.ค. - ออสติน สหรัฐอเมริกา
สนามที่ 20: 1 พ.ย. - เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก
สนามที่ 21: 15 พ.ย. - เซาเปาโล บราซิล
สนามที่ 22: 29 พ.ย. - อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์



ทีมและนักแข่ง
มีจำนวนทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมนักขับ 20 คน เช่นเดียวกับปีที่แล้ว แต่มีการเปลี่ยนชื่อทีมอยู่ทีมหนึ่ง คืออดีตโตโร รอสโซ เป็นอัลฟ่าทาวรี่ (AlphaTauri)

แชมป์โลกฟอร์มูล่าวันคนปัจจุบันคือ ลูอิส แฮมิลตัน ซึ่งเป็นแชมป์ 6 สมัย และเมอร์เซเดส ต้นสังกัดของเขาก็เป็นทีมแชมป์โลกปัจจุบัน 6 สมัยซ้อนอีกด้วย โดยนักขับดีกรีแชมป์โลกที่ลงแข่งขันในฤดูกาลนี้มีอีก 3 คน นอกจากแฮมิลตัน (แชมป์ปี 2008 2014 2015 2017 2018 และ 2019) ก็ยังมีเซบาสเตียน เวทเทล (2010-2013) และคิมี่ ไรค์โคเน่น (2007) โดยไรค์โคเน่นเป็นนักขับอายุมากที่สุดในกริด เขาจะลงแข่งที่ออสเตรเลียขณะอายุ 40 ปี 5 เดือน

รายชื่อ ทีมแข่ง นักแข่ง แชสซีส์ เครื่องยนต์ มีดังนี้

เมอร์เซเดส (MERCEDES-AMG PETRONAS FORMULA ONE TEAM)
แชสซีส์: W11
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 44 ลูอิส แฮมิลตัน (สหราชอาณาจักร) และ 77 วาลท์เทรี่ บอตทาส (ฟินแลนด์)

เฟอร์รารี่ (SCUDERIA FERRARI MISSION WINNOW)
แชสซีส์: SF1000
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 5 เซบาสเตียน เวทเทล (เยอรมัน) และ 16 ชาร์ล เลอแคลร์ (โมนาโก)

เร้ดบูล (ASTON MARTIN RED BULL RACING)
แชสซีส์: RB16
เครื่องยนต์: ฮอนด้า
นักแข่ง: 33 แม็กซ์ เวอร์สตัปเพ่น (ฮอลแลนด์) และ 23 อเล็กซานเดอร์ อัลบอน (ไทย)

แม็คลาเรน (MCLAREN F1 TEAM)
แชสซีส์: MCL35
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 55 คาร์ลอส ซายนซ์ (สเปน) และ 4 แลนโด้ นอร์ริส (สหราชอาณาจักร)

เรโนลต์ (RENAULT F1 TEAM)
แชสซีส์: R.S. 20
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 3 แดเนียล ริกเคียร์โด้ (ออสเตรเลีย) และ 31 เอสเตบัน โอคอน (ฝรั่งเศส)

อัลฟ่าทาวรี่ (SCUDERIA ALPHATAURI HONDA) *อดีตโตโร รอสโซ
แชสซีส์: AT01
เครื่องยนต์: ฮอนด้า
นักแข่ง: 26 ดาเนียล คัฟยาต (รัสเซีย) และ 10 ปิแอร์ แกสลีย์ (ฝรั่งเศส)

เรซซิ่งพ้อยต์ (BWT RACING POINT F1 TEAM)
แชสซีส์: RP20
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 11 เซอร์จิโอ เปเรซ (เม็กซิโก) และ 18 แลนซ์ สโตรล (แคนาดา)

อัลฟ่าโรเมโอ (ALFA ROMEO RACING ORLEN)
แชสซีส์: C39
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 7 คิมี่ ไรค์โคเน่น (ฟินแลนด์) และ 99 อันโตนิโอ โจวินาซซี่ (อิตาลี)

ฮาส (HAAS F1 TEAM)
แชสซีส์: VF-20
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 8 โรแมง โกรส์ฌอง (ฝรั่งเศส) และ 20 เควิน แม็กนุสเซ่น (เดนมาร์ก)

วิลเลียมส์ (ROKIT WILLIAMS RACING)
แชสซีส์: FW43
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 63 จอร์จ รัสเซลล์ (สหราชอาณาจักร) และ 6 นิโคลัส ลาทิฟี่ (แคนาดา)

หมายเหตุ: ในวงเล็บคือชื่อเต็มของทีม

*********************************************************

กฎการแข่งขันเบื้องต้น

สุดสัปดาห์การแข่งขัน
ในแต่ละสุดสัปดาห์การแข่งขันประกอบด้วย

วันศุกร์ - เป็นรอบฝึกซ้อม (Free Practice) แบ่งเป็น 2 รอบ เช้าและบ่าย หรือบ่ายและค่ำสำหรับกรณีไนท์เรซ รอบละ 90 นาที (สำหรับรายการโมนาโก กรังด์ปรีซ์ รอบฝึกซ้อมวันแรกจะจัดในวันพฤหัสบดี เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของเมือง)

วันเสาร์ - ประกอบด้วยรอบฝึกซ้อมครั้งสุดท้าย ใช้เวลา 60 นาที และถัดมาจะเป็นรอบควอลิฟาย (Qualifying) หรือรอบแข่งขันจับเวลาเพื่อจัดอันดับสตาร์ทในวันแข่งขันจริงคือในวันอาทิตย์ ใช้เวลา 60 นาที ซึ่งรอบควอลิฟายจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงย่อย ได้แก่
Q1 ใช้เวลา 18 นาที ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุด 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 16-20)
Q2 ใช้เวลา 15 นาที สำหรับรถ 15 คัน เวลาจาก Q1 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่ ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุดอีก 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 11-15)
Q3 ใช้เวลา 12 นาที สำหรับรถ 10 คันสุดท้าย เวลาจาก Q2 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่และจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 1-10) ผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ออกตัวจากกริดสตาร์ทอันดับที่ 1 หรือที่เรียกว่าตำแหน่งโพล (Pole Position) ซึ่งเป็นตำแหน่งสตาร์ทที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ จำนวนการคัดรถออกจาก Q1 และ Q2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนรถที่เข้าแข่งขันในแต่ละฤดูกาล สำหรับปี 2019 มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมจำนวนรถ 20 คัน โดยรถทุกคันจะต้องทำเวลาให้อยู่ในเวลา 107% ของเวลาที่เร็วที่สุดใน Q1 เพื่อผ่านการควอลิฟายไปเข้าร่วมการแข่งขัน หากเวลาควอลิฟายไม่ถึง 107% ให้อยู่ในดุลยพินิจของกรรมการว่าจะอนุญาตให้รถคันนั้นๆ ลงแข่งขันหรือไม่

วันอาทิตย์ - เป็นวันแข่งขันหรือ Race Day โดยกำหนดให้ระยะทางรวมในการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 305 กม. (สำหรับสนามโมนาโกถือเป็นข้อยกเว้น ลดเหลือประมาณ 260 กม.) หรือใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นแต่การแข่งขันจะถูกคั่นด้วยธงแดงเพื่อหยุดการแข่งขันชั่วคราวอันเนื่องจากอุบัติเหตุหรือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย


คะแนนสะสม
ฟอร์มูล่าวันใช้ระบบสะสมคะแนนตลอดทั้งฤดูกาล ผู้ที่ได้คะแนนสะสมมากที่สุดทั้งประเภทนักขับและประเภททีมผู้สร้างจะได้แชมป์โลกประจำฤดูกาลไปครอง โดยการให้คะแนนนักขับจะจัดสรรให้กับผู้ที่เข้าเส้นชัย 10 อันดับแรกดังนี้


อันดับที่ 1 - 25 คะแนน
อันดับที่ 2 - 18 คะแนน
อันดับที่ 3 - 15 คะแนน
อันดับที่ 4 - 12 คะแนน
อันดับที่ 5 - 10 คะแนน
อันดับที่ 6 - 8 คะแนน
อันดับที่ 7 - 6 คะแนน
อันดับที่ 8 - 4 คะแนน
อันดับที่ 9 - 2 คะแนน
อันดับที่ 10 - 1 คะแนน

สำหรับคะแนนทีมผู้สร้างจะเป็นการนำคะแนนของนักขับในทีมทั้ง 2 คนที่ได้รับจากแต่ละสนามมารวมกัน และนับตั้งแต่ฤดูกาล 2019 เป็นต้นมา นักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุด (fastest lap) ในการแข่งขันและจบการแข่งขันใน 10 อันดับแรกจะได้รับคะแนนโบนัส 1 คะแนน ซึ่งทีมต้นสังกัดของนักขับที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดจะได้คะแนนพิเศษ 1 คะแนนนี้ด้วย


การใช้ยาง
ยางที่รถฟอร์มูล่าวันใช้แข่งขันในปัจจุบันมาจากผู้ผลิตรายเดียวคือปิเรลลี่ (Pirelli) ของอิตาลี ซึ่งในปีนี้ยังใช้ยางสเป็ก 2019 ต่อไป ประเภทของยางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยางสำหรับแทร็คแห้ง (slick) และยางสำหรับแทร็คเปียก ซึ่งแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ดังนี้

ยางสำหรับแทร็คแห้ง
ตั้งแต่ปี 2019 ปิเรลลี่ปรับเปลี่ยนการเรียกชื่อและแถบสีด้านข้างของยาง โดยลดจำนวนเหลือใช้เพียงแค่ 3 เนื้อ 3 สีในการแข่งขันแต่ละสนาม ได้แก่ ฮาร์ด (สีขาว - เนื้อแข็งที่สุด) มีเดียม (สีเหลือง - เนื้อปานกลาง) และซอฟต์ (สีแดง - เนื้อนิ่มที่สุด) มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมจดจำการใช้ยางให้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริง เนื้อยางของปีนี้มีทั้งหมด 5 เนื้อด้วยกัน มีชื่อเรียกเป็น C1-C5 ซึ่งปิเรลลี่จะบอกให้ทีมและสื่อทราบล่วงหน้าว่าแต่ละสนามที่เลือก 3 เนื้อเพื่อมาทำเป็น 3 สีนั้นเป็นเนื้อไหนบ้าง มีคำอธิบายของยางแต่ละเนื้อดังนี้

C1 - เป็นยางเนื้อแข็งที่สุด ถ้าเทียบแล้วเนื้อจะนิ่มกว่ายางฮาร์ดของปีก่อน ออกแบบมาสำหรับสนามที่ยางต้องรองรับพลังงานสูงสุด อย่างสนามโค้งความเร็วสูง แทร็คที่ขรุขระ หรือแทร็คที่อุณหภูมิสูง ยางเนื้อนี้ใช้เวลาในการวอร์มนานกว่าเนื้ออื่น แต่ทนกว่าและมีอัตราการสึกหรอต่ำ

C2 - เทียบได้กับยางมีเดียมของปี 2018 นับเป็นยางอเนกประสงค์ที่เนื้อออกจะแข็งสักหน่อย เหมาะกับสนามที่ใช้ความเร็วสูง มีอุณหภูมิสูง รองรับพลังงานสูง เป็นยางที่นำมาใช้ได้อย่างหลากหลาย สามารถปรับใช้ได้กับสภาพสนามต่างๆ

C3 - เท่ากับยางซอฟต์ของปี 2018 คงความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพกับความคงทนได้ดี โดยเน้นในเรื่องประสิทธิภาพ เป็นยางที่ปรับใช้ได้หลากหลายมาก จะใช้เป็นยางนิ่มที่สุดสำหรับสนามที่ยางต้องรับบทหนัก หรือเป็นยางแข็งที่สุดสำหรับสนามที่เป็นมิตรกับยางหรืออย่างสตรีทเซอร์กิตก็ได้

C4 - มีความใกล้เคียงกับยางอัลตร้าซอฟต์ของปี 2018 ที่สุด ทำงานได้ดีในสนามที่มีโค้งแคบหรือหักไปมา สามารถวอร์มได้อย่างรวดเร็วและถึงจุดสูงสุดของการทำงานได้ดีมาก แต่อายุการใช้งานค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ได้มีการปรับปรุงเรื่องความสม่ำเสมอในการใช้งาน ดังนั้นยางเนื้อนิ่มกว่าจะใช้ได้อเนกประสงค์ยิ่งขึ้น

C5 - เป็นยางเนื้อนิ่มที่สุดและเป็นรุ่นต่อมาของยางไฮเปอร์ซอฟต์ของปี 2018 ซึ่งเป็นยางที่ทำความเร็วได้ดีที่สุดเท่าที่ปิเรลลี่เคยผลิตมา ยางชนิดนี้เหมาะกับทุกสนามที่ต้องการการเกาะถนนในระดับสูง แต่ต้องแลกการได้ความเร็วพิเศษและการยึดเกาะไปกับอายุการใช้งานที่สั้นกว่ายางชนิดอื่นในรุ่นปัจจุบัน หากรีดประสิทธิภาพยางนี้ออกมาได้สูงสุดก็จะเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์การแข่งขัน


ยางสำหรับแทร็คเปียก
ยางอินเตอร์มีเดียต - แถบสีเขียว สำหรับแทร็คกึ่งเปียกกึ่งแห้ง
ยางฟูลเว็ต - แถบสีฟ้า สำหรับแทร็คที่เปียกมาก มีน้ำขัง

สำหรับกฎการใช้ยางมีรายละเอียดดังนี้
- ปิเรลลี่ โดยการปรึกษาร่วมกับเอฟไอเอ จะประกาศเนื้อยางสำหรับการแข่งขันในแต่ละสนามที่จะระบุเป็นฮาร์ด มีเดียม และซอฟต์ ให้ทีมแข่งและสื่อรับทราบล่วงหน้า

- นักขับแต่ละคนจะได้รับยางสำหรับแทร็คแห้งจำนวน 13 ชุด ยางอินเตอร์มีเดียต 4 ชุด และยางฟูลเว็ต 3 ชุด สำหรับใช้ตลอดสุดสัปดาห์การแข่งขัน ได้แก่ ช่วงฝึกซ้อม รอบควอลิฟาย และการแข่งขัน

- นักขับแต่ละคนต้องเก็บยางสำหรับแทร็คแห้งชนิดนิ่มที่สุดจาก 3 ชนิดที่ปิเรลลี่ประกาศให้ใช้ในสนามนั้นๆ จำนวน 1 ชุดไว้ใช้ในรอบควอลิฟาย Q3 หากผ่านเข้าไปเป็น 10 คันสุดท้าย ส่วนนักขับที่เหลือสามารถเก็บยางชุดนี้ไปใช้ในวันแข่งได้

- นักขับแต่ละคนต้องมียางตามการประกาศอีก 2 ชุดไว้ใช้ในวันแข่ง (เป็นยางเนื้อแข็งที่สุดและแข็งปานกลางของสนามนั้นๆ)

- ทีมมีอิสระในการเลือกยางอีก 10 ชุดจากชนิดตามการประกาศให้กับนักขับแต่ละคน โดยทีมสามารถเลือกยางให้เหมาะกับนักขับแต่ละคนได้ ทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องเลือกจำนวนยางเหมือนกัน รวมแล้วนักขับก็จะได้รับยางสำหรับแทร็คแห้งคนละ 13 ชุด

- การเลือกยางสำหรับสนามนอกทวีปยุโรปต้องแจ้งล่วงหน้า 14 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน และสำหรับสนามในทวีปยุโรปต้องแจ้งล่วงหน้า 8 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน

- ทีมจะต้องเลือกยางที่จะใช้ภายในวันที่ปิเรลลี่กำหนด โดยเลือกล่วงหน้า 8 สัปดาห์สำหรับการแข่งขันในทวีปยุโรป และ 14 สัปดาห์สำหรับสนามนอกทวีป ซึ่งปิเรลลี่จะแจ้งการเลือกยางไปยังเอฟไอเอ และจากนั้นจะแจ้งกลับมายังปิเรลลี่ถึงจำนวนยางที่ต้องผลิต การเลือกยางของแต่ละทีมจะถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่ง 2 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันจะมีการเปิดเผย หากทีมใดเลือกยางช้ากว่ากำหนด เอฟไอเอโดยร่วมปรึกษากับปิเรลลี่จะเป็นผู้เลือกยางให้แทน

- ทีมต้องส่งคืนยางทางอิเล็กทรอนิกตามกำหนดที่ระบุ แต่พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกชนิดของยางที่จะส่งคืนได้ตามกำหนดเวลาช่วงต่างๆ ได้แก่
1 ชุดหลัง 40 นาทีแรกของการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
1 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
2 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 2 (FP2)
2 ชุดภายใน 2 ชั่วโมงหลังจบการซ้อมครั้งที่ 3 (FP3)
*เว้นแต่ทั้ง FP1 และ FP2 ได้รับการประกาศให้เป็นช่วงแทร็คเปียกหรือถูกยกเลิก นักขับแต่ละคนอาจเก็บยางไว้ได้ 1 ชุด แต่ต้องส่งคืนก่อนเริ่มรอบควอลิฟาย

- ห้ามทีมส่งคืนยางบังคับ 2 ชุดที่ปิเรลลี่เลือกให้ไว้และยางนั้นต้องพร้อมใช้ในการแข่งขัน

- หากไม่ได้ใช้ยางอินเตอร์มีเดียตหรือฟูลเว็ทในการแข่งขัน นักขับทุกคนต้องใช้ยางสำหรับแทร็คแห้งอย่างน้อย 2 ชนิดระหว่างการแข่งขัน และต้องเป็น 1 ใน 2 ชุดที่ปิเรลลี่กำหนดไว้ ซึ่งแล้วแต่ทีมว่าจะเลือกเป็นชุดไหน

- ห้ามส่งคืนยางบังคับ 1 ชุดที่ให้ใช้ในรอบควอลิฟายก่อนถึงช่วง Q3 นักขับที่สามารถผ่านเข้ารอบควอลิฟาย Q3 ต้องส่งคืนยางชุดดังกล่าวภายใน 3 ชั่งโมงครึ่งหลังสิ้นสุด Q3 และต้องสตาร์ทการแข่งขันด้วยยางที่ตนทำเวลาเร็วที่สุดใน Q2 ส่วนนักขับที่ไม่ได้ผ่านเข้า Q3 สามารถเก็บยางที่ให้ใช้เฉพาะ Q3 นั้นไปใช้ในการแข่งขันได้

- หลังจบรอบควอลิฟาย เมื่อยางได้รับการส่งคืนครบถ้วนแล้วปิเรลลี่จะเปิดเผยข้อมูลว่านักขับแต่ละคนเหลือยางชนิดใดบ้างในวันแข่งขัน

สัญญาณธงในสนามที่สำคัญ
ธงตราหมากรุก - จบการแข่งขันหรือหมดเวลาในรอบควอลิฟาย สำหรับปี 2019 ในการโบกธงตราหมากรุกเพื่อแสดงถึงจบการแข่งขัน (แข่งขันครบจำนวนรอบที่กำหนด) ยังคงเป็นไปตามปกติ แต่จะเพิ่มสัญญาณจบการแข่งขันอย่างเป็นทางการโดยเป็นแผงไฟตราหมากรุกแสดงที่เส้นชัยด้วย

ธงเหลืองเดี่ยว - มีอันตรายอยู่ข้างหน้า ให้เตรียมลดความเร็ว
ธงเหลืองคู่ - มีอุบัติเหตุอยู่ข้างหน้า ให้ลดความเร็วลงทันที
*ห้ามแซงภายใต้ธงเหลืองใดๆ โดยเด็ดขาด

ธงเขียว - แทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นักแข่งใช้ความเร็วในการแข่งขันตามปกติได้

ธงแดง - หยุดช่วง ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันหรือควอลิฟาย มักใช้กรณีที่มีอุบัติเหตุรุนแรง แทร็คมีเศษชิ้นส่วนกระจัดกระจายไปทั่ว หรือสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันเนื่องจากสภาพอากาศ

ธงเหลืองสลับแดง - ระวังแทร็คลื่นข้างหน้า มักเกิดจากมีน้ำมันหรือน้ำบนผิวแทร็ค

ธงดำจุดกลมสีส้มตรงกลางพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นมีปัญหาทางเทคนิคและให้กลับเข้าพิตโดยเร็วที่สุด

ธงดำพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นต้องกลับเข้าพิตโดยทันทีเนื่องจากถูกตัดออกจากการแข่งขัน (disqualified)

ธงครึ่งขาวครึ่งดำพร้อมหมายเลขนักขับ - นักขับรถคันนั้นขับขี่โดยไม่สมควร ถือเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายก่อนจะถึงธงดำ

ธงขาว - ให้ระวังพาหนะเคลื่อนที่ช้าที่อยู่ในแทร็ค

ธงฟ้า - บอกให้รถช้าที่กำลังจะถูกน็อกรอบรู้ว่ามีรถที่เร็วกว่าและอยู่คนละรอบตามมา ต้องเปิดทางให้ ถ้าผ่านธงฟ้า 3 จุดติดต่อกันแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ

เซฟตี้คาร์
เซฟตี้คาร์จะออกมาเมื่อกรรมการฝ่ายควบคุมการแข่งขันเห็นว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ในจุดที่เสี่ยง และการกู้รถต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนกับจุดเดิม เซฟตี้คาร์ออกมาวิ่งนำการแข่งขันโดยอยู่ข้างหน้ารถผู้นำ เป็นการควบคุมความเร็วของรถบนแทร็คให้เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ขณะที่วิ่งตามหลังเซฟตี้คาร์ ห้ามไม่ให้มีการแซงกัน หากมีรถช้าที่วิ่งคนละรอบ (รถถูกน็อกรอบ) แทรกอยู่ กรรมการจะให้สัญญาณรถช้านั้นแซงเซฟตี้คาร์ขึ้นมาเพื่อวนกลับไปอยู่ในตำแหน่งจริงของตน ซึ่งนักขับอาจเข้าพิตไปเปลี่ยนยางได้ตามสัญญาณที่กรรมการแจ้งว่าพิตเลนเปิด

หากสถานการณ์ในแทร็คกลับมาเป็นปกติได้แล้ว เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลน โดยจะให้สัญญาณแก่ผู้นำด้วยการดับไฟสีเหลืองบนรถในรอบสุดท้ายที่วิ่ง เมื่อเซฟตี้คาร์กลับเข้าไปในพิตเลนแล้ว รถจะกลับมาแข่งขันด้วยความเร็วเต็มที่และแซงกันได้ตามปกติก็ต่อเมื่อวิ่งผ่านเส้นชัย (finishing line) ไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้นำการแข่งขันมีสิทธิ์กำหนดจังหวะวิ่งผ่านเส้นชัย ถ้าผู้นำยังไม่ข้ามเส้น แม้เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลนแล้วก็ยังแซงกันไม่ได้

ในกรณีที่การกู้รถที่เกิดอุบัติเหตุทำไม่สำเร็จภายในรอบการแข่งขันที่เหลือ เซฟตี้คาร์จะวิ่งอยู่จนจบการแข่งขัน แต่ก่อนถึงเส้นชัยเซฟตี้คาร์จะวิ่งกลับเข้าพิตเลนไปก่อนเพื่อปล่อยให้รถผ่านเส้นชัยตามปกติ

ปัจจุบันมีการนำระบบเสมือนมีเซฟตี้คาร์ในสนาม (Virtual Safety Car - VSC) มาใช้โดยมีสถานะเทียบเท่ากับการโบกธงเหลืองคู่ แต่อาจไม่จำเป็นถึงขั้นใช้เซฟตี้คาร์ เมื่อกรรมการตัดสินใจให้ใช้ระบบ VSC จะมีป้ายไฟสัญญาณขึ้นแจ้งนักขับด้านข้างสนาม นักขับต้องลดความเร็วลงแต่ไม่ช้าเกินกว่าที่กำหนด และเมื่อสถานการณ์ในแทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ป้ายไฟสัญญาณจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว

นอกจากนั้น กระบวนการเริ่มการแข่งขันอีกครั้งหลังเซฟตี้คาร์กลับเข้าพิตไปแล้ว (Restart) เดิมนั้นเป็นแบบโรลลิ่งสตาร์ทอย่างที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ แต่ปัจจุบันเมื่อหมดช่วงเซฟตี้แล้วจะให้เป็นแบบตั้งกริดสตาร์ทกันใหม่ ไฟสัญญาณจะขึ้นเป็นตัวอักษร SS ไปทั่วสนาม พร้อมข้อความ STANDING START จากระบบส่วนกลาง และไฟสีส้มของเซฟตี้คาร์ก็จะดับลงเพื่อเป็นสัญญาณให้นักขับทราบว่าการแข่งขันจะกลับสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม แบบโรลลิ่งสตาร์ทยังคงมีอยู่ หากสถานการณ์ไม่เหมาะกับการรีสตาร์ทแบบตั้งกริด โดยสัญญาณและข้อความของโรลลิ่งสตาร์ทคือ RS หรือ ROLLING START


*********************************************************

กฎด้านเทคนิคเบื้องต้นที่ควรทราบ

เครื่องยนต์
นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เครื่องยนต์ฟอร์มูล่าวันใช้ขนาด 1.6 ลิตร V6 เทอร์โบ จำกัดความเร็วรอบเครื่องไม่เกิน 15000 rpm นอกจากกำลังของเครื่องยนต์แล้ว ยังจะได้แรงม้าจากการใช้ระบบ ERS (Energy Recovery System) ซึ่งเป็นระบบที่เปลี่ยนพลังงานกลและพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

หน่วยเครื่องยนต์ (Power Unit) ของรถฟอร์มูล่าวันประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 6 ส่วน ได้แก่
1. เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE)
2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานจลน์ (Motor Generator Unit - Kinetic: MGU-K)
3. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานความร้อน (Motor Generator Unit - Heat: MGU-H)
4. ระบบสะสมพลังงาน (Energy Store: ES) หรือแบตเตอรี่
5. เทอร์โบชาร์จเจอร์ (Turbo Charger: TC)
6. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Control Electronics: CE) หรือ CPU



กฎการใช้หน่วยเครื่องยนต์ของปี 2020
- การใช้หน่วยเครื่องยนต์ (power unit) ตามโควต้าปีนี้นักขับต้องใช้เครื่องยนต์ (ICE) เทอร์โบ (TC) MGU-H และ MGU-K คนละ 3 ตัว ส่วนแบตเตอรี่ (ES) และ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (CE) คนละ 2 ตัว หากเกินจากนี้จะต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทในสนามที่ใช้ส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์เกินโควต้า

- หากนักขับใช้ส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์ส่วนใดเกินโควต้าเป็นครั้งแรกจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทลง 10 อันดับจากที่ทำได้ในรอบควอลิฟาย และหากใช้ส่วนประกอบนั้นๆ เกินโควต้าเป็นครั้งต่อไป นักขับจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทส่วนประกอบละ 5 อันดับ โดยกระบวนการลงโทษจะเป็นไปเช่นนี้อีกเมื่อเริ่มใช้ส่วนประกอบใดๆ เกินโควต้าเป็นครั้งที่ 2 3 4 ฯลฯ

- ถ้านักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ท 15 อันดับขึ้นไป จะต้องสตาร์ทจากอันดับสุดท้าย และหากมีนักขับต้องรับโทษแบบเดียวกันนี้มากกว่า 1 คนในรายการหนึ่งๆ ผู้ที่รับโทษเปลี่ยนส่วนประกอบเครื่องยนต์มากที่สุดจะต้องเป็นผู้ออกตัวจากกริดสุดท้าย

- ห้ามไม่ให้นักขับยอมรับโทษจำนวนมากในสนามเดียวโดยจงใจ เพื่อสะสมส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์ที่เกินโควต้าไปใช้ในสนามอื่นๆ หากมีการเปลี่ยนส่วนประกอบใดๆ ของหน่วยเครื่องยนต์มากกว่า 1 ตัวในสุดสัปดาห์การแข่งขัน จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะส่วนประกอบตัวล่าสุดเท่านั้นและรับโทษตามกฎ แล้วจะสามารถใช้ในสนามถัดไปได้โดยไม่ต้องรับโทษอีก

- มีการเข้มงวดกับการเผาไหม้ของน้ำมันเครื่อง โดยอนุญาตให้เผาไหม้ที่อัตรา 0.6 ลิตร/100 กม.

- อัตราการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุดกำหนดไว้ที่ 100 กม./ชม. โดยปีนี้ให้มีการเพิ่มเซ็นเซอร์วัดอัตราการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิงตัวที่ 2 ในหน่วยเครื่องยนต์ เพื่อช่วยให้เอฟไอเอจับตาการใช้เชื้อเพลิงของรถแบบทันที (real time) ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้น้ำหนักรวมขั้นต่ำของรถปี 2020 เพิ่มจากเดิมที่ตกลงกัน 745 กก. เป็น 746 กก. เพื่อรองรับเซ็นเซอร์ตัวที่ 2 ดังกล่าว

- ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องยนต์ในฟอร์มูล่าวันมี 4 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เฟอร์รารี่ เรโนลต์ และฮอนด้า

เกียร์บ็อกซ์/ชุดเกียร์
นักขับแต่ละคนต้องใช้เกียร์บ็อกซ์ 1 ตัวสำหรับ 6 สนามติดต่อกัน หากมีการเปลี่ยนเกียร์บ็อกซ์ก่อนกำหนด นักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทลง 5 อันดับ เว้นแต่ถ้าไม่จบการแข่งขันด้วยเหตุที่นักขับไม่สามารถควบคุมได้ก็สามารถใช้เกียร์บ็อกซ์ตัวใหม่ได้ในสนามถัดไปโดยไม่ต้องรับโทษ


กฎด้านเทคนิคและกติกาการแข่งขันอื่นๆ ที่ได้มีการปรับปรุงสำหรับฤดูกาล 2020

การเปลี่ยนแปลงกฎด้านเทคนิค
- จำกัดชิ้นส่วนโลหะที่ปีกหน้า เพื่อลดปัญหาปีกหน้าของรถคันหลังเจาะยางหลังของรถคันหน้า โดย 50 มม. แรกของแผ่นประกบด้านข้างปีกหน้า (front wing endplate) จะต้องทำจากคาร์บอนไฟเบอร์เท่านั้น โดยส่วนอื่นๆ อย่างเช่นตัวยึดหรือตัวสอดเพื่อยึดปีกหน้า อนุญาตให้เป็นโลหะได้หลังเลยจากขอบหน้าของ endplate ไป 30 มม.

- ต่อไปนี้กำหนดให้เบรกดักต์ (ท่อลมเป่าชุดเบรก) เป็นหนึ่งใน "listed parts" หมายถึงทีมต้องออกแบบเอง ไม่สามารถซื้อจากบริษัทหรือทีมอื่นได้อย่างแต่ก่อน

- ลดระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยในการสตาร์ท ต่อไปนี้นักขับต้องควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์เองจากแป้นคลัตช์โดยตรงคิดเป็น 90% ในกระบวนการนี้ โดนนักขับยังคงมีระบบป้องกันเครื่องดับและฟังก์ชั่นช่วยการจับคลัตช์ (bite point finder)

- ลดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงนอกแทงก์หลัก ซึ่งมีไว้เพื่อให้เครื่องยนต์ยังคงเดินตามปกติ จากที่อนุญาตให้บรรจุได้ 2 ลิตรในปี 2019 เหลือเพียง 250 มล. ในปีนี้ เพื่อเป็นการป้องกันทีมแข่งพยายามหาประโยชน์หากยังมีน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณมากอยู่นอกถัง


กติกาการแข่งขันที่มีการเปลี่ยนแปลง
- กำหนดให้ธงตราหมากรุกกลับมาเป็นสัญญาณสิ้นสุดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

- ลดจำนวนวันทดสอบก่อนเปิดฤดูกาล จากเดิมมี 2 ช่วง ช่วงละ 4 วัน รวม 8 วัน ปีนี้จะเหลือเป็นช่วงละ 3 วัน รวม 6 วัน ได้แก่ 19-21 ก.พ. และ 26-28 ก.พ. งดการทดสอบระหว่างฤดูกาล และในการทดสอบยางปี 2021 หลังจบการแข่งขันที่อาบูดาบี ทีมจะต้องส่งนักขับเยาวชนของตนคนหนึ่งลงสนามอย่างน้อย 1 วัน

- ยืดระยะเวลากฎเคอร์ฟิว จากเดิมห้ามทีมงานทำงานในการาจคืนวันพฤหัสและศุกร์เป็นระยะเวลา 8 ชม. ปีนี้จะยืดเป็น 9 ชม. ซึ่งทีมยังคงมีสิทธิ์ผ่าเคอร์ฟิวได้ 2 ครั้งในฤดูกาลโดยไม่ต้องรับโทษ

- การกลับมาของครีบฉลาม (shark fin) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนแผ่นเล็กๆ เหนือฝาครอบเครื่อง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเลขประจำตัวนักขับให้ผู้ชมได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยชิ้นส่วนนี้แทบไม่มีผลกับด้านแอโรไดนามิกส์

- บทลงโทษสำหรับผู้ที่พลาดนำรถเข้าชั่งน้ำหนักตามที่กรรมการเอฟไอเอสุ่มเรียกจะเบากว่าในอดีต โดยให้เป็นไปตามการพิจารณาของสจ๊วร์ตประจำสนามนั้น เช่นเดียวกับผู้ที่จั๊มป์สตาร์ทก็จะได้รับโทษเบาลง อาจเป็นแค่การบวกเวลา 5 หรือ 10 วินาที

- ห้ามทีมใช้ฉากบังตาระหว่างการทดสอบก่อนเปิดฤดูกาลอย่างที่เคยทำในช่วงเวลาการทดสอบคือระหว่าง 9.00-18.00 น. ของแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ชมในสนามได้เห็นรายละเอียดการทำงานมากขึ้น แต่ทีมยังสามารถใช้ฉากบังได้เมื่อรถไม่ได้ประกอบฟลอร์หรือรถถูกส่งกลับมาหลังจากมีปัญหาหยุดกลางแทร็ค

- นักขับเยาวชนหรือนักขับที่ยังไม่มีประสบการณ์ในฟอร์มูล่าวันที่ได้ลงสนามในการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1) มีสิทธิ์ได้รับคะแนนสะสมพิเศษเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาขอใบอนุญาตแข่งขันฟอร์มูล่าวัน (superlicence) โดยจะได้รับสูงสุดถึง 10 คะแนนในช่วงเวลา 3 ปี


อากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics)
งานด้านแอโรไดนามิกส์ของรถฟอร์มูล่าวันมี 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ แรงกด (downforce) และแรงลาก (drag) ดาวน์ฟอร์ซจะกดยางลงบนพื้นถนนและช่วยให้เข้าโค้งได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะลดแรงลาก ซึ่งเป็นเหมือนกำแพงต้านอากาศขณะรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทั้งนี้ ดาวน์ฟอร์ซจะช่วยเพิ่มความเร็วให้รถระหว่างวิ่งบนทางตรงอีกด้วย (อ่านเรื่องดาวน์ฟอร์ซเพิ่มเติมได้ที่นี่ / อ่านเรื่องแรงลากเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ทุกตารางนิ้วบนรถฟอร์มูล่าวันมีผลกับแอโรไดนามิกส์โดยรวมของรถและการทำให้แอโรไดนามิกส์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของทีม

*********************************************************

ประวัติฟอร์มูล่าวันโดยสังเขป
การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1950 โดยเกิดจากการรวบรวมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการใหญ่ (Grand Prix) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในทวีปยุโรประหว่างยุคทศวรรษที่ 1920 และ 1930 เข้าไว้ด้วยกัน การแข่งขันฟอร์มูล่าวันกรังด์ปรีซ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1950

แชมป์โลกคนแรกของฟอร์มูล่าวันคือ จูเซปเป้ ฟาริน่า ส่วนทีมแชมป์โลกทีมแรกได้แก่ทีมแวนวอลล์ (ตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมมอบให้ในปี 1958 เป็นปีแรก) สำหรับนักขับที่ครองแชมป์โลกจำนวนมากที่สุดคือ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ซึ่งคว้าแชมป์โลกทั้งสิ้น 7 สมัย ในปี 1994-1995 และ 2000-2004 โดยก่อนเปิดฤดูกาล 2020 เขายังถือสถิติเป็นผู้ชนะการแข่งขันมากที่สุดด้วยจำนวน 91 สนาม ด้านเฟอร์รารี่เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วยจำนวนแชมป์โลก 16 สมัย

ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมีรายการที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดอยู่ 3 รายการ (Triple Crown) ได้แก่ อินเดียนาโปลิส 500 เลอมังส์ 24 ชั่วโมง และโมนาโก กรังด์ปรีซ์ ซึ่งรายการหลังจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1929 และอยู่ในปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันมาตลอดนับตั้งแต่ปี 1950


เครดิต f1starfanclub
แก้ไขล่าสุดโดย Spyjung เมื่อ Thu Mar 12, 2020 06:33, ทั้งหมด 12 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ


ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 22 May 2011
ตอบ: 18832
ที่อยู่: ห้องพักครู
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 08:35
ถูกแบนแล้ว
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ขอเขียร์อเล็กซ์ละกัน​ แม้จะชอบแฮมินตั่น
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
ดาวซัลโวยุโรป
Status: 愛して 愛して 愛して もっともっと愛して 愛して 狂おしいほどに
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 55681
ที่อยู่: Fox River State Penitentiary. Joliet , Illinois.
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 09:27
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ถ้าไม่มีอะไรเพิ่มเติม พรุ่งนี้คงได้ดูรอบ P1

แต่ตอนนี้ covid-19 เริ่มลามขึ้นเรื่อยๆ คงต้องดูสถานการณ์กันต่อไป
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
นักเตะอบต.
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 10 Feb 2010
ตอบ: 2290
ที่อยู่: หมอนใบนั้น ที่เธอฝันยามหนุน
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 09:56
[RE]คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

ผมพึงดู F1 ใน Netflix จบพอดี

อารมย์ค้างหลายคู่เลย อยากรู้หลายเรื่องในปีนี้เลย

อัลบอน กับ แกลสซี่
คู่ เฟอรรารี่
แล้วก็กฎใหม่ ตอนที่ถึงท้าย SS2 ไว้

ปล. เรดบูล สู้ๆ
โพสต์บนแอป Soccersuck บน iOS
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
Evertonians




ออฟไลน์
ซุปตาร์โอลิมปิก
Status: SANA THE BEST
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Jun 2010
ตอบ: 25148
ที่อยู่: ซานะนอนไหน ผมนอนนั่น
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 11:03
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ขอบคุณครับพี่เจ เชียอัลบ้อนกันต่อกับซีซั่นใหม่
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
_กูเด็ก Noto_



ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 2298
ที่อยู่: Bangkok Metropolis
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 17:02
ถูกแบนแล้ว
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ปีนี้ ss เปิด fantasy ไหมครับ
แก้ไขล่าสุดโดย Mcsiri เมื่อ Thu Mar 12, 2020 21:46, ทั้งหมด 2 ครั้ง
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
ดาวซัลโวยุโรป
Status: 愛して 愛して 愛して もっともっと愛して 愛して 狂おしいほどに
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 55681
ที่อยู่: Fox River State Penitentiary. Joliet , Illinois.
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 20:50
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
BREAKING NEWS

McLaren withdraw from the Australian GP after team member contracts coronavirus

https://www.formula1.com/en/latest/article.mclaren-withdraw-from-the-australian-grand-prix-after-a-team-member-tests.1SdS7APKH9kjZRrrJ1RFJ3.html

0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
ซุปตาร์โอลิมปิก
Status: SANA THE BEST
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Jun 2010
ตอบ: 25148
ที่อยู่: ซานะนอนไหน ผมนอนนั่น
โพสเมื่อ: Thu Mar 12, 2020 21:45
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ลุ้นหนักเลย ขอให้ได้แข่ง
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
_กูเด็ก Noto_



ออฟไลน์
นักเตะเทศบาล
Status: ลุ้นหนีตกชั้น
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 26 Oct 2020
ตอบ: 1240
ที่อยู่: ไอตวย ไอตู่
โพสเมื่อ: Fri Jan 22, 2021 20:44
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2020)]
ขอบคุณนะเจเจ ที่นำข้อมูลมาบอกกัน เราศึกษาจากนี่แหละ ขอบคุณและหลับให้สบายนะเจเจ
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel