เขื่อน ทรีกอร์เจียส เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อพูดถึงสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่มนุษย์สร้างขี้นดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว เช่น พีระมิดที่อียิปต์ หรือ กำแพงเมืองจีน ซึ่งในอดีต สิ่งก่อสร้างหลาย ๆ อย่างสร้างขึ้นเพื่อการบูชาเทพเจ้า และสรรเสริญธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน วัตถุประสงค์เหล่านั้นดูจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเขื่อนทรีกอร์เจียส เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศจีน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมธรรมชาติเอาไว้อย่างแท้จริง
สำหรับเขื่อนทีกอร์เจียสแห่งนี้นับว่าเป็นโปรเจ็คที่ใหญ่ที่สุดของจีนต่อกำแพงเมืองจีน โดยสร้างขึ้นขวางทางของแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกรองจากแม่น้ำไนล์และแม่น้ำอะเมซอน แม่น้ำแยงซีเกียงมีความยาวกว่า 6,000 กว่ากิโลเมตรเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคนคาดว่า เขื่อนแห่งนี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศแห่งใหม่ในยุคมิลเลเนียม
ความคิดในการสร้างเขื่อนทรีกอร์เจีนสนี้ เริ่มขึ้นเมื่อสมัยของประธานาธิบดี ซุนยัตเซ็น ซึ่งเสนอการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำในปี พ.ศ. 2462 เเละเมื่อช่วงกลาง พ.ศ. 2493 หลังจากที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จากแม่น้ำแยงซีเกียง ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง ก็ได้สั่งการให้มีการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนแห่งนี้อีกครั้ง แต่เขื่อนแห่งนี้ ได้ผ่านการอนุมัติจากสภาประชาชนจริง ๆ และได้มีการก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2547 และเสร็จสิ้นเมื่อปี 2554 ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 7 ปีด้วยกัน แต่ในช่วงที่มีการก่อสร้างเจ้าหน้าที่ต้องจ้างคนงานที่ทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนกว่า 20,000 คน เพื่อสร้างเขื่อนให้เสร็จตามกำหนด
เขื่อนทรีกอร์เจียส คงจะเป็นคำนิยามที่เห็นภาพได้ของเมกะโปรเจกต์อย่างแท้จริง เพราะนี่คือเขื่อนที่กว้างกว่า 185 เมตร ความสูงด้านล่างมากกว่า 115 เมตร และด้านบนกว่า 40 เมตร มีความยาวสันเขื่อนกว่า 2,335 เมตร บริเวณอ่างเก็บน้ำ จะสามารถจุน้ำได้กว่า 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งพื้นที่รับน้ำของเขื่อนนั้น นับเป็น 2 เท่าของประเทศไทยและสามารถระบายน้ำได้ 1,160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้เงินทุนในการก่อสร้าง เฉพาะการสร้างเขื่อนอย่างเดียวกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ เขื่อนแห่งนี้ยังเป็นทางให้เรือขนส่งสินค้าสามารถเดินทางออกสู่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศ เปิดประตูการค้าให้กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศ และกังหันน้ำที่หมุนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ จะหมุนเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าให้มากกว่าโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 18 โรงด้วยกัน
เจ้าหน้าที่ของจีนเชื่อว่า เขื่อนแห่งนี้จะสามารถขจัดปัญหาหลัก ๆ หลายอย่างของประเทศได้ โดยเขื่อนทรีกอร์เจียส ถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคตของจีน ตามที่ประเทศจีนมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น รวมไปถึงการป้องกันน้ำท่วมจากแม่น้ำแยงซีที่คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 1 ล้านคนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โปรเจ็คนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางยาวกว่า 1,500 ไมล์ให้กับเรือขนส่งสินค้า สามารถขนสิ่งค้าได้ภายในประเทศ โดยส่งตรงถึงเมืองฉงชิ่ง เมืองหลวงที่สร้างขึ้นในมณฑลเสฉวนในปี พ.ศ. 2540 ประกอบด้วยประชากรกว่า 30 ล้านคน และอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง ทางการจีนหวังว่า การที่เขื่อนทรีกอร์เจียส ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าราคาถูกและเป็นแม่น้ำเพื่อการขนส่งสินค้านั้น จะสามารถเปิดประเทศนี้ให้กับการค้าระหว่างประเทศได้ โดยมีเมืองฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังจำนวนมากจากเขื่อนทรีกอร์เจียสนี้ ก็นำมาซึ่งเสียงวิพาษ์วิจารณ์จากทั้งในประเทศจีนเองและต่างประเทศ โดยเชื่อกันว่า การคอร์รัปชั่นจากการสร้างเมกะโปรเจ็คแบบนี้ จะทำให้โครงสร้างของเขื่อนมีคุณภาพต่ำ ซึ่งทางสื่อของจีนเอง ก็ได้มีการรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่การคอร์รัปชั่นและงานสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานนำมาซึ่งภัยพิบัติอันใหญ่หลวง โดยเหตุการณ์ที่สำคัญคือ สะพานเหล็กในเมืองฉงชิ่งได้พังถล่มลงมาตอนเดือนมกราคม ปี 1999 และมีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน ทำให้หลายคนเกรงว่าหากเขื่อนแห่งนี้พังลง อาจจะทำให้ประเทศจีนกว่าครึ่งประเทศเสียหายไปได้
ทั้งนี้ จากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ยังกินพื้นที่จำนวนมาก ส่งผลให้เมืองกว่า 100 แห่งต้องจมใต้บาดาล คนกว่า 1.2 ล้านคนต้องหาที่อยู่ใหม่ และที่ดินทำกินแห่งใหม่อีกจำนวนหนึ่งให้ชาวนากว่า 300,000 คน ซึ่งทางการจีนได้ประเมินว่ามีคนแค่ 700,000 คน ที่จะต้องย้ายถิ่นฐานออกไปจริง ๆ แต่พอย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนจำนวนประชากรมีจำนวนมาก จึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการแจกจ่ายที่ทำกินแห่งใหม่ และสิ่งที่แย่ก็คือว่า เมื่อคนเหล่านี้ย้ายออกจากถิ่นฐานเดิมซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ ต้องไปอยู่ในถิ่นฐานใหม่ที่อุดมสมบูรณ์น้อยกว่า อาจจะส่งผลเสียต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านได้ ขณะที่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ต่างหวั่นเกรงผลกระทบของเขื่อนที่จะมีต่อการอนุรักษ์สถานที่สำคัญ ๆ ของจีน เพราะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ๆ กว่า 1,300 แห่ง จมหายไปภายใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน โดยเฉพาะอย่าง หมู่บ้านของชนเผ่าบา ชนเผ่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้เมื่อ 4,000 ปีก่อน และมีประชากรเหลืออยู่เพียงน้อยนิดในจีน ก็จะถูกอ่างเก็บน้ำกลืนไปเช่นกัน
ถึงแม้ว่า ทางรัฐบาลจีนได้ทราบถึงปัญหาของเขื่อนทรีกอร์เจียสเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่พวกเขาก็มองว่า โปรเจ็คนี้นี้มีประโยชน์มากกว่า และจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าทำลาย เนื่องจากเขื่อนแห่งนี้ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำนวนกว่า 1 ใน 9 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ทั้งประเทศผลิตขึ้นมาได้ ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศจีนใช้ถ่านหินกว่า 50 ล้านตันต่อปีเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หมายความว่า ผลดีต่อต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีมากกว่าผลเสียอย่างแน่นอน
เครดิต
http://hilight.kapook.com/view/65902