สุครีพ ทหารเอกหนึ่งเดียวที่คุมกองทัพของพระรามพระลักษณ์
หากใครได้ดูรามเกียรติ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน หรือในภาพยนต์ เราจะเห็นตัวละครทหารเอกอยู่ข้างพระรามและพระลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง รูปร่างสีแดงเพลิงน่าเกรงขาม ถือพระขรรภฺ เรียกได้ว่าปรากฎทุกฉากในเรื่องเลยก็ว่าได้ และหากวัดกับฝีมือพญาวานรตนอื่นๆแล้ว พญาลิงสีแดงตนนี้มีพละกำลังกายมากที่สุด ถือได้ว่าเป็นพญาลิงที่พระรามและพระลักษณ์ไว้ใจที่สุด เพราะซื่อสัตย์ ยึดมั่น กตัญญู ระดับการไว้ใจจนเป็นคนคุมและสั่งการทหารทั้งหมด แม้แต่ทหารเอกพญาลิงอย่างหนุมาน นิลพัท ต้องยอมรับคำสั่งแต่โดยดี
พญาลิงตนนี้ ชื่อ "สุครีพ" นั่นเอง
ประวัติของสุครีพ
สุครีพเป็นตัวละครในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เป็นโอรสของพระอาทิตย์์ กับนางกาลอัจนา เป็นน้องชายของพาลี
พระฤๅษีโคดมมีธิดากับนางกาลอัจนาชื่อสวาหะ ฝ่ายพระอินทร์เห็นว่าควรแบ่งกำลังไปเป็นทหารช่วยพระนารายณ์ที่จะอวตารไปปราบยักษ์ พระอินทร์เห็นนางกาลอัจนาอยู่ลำพังก็ลงมาหา นางกาลอัจนาตั้งครรภ์แล้วประสูติกุมาร ต่อมาพระอาทิตย์ก็ลงมาหานางกาลอัจนาเช่นกัน นางกาลอัจนาประสูติกุมารอีกคนหนึ่ง ฤๅษีโคดมคิดว่ากุมารทั้งสองเป็นลูก วันหนึ่งฤๅษีโคดมจะไปสรงน้ำจึงอุ้มโอรสพระอาทิตย์และให้โอรสพระอินทร์ขี่หลัง ส่วนนางสวาหะนั้นฤๅษีโคดมจูงมือพาเดินไป นางสวาหะตัดพ้อว่าพ่อรักลูกคนอื่นมากกว่าลูกตน พระฤๅษีจึงอธิษฐานว่าถ้าเป็นลูกของตนก็ให้ว่ายน้ำกลับมาได้ ถ้าไม่ใช่ก็ให้เป็นวานรเข้าป่าไปแล้วโยนลูกทั้งสามลงน้ำ นางสวาหะว่ายน้ำกลับมาได้คนเดียว ส่วนกุมารทั้งสองกลายเป็นวานรว่ายน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง พระอินทร์และพระอาทิตย์เห็นโอรสทนทุกขเวทนาจึงลงมาสร้างเมืองขีดขิน*ให้ครอง โอรสพระอินทร์ได้ชื่อว่ากากาศ(พาลีนั่นเอง) เป็นเจ้าเมืองขีดขิน โอรสพระอาทิตย์ได้ชื่อว่าสุครีพเป็นอุปราช
ครั้งที่รามสูรรบกับพระอรชุน พระอรชุนเสียทีถูกรามสูรฟาดกับเขาพระสุเมรุทำให้เขาพระสุเมรุทรุด พระอิศวรให้พญากากาศและสุครีพรวมทั้งเทวดามาช่วยยกเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงดังเดิม สุครีพใช้อุบายเอานิ้วจี้สะดือพญานาค นาคตกใจก็สะดุ้งขดตัวทำให้เขาพระสุเมรุเคลื่อน พญากากาศก็เข้าผลักให้เขาตั้งตรงดังเดิม พระอิศวรประทานพรและเทพอาวุธให้พญากากาศแล้วเปลี่ยนชื่อให้เป็นพาลี และประทานนางดาราใส่ผอบแก้วฝากไปให้สุครีพ พระนารายณ์ทูลทัดทาน พาลีจึงสาบานว่าถ้าไม่มอบนางให้สุครีพก็ขอให้ตายด้วยศรพระนารายณ์ แต่พาลีผิดคำสาบานไม่มอบนางให้สุครีพ กลับนำนางไปเป็นชายา
เมื่อพาลีจะรบกับทรพีในถ้ำได้สั่งสุครีพว่าถ้าเลือดที่ไหลออกมาจากถ้ำเป็นเลือดข้นก็เป็นเลือดของทรพี แต่ถ้าเลือดเหลวใสเป็นเลือดของตนแสดงว่าตนสิ้นชีวิตให้ขนหินปิดปากถ้ำไว้ พาลีรบกับทรพีในถ้ำอยู่หลายวันจึงสามารถสังหารทรพีได้ เทวดาดีใจที่พาลีชนะจึงบันดาลให้ฝนตกลงมาทำให้เลือดที่ไหลออกมาจากถ้ำกลายเป็นเลือดใส สุครีพให้วานรขนหินปิดปากถ้ำไว้ พาลีออกจากถ้ำได้ก็คิดว่าสุครีพจะกบฏจึงขับสุครีพออกจากเมืองขีดขิน สุครีพหนีไปอยู่ที่เขาอมตังได้พบหนุมาน หนุมานจึงชวนไปเฝ้าพระรามที่ป่ากัทลีวัน
สุครีพขอให้พระรามสังหารพาลีโดยอ้างเรื่องพาลีผิดคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระอิศวรและพระนารายณ์ หลังจากพระรามสังหารพาลีแล้วได้ให้สุครีพครองเมืองขีดขิน และให้นางดาราเป็นมเหสีของสุครีพ
สุครีพออกศึกมากมายเป็นคุมทัพทั้งหมด ซึ่งมีเหตุการณ์ดังนี้
-คุมวานรจองถนนเพื่อถมหินไปยังกรุงลงกา โดยคุมพญาลิงนิลพัทและพญาลิงหนุมาน อีกทั้งขอชีวิตพญาลิงทั้งสองที่ทะเลาะต่อสู้กันเอง จนทำให้พระรามทรงโมโหมีอาญาสิทธิ์ให้ประหาร
-หักฉัตรวิเศษและนำมงกุฎของทศกัณฐ์ถวายพระราม ความสำคัญของฉัตรลงกาทำให้ท้องฟ้าด้านพระรามมืดมนมองไม่เห็นฝ่ายทศกัณฐ์ ข้างทศกัณฐ์เห็นฝ่ายพระรามตลอด พิเภกแนะนำให้ส่งทหารไปทำลายฉัตรแก้ว สุครีพจึงได้อาสาไปหักฉัตรเอง ด้วยการนิมิตร่างใหญ่โตเท่าภูเขา เพื่อไม่ให้ข้าศึกมองเห็น จะได้ไม่เสียการณ์ที่ตั้งใจเพียงหักฉัตร เมื่อถึงฉัตรแก้วก็คลายเวทมนตร์ปรากฎตัวขึ้นหักฉัตร บริวาร ทศกัณฐ์ตกใจหนีกันหมด คงเหลือทศกัณฐ์ต่อสู้กับสุครีพอย่างละล้าละลัง เพราะระวังเหล่ามเหสีและสาวกำนัลทั้งหลาย สุครีพเอาเท้าขวาคว้ามงกุฎของทศกัณฐ์กลับมาถวายพระรามได้ (ตอนนี้เป็นตอนที่สนุกสุดของสุครีพ)
- ทำลายพิธีอุโมงค์ใต้เขานิลกาฬ ทศกัณฑ์ชุบตัวเป็นเพชรเพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน ชี้นิ้วใส่ใครคนนั้นต้องตาย
- ศึกสังหารตัดแขนยักษ์ทัพนาสูร ทศกัณฑฺขอร้องให้ทัพนาสูรพี่ชายยกทหารเมืองจักรวาลมารบกับพระราม โดยแปลงกายใหญ่ กลืนทหารวานรทั้งกองทัพ จึงถูกสุครีพตัดแขนขาขาดแล้วพระรามแผลงศรคว้านท้องช่วยเหล่าวานรออกมาได้
-ช่วยพระรามและพระลักษณ์จากนกวายุภักษ์
- หลังเสร็จศึกลงกา ได้เกิดกบฎ สุครีพนำทัพปราบท้าวทศพิน ท้าวจักรวรรดิ
สุครีพแม้จะเก่งกาจ แต่สุครีพมีข้อเสียครับแต่ข้อเสียเป็นเถรตรง อีโก้สูง จนขาดความรอบคอบ ซึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงข้อเสีย คือ สุครีพเสียรู้ถูกกุมภกรรณหลอกให้ไปถอนต้นรังจนสิ้นกำลัง รบแพ้ถูกกุมภกรรณจับหนีบรักแร้ไปแต่หนุมานตามไปช่วยไว้ได้
ปล. ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมของมานานุกรมวรรณคดีไทย