‘ไอซ์ รักชนก’ ชวนติดตาม ‘ตึกจอดรถสภา 4,600 ล้าน’ แพงกว่า ‘ตึก สตง.’ 2,300 ล้าน
‘ไอซ์ รักชนก’ ชวนติดตาม ‘ตึกจอดรถสภา 4,600 ล้าน’ แพงกว่า ‘ตึก สตง.’ 2,300 ล้าน หรือ ‘ตึก กสทช.’ 2,600 ล้าน สงสัย ก้อนอิฐทำด้วยทอง ผนังฉาบด้วยไวเบรเนียนหรือเปล่า
วันที่ 7 พ.ค.68 นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน แชร์โพสต์นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เปิดข้อมูล สำนักงานเลขาธิการสภาฯ วางเป้าใช้งบประมาณสร้าง ‘อาคารที่จอดรถ’ 4,588 ล้าน โดยจ้างออกแบบด้วยงบ 104.5 ล้าน ทั้งที่ยังไม่ปรากฏโครงการในงบปี 67-68 พร้อมระบุ
“ตึก สตง.30 ชั้น ของหรูๆ ราคาแพงฉ่ำๆ ยัง 2,300 ล้านบาท
ตึก กสทช. ยังไม่เห็นไส้ใน แต่น่าจะหรูหราหมาเห่าไม่แพ้กัน รวมทุกอาคาร แถมมีที่จอดรถแบ่ง 2 ตึกด้วยนะ 2,600 ล้านบาท
ตึกจอดรถของสภา 4,600 ล้านบาท ก้อนอิฐทำด้วยทอง ผนังฉาบด้วยไวเบรเนียนหรือป่าว
โครงการที่ของบประมาณแผ่นดิน หากผูกพันเกิน 1,000 ล้าน ขึ้นไป ต้องผ่านมติ ครม. เพราะกระทบงบประมาณเยอะ ดิฉันรอดูหน้า ครม.แพทองธาร จะอนุมัติให้สภาทำที่จอดรถ 4,600 ล้านบาทไหม ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้
คนไทยลองคิดตามข้อมูลนี้ดูนะคะ โครงการทำที่จอดรถรัฐสภา 4,600 ล้านบาท นี่ท่านคิดว่าเค้าต้องการอำนวยความสะดวกให้ใครกันแน่ ระหว่าง ประชาชน กับ ผู้ รั บ เ ห ม า ก่ อ ส ร้ า ง“
—-
สำหรับโพสต์ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า
“[ เปิดเอกสาร: รัฐสภาเดินหน้าจ้างบริษัทออกแบบอาคารที่จอดรถ ด้วยงบประมาณ 104.5 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ปรากฏโครงการใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 & 2568 ที่สภาอนุมัติ ]
ในบรรดา 15 โครงการของอาคารรัฐสภาที่ผมได้แชร์ก่อนหน้านี้ โครงการที่มีมูลค่าสูงที่สุด คือ “โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม)” ซึ่งมีการวางเป้าว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 4,588 ล้านบาท โดยทางหน่วยงานมีการทำคำขอไว้ที่ 1,529 ล้านบาท สำหรับ งบ 69
แม้โครงการดังกล่าว ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. แต่เป็นที่ชัดเจนว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทางหน่วยงานมีความประสงค์จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปอย่างแน่นอน เพราะเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานเพิ่งได้มีการประกาศผู้ที่ชนะการเสนอราคา (กิจการค้าร่วม กลุ่มบริษัท AGCC) สำหรับการจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารจอดรถดังกล่าว ด้วยงบประมาณ 104.5 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รายการดังกล่าว (เท่าที่ผมได้ตรวจสอบ) ไม่เคยปรากฎอยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 หรือ 2568 เลย (
https://shorturl.at/Kfmni )
แม้ผมเข้าใจว่าประชาชนจำนวนไม่น้อย เผชิญกับปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถที่สภา (เช่น เจ้าหน้าที่สภา หน่วยงานที่มาชี้แจง ประชาชนที่มาทำธุระที่สภา) แต่ด้วยขนาดของโครงการ ผมเห็นว่าการพิจารณาต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และชี้แจงต่อคำถามดังต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย:
1. หน่วยงานควรบริหารพื้นที่อาคารจอดรถที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูง (เช่น การหยุดกันพื้นที่จอดรถมากเกินจำเป็น) ก่อนที่จะไปพิจารณาลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มเติม - คำถามคือเราได้ทำการศึกษาแล้วหรือยัง ว่าข้อมูลสถิติเรื่องจำนวนที่จอดรถ (supply) และความต้องการ (demand) ที่ผ่านมา เป็นเช่นไร และเรามีทางเลือกอะไรบ้างในการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากที่จอดที่มีอยู่แล้ว?
2. หน่วยงานควรต้องย้อนกลับไปตรวจสอบแบบเดิมของอาคารรัฐสภาก่อน ว่าได้มีการคาดการณ์เรื่องจำนวนที่จอดรถและความต้องการไว้ที่เท่าไหร่ เหตุใดถึงเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องจำนวนที่จอดรถเมื่อมีการเริ่มใช้งานอาคารอย่างเต็มรูปแบบ และ (หากมาจากข้อผิดพลาด) ฝ่ายไหนจะต้องรับผิดชอบอย่างไร?
3. หน่วยงานควรต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกๆฝ่าย แต่เหตุใด หน่วยงานถึงได้มีการเดินหน้าเรื่องการจ้างบริษัทออกแบบ ทั้งๆที่ไม่ปรากฎใน พ.ร.บ. งบประมาณ 2567 & 2568 ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ (ซึ่งเข้าใจว่าหน่วยงานคงใช้กลไกการโอนงบประมาณมาจากโครงการอื่น ผ่านการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ หรือ ขอความเห็นชอบจาก ครม.?)?
ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทางผม และ กมธ. จะสอบถาม และคาดหวังจะได้คำตอบที่ชัดเจนในการประชุม กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กับตัวแทนสภา วันพฤหัสบดีนี้”