BLOG BOARD_B
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email: sale@soccersuck.com
ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออนไลน์
ซุปตาร์ยูโร
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 16 Jun 2015
ตอบ: 11812
ที่อยู่: Alexandria
โพสเมื่อ: Sat May 03, 2025 11:36
“พระพิศาลสุขุมวิท: จากคนสร้างถนน ถึงเสรีไทยผู้ฝากชีวิตในสมรภูมิ”
พอดีไปอ่านเจอบทความนี้มา อ่านกันเพลินๆได้ฮะ


ถนนสุขุมวิท ชื่อนี้มาจากวิศวกรไทยที่คุณภาพและคุณธรรมเป็นเลิศ




ระหว่างเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๖ เมืองไทยยังอยู่ในภาวะสงคราม รัฐบาลจัดให้มีวันงานกีฬาของข้าราชการพลเรือน ขณะที่พระพิศาลสุขุมวิทอธิบดีกรมชลประทานกำลังเดินนำหน้าข้าราชการในสังกัดสวนสนามผ่านหน้าประธานในพิธีเปิดนั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เดินออกมาจับแขนอธิบดีให้ย่ำอยู่กับที่ เป็นใครก็ต้องใจหายวาบ คิดว่าตนคงทำผิดอะไรแน่นอน แต่นายกกลับพูดว่า “ ผมจะเอาคุณพระไปกรมทาง”

ท่านก็เลยต้องไปเป็นอธิบดีกรมทางทั้งๆที่ยังเพิ่งจะเป็นอธิบดีกรมชลได้แป๊บเดียว

Spoil
พระพิศาลสุขุมวิท เดิมชื่อ ประสบ สุขุม เป็นบุตรคนที่ ๕ ของมหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงตลับ บ้านเจ้าคุณพ่ออยู่หัวมุมศาลาแดง ที่ซึ่งปัจจุบันคือโรงแรมดุสิตธานีที่กำลังถูกทุบทิ้ง อนาคตจะเป็นอะไรได้ยืนยาวแค่ไหนก็ต้องดูกันไป

แรกเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดราชบพิธ แล้วย้ายไปโรงเรียนราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเข้มภาษาอังกฤษ จนอายุ ๑๑ ปี เจ้าคุณพ่อก็ส่งไปเรียนต่อที่อังกฤษพร้อมกับ ประพาส สุขุม พี่ชาย เข้าเรียนต่อพับบลิกสกูลที่เฮลลี่เบอรรี่ คอลเลจ โรงเรียนเดียวกับนายคลีเมนต์ แอตลี่ (Clement Attlee) อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติใหม่ๆ
ยังไม่ทันจะจบเกิดไส้ติ่งอักเสบ ต้องผ่าตัด เวลานั้นอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เจ้าคุณพ่อจึงให้เดินทางกลับมาพักฟื้นที่บ้านศาลาแดง จนสุขภาพดีแล้วจึงส่งไปเรียนที่อเมริกาแทนพร้อมกับประดิษฐ์ สุขุม น้องชายซึ่งกำลังเรียนอยู่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพราะยุโรปหลังสงครามอยู่ในสภาพย่ำแย่

คณะที่เดินทางไปพร้อมกันตอนนั้นมีทั้งที่เป็นนักเรียนทุนหลวงและทุนส่วนตัว รวมแล้ว ๑๗ คน นักเรียนทุนหลวงที่ไปเรียนวิชาพยาบาลหนึ่งในนั้นก็คือ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ที่บอสตัน ทั้งสองพี่น้องได้มีโอกาสได้เฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนก หรือทูลกระหม่อมแดงบ่อยครั้ง ทรงแนะนำให้ประสบเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจะได้กลับไปช่วยกันสร้างประเทศ แล้วทรงช่วยฝากให้เข้าเรียนมัธยมปลายที่ Phillips Exeter Academy ซึ่งท่านได้เข้าไปสร้างชื่อเสียงทั้งในด้านการเรียนและการกีฬา เป็นกัปตันทีมฟุตบอลของโรงเรียน ในหนังสือรุ่นได้เขียนคุณสมบัติของนายประสบ สุขุม ว่า “เป็นเพื่อนที่ไม่หลอกเพื่อน เป็นบุคคลที่ปราศจากความด่างพร้อย” (A friend without lie, a fellow without stripe )

นายประสบสอบผ่านได้เข้าเรียนต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ท๊อปเทนของอเมริกา เคยได้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ๗ ปีซ้อน นับเป็นคนไทยคนแรกที่จบจากสถาบันอันมีชื่อเสียงนี้

ส่วนนายประดิษฐ์ผู้น้อง เข้าเรียนระดับมัธยม ระหว่างอยู่ที่ Gunnery School อาจจะด้วยนิสัยชอบเล่นรักบี้ที่ติดไปจากโรงเรียนที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวชิราวุธวิทยาลัย นอกจากจะเล่นกีฬาทุกชนิดแล้ว ยังได้สร้างชื่อเสียงทางด้านอเมริกันฟุตบอลเป็นพิเศษ ครั้นเข้ามหาวิทยาลัยบอสตัน ก็เป็นถึงดาราอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยไปเลย หนุ่มสาวอเมริกันยุคนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้จักประดิษฐ์ สุขุม ซึ่งคุณสมบัตินี้ได้เป็นคุณประโยชน์ต่อชาติภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นอนันต์ เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้รับราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่งเลขานุการกรมพระจันทบุรีนฤนาท เสนาบดีในขณะนั้น ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์

นายประสบ สุขุมผู้พี่เมื่อเรียนจบ เจ้าคุณพ่อให้รางวัลไปเที่ยวยุโรปก่อนกลับ ปรากฏว่าไปถังแตกที่ปารีส นึกขึ้นมาได้ว่าเวลานั้นสมเด็จพระบรมราชชนกประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ จึงมีจดหมายไปทูลขอยืมเงิน ๕๐ ปอนด์ ทูลกระหม่อมก็ทรงพระกรุณาเช่นเคย รีบโอนเงินไปพระราชทานให้ตามขอ เมื่อสองพระองค์เสด็จกลับเมืองไทย จึงได้ไปเฝ้าถวายคืนเงินที่วังสระปทุม ทรงมีรับสั่งว่า “ ประสบ แกดีมาก ฉันไม่นึกว่าแกจะนำเงินมาใช้ฉัน”

แรกรับราชการในกระทรวงมหาดไทย อยู่กรมสุขาภิบาล ตำแหน่งนายช่างผู้ช่วย มีนายเป็นฝรั่งอิตาเลี่ยนที่ทางราชการจ้างมา ได้รับมอบหมายให้ควบคุมงานลาดยางในถนนหลายสายในกรุงเทพ โดยเฉพาะถนนราชดำเนิน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯทรงมีพระบรมราโชบายให้ถนนทุกสายในกรุงเป็นถนนคอนกรีตและถนนลาดยางทั้งหมด ท่านก็ได้รับมอบหมายให้ควบคุมงานนี้อย่างเดียว ไม่นานต่อมา ถนนที่เคยเละเทะในหน้าฝน และเป็นฝุ่นตลบในฤดูแล้ง ก็ค่อยสะอาดสอ้านขึ้น สุขภาพของชาวบ้านเมืองกรุงก็ดีขึ้นตามลำดับ

ในปี ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคต ยังความโศกเศร้าให้แก่คนไทยทั้งมวล ครั้นท่านได้ทราบข่าวก็รีบไปวังสระปทุม และนั่งเฝ้าพระศพอยู่ทั้งคืนด้วยความกตัญญู จนกระทั่งรุ่งเช้าจึงได้เข้าร่วมขบวนเชิญเครื่องพระยศ ตามเสด็จพระโกศบนรถม้า ไปประดิษฐาน ณ วังสวนกุหลาบ และได้เข้าร่วมในทุกพระราชพิธีจวบจนพระราชทานเพลิง

อายุเพียง ๓๒ ปี ได้เป็นเจ้ากรมนคราธร(เทียบเท่าผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) มีบรรดาศักดิ์เป็น พระพิศาลสุขุมวิท หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กรมนคราธรได้เปลี่ยนเป็นกรมโยธาเทศบาล รับผิดชอบงานทำถนนหนทางทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมทั้งงานเทศบาลทั้งหมด ขอบเขตของงานกว้างมาก ตำแหน่งของคุณพระจึงเป็นอธิบดีกรมโยธาเทศบาล ที่ถือว่าเป็นกรมใหญ่และสำคัญมาก ท่านได้เริ่มแผนแม่บท โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งพระราชอาณาจักรไทยขึ้น จากเดิมที่การสร้างถนนตามหัวเมืองจะเป็นไปตามความคิดของข้าหลวงเมืองนั้นๆ ซึ่งก็มุ่งแต่จะสร้างทางจากชุมชนต่างๆมาสู่สถานีรถไฟ ซึ่งเป็นระบบคมนาคมหลัก ส่วนโครงการของท่านนั้น ต้องการสร้างระบบการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็นโครงข่ายคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

พระพิศาลสุขุมวิทได้พัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว มีการนำเครื่องจักรกลมาทำถนนแทนแรงคนและสัตว์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมาอันเป็นพื้นฐานคุณธรรมประจำตัวที่ท่านยึดถือ และทำให้ประจักษ์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ยังให้เกิดความเคารพและยำเกรงต่อท่านมาก ตลอดเวลา ๙ ปีที่ท่านอยู่ในตำแหน่งจึงถือว่านานพอสมควรที่จะสร้างผลงานอย่างเด่นชัด ทางหลวงหลายสายเสร็จเร็วขึ้นและมีคุณภาพดี

ในปี ๒๔๘๔ กรมโยธาเทศบาลซึ่งใหญ่มากถูกแยกออกเป็น ๒ กรม คือเอางานถนนมาเป็นกรมทาง ส่วนงานที่เหลือก็ให้อยู่ที่กรมเดิม ตัวคุณพระเองถูกโยกไปตั้งกรมใหม่ คือกรมอุตสาหกรรม แล้วขึ้นไปรักษาการปลัดกระทรวง ไม่นานก็ไปขวางทางทำมาหากินของคนอีกจำพวก เลยได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมชลประทานอย่างกระทันหัน

เก้าอี้ยังไม่ทันอุ่นจอมพลแปลกก็มาดึงมือท่านไปอยู่กรมทางตามเดิมดังที่ได้เล่าในตอนต้น วัตถุประสงค์ก็คือ จะเอาท่านไปเร่งงานสร้างเส้นทางสายยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมแล้วหลายร้อยกิโลเมตรให้เสร็จก่อนปีใหม่ ซึ่งมีเวลาไม่ถึง ๗ เดือน แล้วยังต้องปฏิบัติภารกิจในถิ่นกันดาน และความขาดแคลนจากสภาวะสงคราม เครื่องจักรกลที่เคยใช้ก็พังไปเกือบหมดแล้ว ที่เหลือก็ล้าสมัยมีอยู่ไม่กี่คัน

งานถนนยังไม่ทันจะไปถึงไหน สองเดือนต่อมา คุณพระก็ได้รับคำสั่งให้ร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเพชรบูรณ์ เพื่อวางแผนสร้างเมืองหลวงใหม่ที่นั่นอย่างเร่งด่วน เป็นเหตุให้กรมทางต้องไปตั้งสำนักงานเป็นเรือนแถวพื้นไม้ผนังไม้ไฝ่ขัดแตะ ตั้งอยู่ในที่ของวัดหนึ่งที่นั่น แล้วยังมีคำสั่งให้รีบทำงานด่วนพิเศษ เป็นถนนขึ้นเขาไปยังถ้ำลึกลับในอำเภอหล่มสัก แล้วปรับปรุงถ้ำนั้นให้เป็นที่เก็บสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะขนย้ายหนีภัยสงครามที่กำลังใกล้จะแตกหักเข้ามาทุกที เกรงว่าจะถูกต่างชาติปล้นเอาไป มีป้อมปืนสร้างไว้ตามเชิงเขาเพื่อรักษาความปลอดภัย ส่วนที่ราบด้านล่างสร้างเป็นตึกที่ทำการกระทรวงการคลัง เมื่อเสร็จแล้วจึงได้ขนย้ายของมีค่าจากพระคลังสมบัติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาไว้ที่ถ้ำฤาษีนี้ ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการกล่าวว่า มีพระแก้วมรกต จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย

เรื่องนี้ผมขอไม่เล่ายาว ถ้าสนใจจริงๆก็ขอให้ตามไปอ่านกันเองที่ระโยงข้างล่างนี้เอง

https://www.posttoday.com/dhamma/470353

แต่แล้วก็ด้วยเหตุอันเกิดจากเมืองหลวงใหม่นี่แหละ ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามแพ้โหวตในสภา จำต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามแผนของนายปรีดี พนมยงค์ แล้วพระพิศาลสุขุมวิทก็ถูกย้ายไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงคมนาคม เรื่องนี้ก็อาจจะใช่แผนของนายปรีดีด้วยก็ได้ที่ประเทศต้องมีอธิบดีกรมทางคนใหม่เพื่อไม่ให้งานสะดุด ส่วนท่านก็ต้องทำให้ว่างงานไว้ก่อน เพราะไม่นานก็ถูกเชิญไปพบที่ทำเนียบท่าช้างในเวลา ๓ ทุ่มเศษ พร้อมกับหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ น้องชาย

เมื่อได้ทักทายและโอภาปราศรัยพอสมควรแล้ว นายปรีดีก็เปลี่ยนท่าที กล่าวอย่างเอาจริงเอาจังว่าอยากให้ทั้งสองพี่น้องช่วยทำงานสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นงานที่ต้องเสี่ยงชีวิต จะสมัครใจทำหรือไม่ ทั้งคู่ตอบว่าพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อชาติ นายปรีดีจึงให้พนมมือปฏิญาณตนว่าจะไม่แพร่งพรายความลับนี้ต่อผู้ใด แม้กระทั่งลูกเมีย แล้วจึงเผยว่าต้องการให้เสี่ยงภัยเล็ดลอดไปอเมริกาจะสมัครใจหรือไม่ ทั้งๆที่ทั้งสองคนยังไม่รู้ว่าจะต้องไปด้วยวิธีใด เมื่อไหร่ ก็ตอบย้ำว่าสมัครใจ นายปรีดีจึงเล่าความเป็นมาของขบวนการเสรีไทยให้ฟัง จนดึกพอสมควรแล้วจึงบอกว่าให้กลับบ้านได้แล้วรอฟังคำสั่งต่อไป

เวลานั้นพระพิศาลสุขุมวิทและครอบครัวยังพำนักอยู่ที่เรือนของตนภายในรั้วบ้านศาลาแดง ซึ่งกองพันสารวัตรทหารของญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองตึกหลังใหญ่ของเจ้าพระยายมราชเป็นกองบัญชาการอยู่ เพื่อความปลอดภัยของบุตรภรรยาเมื่อท่านหายตัวไป จึงย้ายออกไปพำนักที่บ้านถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ซอย ๓๔ แล้วรออยู่หลายเดือนเหมือนกัน ก่อนที่หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์มาแจ้งข่าว แล้วไปทำเนียบท่าช้างด้วยกันในตอนค่ำ ที่นั่นนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เสรีไทยที่เพิ่งมาจากวอชิงตันได้ออกมารับ แล้วพาไปพบนายปรีดีที่ศาลาท่าน้ำอันเป็นที่รับแขกของท่าน นายปรีดีนั่งอยู่กับแสงตะเกียงดวงเดียวในท่ามกลางความมืดมิด เพราะโรงไฟฟ้าในพระนครถูกลูกระเบิดพังพินาศไปหมดแล้ว ท่านบอกว่าทั้งสองจะต้องออกเดินทางในคืนวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ไปขึ้นเครื่องบินทะเลที่จะมารับในอ่าวไทย เมื่อไปถึงสหรัฐแล้วให้ปฎิบัติภารกิจสองประการ

หนึ่ง ให้ชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนอเมริกันว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศตัวเป็นฝ่ายญี่ปุ่นโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งจึงได้รวมตัวเป็นคณะกู้ชาติเสรีไทย เพื่อให้ความร่วมมือช่วยเหลือสัมพันธมิตรกระทำการต่อต้านญี่ปุ่นผู้ยึดครอง หวังจะไม่ให้ไทยต้องกลายเป็นผู้แพ้สงคราม และได้รับการรับรองเอกราชหลังสงครามยุติ
และสอง ให้หาช่องทางที่จะบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศหลังสงคราม จากองค์กรกุศลต่างๆที่จัดหาสิ่งของจำเป็นต่อประชาชนในประเทศที่ถูกผลกระทบจากสงคราม
ส่วนรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร เป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้คิดหาทางกันเอง

เมื่อกลับถึงบ้านในกลางดึกของคืนนั้น พระพิศาลสุขุมวิทบอกกับภรรยาว่าจะเดินทางไปปักษ์ใต้เพื่อหาซื้อแร่มาขายให้กับญี่ปุ่น ขอให้เก็บเป็นความลับที่สุด เพราะหากแพร่งพรายไปแล้วเดี๋ยวจะถูกตัวอิจฉาแย่งเอาไปกินเสียก่อน พอถึงเช้าของวันที่ ๒๑ ทั้งสองคนพี่น้องไปถึงทำเนียบท่าช้างแล้วได้เซ็นรับเงินค่าใช้จ่ายคนละ ๖๐๐๐ บาท ตัวพระพิศาลได้ทำใบลาป่วยแผ่นละ ๑ เดือนราม ๖ แผ่น เพื่อส่งให้กระทรวงคมนาคมต้นสังกัดทีละแผ่น ครบแล้วก็เป็นใบลาออกจากราชการฐานทุพพลภาพ ส่วนหลวงสุขุมไม่ต้องเพราะออกจากราชการมาแล้ว

รอจนค่ำนายปรีดีจึงได้บอกแผนการเดินทางว่า จะต้องลงเรือยนต์ที่ท่าวาสุกรี แล้วล่องใต้ไปเลี้ยวเข้าคลองพระโขนง ทะลุไปออกทะเลที่ปากน้ำบางปะกง มุ่งสู่เกาะเสม็ดซึ่งนัดกับเครื่องบินทะเลของสัมพันธมิตรให้มารับในอีก ๒ วันข้างหน้า โดยจะมีผู้ร่วมเดินทางไปในเที่ยวนี้อีก ๕ คน เมื่อได้เวลานายปรีดีก็ยื่นมือมาให้จับเป็นการอำลา แล้วให้ศีลให้พรขอให้งานสำเร็จ

เรื่อลำนั้นเป็นของกรมศุลกากร ยาวเพียง ๙ เมตร ถือว่าเล็กแต่ก็พอจะวิ่งในทะเลได้ พื้นที่ในเรือก็พอดิบพอดีสำหรับผู้โดยสารและคนเรือทั้งหมดรวม ๑๒ คนที่จะนอนสลบไสล เพราะระหว่างทางคลื่นลมจัด แล้วยังต้องวิ่งทั้งวันทั้งคืน นอกจากคนเรือที่ผลัดเวนกันไปนั่งหัวเรือ เพิ้อคอยดูให้หลบทุ่นระเบิดไปตลอด

พอถึงเกาะครามแถวบางสะเหร่ ซึ่งมีหาดสวยงามจึงได้จอดทอดสมอให้คนลงไปสัมผัสพิ้น ขาเดินทางออกจากเกาะมีตื่นเต้นเล็กน้อยเพราะสวนกับเรือใบที่มีทหารญี่ปุ่นสี่ห้า คนสงสัยจะมาเที่ยวดำน้ำหาหอยเม่นไปแคะอูหนิกิน แต่พวกนั้นเห็นว่าเป็นเรือของทางราชการไทยจึงมิได้ยุ่งด้วย เมื่อเรือถึงเกาะเสม็ดเป็นเวลาประมาณหกโมงเย็น ยังต้องเท้งเต้งรอจนสี่ทุ่มตามนัดหมาย เครื่องบินทะเลแบบแคทาลินา ๒ ลำก็ร่อนลงจอด แต่เนื่องจากคลื่นลมจัดมาก การลำเลียงคนและข้าวของต้องใช้เรือยางจากเครื่องบิน ให้คนนั่งไปทีละคน แล้วทางโน้นสาวเชือกลากไป กว่าจะขึ้นเครื่องได้ครบก็ใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมง ในเที่ยวนี้มีเสรีไทยสายอเมริกา ๒ คนที่เดินทางมาปฏิบัติงานในประเทศไทยได้เข้ากรุงเทพพร้อมกับเรือศุลกากรด้วย

เครื่องบินไปที่ลงที่เมืองมัดราส ของอินเดีย ซึ่งมีค่าย OSS ของอเมริกันตั้งอยู่ หลังจากได้พักผ่อนที่นั่น ๒ วันจนหายเมาคลื่น ก็นั่งเครื่องต่อไปยังเมืองโคลัมโบ ในศรีลังกา ให้เจ้าหน้าที่อเมริกันซักถามข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยอีก ๒ วัน แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแคนดี เพื่อพบกับพันเอก จอห์น คัฟลิน หัวหน้าหน่วย OSS ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเรื่องแจ้งให้ทราบระหว่างการสนทนาอาทิเช่น อเมริกาและอังกฤษยอมรับว่านายปรีดีคือหัวหน้าเสรีไทย ที่มีความเป็นเอกภาพทำให้รัฐบาลอเมริกันพอใจ และยอมรับฐานะของประเทศไทยเหมือนก่อนสงคราม เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดขอบของอเมริกา อยู่ในเขตของอังกฤษ ทำให้การขออาวุธจากอเมริกาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะพยายามเจรจากับอังกฤษให้ เพราะกลัวว่าญี่ปุ่นจะยึด (ปลดอาวุธ)ไทยเร็วกว่าที่จะช่วยเหลือได้ทัน

หลังจากนั้นคณะทั้งหมดออกเดินทางจากแคนดีกลับโคลัมโบ แล้วต่อไปยังนิวเดลฮีเพื่อขึ้นเครื่องไปสหรัฐตามเส้นทางอันยาวไกลผ่านอัฟริกาจนถึงนครนิวยอร์คและกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้เข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยและเป็นหัวหน้าหน่วยเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา กับ ม.ล.ขาบ กุญชร ผู้ช่วยทูตทหารบก และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยอื่นๆ

พระพิศาลสุขุมวิทและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ปรึกษากันมาอย่างดีแล้ว ก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในทันที คือการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยให้ชาวอเมริกันได้รู้จัก โดยขอให้สถานทูตไทยจัดตั้งสำนักงานข่าวสาร (Office of Information) เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับสถานทูต ให้นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในอเมริกาอาสามาเป็นเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่เผยแพร่ กระจายข่าวและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อได้ตั้งสำนักงานนี้แล้วมีผู้สนใจมาสอบถามขอข้อมูลเรื่องราวต่างๆมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็ถามเรื่องคนในครอบครัวที่ตกเป็นเชลย ครั้นได้ทราบว่าทุกคนมีความเป็นอยู่อย่างดีก็สบายใจ ไปพูดกันต่อ

หลวงสุขุมได้พยายามติดต่อเพื่อนฝูงเก่าๆสมัยอยู่มหาวิทยาลัยบอสตัน อาศัยที่เคยเป็นดาวกีฬาและนักกิจกรรมใครๆก็รู้จัก พบว่าเพื่อนหลายคนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในเมืองต่างๆ คนหนึ่งเป็นบก.หนังสือพิมพ์ Boston Globe ซึ่งมีอิทธิพลและมีเครือข่ายกว้างขวาง เพื่อนเหล่านี้ยินดีที่จะลงบทความเกี่ยวกับประเทศไทยให้ โดยฝ่ายไทยให้นายกุมุท จันทร์เรือง ซึ่งมีความรู้ทางภาษาดีมากเป็นผู้เขียน ทำให้ชาวอเมริกันทราบถึงการทำงานของเสรีไทย อย่างเช่น การช่วยเหลือชาวอเมริกันที่เป็นนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่สถานทูตและที่ถูกจับเป็นเชลยจำนวนไม่ใช่น้อย และบทบาทในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการชี้เป้าให้ถล่มญี่ปุ่นเป็นต้น

ไม่เฉพาะหนังสือพิมพ์ เพื่อนยังติดต่อให้ไปออกวิทยุกระจายเสียงของ National Network เจ้าหน้าที่ทางสถานีได้แนะนำตัวหลวงสุขุมว่าเป็นนักเรียนเก่าสหรัฐระหว่าง ค.ศ.๑๙๑๗ - ๑๙๒๕ โดยระหว่างนั้นได้เป็นดาราอเมริกันฟุตบอล ของทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน กลับไปรับราชการในประเทศไทยจนเป็นชั้นผู้ใหญ่แล้วได้ร่วมเป็นสมาชิกเสรีไทย เวลานี้ได้เล็ดรอดหนีแนวรบของญี่ปุ่นมาติดต่อประชาชนอเมริกัน เมื่อหลวงสุขุมได้เล่าถึงการผจญภัยและการดำเนินงานของคณะกู้ชาติในประเทศไทยออกอากาศ ปรากฏว่าชาวอเมริกันความสนใจมาก เพราะหลังจากนั้นเพียง ๒ วัน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงได้มีหนังสือมาชมเชยหลวงสุขุม และขอเชิญไปพูดอีกในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้เพื่อนยังพาไปรู้จักกับบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ New York Post และหัวหน้าแผนกตะวันออกไกลของ United Press (UP) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกด้วย ทำให้ต่อมาหลวงสุขุมสามารถใช้ UP เป็นแหล่งแถลงข่าวต่างๆ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะข่าวนี้ส่งเผยแพร่ทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้ติดต่อกับบรรณาธิการหนังสือ Life Magazine และ Look Magazine ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญอยู่ จึงได้รับการช่วยเหลืออย่างดีทั้ง ๒ ฉบับ

หลังสงครามยุติแล้วใหม่ๆ นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ออกประกาศสันติภาพให้สถานะสงครามกับอังกฤษ-สหรัฐฯ เป็นโมฆะ เมื่อวันที่๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ เพียง ๒ วันหลังจากนั้น หนังสือพิมพ์อเมริกันทั่วประเทศได้ลงข่าวจาก UP และ AP ซึ่งเป็นถ้อยแถลงของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ถือว่าเป็นความสำเร็จสุดยอดของการทำงานนี้

งานประชาสัมพันธ์ดังกล่าว สถานอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตันเคยคิดจะจ้างฝรั่งล็อบบี้อิสต์ผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ด้วยมูลค่าถึง ๕ หมื่นดอลล่าร์ แต่เขายังไม่กล้ารับเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้สำเร็จ ปรากฏว่าคนไทยทำสำเร็จได้เองอย่างยอดเยี่ยม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย เนื่องจากมิตรภาพเก่าแก่และทรงคุณค่าสมัยที่ยังเป็นนักศึกษานั่นเอง

เมื่อทำงานอยู่กรมทางนั้น พระพิศาลสุขุมวิทได้รู้จักเป็นเพื่อนกับนายโช้ลต์ (Scholtz) ผู้เป็นเจ้าของบริษัท International Engineering Co. Ltd (I.E.C.) ในกรุงเทพ ซึ่งมีความเห็นว่า เนื่องจากไทยเคยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาไว้ นักการเมืองบางคนก็อาจจะกินแหนงแคลงใจอยู่บ้างเวลามีการเจรจาเกิดขึ้น นายโช้ลต์มีเพื่อนสนิทชื่อนายเอ็มเม็ต โอนีล สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐเคนตักกี้ ผู้เป็นกรรมาธิการงบประมาณที่มีชื่อเสียงมากในสหรัฐ จึงได้พาสองพี่น้องไปแนะนำต่อนายโอนีลว่า ทั้งคู่เป็นบุตรขุนนางชั้นสูงของไทย และยังดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีทั้งสองคน การที่คนระดับนี้เสียสละยอมเสี่ยงชีวิตมาทำงานเพื่อชาติ ทำให้นายโอนีล ศรัทธาเชื่อถือ จึงจัดให้ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่รัฐสภา เพื่อพบกับสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ แบบกันเองก่อน หลังจากนั้นไม่นาน นายโอนีลก็ได้จัดการให้ผู้แทนเสรีไทยแถลงอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างประเทศทั้งหมด แสดงความประสงค์ที่จะขอความช่วยเหลือในเรื่องการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม ทำให้ต่อมาจากนั้น พระพิศาลจึงสามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่ออย่างได้สัมฤทธิผล โดยอเมริกาถือว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือในการบูรณะประเทศ

ก่อนที่จะได้เดินทางกลับประเทศไทย หลวงสุขุมได้ดำเนินการทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาว่า บุคคลเหล่านี้ได้ยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อมาทำงานกู้ชาติ ต้องละทิ้งการเล่าเรียนไปปฏิบัติงานของเสรีไทยตามที่ได้รับมอบหมายโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งบางคนก็ถึงกับเสียชีวิต จึงขอทุนการศึกษาให้ผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้เรียนต่อจนสำเร็จ และได้รับอนุมัติตามนั้น

งานของเสรีไทยเป็นงานปิดทองหลังพระ ไม่ค่อยจะมีใครเอามาโม้โอ้อวดตัวเองกัน ผลงานความสำเร็จของสองพี่น้องตระกูลสุขุม ซึ่งถือว่าเป็นปฏิบัติการสงครามจิตวิทยานอกประเทศครั้งแรกของประเทศไทย จึงไม่ค่อยมีผู้รับรู้กันมากนัก

ส่วนการที่ถนนสายสำคัญสายหนึ่งของประเทศมีชื่อตามราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท ก็เป็นเพราะผลงานที่ท่านสร้างไว้ที่กรมทางหลวงแผ่นดิน โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ขับไล่ไสส่งนายปรีดีออกไป ได้เห็นความดีความชอบของท่าน จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๓ ให้เปลี่ยนชื่อ “ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” ซึ่งเปิดใช้งานมาตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๔๗๙ บัดนั้นขยายแล้วเสร็จไปจนถึงตราด รวมระยะทาง ๓๙๙ กิโลเมตรเศษ ให้เป็น “ถนนสุขุมวิท” เพื่อให้เกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ ๕ ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างถนนสายนี้ และมีบ้านพักอาศัยอยู่ในซอยซอยสุภางค์ หรือสุขุมวิท ๓๔ ในเวลานั้นด้วย  



------

มีรูป + ข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆที่น่าสนใจ เข้าไปตามอ่านได้ใน credit เลยฮะ

::credit::
https://www.facebook.com/share/p/16TzUDEm2B/


แถม:: กระทู้เก่าใน SS + Top Comment ดีๆ

พวกท่านคิดว่ารัฐบาลไทยในสมัย WWII คิดถูกหรือผิดครับที่ยอมให้ญี่ปุ่นบีบคอขอนำกำลังพลผ่านประเทศ?
https://www.soccersuck.com/boards/topic/2251852
แก้ไขล่าสุดโดย bearberryz เมื่อ Sat May 03, 2025 11:40, ทั้งหมด 4 ครั้ง
3
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ออฟไลน์
กำเนิดดาวรุ่ง
Status: ยินดีที่ได้รู้จัก
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Aug 2016
ตอบ: 21090
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat May 03, 2025 19:56
[RE: “พระพิศาลสุขุมวิท: จากคนสร้างถนน ถึงเสรีไทยผู้ฝากชีวิตในสมรภูมิ”]
เดี๋ยวนี้สุขุมวิทดูเจริญกว่าสาทร คือมี Activity เยอะกว่า

แต่คนก็ชอบพูดถึงคอนโดสาทรกันเยอะ
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel