การทำให้หมูสับสุก แบบร้านก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยหรือไม่ by TUCK the CHEF
จากเพจ TUCK the CHEF
(เชฟแกเป็นเชฟที่ความรู้ทาง food science แน่นปึ้กมาก ทุกอย่างอิงหลักวิชาการทั้งหมด ไม่มีความรู้สึกส่วนตัวแบบ มันน่าจะสุกนะแน่นอน)
สรุปๆคือ หมูสับลวกแบบที่ตักน้ำซุปมากวนๆในชามแล้วเสิร์ฟเลย มันไม่สุก 100% ในนิยามของวิทยาศาสตร์นะ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้
คนที่บอกกินแล้วไม่เป็นไร = คุณแค่โชคดีเฉยๆ ไม่ใช่ว่ามันปลอดภัยทุกครั้ง
อีกอันที่คล้ายกันคือชาบูจิ้มไข่ดิบ ไข่บ้านเรามันไม่ได้สะอาดเหมือนไข่ญี่ปุ่น ที่จิ้มๆกันควรระวังด้วย แม้แต่ไข่เกรดกินดิบ s pure ที่โมโม่ใช้ (ไม่แน่ใจตอนนี้ยังใช้อยู่รึเปล่า) ก็ไม่ได้ปลอดภัย 100% นะ แต่ % มันน้อยกว่าไข่ทั่วไปเฉยๆ
เครดิต :
https://www.facebook.com/share/p/1BA2qRNtZH/
============================
[การทำให้หมูสับสุก แบบร้านก๋วยเตี๋ยวปลอดภัยหรือไม่]
“เขาทำแบบนี้มาตั้งนานแล้วววว”
... แล้วรู้ได้ยังไงว่าที่เขาทำมาตั้งนานมันดี มันปลอดภัย แล้วคำว่าตั้งนานแล้วสมัยก่อนอาจจะปลอดภัยแต่สมัยนี้สถานการณ์มันเหมือนเมื่อก่อนมั้ย ?
__
สรุปแบบสั้นที่สุด “เสี่ยงมากครับ เลี่ยงได้เลี้ยง หมูสับแบบที่ตักน้ำร้อนแล้วคลุกให้สุกในถ้วยเพราะอุณหภูมิไม่ถึงครับ”
___
ตอบแบบยาว … อย่าอ่านนนน ๆๆ ปัดไปๆ
.
.
.
หมูสับสุก = ต้องละเอียดมากๆครับ หมูชิ้นกับหมูสับต้องแยกก่อน มีความเสี่ยงต่างกัน
หมูเสต็ก/หมูชิ้น/หมูสับ = หมูสับเสี่ยงสุด เพราะผ่านการบดสับ ค่าออกซิเจนมีสูง (ศัพท์ food sci จะเรียกว่าค่า redox potential: E0 มีค่าสูง) เชื้อโตง่ายและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากอุปกรณ์อื่นๆ มากกว่าหมูชิ้นหรือหมูสเต็กชิ้นใหญ่ๆ อีกด้วย
♨️คำว่าสุก = สำหรับเนื้อสัตว์นั้นสุกคือสภาวะที่เชื้อก่อโรคของเนื้อสัตว์นั้นๆ ลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย (ผักสุกอาจจะหมายความอย่างอื่น เช่น ผักบุ้งต้มจนผักทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องแล้วไม่ดำเพราะเอนไซม์ polyphenol oxidase ถูกทำลาย ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เกี่ยวกับเรื่องลักษณะปรากฎ)
.
เชื้อก่อโรคในหมู = ไทยกับสากลต่างกันนะครับ สากลเขาจะดูที่พยาธิ Trichinella spiralis (พยาธิตัวกลม) ที่พบในหมูแต่ไม่พบในวัว เนื้อวัวเลยกินแบบแดงๆได้ เนื้อวัวมีความเสี่ยงน้อยกว่าหมู
... แต่ในประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการอุบัติของโรค “หูดับ” จากการรับหมูเถื่อนเข้ามา (ปลอดภาษี) ที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis .. ลองอ่านข่าวดูนะครับ เยอะมาก เวลาผมไปบรรยายวิชาการ คุณหมอจะฝากให้ช่วยพูดเรื่องนี้เสมอ เพราะเคสเยอะมาก
.
แบคทีเรีย S. Suis กับพยาธิ T. spiralis แล้วตัวไหนที่ควรเอามาเป็นดัชนี้วัดความสุกของหมูในไทยล่ะ?
คำตอบคือ S. Suis เนื่องจากมันทนร้อนมากกว่า (พิจารณาจากค่า D value หรือเวลาที่ใช้ลดเชื้อลง 10 เท่าที่อุณหภูมิหนึ่ง กล่าวคือ D value ของ S. suis และ T. spiralis ที่ 72 องศาเซลเซียสจะอยู่ที่ 1-2 นาทีและ 0.5-1 นาที ตามลำดับครับ ที่เป็นช่วงกว้างเพราะหลายเปเปอร์ก็ระบุต่างกัน)
** ในญี่ปุ่น การกินชาบูแล้วแกว่งหมูในน้ำซุป แต่หมูยังชมพูนิดๆ ก็ยังปลอดภัย เพราะหมูในญี่ปุ่นสะอาดกว่า**
สรุปก็คือในไทยนั้นจุลินทรีย์ที่ใช้เป็นดัชนี้วัดความสุกของหมู คือ S. Suis ไม่ใช่ T. spiralis เหมือนนานาชาติ S. suis ทนร้อนมากกว่า
แล้วปรุงหมูสับแบบร้านก๋วยเตี๋ยวคืออะไร = คือนำหมูสับดิบลงถ้วยเมลามีน แล้วราดน้ำซุปที่เกือบจะเดือดลงไปคลุกๆ จนคิดว่าสุก ไม่ได้ต้มหมูในน้ำเดือดโดยตรง
________
#การทดลองจำลอง
ทีนี้ผมก็ทดลองครับ ทดลองคือทำแบบ best case ที่สุดเลย คือพยายามทำให้สภาวะที่หมูควรจะสุกที่สุด
1) ใช้หมูสับที่ไม่เย็นแล้ว ใช้หมูสับ 29-30 องศาเซลเซียส (ก็คือควรจะสุกง่ายที่สุด)
2) ใชน้ำเดือดจัด (บางร้านใช้น้ำซุปไม่เดือดมาลวกหมู)
3) ใช่จานเมลามีน (เลียนแบบร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วไป เพราะถ้าใช้ชามแสตนเลส น้ำจะหายร้อนเร็ว)
4) ใช้สัดส่วนหมูใกล้เคียงกับที่ร้านก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่จะเสิร์ฟ คือ 40-50 กรัม และใช้น้ำซุปเยอะๆ 200 กรัม (คือควรจะสุกแน่ๆ)
5) ไม่ใส่เครื่องปรุงใดๆ เช่น มะนาว น้ำปลา ถั่วลิสง หมูแดง เพราะพวกนี้ยิ่งทำให้อุณหภูมิลดลง (ดังนั้นถ้าไม่มีพวกนี้ หมูสับก็ควรที่จะต้องสุกง่ายกว่า)
6) แล้ววัดอุณหภูมิขณะเทน้ำเดือดลงหมูแล้วคนไปเรื่อยๆ ว่า cooking temp จะอยู่ที่กี่องศา
_____
#ผลก็คือ
1) พอเทน้ำเดือดลงไปคลุกกับหมูตามวิธีข้างบน หมูและน้ำซุปรวมกันจะอยู่ที่อุณหภูมิเพียง 63-65 องศาเซลเซียสเม่านั้น
2) สภาวะนี้หมูเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล/ขาวทั้งหมด คือดูด้วยตาเหมือนจะสุกแน่ๆ แต่น้ำซุปกลายเป็นสีชมพูๆ
_______
#วิจารณ์ผล
1) เรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ หมูชิ้นต้องสุกที่ 70 องศาเซลเซียส (หมูสับก็จะขึ้นไปอีกเป็น 72-75 C แล้วแต่ตำรา) ... นี่ขนาดผมทำให้การทดลองเอื้อไปทางหมูสุกสุดๆ ทั้งน้ำเดือดจัด ไม่ใส่เครื่องปรุงอะไรต่างๆลงไป หมูไม่เยอะ น้ำต้มเยอะ ๆ ยังอยู่ที่ 63-65 องศาเซลเซียสเอง ดังนั้นเสี่ยงหมูดิบ หูคนกินดับแน่นอน
2) บางร้านก๋วยเตี๋ยวหมูยังออกชมพูๆอยู่เลย แสดงว่าอุณหภูมิตอนคลุกๆ ไม่น่าถึง 63-65 องศาเซลเซียส และร้านส่วนใหญ่จะปรุงน้ำตาล น้ำปลา มะนาว ถั่ว หมูชิ้นลงไปผสมกับหมูสับด้วย ดังนั้นยิ่งเสี่ยงที่จะหมูสับดิบเพราะถูกแย่งความร้อนไปจากวัตถุดิบอื่น ๆ ดังกล่าวครับ
3) ถ้าจะให้คำนวณ ... วิเคราะห์ค่า D value ของแบคทีเรีย S. suis ที่ 65 องศาเซลเซียส อยู่ที่ประมาณ 5 นาที (ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้เช่น 80 C ค่า D อาจจะลดลงไปอยู่ที่แค่ 0.5-1 นาที (ต้มหมูที่ 80 C, 1 นาที เชื้อลดลงไป 10 เท่า)
4) แต่เราวัดได้ที่ 65 C หมายความว่ากว่าจะลดเชื้อ S. suis ได้ 6log (ล้านตัว) ต้องคงเวลาที่ 65 C นานถึง 5*6 = 30 นาที ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วตอนเราไปกินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง
5) มากไปกว่านั้น ตัวเลขนี้คือคำนวณแบบ best case นะครับ คือตามที่ผมบอกคือใช้น้ำเดือด หมูสับไม่เย็น ไม่ใส่เครื่องปรุงอื่นตอนคลุกหมูกับน้ำร้อน
... ขนาดแบบนี้ยังไม่สุกเลย ... แต่ในชีวิตจริง โห น้ำที่ราดหมูสับก็ไม่เดือด ใส่น้ำนิดเดียว หมูสับอาจจะเย็น (แช่น้ำแข็งไว้กลัวเสีย) และยังใส่เครื่องปรุงต่างๆมาแย่งความร้อนไปอีก ดังนั้นเสี่ยงมากนะครับ
6) กรมควบคุมโรครายงานปี 2567 พบผู้ป่วยโรคนี้ 956 ราย เสียชีวิต 59 รายครับ
_____
สรุปคือ
การทำให้หมูสับสุกแบบคลุกในชามด้วยน้ำซุปร้อน ๆ เสี่ยงมากครับ เลี่ยงได้เลี้ยง หมูสับแบบที่ตักน้ำร้อนแล้วคลุกให้สุกในถ้วยเพราะอุณหภูมิไม่ถึงครับ...
ถ้าเจอร้านไหนทำแบบนี้แนะนำให้สั่งแบบไม่ใส่หมูสับครับ
แล้วถ้าถามว่าทำไมเรากินแบบนี้ไม่เห็นเป็นอะไร? เพราะเราภูมิคุ้มกันคนเราไม่เท่ากัน, ปริมาณเชื้อ S. suis เริ่มต้นในหมูสับแต่ละร้านก็ไม่เท่ากันครับ วิธีการทำแต่ละร้านก็ต่างกันครับ .. และดวงเราแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน 5555