หรือการทูตแบบไผ่ลู่ลมจะเป็น soft power?
บทความ:
https://prachatai.com/journal/2023/12/107126
บทความนี้ขอพูดในมุมที่รัฐบาลได้รับการชื่นชมน้อยไป ไม่อาจคาดหวังให้ถึงขั้นต้องชื่นชม แต่ก็อยากให้รับรู้และเข้าใจมิติของการทำงานอย่างหนักของรัฐบาล ซึ่งสื่อฯไทยรวมถึงกระแสข่าวในสังคมดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับประเด็นน้อยไปหน่อยและค่อนข้างจะจับประเด็นยิบย่อย ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่มีการวิจารณ์แนวถากถางรัฐบาลว่าการมาต้อนรับตัวประกันไทยผู้รอดชีวิต เป็นเหมือนการเอาหน้า และไม่ใส่ใจประชาชนอย่างจริงจังทำให้ปล่อยให้มีการเดินทางจากสนามบิน โดยปล่อยให้โดยสารกลับภูมิลำเนาเองกับรถทัวร์กันเอง เหมือนจะเกินเลยไปมาก เพราะข้อเท็จจริงจากการเปิดเผยของญาติตัวประกันเองคือพวกเขาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 10,000 บาท บางคนเลือกจะพักใน กทม. ต่อบางกลุ่มเลือกจะโดยสารรถทัวร์กลับบ้านเลย แม้จะเข้าใจดีถึงมุมของการเห็นต่าง แต่ความพยายามนี้เหมือนเป็นการมองข้ามมุมที่เป็นบวกและความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยเอง ทั้งในเชิงการเมืองและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันภายในประเทศไทยอย่างแน่นอนเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจเราที่พึ่งพาต่างชาติเป็นหลัก ผมจึงอยากพูดถึง 3 ประเด็นในมุมของความสำเร็จทางการทูตของไทย ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองภายในระยะเวลาที่สั้นมากในการเจรจาครั้งนี้ร่วมกับพี่น้องมุสลิมไทยโดยเฉพาะท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นกำลังสำคัญและเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้งานการทูตบรรลุผลเร็ว
1. การเจรจาระดับ รัฐ-รัฐ ที่ดำเนินโดยกระทรวงต่างประเทศร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน จากการเปิดเผยของ Wall Street Journals เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาโดยใช้คำว่า “Hostage Diplomacy” เพื่อนิยามความสำเร็จทางการทูต ในอีกสำนักข่าวหนึ่งของ BNN ใช้คำว่า “Diplomatic Prowess” หรือความกล้าหาญทางการทูต ในวอลสตรีทเจอร์นัลเล่าถึงความพยายามตั้ง"กองกำลังนักการทูตรุ่นใหม่" คล้ายๆหน่วยการทูตพิเศษ ประจำที่เทลอาอีฟ รัฐบาลเปิดห้องหรูให้คนไทยผู้ประสบภัยไม่มีที่พักและเจ้าหน้าที่ทูตนับร้อยห้อง ที่โรงแรม King David Intercontinental เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน เครื่องบิน ณ สนามบินเบนกูเรียนบินเข้า-ออก เพื่อซัพพลาย อาหาร ก๋วยเตี๋ยว เครื่องเทศให้กับผู้รอดชีวิต ในวันที่ 20 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้วางทีมกระจายออกกันทำงานด้านเจรจาเท่าที่จะทำได้ เริ่มจากมาเลเซีย ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยคุยกับฮามาส และมีสถานทูตปาเลสไตน์ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในขณะที่นายกฯเศรษฐา ได้ไปเยือนซาอุฯในวันเดียวกันนั้น เพื่อเจรจากับรัฐบาลของ MBS (มกุฏราชกุมาร โมฮัมหมัด บินซัลมาน) ทั้งในส่วนของการเปิดเส้นทางลำเลียงผู้ประสบภัยและขอให้ช่วยคุยกับทางฮามาส ณ โรงแรม เดอะริสต์ คาลตัน MBS ได้ให้คำมั่นว่าจะทำอย่างสุดกำลัง ในสัปดาห์ต่อมารัฐมนตรีว่าการต่างประเทศปานปรีย์ได้บินไปที่กาตาร์ เพือไปพูดคุยกับประเทศตะวันออกกลาง ผู้ที่จะสามารถเป็นลิงค์ที่ดีที่สุดในการเจรจากับฮามาสได้ และได้พบกับทั้งรัฐบาลกาตาร์และตัวแทนจากรัฐบาลอิยิปต์ ที่เป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญในการเจรจาฮามาส ทางการอิยิปต์ได้เปิดเผยว่าในภายหลังว่า ได้คุยให้แล้วแต่ทางฮามาสยังไม่ยอมปล่อยจนกว่าทางอิสราเอลจะปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ออกมา ณ จุดนี้ นับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไทยแตกต่างจากหลายชาตินั่นคือการคุยได้ทั้งสองชาติ และคำขอของไทยถูกรับฟังโดยทั้งสองฝ่าย รมว. ปานปรีย์ได้พูดคุยกับทีมการต่างประเทศของอิสราเอลต่อเนื่อง การเลือกไม่ไปเยือนอิสราเอลด้วยตัวเองในช่วงแรก และเลือกไปเยือนประเทศมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความใส่ใจว่ากลัวจะทางฮามาสจะเข้าใจว่ามีการเอนเอียงและส่งผลกระทบต่อตัวประกัน รวมถึงความมั่นใจว่าข้อเสนอเรื่องการแลกเปลี่ยนตัวประกัน-นักโทษอยู่ในดีล เป็นผลให้วันที่ 24 พฤษจิกายน เป็นวันที่ทั้งสองฝ่ายประกาศพักรบและปล่อยตัวประกันไทย 12 คนกลับมาในรอบแรกซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่นที่ไม่ใช่อิสราเอล
2. การทูตระดับภาคีเครือข่ายมุสลิมไทย ในหลายสำนักข่าวตั้งตะวันตกและอาหรับเองรายงานตรงกันถึงการใช้เครื่อข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัวทั้งระดับองค์กรและส่วนบุคคลในการเจรจากับฮามาส ผ่านทางรัฐบาลอิหร่าน การ์ต้า อิยิปต์และมาเลเซีย โดยมี นายอารีเพ็ญ อุตรสินตร์เป็นหัวหน้าทีมเจรจาที่กรุงเตหรานพร้อมด้วย ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ที่พำนักในอิหร่านอยู่แล้วมาเสริมทีม ทั้งหมดเป็นเครือข่ายการทำงานของนาย มูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาไทย ไทม์ไลน์คร่าวมีดังนี้
“- 11 ต.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี นักการศาสนาผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทย พบปะที่รัฐสภา เพื่อปรึกษาและมองหาความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือคนไทยผ่านช่องทางประเทศมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกลุ่มฮามาส
- 11 ต.ค. ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน เข้าพบ “ดร.คอลิด กุดดูมี” หัวหน้าสำนักงานฮามาส ประจำกรุงเตหะราน เป็นครั้งแรก เพื่อพูดคุยหาแนวทางช่วยเหลือตัวประกันไทยที่ถูกควบคุมตัว
- 16 ต.ค. ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด เข้าพบ “ดร.คอลิด กุดดูมี” หัวหน้าสำนักงานฮามาส ประจำกรุงเตหะราน ครั้งที่สอง หารือเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกควบคุมตัว พร้อมเปิดเผยผลพูดคุยเบื้องต้น “เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก”
- 27 ต.ค. ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่ง “อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์” ที่ปรึกษา บินด่วนเข้ากรุงเตหะราน อิหร่าน ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาที่ถูกแต่งตั้งโดยประธานรัฐสภาไทย พร้อมนายสัยยิดมุมิน ศักดิ์กิตติชา ในฐานะตัวแทนผู้นำชีอะห์ไทย เพื่อเจรจากับผู้แทนฮามาส โดยมี ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด ในฐานะผู้ประสานงาน นำเข้าพบ “ดร.คอลิด กุดดูมี” ที่สำนักงานใหญ่ผู้แทนฮามาสประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน” นับเป็นการพบปะครั้งที่ 3 กับฮามาส
- 1 พ.ย. นาย อารีเพ็ญ กลับจากอิหร่านถึงไทย พร้อมเปิดแถลงข่าวที่รัฐสภา เผยขบวนการฮามาสเข้าใจความปรารถนาของประเทศไทย รวมถึงประธานสภาไทย ที่ต้องการนำคนไทยกลับประเทศอย่างปลอดภัย โดยทางกลุ่มฮามาส ให้คำมั่นสัญญาและรอเวลาเหมาะสมที่จะปล่อยตัวคนไทยออกมา
- 10 พ.ย. ดร.เลอพงษ์ เข้าพบ “ดร.คอลิด กุดดูมี” หัวหน้าสำนักงานฮามาส เป็นครั้งที่ 4 เพื่อสรุปผลการพูดคุย ก่อนที่ดร.เลอพงษ์จะเดินทางกลับไทยมารายงานความคืบหน้าการเจรจากับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
- 16 พ.ย. ดร.เลอพงษ์ เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ ที่รัฐสภาพร้อมทีมเจรจา ก่อนแถลงข่าวดี ว่าไม่น่าเกิน 10 วัน คาดฮามาสจะปล่อยตัวแรงงานไทยชุดแรก “โดยไม่มีเงื่อนไข” แต่ไม่ชัดเจนว่าปล่อยจุดไหนต้องศึกษาถึงความปลอดภัยก่อนซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางฮามาส แต่สิ่งที่ได้รับการยืนยันก็คือ หากมีการปล่อยตัวจะคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องคนไทยและแรงงานไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- 24 พ.ย. ตัวประกันไทยชุดแรก 10 คนได้รับการปล่อยตัว หลังอิสราเอล-ฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว
- 25 พย. ฮามาสปล่อยแรงงานไทยเพิ่มอีก 4 คน”
(อ้างอิงจาก พับลิกโพสต์ออนไลน์)
ไม่นับรวมช่องทางช่วยเหลือจากนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ต่อสายเข้ามาแสดงความยินดีกับ นายกเศรษฐาหลังได้รับตำแหน่งโปรดเกล้าฯเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ถือเป็นสัญญาณทางการทูตที่ดีมากทำให้สองท่านนี้มีการพบกันมากกว่าผู้นำประเทศท่านอื่นรวมถึงล่าสุดที่ได้พบการ ที่ด่านสะเดา ชายแดนไทย-มาเล ด้วย เชื่อว่าวาระนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่นำมาพูดคุยด้วย ความสัมพันธ์ของนายอันวาร์กับทางกลุ่มฮามาส เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวในฐานะนักเคลื่อนไหวเครือข่าย Muslim Brotherhood อันวาร์ อิบราฮีมถือเป็นศิษย์โปรดของ ดร.ยุซุฟ กอรฎอวีย์ ผู้นำจิตวิญญาณของ Muslim Brotherhood เครือข่ายของฮามาส ทำให้ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่จะมีความลึกซึ้งทางจิตวิญาณมากกว่าแรงจูงใจจากผลประโยชน์แห่งชาติ
3. นัยทางการเมืองระหว่างประเทศต่อสถานะของรัฐไทยต่อเวทีโลกหลังจากนี้ แน่นอนว่าสื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างพูดถึงความสำเร็จในมุมการทูตของรัฐบาลไทย ซึ่งประเทศตะวันตกไม่สามารถทำได้ แม้จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารที่เหนือกว่า แต่ไทยกลับเป็นประเทศแรกที่ได้รับความสนใจและพูดถึง สิ่งนี้จะต่อยอดจุดยืนและตำแหน่งแห่งที่ในการเมืองระหว่างประเทศของไทยได้ดี จากการประชุม UNGA APEC ณ สหรัฐอเมริกา และ Belt Road Forum ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีน ที่นายกฯเศรษฐาได้พบทั้งประธานาธิบดีสี จิ้งผิง และประธานาธิบดีปูตินที่นั่น ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนรัฐบาลไทยสามารถแสดงให้โลกเห็นถึงความสำคัญของไทยต่อหลายประเทศมหาอำนาจที่ไทยไม่มีความขัดแย้งใดๆเลย การเลือกลงภาพเซลฟีกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตามด้วยวิดิโอ ยืนคุยอย่างเป็นกันเองยิ้มแย้ม พร้อมทำท่าทางยกเท้าเตะฟุตบอลของสีจิ้งผิง บ่งบอกถึงการเป็นที่ยอมรับจากทุกขั้วอำนาจ และไม่เพียงแค่ระดับพอรับได้ แต่ถึงระดับประทับใจและมีการเชิญชวนเข้ามาลงทุนกับเมกะโปรเจกต์ในไทย ซึ่งเป็นอีกจุดที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่หมายทางเศรษฐกิจที่เนื้อหอมในมุมของมหาอำนาจ
"Hostage Diplomacy"ครั้งนี้จะเป็นประตูเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยอีกมากในอนาคตหลังจากที่ไทยประคองการทูตแบบเอียงตะวันออกโดยเฉพาะจีนมานานในยุคของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ "Bamboo Diplomacy" ของจริงกำลังจะแสดงผลงานให้พวกเราได้เห็นหรือไม่ เป็นที่ต้องคอยติดตามกัน