โพสของเพจ Normal Lads Liverpool แจกแจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทความเรื่องสเกาเซอร์และสถาบันของ UK น่าสนใจดีครับ
ขออนุญาตโพสอีกรอบนะครับน
เพจวิเคราะห์บอลจริงจังเล่าเรื่องสเกาเซอร์กับสถาบันครับ
เรียบเรียงดีมากเลย เขียนดีกว่าแอดยี่สิบเท่า อยากให้ตามไปอ่านกัน
อย่างไรก็ตาม ในบทความมีการให้เหตุผลหรือข้อมูลบางเรื่องความคลาดเคลื่อนไปนิดนึง เลยอยากขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมครับ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างแฟนลิเวอร์พูลในไทย เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ
ออกตัวก่อนเลย แอดจะไม่บอกว่าทั้งหมดที่แอดเขียนถูกต้อง 100% นะครับ เสน่ห์ของวิชาประวัติศาสตร์คือเราไม่มีทางรู้เรื่องทั้งหมดได้ถูกต้อง 100% ต่อให้นั่งเครื่องย้อนเวลากลับไป เอาข้อมูลทั้งหมดมากอง มนุษย์คนนึงก็ไม่มีเวลาประมวลข้อมูลได้หมด ต้องเฟรมเลือกเรื่องที่สำคัญมาบันทึก แล้วตีความ สิ่งที่ทำได้ในทางวิชาการคือการถกเถียงกันเพื่อหาแนวตีความที่สอดคล้องกับข้อมูล และสมเหตุสมผลมากที่สุด
ต่อไปที่แอดจะเขียนนี้ แอดเลือกมาเฉพาะประเด็นที่ได้รับการยอมรับเป็นความรู้พื้นฐานนะครับ
ทั้งหมดมี 6 ประเด็น ตามนี้ครับ
1. วิเคราะห์บอลจริงจังบอกว่า “วิกฤติเงินเฟ้อในอังกฤษเกิดจากคนเอาแต่พึ่งพารัฐสวัสดิการมากเกินไป”
แอดยังไม่เคยเห็นการตีความ หรือคำอธิบายแนวนี้นะครับ ยังนึกไม่ค่อยออกว่าจะอธิบายยังไง
ที่จริง วิกฤติเงินเฟ้อในอังกฤษเกิดจากการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมหาศาลของรัฐบาล แนวโน้มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองค่อนสงครามเย็น ที่รัฐบาลใช้จ่ายทางการทหารด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง ต่อเนื่องมาจนถึงการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามของรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และการประกาศ “สงครามโลกครั้งที่สาม” สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อสู้กับความยากจนของรัฐบาลจากพรรคแรงงาน
การอัดฉีดนี้ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น เกิดวงจรอุบาทว์ คือพอเงินเยอะขึ้น ของก็แพงขึ้น พอของแพงขึ้น คนก็เรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น หรือสวัสดิการมาช่วยแบ่งเบาภาระมากขึ้น พอรัฐบาลอัดฉีดงบเพิ่ม ก็วนกลับไปเริ่มใหม่ คือเงินเยอะขึ้น ของยิ่งแพง วนไปเรื่อยๆ อย่างหยุดไม่ได้
การอธิบายว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจากคนพึ่งพารัฐสวัสดิการนั้น ที่จริงเป็นแนวคิดของฝ่ายการเมืองอุดมการณ์อนุรักษ์ นิยมตลาดเสรีสุดขั้วมากกว่า ในทางวิชาการ ส่วนตัวแอดยังไม่เคยเห็นคำอธิบายนี้ครับ (อันนี้แอดอาจจะอ่านไม่เยอะพอเอง ใครรู้แลกเปลี่ยนได้ครับ)
2. วิเคราะห์บอลจริงจังบอกว่า “จลาจลและความรู้สึกของคนลิเวอร์พูลเกิดจากวิกฤติเงินเฟ้อ”
อันนี้ไม่น่าใช่ เพราะวิกฤติเงินเฟ้อเกิดมาตั้งแต่ช่วง 1950-60s ถ้าเป็นเพราะเรื่องนี้ คงจลาจลเผากันไปตั้งนานแล้ว แต่จลาจลเกิด 1981 แน่นอนว่าเรื่องเงินเฟ้อเป็นบริบทความไม่พอใจพื้นฐาน แต่จุดเปลี่ยนจลาจลปี 1981 จริงๆ แล้วเกิดจาก
หนึ่งวิกฤติน้ำมันโลก คือโลกอาหรับตีกับอิสราเอล ฝ่ายแรก พวกโอเปคใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง ส่งออกน้ำมันให้ประเทศนอกกลุ่มพันธมิตรน้อยลง ในราคาที่สูงขึ้น เกิดภาวะ oil shock น้ำมันราคาพุ่ง
สองเกิดประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในเอเชีย ทำให้อุตสาหกรรมหนักในตะวันตกย้ายฐานการผลิตไปประเทศเหล่านั้น ที่ค่าแรงถูกกว่า
สองเรื่องนี้ซ้ำเติมสถานการณ์เป็นโดมิโน่ เพราะเรื่องแรกดันราคาของให้สูงขึ้นมหาศาล วงจรอุบาทว์ทำงานหนัก ค่าแรงพุ่งตาม แล้วพอมีทางเลือกอื่น อุตสาหกรรมหนักต่างๆ เลยย้ายหนีกันหมด
นี่คือคำอธิบาย ว่าทำไมคนในเมืองที่ไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากโรงงานและท่าเรืออย่างลิเวอร์พูล จะตกงานกันทั้งเมือง และเกิดจลาจลตามมา
3. วิเคราะห์บอลจริงจังบอกว่า “รัฐบาลแธตเชอร์ซ้ำเติมความรู้สึกคนลิเวอร์พูล ด้วยการตัดงบแล้วเอาไปลงในเมืองอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า”
อันนี้ไม่จริงนะครับ แธตเชอร์สมาทานสุดใจกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เชื่อในการให้ตลาดเสรีทำงาน ต่อต้านบทบาทและการลงทุนของรัฐทุกรูปแบบ เขาเชื่อระดับศาสนาว่าทุกคนต้องดูแล ต่อสู้ด้วยตนเอง และเชื่อว่าคนจนเพราะโง่หรือขี้เกียจ ถ้าตั้งใจทำงานจะ “ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน”
ดังนั้นแอดค่อนข้างมั่นใจว่าไม่มีการลงทุนในเมืองอื่นแน่นอน
ที่จริงตอนนั้นก็เจ็บทุกเมืองนะครับ ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ลีดส์ ลิเวอร์พูลเจ็บหนักเพราะไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ทำเลย
4. เพจเล่าว่า “แธตเชอร์เข้าเฝ้าควีนทุกสัปดาห์ แต่ควีนไม่แทรกแซงให้ช่วยคน สเกาส์เซอร์เลยเกลียดควีนไปด้วย”
อันนี้ไม่น่าเป็นไปได้
การเข้าเฝ้ากินข้าว ถวายรายงานกับควีนเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาเป็นร้อยปี และเป็นปกติที่ควีนจะไม่แสดงความเห็นแทรกแซงทางเศรษฐกิจการเมือง (ถ้าทำก็ต้องลับสุดๆ ในลักษณะให้คำแนะนำอ้อมๆ นายกฯ จะไม่เล่าต่อ และตัดสินใจเอง)
ไม่น่ามีใครมองเรื่องนี้แล้วโกรธ
ถ้าจะเข้าใจว่าทำไมคนถึงลามไปโกรธควีนเราต้องเข้าใจว่า เอกลักษณ์หนึ่งของผู้คนบนเกาะอังกฤษ คือการมองโลกด้วยมุมมองเรื่อง “ชนชั้น” (อีกสองเอกลักษณ์คือมองโลกแบบ satirical absurdity และ analytically precision ไว้มาเล่าให้ฟังวันหลัง)
เรื่องชนชั้น ประเด็นคือเค้าเชื่อว่าวิถีชีวิต มุมมอง วัฒนธรรม การกระทำของคนคนนึงถูกกำหนดด้วยชนชั้นที่เขาเกิดมา คนชั้นสูงมองโลกแบบนึง มีผลประโยชน์แบบนึง มีแนวโน้มจะทำอะไรแบบนึงคล้ายๆกัน คนชั้นล่างก็ไปอีกแบบ อะไรแบบนี้
แล้วสเกาส์เซอร์ก็มองแธตเชอร์กับสถาบันฯ เป็นก้อนชนชั้นเดียวกัน แบบที่เรียกว่าพวกอนุรักษ์นิยม Establishment
ภายใต้กรอบนี้ ต่อให้ควีนกับแธตเชอร์เกลียดกัน สเกาส์เซอร์ก็ลามไปหมั่นไส้ควีนอยู่ดี เพราะถึงที่สุด คนทั้งหมดนี้เป็นพวกเดียวกัน และมีแนวโน้มไปทางเดียวกัน ในสายตาของเค้า ต่อให้ขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัวก็เถอะ
เอาเข้าจริงภายหลังมีการเปิดเผยว่าควีนกับแธตเชอร์ตีกันด้วย หนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจเนี่ยแหล่ะ ควีนไม่ชอบแนวคิดตลาดเสรี ทิ้งคนให้ดิ้นรนกันเองของแธตเชอร์ อีกเรื่องคือไม่พอใจที่แธตเชอร์ไม่แทรกแซงระบอบแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ อดีตประเทศใต้อาณานิคม
5. เพจเล่าว่า “แฟนหงส์โกรธที่แธตเชอร์แบนทีมจากบอลยุโรป 6 ปี หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเฮย์เซล”
ที่จริงเรื่องนี้แฟนหงส์ไม่ค่อยโวยวายกันครับ ไม่น่าเป็นชนวนได้ อาจมีเดือดตอนได้ยินคำสั่ง แต่หลังจากนั้นก็โยนเรื่องนี้ทิ้ง
หนึ่งเพราะเราผิดเอง ผิดเต็มๆ ที่ฮูลิแกนส์แฟนหงส์วิ่งไปไล่ตีเค้าจนอัฒจรรย์ถล่ม
สองเค้าไม่ได้แบนแค่เรา แต่แบนทุกทีม เรื่องนี้เป็นอารมณ์รู้สึกผิดมากกว่า ไม่อยากพูดถึง
สาม เอาเข้าจริง คนอังกฤษชมแธตเชอร์เรื่องนี้ด้วยซ้ำ ว่าตัดสินใจได้ดี เพราะทำให้ฟุตบอลอังกฤษรอดจากบทลงโทษและคำประนามที่น่าจะหนักกว่าจากนอกประเทศ
ก่อนใช้เวลาหกปีนี้กวาดล้างวัฒนธรรมฮูลิแกน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าแธตเชอร์ประสบความสำเร็จอยู่ (ใช่ครับ นางเก่ง แอดโคตรเกลียดนางเลย แต่ต้องยอมรับว่านางเก่ง)
6. เพิ่มเติมนิดนึงว่าเรื่องฮิลส์โบโร่ที่วิเคราะห์บอลจริงจังพูดถึง จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่คนอังกฤษเลือกคนชื่อบอริส จอนสันมาเป็นนายกฯ
ไม่ใช่เพราะฮิลส์โบโร่อย่างเดียว ไม่งั้นคงโห่เพลงชาติทุกนัดชิงมาตั้งแต่สามสิบปีก่อน
ที่บอริสเป็นชนวน เพราะแต่ก่อนอีนี่เคยทำงานเป็นคอลัมนิสต์ The Sun เป็นอีกตัวนึงที่ปั่นเรื่องด่าแฟนหงส์ และไม่เคยยอมขอโทษจนถึงทุกวันนี้
การโห่เพลงชาตินัดชิงคาราบาวคัพปีก่อน เกิดขึ้นเพราะมีอีนี่เป็นนายกฯ แหล่ะครับ สเกาส์เซอร์รู้สึกว่าถ้าคนอังกฤษเลือกอีนี่ ก็แปลว่าไม่เคยเห็นหัวกันเลยสินะ
และก็บอริสคนดีคนเดิมเนี่ยแหล่ะครับ ที่ปลุกระแส anti-establishment ในหมู่สเกาส์เซอร์ เพราะเขามาจากพรรคอนุรักษ์นิยม มีพื้นเพมาจากตระกูลขุนนางใหญ่
มองเป็นก้อนแล้วก็คือ “ไอ้พวกฝ่ายขวา”, “กากเดนอนุรักษ์นิยม”, “เสรีนิยมใหม่”, “ชนชั้นผู้ดี” ฝั่งเดียวกับสถาบันฯ นั่นเอง (กลับไปที่ข้อ 4.)
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3323067424575151&id=1763193370562572
https://www.facebook.com/100077180294360/posts/pfbid02F8YwFWiJfZA8RihR3okL4R6uWzKboFEyjBAovLDC6acGh4QmQxwWQFZ5qaS1zJ3bl/" rel="nofollow" title="
https://www.facebook.com/100077180294360/posts/pfbid02F8YwFWiJfZA8RihR3okL4R6uWzKboFEyjBAovLDC6acGh4QmQxwWQFZ5qaS1zJ3bl/" target="_blank">
https://www.facebook.com/100077180294360/posts/pfbid02F8YwFWiJfZA8RihR3okL4R6uWzKboFEyjBAovLDC6acGh4QmQxwWQFZ5qaS1zJ3bl/