เมงเยสีหตู เป็นใคร ? มาจากไหน ?
ขอบคุณเครดิตจากเพจเกร็ดประวัติศาสตร์ครับ
https://www.facebook.com/726502237386172/posts/837430869626641/
ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ไปชมภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสาแล้ว อาจจะคุ้น ๆ หูกับชื่อ "พระเจ้าตองอู" ซึ่งมีราชทินนามว่า "เมงเยสีหตู" (มังรายสีหสู) ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้มีพระองค์เดียว แล้วชื่อนี้มีที่มาจากไหน
ไปหาคำตอบกันครับ
หากท่านทั้งหลายจะยังคงจดจำความยิ่งใหญ่และประณีตของภาพยนตร์ “สุริโยไท” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้ บุคคลที่มีชื่อแปลกหูและออกจะเรียกยากสำหรับบางท่านว่า “เมงเยสีหตู” ผู้นี้ เคยถูกนำเสนอเป็นตัวละครหนึ่งในภาพยนตร์ “สุริโยไท” รับบทโดย อาแอ๊ด สมบัติ เมทะนีนั่นเอง ในภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอะไรมากไปกว่า บุคคลผู้นี้เป็นบิดาของบุเรงนอง เป็นเสมือนราชครูและที่ปรึกษาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พลันให้หลายคนนึกสงสัยและสับสนว่า ฤๅชะรอยเมงเยสีหตูผู้นี้คือ “ชายปาดตาล” ที่หนังสือผู้ชนะสิบทิศของท่านยาขอบเล่าว่า เป็นบิดาของจะเด็ด
เมื่อตรวจสอบตำรับตำราประวัติศาสตร์ของพม่าแล้ว พบว่าประวัติความเป็นมาของเมงเยสีหตูมีที่มาจาก ๒ แหล่ง
แหล่งหนึ่งนั้นคือ ตำนานเรื่องเล่าท้องถิ่นของชาวตองอู เล่ากันว่าบิดามารดาของพระเจ้าบุเรงนองมีอาชีพเป็น “คนปาดตาล” ซึ่งในพม่าถือว่าเป็นชนชั้นที่อยู่ล่างสุดของสังคม ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เชื่อว่าถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง โดยนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมของพม่า ในช่วงที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อต้องการสื่อแสดงว่าแม้สามัญชนจากชนชั้นล่างสุดก็สามารถสร้างตัวขึ้นมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ยิ่งใหญ่ได้
อีกแหล่งหนึ่งนั้นคือ พงศาวดารฉบับทางการของพม่า ตั้งแต่พงศาวดารฉบับอูกาลา จนถึงพงศาวดารฉบับหอแก้ว ระบุไว้ตรงกันว่า เมงเยสีหตูผู้นี้น่าจะถือกำเนิดในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๓๓ – ๒๐๔๒ มีนามเดิมว่า “เมงจีสเว” มีชาติกำเนิดที่สูงส่ง ด้วยสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสรพญาแห่งตองอู (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๓ – ๑๙๘๙) และพระเจ้าเมงกองที่ ๑ แห่งตองอู (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๙ – ๑๙๙๔) กษัตริย์ของนครรัฐตองอูโบราณในยุคที่พม่ายังกระจัดกระจายเป็นนครรัฐหลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม
เมงจีสเวมีภรรยา ปรากฏพระนามในพระราชพงศาวดารว่า “ชินเมียวมยัต” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสีหตูแห่งเปียงยา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๕๓ – ๑๘๖๘)
ในปี พ.ศ. ๒๐๕๙ ทั้งสองได้รับเลือกให้เป็น “พระอภิบาล” ของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ พระราชโอรสในพระเจ้าเมงจีโยแห่งตองอู สันนิษฐานว่าเมงจีสเวมีตำแหน่ง “ราชครู” ของเจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้ ส่วนนางชินเมียวมยัตนั้นพงศาวดารระบุชัดเจนว่ามีตำแหน่งเป็น “พระนม” พงศาวดารยังระบุด้วยว่าเจ้าชายหนุ่มให้ความเคารพนับถือคนทั้งคู่ประหนึ่งบิดามารดาของตน ในช่วงนั้นนางได้ให้กำเนิดธิดา ๑ คน และบุตรอีก ๔ คน แต่คนสุดท้องนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ต่อมาราวปี พ.ศ. ๒๐๖๓ นางชินเมียวมยัตเสียชีวิตไป เมงจีสเวจึงรับน้องสาวของนางมาเป็นภริยาใหม่และมีบุตรด้วยกันอีก ๒ คน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๗๓ พระเจ้าเมงจีโยประชวรสวรรคต เจ้าชายตะเบ็งชะเวตี้พระชนม์ ๑๔ พรรษาได้ขึ้นเถลิงราชย์ต่อ และได้รับนางขิ่น โปน โซ ธิดาคนโตของเมงจีสเวมาเป็นหนึ่งในพระอัครมเหสี และสถาปนาเมงจีสเวให้มีฐานันดรศักดิ์ที่ “เมงเยเตงคะตู” (มังรายสิงขสู) ในตำแหน่งที่ปรึกษาคนสำคัญ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๓ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงตีกรุงหงสาวดีของมอญได้สำเร็จและทรงย้ายราชธานีลงมาอยู่ ณ กรุงหงสาวดีแล้วได้สถาปนาเมงเย เตงคะตูขึ้นเป็น “เมงเยสีหตู” (ตำรามักระบุว่า Minye Thihathu I เพื่อป้องกันความสับสน เพราะชื่อนี้เป็นฐานันดรศักดิ์ของ “พระเจ้าตองอู”) ได้รับพระราชทานเครื่องอิศริยยศอย่างกษัตริย์ครองอยู่เมืองตองอู จนกระทั่งเมงเยสีหตูประชวรสิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. ๒๐๙๒ หลังกลับจากตามเสด็จพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไปในศึกคราวเสียพระสุริโยทัยของกรุงศรีอยุธยา
เมงเยสีหตูมีโอรส-ธิดากับนางชินเมียวมยัต ๕ องค์ (แต่สิ้นเสียตั้งแต่ยังเยาว์ ๑ องค์) ได้แก่
๑. ขิ่น โปน โซ พระธิดาองค์โต ต่อมาได้อภิเษกเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ปรากฏพระนามว่า “ธรรมเทวี”
๒. เยทุต ในปี พ.ศ. ๒๐๗๗ ได้รับสถาปนาจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในฐานันดรศักดิ์ที่ “บาเยงนอง จอเดง นรทา” อันมีความหมายว่า “พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษฎาภินิหาร” และยังได้รับพระราชทานอภิเษกสมรสกับเจ้านางตะเคงจี พระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ บุเรงนองได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในปี พ.ศ. ๒๐๙๓
๓. สิริสยาจอเดง เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองได้รับสถาปนาเป็น “เมงเย สิทธู” หรือ อุปราชแห่งเมาะตะมะ
๔. นันดาโยวดา (นันทโยธา) ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ ได้รับสถาปนาจากพระเจ้าบุเรงนองเป็น “ตะโดธรรมราชา” (สะโตธรรมราชา) ฐานันดรศักดิ์ “พระเจ้าแปร”
นอกจากนี้ เมงเยสีหตูยังมีโอรสอันเกิดแต่ชายาอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นขนิษฐาของ “ชินเมียวมยัต” ได้แก่
๕. ไจยะนันดา (ไชยนันทะ) ในรัชสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตองอูสืบต่อจากพระราชบิดา ในฐานันดรศักดิ์ที่ “สีหตู” ต่อมาภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในปี พ.ศ. ๒๐๙๓ พระองค์ได้ประกาศไม่ขึ้นต่อราชสำนักหงสาวดี เถลิงพระนามว่า “พระเจ้าเมงกอง” (มังฆ้อง) (นักประวัติศาสตร์เรียกว่า เมงกองที่ ๒ Minkhaung II) แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาปราบ พระเจ้าเมงกองได้ยอมกลับมาสวามิภักดิ์อีกครั้ง พระเจ้าบุเรงนองจึงพระราชทานอภัยโทษให้ และโปรดฯ ให้เป็นพระเจ้าตองอูต่อไป ทั้งนี้ด้วยทรงรำลึกถึงพระโอวาทของพระบิดา (เมงเยสีหตู) ที่ทรงสอนให้พี่น้องรักใคร่กันไว้ดั่งนิ้วมือทั้งห้า พระเจ้าเมงกองผู้นี้เป็นพระราชบิดาของเมงเยสีหตูที่ ๒ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของนัดจินหน่อง
๖. ตะโดเมงสอ เดิมทรงมีฐานันดรศักดิ์ที่ “เมงเยจอเดง” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๙๘ พระเจ้าบุเรงนองทรงสถาปนาขึ้นเป็น “ตะโดเมงสอ” ในตำแหน่ง “พระเจ้าอังวะ” ทรงอภิเษกกับพระธิดาองค์โตของพระเจ้าบุเรงนอง (มีศักดิ์เป็นหลานอาของตน) คือ “อังวะมี้พะยา” อันมีความหมายว่า มเหสีกรุงอังวะ ต่อมาทรงมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งพระนามว่า “นัดเชงเมดอ” ซึ่งได้เป็นชายาเอกของพระมหาอุปราชา หรือ “เมงจีสวา”
พระเจ้าอังวะผู้นี้เองที่ประกาศไม่ขึ้นต่อพระเจ้านันทบุเรง ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนองเพียง ๒ ปี เป็นเหตุให้พระเจ้านันทบุเรงต้องนำทัพขึ้นไปปราบด้วยพระองค์เอง พระเจ้าอังวะหลบหนีไปทางเมืองจีนและสิ้นพระชนม์ลงระหว่างทาง
โดยนัยนี้ เมงเยสีหตู พระราชบิดาของพระเจ้าบุเรงนองในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ มีความแตกต่างจากที่เรารับรู้จากนิยายผู้ชนะสิบทิศของท่านยาขอบซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประวัติศาสตร์ “สายตำนาน” เป็นอย่างมาก นอกจากจะสืบเชื้อสายขัตติยะแล้ว ยังอยู่ในแวดวงชั้นสูงของราชสำนักตองอู มีความใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ในระดับพระอภิบาลหรือราชครู และภายหลังยังมีสถานะเป็น “พระสัสสุระ” หรือพ่อตาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เองก็ให้ความเคารพนับถือเมงเยสีหตูประหนึ่งบิดาของตน จึงไม่แปลกที่ทั้งบุเรงนองและเหล่าพระอนุชาของพระองค์ จะได้รับการเลี้ยงดูมาในพระราชวังหลวงของตองอู ได้รับการศึกษาอบรมในศิลปะวิทยาการชั้นสูงอย่างเจ้าชายพม่า ได้เป็นกำลังสำคัญทั้งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนองในการทำศึกสงครามกับแว่นแคว้นข้างเคียงในกาลต่อมา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กับสายวงศ์ของบุเรงนอง จะพบว่ามีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น มีการอภิเษกสมรสระหว่างกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็อภิเษกสมรสกับพระพี่นางของบุเรงนอง พระเจ้าบุเรงนองก็อภิเษกสมรสกับพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แม้ต่อมาเมื่อบุเรงนองขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งหงสาวดีแล้ว ก็ยังใช้การอภิเษกสมรสนี้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสัมพันธ์ในหมู่เจ้านายระดับสูงแห่งราชวงศ์ของตนด้วย ซึ่งวิธีการนี้เป็น “ของปกติ” ที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมรัฐโบราณยุคจารีต