วันนี้ขอตั้งกระทู้ที่ไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นะครับ เป็นกระทู้เกี่ยวกับสังคมทุกวันนี้
เราอาจจะเคยได้ยิน บิวตี้ พรีวิลเลจ และ บิวตี้ สแตนดาร์ด มาบ้าง แต่บางท่านอาจจะไม่เข้าใจมามันคืออะไร
สองอย่างนี้คือมาตรฐานความสวยที่สังคมกำหนดขึ้นมาแล้วความสวยแบบนั้นบางทีก็ได้สิทธิพิเศษในสังคม
อาจจะมีหลายทานที่เคยเจอหรือเคยได้ยินเรื่องราวประมาณว่า
ในบริษัทหรือที่ทำงานไม่ว่าเอกชนหรือราชการ ก็มีพนักงานทั้งชายและหญิง
ในหน่วยงานนั้นมีสาวสวยอยู่ แล้วสาวสวยคนนั้นได้รับการปฏิบัติ"พิเศษ"จากคนอื่นๆเช่น
- ได้รับความสนใจจากพนักงานชาย ยิ่งถ้าสาวสวยคนนั้นโสด ก็จะได้รับขนมจีบจากพนังงานชายอยู่เรื่อยๆ
- ทำผิด "ไม่เป็นไร" หากสาวสวยคนนั้นทำผิดพลาดในการทำงานมักได้รับการอภัยจากหัวหน้า(ชาย) ทั้งที่ๆถ้าเป็นคนอื่นทำผิด ไม่ว่าพนักงานชายทำผิด หรือพนักงานหญิง(ที่ไม่สวย)ทำผิดบ้าง ก็ได้รับการต่อว่าต่อขานบางที่ก็ถึงขั้นรุนแรง
ยกตัวอย่างประมาณนี้ครับ คนสวยมักทำอะไรไม่ผิด นั้นคือ บิวตี้ พรีวิลเลจ และ บิวตี้ สแตนดาร์ด รูปแบบหนึ่ง
เอาใกล้ๆใน SS เราวันสองวันที่ผ่านมา มีดราม่าการลงรูปนักแสดงสาวสวย มีเสียงแตกเป็นสองเสียง
1. ไม่ชอบเพราะสิ่งที่นักแสดงนั้นเคยทำมาในอดีต
2. ชอบ และเรียกร้องให้คนกลุ่มที่ 1. แยกแยะหน่อย
ซึ่งอาจจะไม่เสียงแตกเป็นสองกลุ่ม หากนักแสดงคนนั้นเป็นผู้ชาย หรือ เป็นนักแสดงหญิงที่ไม่สวย
ถ้าเป็นลงรูป โจ(นูโว) เจ(เจตริน) เสียงคงไปในแนวทางเดียวกัน อาจจะไม่แตกเป็นสองฝ่าย
กรณีนี้ก็เป็น บิวตี้ พรีวิลเลจ และ บิวตี้ สแตนดาร์ด ในรูปแบบหนึ่ง
และ อีกกระทู้ใน SS ไม่เชิงเป็นดราม่า แต่เห็นมีกระทู้แสดงความเห็นกันเรื่องการประกวดนางงาม
ซึ่งการประกวดนางงามนั้นมันตรงกับ บิวตี้ พรีวิลเลจ และ บิวตี้ สแตนดาร์ด แบบเต็มๆ
ที่นางงามจากไทยต้องหน้าตาสีผิวแบบนั้นเพราะ บิวตี้ สแตนดาร์ด ของกองประกวด
รูป : รอบ 5 คนสุดท้าย miss universe 2021
แน่นอนครับ คุณและผมชอบคนสวยในรูปแบบสเป็คของเรา แต่หากเลือกปฏิบัติดีกับแต่คนสวย ส่วนคนไม่สวยเราปฏบัติด้วยความไม่เท่าเทียม
เราก็จะเป็นพวก บิวตี้ พรีวิลเลจ และ ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด สองมาตรฐาน
แต่หากท่านใด ปฏิบัติทั้งคนสวยและคนไม่สวยเท่าๆกัน หรือปฏิบัติดีกับคนที่นิสัยดีมากกว่าหน้าตา ท่านยอดเยี่ยมมากครับ เป็นคนที่น่านับถือเลยล่ะ
ขอยกบทความจาก Vogue Thailand เรื่อง บิวตี้ สแตนดาร์ด เพื่อจะได้เข้าใจกับมันมากขึ้น
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ผ่าแนวคิด ‘Beauty Standard’ ที่อาจทำให้ทุกคนต้องเจ็บปวด
เปิดหมดเปลือกเกี่ยวกับแนวคิดค่าความงามมาตรฐาน และเพราะอะไรเราทุกคน…จึงเจ็บปวด
โดย Kanthoop Hengmak / 27 ตุลาคม 2564
คุณคิดว่าคุณสวยหรือไม่…หากลองโยนคำถามนี้ลงไปกลางวงสนทนาใดๆ ก็ตาม อาจจะมีกลุ่มคน 20 เปอร์เซนต์ที่ยอมรับว่าตนเองนั้นมีหน้าตาที่ดูดี อีก 30 เปอร์เซนต์ที่แบ่งรับแบ่งสู้ และอีกครึ่งนึงที่สวนคำตอบอย่างทันควันว่าตัวเองนั้นไม่ใช่คนดูดี แต่เพราะเหตุใดคนกว่าครึ่งเหล่านั้นจึงจำยอมรับความไม่สวยของตนเองโดยทันที นั่นอาจเพราะในสังคมมี ‘ค่ามาตรฐานความงาม’ (beauty standard) เป็นเส้นสมมุติที่กำหนดกรอบจำกัดว่าอะไรที่ดูดี และอะไรที่ไม่ใช่ แต่รู้หรือไม่ว่าค่ามาตรฐานความงามมาจากไหน และใครเป็นผู้กำหนด
ภาพ: savage x fenty โดย Rihanna แบรนด์ชุดชั้นในที่ผ่าแนวคิดความงามาตรฐานและชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีความสวยในแบบตนเอง / Teen Vogue
Beauty standard คืออะไร
ค่ามาตรฐานความงาม หรือ beauty standard คือสิ่งที่สังคมใดสังคมหนึ่งยอมรับว่าเป็นความสวยงามอย่างอุดมคติ โดยรูปแบบความงามนั้นอาจรับเอามาจากวัฒนธรรมอื่น หรืออาจจะเกิดจากการกำหนดเกณฑ์โดยเพศตรงข้าม เมื่อความนิยมของค่ามาตรฐานความนั้นมีมากขึ้นก็จะถูกยอมรับและเผยแพร่มาตรฐานนี้ต่อกันไป จึงทำให้แต่ละวัฒนธรรมมีค่ามาตรฐานความงามที่ต่างกัน หรืออาจจะคล้ายคลึงกันได้
จะเห็นว่าค่ามาตรฐานความงามที่เราได้รับรู้มาคือการกำหนดกะเกณฑ์โดยมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น โดยไม่ได้ยืนบนหลักความเป็นจริง หรือการชั่งตวงวัดที่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งนี้คือความงามที่มากกว่า น้อยกว่า หรือไม่งาม แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังจะยึดถือค่ามาตรฐานความงามดังกล่าวเพื่อให้ตัวเองใกล้แตะถึงมาตรฐาน หรือสูงกว่ามาตรฐานเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือเพื่อให้เพศตรงข้ามเกิดความสนใจมากขึ้น
ภาพ: ไอดอลจากเกาหลีใต้ หนึ่งในมาตรฐานความงามยุคใหม่ที่ถูกเผยแพร่ และได้รับการยอมรับในระดับสากล / bandwagon.asia
ค่ามาตรฐานความงามในวัฒนธรรมต่าง ๆ
ขาว รูปร่างเล็ก และดูอ่อนหวาน นี่คือคงจะเป็นมาตรฐานความงามของหญิงไทยที่ถูกกำหนดขึ้นโดยเพศตรงข้าม และจุดกระแสการรับรู้โดยสื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจที่เมื่อผู้หญิงที่ผิวแทน มีความมั่นใจ และแต่งตัวเซ็กซี่จะถูกเปรียบเทียบทันทีว่าเหมาะควรจะมีคู่เป็นชาวต่างชาติมากกว่า เพราะเธอผู้นั้นมีความงามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานการยอมรับของไทย
เมื่อฉายภาพไปที่สังคมเกาหลีใต้ ค่ามาตรฐานความงามที่มีอาจจะไม่ได้ต่างกับไทยมากนักเพราะไทยเองก็ได้รับอิทธิพลความงามจากเกาหลีใต้ผ่านทางอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตพอกันกับอุตสาหกรรมความงาม แต่ในระยะหลังหน้าสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ก็เริ่มเปิดรับความงามใหม่ที่เน้นถึงเอกลักษณ์บุคคลมากขึ้น แต่ก็ยังถูกครอบด้วยค่านิยมบางประการเช่นต้องมีรูปหน้าที่เก๋ รูปร่างที่ดี และมีสไตล์
ภาพ: Ashley Graham ต้นแบบของสาวอวบที่มั่นใจในตนเอง / Pinterest
ฟากตะวันตกแม้มาตรฐานความงามอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจ แต่ก็ไม่ได้หายไปจากวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง แต่แปรเปลี่ยนจากค่ามาตรฐานความงามหนึ่งเดียว เป็นหลายมาตรฐานแล้วแต่ที่ใครจะเลือกหยิบมาตรฐานความงามรูปแบบใดมาเป็นมาตรวัดของตนเอง เช่นการมีรูปร่างแบบนาฬิกาทราย สะโพกผาย เอวคอด พร้อมสีผิวแทนละเอียดแบบบ้านคาร์ดาเชียน, การมีรูปร่างสูง สมส่วน และไม่ผอมแห้งจนเกินไป หรือจะมีรูปร่างอวบแต่มีสไตล์ พร้อมด้วยสุขภาพที่ดี ดังเช่นต้นแบบของสาวอวบอย่าง Ashley Graham เป็นต้น
ภาพ: โฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่เคยเป็นประเด็นในโลกออนไลน์เนื่องด้วยการด้อยค่าความต่างของสีผิว / rappler
เพราะอะไรเราจึงเจ็บปวดจาก beauty standard
แน่นอนว่าเมื่อคุณไม่ได้มีความงามตรงตามค่ามาตรฐาน การถูกยอมรับผ่านการตัดสินจากภายนอกอาจจะยากมากขึ้น อาจจะเกินเลยไปจนถึงขั้นถูกตัดสินจากคนอื่นในประเด็นที่แตกต่างออกไป เช่น คุณอาจถูกตัดสินว่าไม่รักตัวเอง, อาจถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ค่าความงามตามมาตรฐาน อาจถูกเลือกปฏิบัติโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรืออาจจะกลายเป็นปัญหารุนแรงถึงการล้อเลียนจนทำให้เกิดความอับอาย ส่งผลโดยตรงถึงสุขภาพจิตที่อาจทำให้ซึมเศร้า หรือตัดสินใจผิด ๆเกี่ยวกับการศัลยกรรมเพียงเพื่อให้ตนเองเป็นที่พึงพอใจในสายตาผู้อื่น
ภาพ: ปี 2021 ความงามไม่ได้หยุดที่หุ่นผอมบางแบบเดิมอีกต่อไป แต่ความสวยมีอยู่ทุกไซส์ไม่จำกัด / anneofcarversville
แต่มิใช่เพียงผู้ที่มีความงามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในเมื่อปัจจุบันกระแสเรียกร้องให้เกิดการยอมรับความงามที่หลากหลายเริ่มถูกพูดถึงในสังคมมากขึ้น ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงความจริงของมาตรฐานความงาม จนเกิดกระแสการโต้กลับไปถึงคนที่มีความงามตามมาตรฐานผ่านการใช้คำพูดเหน็บแนม ประชดประชัน หรือการประเมินความสามารถในด้านอื่นๆ ของคนที่มีความงามตามมาตรฐานไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพียงเพราะมีความเชื่อฝังหัวกันมาว่าคนที่มีความงามตามมาตรฐานนั้นมีดีแค่ความสวย
สุดท้ายแล้วสิ่งที่อาจจะต้องคำนึงมากกว่าการมีอยู่ของความงามมาตรฐานนั่นคือ ‘การยอมรับในความต่าง’ โดยที่ไม่ต้องมีข้อแม้ใดๆ เพียงแค่เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนล้วนประกอบสร้างมาด้วยความแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็คือมนุษย์เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครเจ็บปวดกับค่ามาตรฐานความงามที่เป็นภาพลวงตาอีกต่อไป
Link ต้นทาง
https://www.vogue.co.th/fashion/article/beautystandard
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
และบทความเรื่อง บิวตี้ พรีวิลเลจ lovecarestation เพื่อจะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากขึ้น
บิวตี้ พรีวิลเลจ (beauty privilege) คืออะไร?
บิวตี้ พรีวิลเลจ (beauty privilege) คืออะไร?
คือรูปแบบของความลำเอียงในสังคม ที่ทำให้คนที่รูปร่าง หน้าตา ตรงตามมาตรฐานความงาม (beauty standards) ได้รับสิทธิพิเศษ และโอกาสมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่คู่กับสังคมมานาน ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากเท่าใด
บิวตี้ พรีวิลเลจในสังคมไทย
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในปัญหาหลักของสังคมไทยคือการเลือกปฎิบัติเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนในระดับการทำงาน รวมถึงในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย
สมัยเรียนมัธยม งานกีฬาสีคงเป็นงานที่หลายๆ คนรอคอย และแน่นอนว่าจุดเด่นของงานกีฬาสีนั้น นอกจากการแข่งกีฬาระหว่างสีแล้ว ก็คงไม่พ้นการเดินพาเรด การแสดงของดรัมเมเยอร์ เชียร์ลีดเดอร์ ฯลฯ ซึ่งหลายครั้ง คนที่ได้รับคัดเลือกมาทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ ก็ถือเป็นคนที่รูปร่างหน้าตาตรงตาม beauty standards และสำหรับคนที่ไม่ผ่านข้อนี้ โอกาสของพวกเขาคงลดลงไปไม่น้อย
การประกวดดาวเดือนในมหาวิทยาลัย ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของชีวิตปีหนึ่ง แต่แท้ที่จริงแล้ว การที่มีคนใดคนหนึ่งได้รับชื่อว่าเป็น “คนที่ดูดีที่สุดในคณะ” ถือเป็นตัวอย่างของ บิวตี้ พรีวิลเลจ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม beauty standards และทำให้คนที่ได้รับตำแหน่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และเริ่มมีการรณรงค์ให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็น “คนที่มีความสามารถ” หรือ “คนที่มีบุคลิกน่าสนใจ” ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าไปสู่การยกเลิก บิวตี้ พริวิเลจ และ beauty standards ในสังคมไทย
ในความเป็นจริงแล้ว คนที่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงตาม beauty standards ไม่เพียงแต่เสียโอกาสในหลายๆ ด้านเท่านั้น แต่หลายครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกรังแก (bully) ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์
ความชอบรายบุคคล
เนื่องจากทุกคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีความชอบส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องผิดที่จะรู้สึกว่าคนบางคนดูดีกว่าคนอื่น การยกเลิก บิวตี้ พรีวิเลจ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนไม่มีสิทธิ์ที่จะชื่นชมความสวยงามของใครบางคน แต่เป็นเพียงการรณรงค์ไม่ให้สังคมให้ค่ากับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป และให้ความสำคัญกับความแตกต่างอันงดงามของทุกคน
ความแตกต่างอันงดงาม
ถ้าหากทุกคนมีรูปร่าง หน้าตาเหมือนกันหมด โลกใบนี้คงจะน่าเบื่อไม่น้อย ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ ถ้าหากมองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบหน้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ ดารา หรือกระทั่งคนที่เดินสวนไปมาในถนน ในโลกใบนั้น มนุษย์คงไม่ต่างอะไรกับหุ่นยนต์ เพราะเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง รู้เช่นนี้แล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ทุกคนยกเลิก “บิวตี้ พรีวิเลจ” และหันมาชื่นชมความหลากหลาย และเอกลักษณ์ความงามเฉพาะตัวของแต่ละคน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการยอมรับจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างแท้จริง
“When you embrace your difference, your DNA, your look or heritage or religion or your unusual name, that’s when you start to shine.” – Bethenny Frankel
“เมื่อใดก็ตามที่คุณยอมรับความแตกต่างของตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น DNA รูปลักษณ์ภายนอก เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งชื่อของคุณที่อาจจะผิดแปลกไปบ้าง เมื่อนั้นแหละ คุณจะดูโดดเด่นขึ้นมา” – เบทานี่ แฟรงค์เคิล
Spoil
References:
Mohammed, Sagal. “Is ‘Pretty Privilege’ Actually a Thing?” My Imperfect Life, My Imperfect Life, 18 Aug. 2021, www.myimperfectlife.com/features/pretty-privilege.
หงส์ลดารมภ์ กานต์ธิดา. “การหยั่งรากลึก ของ Beauty Privileges ในสังคมไทย.” มติชนออนไลน์, 30 Sept. 2020, www.matichon.co.th/article/news_2373051
Christie, Lacey-Jade. “From Instagram to the Bachelor: We Need to Talk about ‘Pretty Privilege.”.” Mamamia, Mamamia, 26 Nov. 2020, www.mamamia.com.au/pretty-privilege/.
Fard, Saeid. “The Greatest Privilege We Hardly Talk about: Beauty.” Medium, Medium, 13 July 2020, medium.com/@sfard/the-greatest-privilege-we-hardly-talk-about-beauty-7db3f70c1116.
“(641 Quotes).” Goodreads, Goodreads, www.goodreads.com/quotes/tag/unique.
จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
-Content Creator
นางสาวธามม์ ลิมวัฒนานนท์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
-Artwork
นายภูดิศ บูรณะชัยทวี นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-Editor
นางสาวสุพิชฌาย์ อนุวงศ์วรเวทย์ นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะเเพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
Link ต้นทาง
https://www.lovecarestation.com/__trashed/