มาวิเคราะห์ "วิเคราะห์บอลจริงจัง"
พอดีเห็นคุณไปตอบในกระทู้บอลไทย ก็เลยเพิ่มรู้ว่าคุณมี User ที่นี่ด้วย
ออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้สนใจประเด็นที่คุณดราม่าเมื่อเร็วๆนี้เลย (เอาจริงๆ ผมก็แทบไม่สนใจบอลไทยด้วยซ้ำ และอ่านดูคร่าวๆก็คิดว่าเห็นด้วยกับคุณด้วยซ้ำ) แต่มีประโยคนึงที่คุณเคลมว่า
"บอลนอกผมก็อปใครหรอครับ ผมเคยก็อปใครแม้แต่ครั้งเดียวหรือเปล่า ถ้าจะแปลบทความผมก็บอกว่าแปลบทความ แต่ถ้าเขียนเองผมก็เขียนเอง"
ผมเคยติดตามคุณมานานมาก ตั้งแต่หลายปีก่อน เลยเคยเห็นหลายๆบทความของคุณมีที่มาจากแหล่งอื่นอยู่เหมือนกัน คือไม่ได้คัดลอกมาโดยตรง แต่มันอ่านแล้ว มันคือเรื่องราวเดียวกัน
ผมยกตัวอย่างอันนึงที่ผมจำได้ดีคือเรื่องของ โกรัน อินิวาเซวิชกับแชมป์วิมเบิลดั้นปี 2001 ของคุณกับวิดีโออันนึงที่เป็นเรื่องเดียวกันและ"เรียบเรียงเนื้อหา"มาเหมือนกัน
ยที่ผมรู้สึกว่ามันเหมือนกัน เพราะผมดูคลิปนี้ที่ขึ้นมาจากการโปรโมทและอ่านเจอบทความของคุณก็โพสหลังจากนั้นไม่นาน (อาจจะบังเอิญก็ได้)
เนื้อหาในบทความ
https://www.facebook.com/jingjungfootball/posts/2277959535752617
Spoil
โกรัน อิวานิเซวิช คือนักเทนนิสที่ดีที่สุดเท่าที่โครเอเชียเคยมีมา
เขาสูงถึง 193 ซม. มีลูกเสิร์ฟรุนแรงดุจปีศาจ แถมถนัดซ้ายจนคนเดาทางยาก
ในวัย 20 ปี อิวานิเซวิชเข้าชิงแกรนด์แสลมครั้งแรก ในวิมเบิลดัน ปี 1992 โดยปะทะกับอันเดร อกาสซี่
โกรันเล่นได้ดีแล้ว แต่ต้านความแข็งแกร่งของอกาสซี่ไม่ไหวแพ้ไปใน 5 เซ็ต
ตอนนั้นใครๆก็เชื่อว่า โกรันจะคัมแบ็กกลับมาได้แน่นอน โดยเฉพาะในวิมเบิลดัน เชื่อเถอะเขาต้องได้เข้าชิงอีกบ่อยๆแน่
เพราะสไตล์การเล่นของอิวานิเซวิช เป็นผู้เล่นแบบ Big Server and Volley นั่นคือเสิร์ฟหนัก พอคู่แข่งรับลูกเสิร์ฟไม่ดี ก็วิ่งขึ้นหน้าเน็ต เผด็จศึกในการเล่นแค่ไม่กี่เพลย์เท่านั้น
เขาเป็นสไตล์ดุดัน ไม่ต้องตีโต้เยอะหลายครั้ง แต่ชอบปิดเกมเร็ว ซึ่งสไตล์แบบนี้ คือเพอร์เฟ็กต์เป๊ะเลย กับคอร์ตหญ้าอย่างวิมเบิลดัน
ในคอร์ตอื่นเขาอาจจะเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ถ้าเป็นคอร์ตหญ้าเมื่อไหร่ ปีศาจโกรันจะกลับมาทันที
หลังแพ้นัดชิงวิมเบิลดัน ในปี 1992 อีกแค่ 2 ปีต่อมา โกรัน เข้าชิงวิมเบิลดันอีกครั้ง โดยพบกับพีต แซมพราส
ปี 1994 คือยุคทองของแซมพราสเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อช่วงต้นปี ดังนั้นโกรันจึงสู้ไม่ไหว แพ้ไป 3 เซ็ตรวด
2 ครั้งแล้วนะ ที่เข้าชิงแล้วไม่ได้ ...
แต่โกรัน ยังไม่ยอม เขาลุกขึ้นสู้ ความฝันสูงสุดของเขา คือการได้แชมป์แกรนด์แสลมสักครั้งก่อนตาย ชีวิตนี้ถ้าไม่ได้เป็นมือ 1 ของโลก ก็ไม่เป็นไร แต่ขอคว้าแกรนด์แสลมให้ได้สักหน เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลก็พอแล้ว
4 ปีต่อมา เข้าสู่ปี 1998 ในวัย 26 ปี เป็นวัยที่โกรัน แข็งแกร่งที่สุด เขามีสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ทั้งเทคนิค และประสบการณ์
ที่สำคัญโกรันมี "ดวง" ด้วย เพราะไม่เจอคู่แข่งที่ยากเลย 5 เกมแรก ไม่เจอมือวางเลยแม้แต่คนเดียว
คือมาเจอของแข็งหน่อยก็รอบรองชนะเลิศ ต้องปะทะริชาร์ด ครายเช็ก ของฮอลแลนด์ แต่โกรันก็ไม่พลาด เขาเอาชนะได้สำเร็จ ได้เข้าชิงเป็นหนที่ 3 โดยปะทะกับมือ 1 ของโลก พีต แซมพราส
มาถึงจุดนี้ โกรัน เชื่อมั่นในทฤษฎี Third Time Lucky คือคนเราจะผิดหวังได้สักกี่ครั้งกัน พอถึงหนที่ 3 คราวนี้ล่ะโชคดีจะมาเยือนบ้าง ไม่มีวันแพ้ไปตลอดหรอก
การแข่งขันนัดชิงบี้กันอย่างสุดมันส์ โกรันนำไปก่อน 1 เซ็ต จากนั้นในเซ็ตที่ 2 เขาขึ้นเซ็ตพอยต์ และควรจะปิดบัญชีได้
แต่ทว่าโกรันพลาด เก็บเซ็ตไม่ได้ จนโดนแซมพลาสคัมแบ็กกลับมาและแย่งเซ็ตไปแทน ตีเสมอเป็น 1-1
นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้โกรัน สมาธิไม่อยู่กับตัวอีกต่อไป เซ็ตต่อมาโดนแซมพราสกดอีก โกรันตามหลัง 1-2
เขารวบรวมพลังอีกหน เอาชนะคืนในเซ็ตที่ 4 ตีเจ๊าเป็น 2-2 ต้องตัดสินกันในเซ็ตสุดท้าย
ถึงตรงนี้ ต้องวัดกันที่ความเยือกเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่โกรัน ไม่มีเลย เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน พอตีไม่ได้ดั่งใจก็ฟอร์มหลุดไปดื้อๆ มีขว้างแร็กเก็ตระบายความหงุดหงิดบ่อยครั้ง
และก็นั่นล่ะ ในที่สุดแซมพราสเอาชนะไปได้ในเซ็ตที่ 5 ปิดเกมด้วยสกอร์ 3-2 เซ็ต
มันแปลว่าโกรัน เข้าชิง 3 ครั้ง ไม่ได้แชมป์เลยแม้แต่หนเดียว
"ผมคิดว่ามันจบแล้ว" โกรันเล่า "ผมคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีวันจะชนะวิมเบิลดันแล้ว รู้ไหม ในชีวิตจริงไม่มีใครสน รองแชมป์ที่เล่นดีหรอก คนที่ได้ที่ 2 สุดท้ายจะถูกลืมเสมอ"
-------------------------------------------
การแพ้ในนัดชิงปี 1998 มันกลายเป็นแผลในใจของอิวานิเซวิช
6 เดือนหลังแพ้ที่วิมเบิลดัน โกรันไม่คุยกับใครเลย เขาไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อใดๆ เก็บตัวเงียบตลอด
"อาชีพของผม ทุกสิ่งทุกอย่าง นับจากนั้น มันตกต่ำลงหมดเลย"
สิ่งที่หมดไปจากตัวโกรันคือความมั่นใจในการเล่น เขาท้อแท้ และสิ้นหวัง ซึ่งแน่นอนเมื่อสภาพจิตใจเป็นแบบนั้น คุณจะหวังว่า จะเล่นดีอยู่อีกหรอ? มันเป็นไปไม่ได้หรอก
จิตใจว่าแย่แล้ว ร่างกายก็ไม่สมบูรณ์อีก มีอาการเจ็บหัวไหล่แทรกมาตลอด
ส่งผลให้ 3 ปีต่อมา นับจากวันที่แพ้แซมพราส โกรันไม่ได้แชมป์อะไรเลยแม้แต่รายการเดียว เขาหลุดออกไปจากวงโคจรของนักเทนนิสระดับโลก
โกรัน จากที่เอาชนะคู่แข่งเป็นว่าเล่น เขากลายเป็นนักเทนนิสหมดสภาพ ปีนึงชนะ 4-5 เกม และค่อยๆร่วงลงไปอยู่อันดับต่ำกว่า 100 ของโลก
"ผมยังเล่นเทนนิสอยู่ เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร" โกรันเผย
"ผมเล่นโง่ๆ ตีแบบส่งเดช ผมเสิร์ฟ พอโดนเขารีเทิร์นกลับมาได้ ผมก็ตีติดเน็ต ไม่ก็ตีออก เล่นโง่ๆซ้ำๆอยู่แบบนี้แหละ"
มิถุนายน 2001 วิมเบิลดันกลับมาอีกครั้ง โกรัน อยู่อันดับ 125 ของโลก ไม่เพียงพอจะเข้ามาเล่นในรอบเมนดรอว์
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลงานการเข้าชิง 3 สมัย มันเป็นบุญสะสมเก่าๆ ทำให้ผู้จัดการแข่งขันมอบสิทธิไวลด์การ์ดให้
"ผู้จัดให้โอกาสโกรัน ได้กล่าวคำอำลากับแฟนๆวิมเบิลดันอย่างเป็นทางการ" สื่อในอังกฤษวิเคราะห์
อัตราต่อรองในการคว้าแชมป์ของโกรันอยู่ที่ แทง 1 ได้ 250 ซึ่งราคาขนาดนี้ มันแปลง่ายๆว่า ไม่มีใครคิดว่าโกรันจะทำได้หรอก
-------------------------------------------
โกรันหวังว่าเขาจะมีดวง ในการจับสลากเหมือนปีก่อนๆ ที่หลีกเลี่ยงมือวางได้เสมอ แต่มาในคราวนี้กลับไม่เป็นอย่างนั้นเลย
ถ้าไม่นับรอบแรกที่เจอ มือควอลิฟาย เฟรดริก ยอนสันจากสวีเดน รอบที่เหลือเขาต้องเจอกับผู้เล่นระดับท็อปทั้งนั้น
ในรอบ 2 เจอกับคาร์ลอส โมย่า จากสเปน อดีตมือ 1 ของโลก
โกรันแพ้ไปก่อนในเซ็ตแรก แต่ด้วยความเก๋าในเวทีคอร์ตหญ้ามากกว่า ทำให้พลิกกลับมาเอาชนะด้วยสกอร์ 3-1 เซ็ต เข้าไปรอบ 3 เจอกับดาวรุ่งตัวโหด แอนดี้ ร็อดดิค จากสหรัฐฯ
"ไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำได้" โกรันกล่าว
แต่พอลงแข่งจริงๆ โกรัน เล่นได้เหนือกว่า ร็อดดิคเสิร์ฟหนักมากก็จริง แต่เขาก็หนักไม่แพ้กัน ในลูกแมตช์พอยต์ โกรันปิดฉากด้วยการเสิร์ฟเอซ และเขาถอดเสื้อทันทีกลางคอร์ต เป็นการฉลองชัยชนะ
ในรอบ 4 โกรัน เจอกับเกร็ก รูเซดสกี้ นักเทนนิสชาวอังกฤษ ซึ่งแน่นอนกองเชียร์ทั้งคอร์ตเป็นฝั่งรูเซดสกี้ แต่ถึงจุดนี้โกรันเองมีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว
โกรันใช้การเสิร์ฟหนักๆเล่นงานรูเซดสกี้จนต้านทานไม่อยู่ ก่อนชนะ 3 เซ็ตรวด เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายไปเจอกับ มารัต ซาฟินอดีตมือ 1 ของโลกอีกคน เจ้าของแชมป์ยูเอสโอเพ่นคนล่าสุด
ใครๆก็เชื่อว่า เส้นทางของโกรันน่าจะจบตรงนี้แหละ เพราะซาฟินเป็นผู้เล่นที่ฮอตมากๆ เขาคือมือ 4 ของรายการ แถมยังอายุน้อยกว่าโกรันถึง 9 ปี เรียกได้ว่าความสดเหนือกว่ากันเยอะ
"โกรันไม่ไหวหรอก เพราะเขาเล่นได้แค่มิติเดียว" จอห์น แม็คเอ็นโร วิจารณ์ก่อนแข่ง
แต่พอลงแข่ง อิวานิเซวิช แสดงให้เห็นว่าเขา จะไม่มาหยุดแค่รอบนี้ โกรันนำไปก่อน 2-0 เซ็ต ก่อนที่ซาฟินจะไล่ตีตื้นเป็น 2-1
ในเซ็ตที่ 4 โกรัน ได้เบรกพอยต์เพื่อปิดเกม แต่เขาไม่สามารถเอามาครองได้ ทำให้ต้องยืดเยื้อไปถึงไทเบรก ซึ่งตามปกติเขาคงหงุดหงิดขว้างแร็กเก็ตทิ้งไปแล้ว
แต่คราวนี้โกรันกลับนิ่งกว่าเดิม เขามีบ่นๆตามประสาจนโดนอัมไพร์เตือนบ้าง แต่ไม่การระเบิดอารมณ์รุนแรงจนตัวเองเสียสมาธิ
สุดท้ายโกรัน เอาชนะซาฟินได้สำเร็จในเซ็ตที่ 4 เข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
"การเข้าชิงของผมในปีก่อนๆ ผู้คนคาดหวังว่าจะเราจะไปถึงอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ เชื่อเถอะ แค่รอบรองก็ไม่มีใครเชื่อแล้ว"
-------------------------------------------
เส้นทางในปีนี้ของอิวานิเซวิช ไม่มีอะไรง่ายจริงๆ
รอบรองชนะเลิศเขาต้องเจอกับ "บุตรแห่งวิมเบิลดัน" หรือ ทิม เฮนแมน นักเทนนิสขวัญใจชาวอังกฤษ
นั่นแปลว่า ทั้งคอร์ต ในการแข่งวันนั้น จะไม่มีใครอยู่ข้างโกรันเลย
โกรันเริ่มต้นได้ดี เอาชนะไปก่อนในเซ็ตแรก แต่หลังจากนั้นเฮนแมน กลับมาสู่เกมได้
โกรันได้โอกาสปิดเซ็ตที่ 2 แต่ทำไม่ได้ ถูกเฮนแมนพลิกชนะในไทเบรก ตีเสมอเป็น 1-1
ด้วยเสียงเชียร์ของคู่แข่ง บวกกับความหงุดหงิดที่ปิดเกมไม่ลง ทำให้สติของโกรันหลุดไปจากคอร์ต ในเซ็ตที่ 3 โกรันตีเสียทุกลูก จากทุกมุม จนแพ้ไป 0-6 ในเวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้น
ในเซ็ตนี้เขาเล่นแบบเป็นมือ 125 ของโลกของจริง
แน่นอน ถึงจุดนี้ ใครๆก็ดูออกว่าเกมโอเวอร์แล้วล่ะ เฮนแมนไม่พลาดแน่นอน ความมั่นใจเต็มเปี่ยม และขึ้นแท่นนำ 2-1 เซ็ตแบบนั้น
ในเซ็ตที่ 4 เฮนแมนรีบเร่งที่จะปิดเซ็ตให้ได้เพื่อเข้าชิง ปรากฏว่ามีเรื่องน่าตกใจเกิดขึ้นเมื่อ "ฝนตกหนัก"
วิมเบิลดันยุคนั้นไม่มีหลังคาล้อม ซึ่งแปลว่าอัมไพร์ต้องสั่งยุติเกมชั่วคราว
จริงๆถือว่าเซอร์ไพรส์เพราะกรกฎาคม ถือเป็นช่วงหน้าร้อนของอังกฤษ แต่อยู่ๆกลับมีฝนตกหนักหลงฤดูเกิดขึ้นซะอย่างนั้น
การแข่งในวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. ต้องเลื่อนออกไปเป็นวันรุ่งขึ้น แต่ฝนก็ยังตกหนักต่อไป จนต้องเลื่อนเป็นวันอาทิตย์
มันแปลว่าโกรันได้เวลาตั้งสติถึง 2 วัน เขาพักฟื้นสภาพร่างกายจนกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมลงแข่งต่อในเซ็ตที่ 4
พอกลับมาแข่งต่อในวันอาทิตย์ โกรันไม่เหมือนคนเดิมที่แพ้ 0-6 อีกแล้ว เขาเล่นได้อย่างดุดัน และกลับมามีสมาธิจริงๆจังๆ ก่อนสุดท้ายจะพลิกเอาชนะได้ใน 2 เซ็ตที่เหลือ
โกรัน โค่นบุตรแห่งวิมเบิลดันไปได้ 3-2 เซ็ต ด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์
"มันคงเป็นโชคชะตาแล้วล่ะ" โกรันกล่าวหลังเกม "พระเจ้าคงอยากให้ผมชนะรายการนี้สักที ท่านจึงส่งฝนลงมาช่วย"
-------------------------------------------
ในรอบชิงชนะเลิศ คู่แข่งของโกรัน คือ มือวางอันดับ 3 ของโลก แพทริก ราฟเตอร์ จากออสเตรเลีย
ราฟเตอร์ เป็นผู้เล่นสไตล์คล้ายๆกับโกรัน คือเสิร์ฟตามด้วยวอลเลย์หน้าเน็ต
สิ่งที่ราฟเตอร์เหนือกว่าคือเรื่องฟอร์มการเล่น เขาคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น 2 สมัยซ้อน และขึ้นถึงมือ 1 ของโลกมาแล้ว
แต่กับโกรันนาทีนี้ ความมั่นใจของเขาพุ่งถึงขีดสุด เขาไม่กลัวใครทั้งนั้น
"ผมไม่อยากแพ้อีกแล้ว ถ้าแพ้อีกผมคงไปผูกคอตายที่ขั้วโลกเหนือ" โกรันเผย
ในนัดชิงปี 2001 เซ็นเตอร์คอร์ตที่มีความจุเกือบ 1 หมื่น คนเต็มทุกที่นั่ง นอกจากนั้น ยังมีแฟนๆนั่งดูเกมนอกสนามมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ทุกคนอยากเห็นบทสรุปของโกรัน อิวานิเซวิช
ในประวัติศาสตร์วิมเบิลดัน ไม่เคยมีผู้เล่นไวล์ดการ์ดคนไหน ได้แชมป์มาก่อน ถ้าเขาทำได้ มันคือปรากฏการณ์
การต่อสู้ของ โกรัน กับ ราฟเตอร์ เต็มไปด้วยความเข้มข้น การต่อสู้ของทั้งคู่ตีโต้กันไม่เกิน 8 สโตรก ต่อ 1 แต้ม เสิร์ฟอัดเปรี้ยง ขึ้นหน้าเน็ต ปิดเกม แต้มส่วนใหญ่จะซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้
ทั้ง 2 คน เสมอกันอยู่ 2-2 เซ็ต ทำให้ต้องตัดสินกันในเซ็ตสุดท้าย
โกรัน เบรกเกมเสิร์ฟได้สำเร็จในเกมที่ 15 ขึ้นนำ 8-7 เขาจะออกมาเสิร์ฟเพื่อคว้าแชมป์รายการนี้
โกรันได้แชมเปี้ยนชิพพอยต์ เขานำ 40-30 แต่ด้วยความร้อนรน และบ้าคลั่ง เขาเสิร์ฟเสีย 2 ครั้งติด แต้มกลับมาเป็น Deuce
โกรันทำแต้มได้ และขึ้น Advantage เขาได้แชมเปี้ยนชิพพอยต์อีกรอบ แต่ก็ยังเหมือนเดิม โกรัน เสียเสิร์ฟดับเบิ้ลฟอลต์อีกรอบ แต้มกลับมา Deuce อีกครั้ง
ราฟเตอร์เองไม่ยอมตายง่ายๆ เขายื้อสุดใจ ถ้าเบรกคืนได้ เขาก็ยังมีโอกาสได้แชมป์เหมือนกัน
โกรันได้แมตช์พอยต์เป็นหนที่ 4 โดยเสิร์ฟแรกเขาตีออก
ในเสิร์ฟที่ 2 ขณะที่ใครๆก็คิดว่า โกรันคงต้องตีเบาลงหน่อยเดี๋ยวจะเสียดับเบิ้ลฟอลต์อีก เขากดเต็มดอกใส่โฟร์แฮนด์ของราฟเตอร์
ราฟเตอร์เอง ดูเหมือนไม่ทันตั้งตัวว่าลูกเสิร์ฟสองจะแรงขนาดนั้น เขาสวนกลับไปได้ไม่ดีพอ ทำให้ลูกติดเน็ต และนั่นแปลว่ามันเป็นชัยชนะของโกรัน อิวานิเซวิชทันที
เมื่อคว้าชัยชนะได้ โกรัน ร้องไห้ออกมาในสนาม การรอคอยอันยาวนาน มันสิ้นสุดลงแล้ว แชมป์วิมเบิลดันที่รอคอย เขาทำได้จริงๆ
กับคนอื่น อาจเป็น Third Time Lucky แต่สำหรับเขามันคือ Fourth Time Lucky
"นี่ไม่ใช่ฝันใช่ไหม ที่ผมได้แชมป์วิมเบิลดัน อย่าปลุกผมตอนนี้เลยนะ" โกรัน ให้สัมภาษณ์ด้วยความสุขที่สุดในชีวิต
"ในวิมเบิลดันคนชนะจะได้ถ้วย ส่วนคนแพ้จะได้โล่ คือมันเป็นโล่ที่ออกแบบสวยมากนะ แต่รู้อะไรไหม ที่บ้านผมมีมัน 3 อันแล้วล่ะ ขอผมได้ถ้วยบ้างเถอะนะ"
ขณะที่ผู้แพ้ในนัดชิง แพทริก ราฟเตอร์ แม้จะเจ็บปวด แต่ก็ยังให้สัมภาษณ์อย่างติดตลก
"ผมเสียใจนะที่แพ้ แต่สุดท้ายแล้วก็ดีใจกับโกรันด้วยที่เขาชนะ ถ้าเขาไม่ชนะในปีนี้ ผมว่าเขาคงต้องฆ่าตัวตายแน่ๆเลย!"
-------------------------------------------
และนี่คือเรื่องราวแห่งปาฏิหาริย์ของวิมเบิลดัน
มือ 125 ของโลก ที่ทุกคนมองข้าม แต่สามารถไปถึงแชมป์ได้อย่างสง่างาม
ทำให้เราได้เห็นว่า ตราบใดที่มีโอกาสได้ลงแข่งขัน ความหวังย่อมมีเสมอ
อย่ายอมแพ้ไปก่อน ทั้งๆที่ยังไม่เริ่มแข่ง
เพราะอย่าลืม สิ่งมหัศจรรย์ในโลกนี้ มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
#WIMBLEDON
แต่ลองดูเนื้อที่คุณเขียนมากับการเรียบเรียงของวิดิโอนี้ดูครับ
VIDEO
คุณเริ่มจากการแนะนำให้คนอ่านรู้จักโกรัน อินิวาเซวิช ซึ่งผมอ่านก็โอเคไม่รู้สึกแปลกอะไร ปกติของการเล่าเรื่องทั่วไป
แต่หลังจากนั้นคุณเริ่มต้นมาที่เรื่องเข้าชิงวิมเบิลดัน 92 เลย ก็มีรายละเอียดแค่การแพ้อังเดร อากัซซี่ในรอบชิง และต่อด้วยการแพ้พีท แซมพรามในรอบชิงปี 94 ซึ่งรายละเอียดอะไรก็คล้ายๆกัน
จากนั้นพอในคลิประบุว่าปี 98 ที่เข้าชิงกับพีท แซมพราสอีกครั้งว่า "five set thriller" คราวนี้คุณใส่รายละเอียดเพิ่มเติมแสดงถึงความดุเดือดมาเลย แต่ก็มีแค่รอบชิงเหมือนกับในคลิปเช่นเดียวกัน
จากนั้นคุณก็มาเล่าเรื่องการตกต่ำของอินิวาเซวิชเหมือนกันกับในคลิปอีกครั้ง แต่เนื้อหาของคุณมีเสริมมา จากที่ในคลิปมีแค่พูดถึงอาการบาดเจ็บและแรงจูงใจในการเล่น
จากนั้นคุณก็เล่าต่อถึงการได้แข่งวิมเบิลดันในฐานะไวลด์การ์ด มือ 125 ของโลก
คราวนี้ในการแข่งวิมเบิลดันปี 2001 คุณเริ่มเล่าตั้งแต่รอบคัดเลือกกับเฟดริก ยอนสัน เหมือนกับในคลิปเป๊ะเลย ซึ่งก่อนหน้านี้คุณพูดถึงแค่รอบชิงเหมือนกับในคลิปเหมือนกัน
แล้วคุณก็เล่าการแข่งระหว่างรอบแรกไปจนถึงรอบก่อนรองฯ ตรงนี้คุณเสริมรายละเอียดมากกว่าในคลิป ถือว่าทำการบ้านเพิ่มดี
แต่พอถึงรอบรองฯที่เจอกับทิม เฮนแมน ในคลิปใส่รายละเอียดมากกว่าเดิม คุณเองก็ทำแบบนั้นเช่นกัน ด้วยการเล่าแมทช์นั้นอีก 1 พารากราฟเต็มๆ
รวมถึงการเล่าการแข่งขัน แล้วมีพักแข่งเพราะฝนตกหนักจนต้องเลื่อนวันแข่งไปอีก 3 วัน
พารากราฟสุดท้ายของเนื้อหาก็เหมือนกับช่วงตอนจบของในคลิปคือเล่าถึงนัดชิง ตรงนี้ในรายละเอียดก็เหมือนกันทั้งการเล่า Set ที่ 1-4 แบบย่อๆ จนไปถึงปลาย Set สุดท้ายในช่วง tie break
ตรงนี้คุณเล่าในลำดับเนื้อหาเดียวกันเลยกับคลิปของวิมเบิลดัน และพอคลิปนี้จบลง เนื้อหาของคุณก็จบลงเช่นเดียวกันเลย
โดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไรกับคุณ เพราะผมก็เป็นคนชอบอ่าน แถมยังชื่นชอบแนวทางการทำเพจด้วยซ้ำ ที่เขียนเนื้อหาอะไรยาวๆ ซึ่งน้อยเพจที่ผมจะติดตามในลักษณะ
แต่การที่คุณเคลมแบบประโยคข้างต้นนั้น ผมคิดว่าคุณก็ไม่แฟร์กับคนเรียบเรียงเนื้อหาของ Wimbledon และคิดว่าคุณคงไม่ชอบถ้ามีใครเอาไอเดียการเล่าเรื่องราวของตัวเองไปเป็นผลงานของคนอื่นเช่นกัน