# เซ็นสำเนาบัตรประชาชนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ #

ถึงแม้ว่าทางหน่วยงานราชการจะมีประกาศเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชนในการติดต่อราชการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการทำธุรกรรมในอีกหลายๆ ภาคส่วน ที่ยังต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนอยู่ ดังนั้น เราจึงควรรู้เทคนิคการเซ็นสำเนาบัตรประชาชนที่ถูกต้องว่า เซ็นอย่างไรให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ ป้องกันการเอาเอกสารไปแอบอ้าง
1. ถ่ายแค่หน้าบัตรประชาชน ห้ามถ่ายหลังบัตร เพราะด้านหลังมีรหัสบัตร เลขหลังบัตร เรียกว่า Laser ID ใช้ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมดได้ ถ้าไม่ได้ใช้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเงินด้วยตัวเอง ก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายหลังบัตร
2. ขีดเส้นคร่อม 2 เส้นบนตัวบัตร แต่ห้ามขีดทับรูปหน้าเรา เพราะรูปที่ถ่ายเอกสารบางทีหน้าเราก็ไม่ชัดอยู่แล้ว ถ้าขีดเส้นทับจะทำให้การยืนยันตัวตนยากไปอีก ขีดทับข้อมูลสำคัญ ๆ เพื่อให้การแอบอ้างหรือปลอมแปลงยากขึ้นก็พอ
3. ระหว่างเส้นที่ขีดคร่อม ให้เขียนว่า “ใช้สำหรับ…….เท่านั้น” ในช่องว่างเราสามารถใส่เรื่องที่เราใช้ เช่น ใช้สำหรับสมัครงานเท่านั้น, ใช้สำหรับยืนยันตัวตนในการฉีดวัคซีนเท่านั้น, ใช้สำหรับค้ำประกันเท่านั้น ฯลฯ เพื่อที่มิจฉาชีพจะได้ไม่สามารถนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั่นเอง
4. เขียนสัญลักษณ์ # หรือ * ปิดหัว-ท้าย ประโยค เพื่อป้องกันการเติมข้อความ เขียนจุดประสงค์ที่ใช้แล้ว อย่าลืมเขียนเครื่องหมายกำกับปิดท้าย เช่น #ใช้เพื่อค้ำประกันเท่านั้น# แบบนี้
5. เขียน วัน/เดือน/ปี ที่เซ็นลงไป เพราะถ้าเราไม่เขียน มิจฉาชีพจะสามารถเอาเอกสารของเราที่เราอาจจะเคยทิ้งไปนานจนลืมแล้ว กลับมาใช้ได้
6. เขียน “สำเนาถูกต้อง” พร้อมกับเซ็นชื่อของตัวเอง ซึ่งข้อนี้เชื่อว่าทุกคนทำกันอยู่แล้ว หลาย ๆ คนอาจจะเซ็นตรงพื้นที่ว่างข้างล่าง แต่วิธีเซ็นที่ปลอดภัยคือเซ็นทับไปบนบัตรเลย