ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
23 January 2022 19:15 by ZONG'TEEN
เลอา แคมโปส : ผู้ปลดแอกเชิ้ตดำสาวแซมบ้า




ที่บราซิลเมื่อปี 1971 คนส่วนใหญ่คงคิดหนักก่อนที่จะเข้าไปใกล้กับ พลเอก เอมิลิโอ การ์ราสตาซู เมดิซี่ ผู้นำเผด็จการ ผู้ซึ่งมีภาพลักษณ์น่ากลัวและปกครองประเทศแบบเฉียบขาดแถมยังจัดการฝ่ายเห็นต่างด้วยการทรมานและการลอบสังหาร แต่ เลอา แคมโปส หญิงสาวสวยรายนี้ กล้าที่จะเดินทางไปประจันหน้ากับเขา

โจชัว ฮาเวลานจ์ : ร่างกายของผู้หญิงไม่เหมาะกับเกมฟุตบอลชาย

แคมโปส เชื่อว่า เมดิซี่ จะสามารถช่วยให้เธอเอาชนะเหล่าผู้กุมอำนาจในวงการกีฬาของประเทศในเวลานั้น ซึ่งนำโดย โจชัว ฮาเวลานจ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นประธานองค์กรลูกหนังโลกอย่างฟีฟ่ามายาวนาน

ก่อนหน้านั้น 4 ปี แคมโปส ผ่านคุณสมบัติในการทำหน้าที่ผู้ตัดสินเกมฟุตบอล เธอคือหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนแรกที่ผ่านบททดสอบนี้ แต่สมาพันธ์กีฬาบราซิล (ซีบีดี) ปฏิเสธไม่ยอมให้เธอทำหน้าที่ของตัวเอง

ตอนนั้น บราซิลคือหนึ่งในอีกหลายประเทศที่สมาคมฟุตบอลหญิงถูกแบน ตามหลักฐานข้อเท็จจริงนั้น เมื่อปี 1941 มีการออกกฎหมายที่ห้ามบรรดาผู้หญิงยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาทั้งหลาย ซึ่งฮาเวลานจ์ ที่รับตำแหน่งประธานซีบีดี ตั้งแต่ปี 1958 เป็นต้นมา เชื่อว่า การแบนดังกล่าวนับรวมถึงการทำหน้าที่ผู้ตัดสินด้วย ซึ่งเขาก็ได้แสดงมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจนกับแคมโปสแบบไม่ปิดบัง

"ตอนแรกฮาเวลานจ์ บอกฉันว่า ร่างกายของผู้หญิงไม่เหมาะสมกับการทำหน้าที่ตัดสินเกมของผู้ชาย" แคมโปส ที่ตอนนี้อายุ 77 ปี เผย

"จากนั้นเขาก็บอกว่า สิ่งต่างๆ อย่างเช่นการมีรอบเดือนจะทำให้ชีวิตของฉันลำบาก สุดท้ายเขาก็ยืนยันว่าผู้หญิงจะไม่ได้ตัดสินเกมตราบใดที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่" ทว่านั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่แคมโปส ต่อสู้เพื่อให้ได้มีพื้นที่ยืนในกีฬาที่เธอชื่นชอบ

สวมมงดีกว่า : ฟุตบอลไม่ใช่สิ่งที่สุภาพสตรีควรที่จะไปยุ่งเกี่ยว

แคมโปส ซึ่งเกิดเมื่อปี 1945 ในเมืองอเบเอเต้ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐมินาส เกราอิส เริ่มสนใจมนต์เสน่ห์ของเกมลูกหนังตั้งแต่ยังเด็ก แต่คนรอบตัวกลับไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้

"ฉันพยายามเล่นฟุตบอลกับพวกเด็กผู้ชายที่โรงเรียนอยู่เสมอ แต่คุณครู ชอบมาห้ามโดยบอกว่าไม่เหมาะสม"

"ส่วนพ่อแม่พวกเขาก็บอกว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่สุภาพสตรีควรที่จะไปยุ่งเกี่ยวด้วย" พ่อและแม่ของเธอ ผลักดันให้ลูกสาวเข้าสู่วงการขาอ่อน โดยเธอมักมงลงในการประกวดรายการต่างๆอยู่เสมอ เพราะความโดดเด่นเป็นสง่า และหนึ่งในชัยชนะในเวทีขาอ่อนเมื่อปี 1966 ทำให้แคมโปส มีโอกาสทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้ ครูไซโร่ สโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศ

แคมโปส เดินทางไปทั่วประเทศพร้อมกับทีม นั่นยิ่งทำให้ความหลงใหลในฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น และเป็นหนึ่งในหนทางที่จะสามารถยุ่งเกี่ยวกับกีฬาอันเป็นที่รักได้

"หากฉันพยายามเตะบอล แน่นอนว่ามันคงไม่ได้รับการสนับสนุน เอาจริงๆมันผิดกฏหมายที่ผู้หญิงจะมาเตะบงเตะบอลกันในตอนนั้น"

"แต่การเป็นผู้ตัดสินคือหนทางที่จะเข้าร่วม ตามกฏหมายที่ห้ามผู้หญิงเตะบอลมันไม่ได้มีกฏเฉพาะที่พูดถึงเรื่องการห้ามเป่านกหวีด"



ผ่านการอบรมแต่ไม่ได้ใบอนุญาต : ฉันโดนจับอย่างน้อย 15 ครั้ง

เมื่อปี 1967 แคมโปส เข้าอบรมการเป็นผู้ตัดสินนาน 8 เดือน และผ่านคอร์สนี้ในเดือน ส.ค. แต่เธอไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกในโลกที่ทำได้ เพราะจนถึงตอนนี้ ฟีฟ่า ยังไม่ชัวร์เลยว่าใครคือคนแรก แม้เมื่อปี 2018 องค์กรลูกหนังโลก เคยส่งจดหมายให้ ดราห์ชาน อาร์ด้า หญิงชาวเติร์ก ระบุว่าเป็นคนแรกที่ผ่านด่านการทดสอบเป็นผู้ตัดสินเมื่อปี 1967 ก่อนลงสนามห้ามทัพอย่างเป็นทางการเมื่อ มิ.ย.1968 ก่อนที่ต่อมาฟีฟ่าบอกว่าพวกเขาเข้าใจผิด และเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีการค้นพบว่า เอดิธ คลินเจอร์ สาวออสเตรียน คือคนที่เคยห้ามทัพลูกหนังครั้งแรกตั้งแต่ปี 1935 โน่นเลยทีเดียว

แม้ไม่ใช่คนแรกแต่แน่นอนว่าเป็นคนแรกๆ ทว่าแม้แคมโปส จะผ่านคุณสมบัติสามารถทำหน้าที่ได้ แต่เธอก็ต้องต่อสู้กับซีบีดี อย่างยาวนาน เพราะหลังผ่านคอร์สตามมาตรฐาน แต่องค์กรกีฬาแดนแซมบ้า กลับไม่ได้มอบใบอนุญาตให้เธอ อ้างว่ามีกฏหมายแบนผู้หญิงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลภายในประเทศ รวมถึงการแบนผู้ตัดสินหญิงด้วย

"ฉันพยายามเสาะหาคำแนะนำทางกฎหมาย และยืนยันว่ามันไม่มีลายลักษณ์อักษรที่เขียนในเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการรับฟังอะไรทั้งนั้น"

ระหว่างการต่อสู้กับผู้มีอำนาจในวงการนานหลายปี แคมโปส พยายามหาเกมอุ่นเครื่องที่เธอสามารถทำหน้าที่ได้ ซึ่งบางครั้งมีนักเตะหญิงลงเล่นด้วย แต่ก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าไปยกเลิกเกมการแข่งขัน ซึ่งเธอบอกว่าเคยถูกจับ "อย่างน้อย 15 ครั้ง"

แต่ในปี 1971 แคมโปส ได้รับจดหมายที่ทำให้เธอมีพลังเพิ่มขึ้นที่จะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงอย่างไม่เป็นทางการที่เม็กซิโก เธอไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือไป แต่ก็ต้องขออนุญาตผ่านฮาเวลานจ์ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

หนทางเดียวคือต้องหันไปพึ่งพาผู้มีอำนาจเหนือกว่า แคมโปส ใช้ความสวยของเธอให้เป็นประโยชน์ครั้งที่ 2 ในคราวนี้



ใช้มงกุฎกรุยทางพบผู้นำ : คิดไปเองในใจว่าอาจจะโดนจับ หรือโดนทำให้สูญหาย คิดไปโน่นแหล่ะ

หนึ่งในเวทีปรกวดที่เธอเคยครองมงกุฎ คือการประกวด "ราชินีกองทัพ" ของรัฐมินาส เกราอิสในบ้านเกิด เธออ้อนวอนให้ผู้นำกองทัพท้องถิ่นช่วยเหลือให้ได้พบกับท่านประธานาธิบดี เมดิซี่ ซึ่งกำลังจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมเมือง เบโล ฮอริซอนเต้ เมืองหลวงของรัฐ ในอีกไม่นานนี้

ชัยชนะเป็นของเธอ เมื่อได้รับอนุญาตให้พบท่านผู้นำ 3 นาที ซึ่งมากพอที่จะบอกความต้องการว่าขอให้เปลี่ยนกฏที่ฮาเวลาจ์ กุมอำนาจอยู่

"เมดิซี่ มองมาที่ฉันแล้วบอกว่า เขาอยากจะเจอฉันที่ทำเนียบประธานาธิบดีที่บราซิเลียในอีกไม่กี่วันข้างหน้า" แคมโปส เผยระหว่างพบผู้นำ

"ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเลย ฉันกลัวตัวสั่น เราอยู่ภายใต้เผด็จการ แล้วฉันก็กำลังท้าทายระบอบ คิดไปเองในใจว่าอาจจะโดนจับ หรือโดนทำให้สูญหาย คิดไปโน่นแหล่ะ"

สุดท้าย แคมโปส บินไปกรุงบราซิเลีย แล้วได้รับประทานเที่ยงอาหารกับท่านผู้นำ ผู้ซึ่งทำให้เธอประหลาดใจด้วยการมอบจดหมายคำร้องของเธอที่ฮาเวลานจ์ ไฟเขียวมอบใบอนุญาตการตัดสินฟุตบอลให้เธอ ไม่เท่านั้น ประธานาธิบดีเมดิซี่ ยังทำให้เธอเซอร์ไพรส์หนัก เมื่อบอกว่า คนข้างกายของท่านผู้นำ ชื่นชอบความสามารถของเธอ

"ลูกชายคนหนึ่งของเมดิซี่ ติดตามเส้นทางอาชีพของฉันอย่างใกล้ชิด ถึงขนาดทำสมุดติดรูปภาพของฉัน รวมถึงพาดหัวต่างๆบนหนังสือพิมพ์เอาไว้ เขาเก็บสะสมสิ่งเหล่านี้เยอะกว่าตัวฉันเองเสียอีก!"

บางทีนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ เมดิซี่ ถอดฮาเวลานจ์ ออกจากอำนาจ ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานฟีฟ่า ซึ่งหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ฮาเวลานจ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวแก้เก้อว่า เขา "เปลี่ยนใจแล้ว" และเห็นควรให้แคมโปส สามารถทำหน้าที่ตัดสินเกมฟุตบอลได้ตามสมควร

"เขาถึงขนาดกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสื่อโดยบอกว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่จะประกาศว่า บราซิล จะมีผู้ตัดสินหญิงคนแรกของโลก และเรื่องนี้เกิดขึ้นในวาระการดำรงตำแหน่งของเขา"

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แคมโปส เดินทางไปแดนจังโก้ แต่โชคไม่ดีที่เธอป่วยเพราะต้องบินไปพื้นที่ราบสูงของกรุงเม็กซิโก ซิตี้ เลยไม่ฟิตพอลงทำหน้าที่ตัดสินเกมตามความตั้งใจ หลังเดินทางกลับบ้านเกิด เธอได้รับอนุญาตให้ทำงานตามที่ตั้งใจ แต่ใบอนุญาตการตัดสินก็ไม่ได้ปกป้องอคติที่มีต่อตัวเธอ



ได้ไฟเขียว แต่อคติยังอยู่ : ฉันเห็นเลยว่าเขาพกปืนมาด้วย

แคมโปส ได้ลงสนามตัดสินตลอดอาชีพ 98 นัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมของลีกล่างๆ ทั่วประเทศบราซิล แน่นอนว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้เกิดคำถามตามมา ไม่ว่าจะเป็นการโดนข่มขู่ การกีดกันเพศ หนังสือพิมพ์บางฉบับถึงกับวาดการ์ตูนตั้งแง่เลยทีเดียว ไม่เท่านั้น บางฉบับยังล้อเลียนถึงขั้นที่ว่า บรรดานักเตะหนุ่มจะถูกกรรมการสาว "ปลุกให้ตื่นระหว่างการลงสนาม"

แคมโปส ย้อนความไปถึงเกมรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ระหว่าง ครูไซโร่ และแอธเลติก มิเนโร่ คู่รักคู่แค้นเมื่อปี 1972

"ก่อนหน้าเกม ผู้บริหารของแอตเลติโก เข้ามาหาฉัน ถกเสื้อขึ้นมา ฉันเห็นเลยว่าเขาพกปืนมาด้วย"

"ครูไซโร่ ชนะ 4-0 หลังจบเกมฉันเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ในอุโมงค์ ฉันเลยไปถามเขาตรงๆว่ายังอยากยิงฉันอยู่ไหม แต่สุดท้ายเขาเข้ามากอดแล้วบอกว่า ฉันตัดสินได้เยี่ยมมาก"

โดยรวมแล้ว แคมโปส บอกว่าเธอไม่ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างอะไรจากกรรมการชาย "โอเคนะ บางทีนักเตะอาจหัวร้อน มีอยู่คนหนึ่งไม่ยอมออกจากสนามตอนที่ฉันควักใบแดงไล่ออกไป"

"แต่ก็มีหลายครั้งที่พวกนักเตะเตือนกันเองว่าให้หยุดตะโกนด่าทอต่อหน้าฉัน ส่วนใหญ่แล้วฉันรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเคารพนะ"

แคมโปส กำลังมีความสุขในตอนนั้น แต่สุดท้ายชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะอุบัติเหตุ

เมื่อปี 1974 แคมโปส โดยสารรถบัสที่พุ่งเข้าชนท้ายของรถไถบนถนน เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ขา จนเกือบจะกลายเป็นอัมพาต และสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ขมขื่นมากขึ้นคือ รถบัสคันดังกล่าว เป็นของบริษัทครอบครัวตระกูลฮาเวลานจ์

เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 100 ครั้ง และต้องนั่งรถเข็นนานกว่า 2 ปี โดยบางครั้งเธอต้องเข้ารับการรักษาที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้ได้พบ หลุยส์ เอดูอาร์โด้ เมดิน่า นักข่าวกีฬาชาวโคลอมเบีย ที่สุดท้ายแต่งงานกับเธอเมื่อช่วงยุค 90 ก่อนย้ายไปปักหลักในเมืองลุงแซมด้วยกัน



ชาย หญิง ควรเท่าเทียม : ทำไมถึงต้องแยกพวกเขาออกจากกันล่ะ? น่าตลกนะ

ในสหรัฐฯ เธอลุกขึ้นมาสู้ชีวิตครั้งใหม่ด้วยการเปิดร้านขายขนมหวาน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในหมู่ชาวบราซิลที่ไปแสวงโชคที่นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซี่ย์ ในอีกไม่กี่ปีถัดมา สุขภาพร่างกายของเธอเริ่มทรุดโทรมลง มีปัญหาหัวใจวาย 2 ครั้ง แต่ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตเกิดขึ้นเมื่่อ พ.ค.2020 ตอนที่โควิด-19 แพร่ระบาด สามีของเธอตกงาน ทำให้ทั้งคู่มีปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก จนถึงขนาดมีช่วงหนึ่งต้องขอไปอาศัยในบ้านเพื่อน เพราะไม่อย่างนั้นคงกลายเป็นคนไร้บ้านข้างถนน

โชคร้ายยังมีโชคดี ในตอนนั้น บรรดากลุ่มเชิ้ตดำในบราซิล ผุดแคมเปญระดมเงินบริจาคให้กับเธอและครอบครัวใช้จ่าย ซึ่งเพียงพอให้เธอไปเช่าบ้านอยู่ในนิวเจอร์ซี่ย์ และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจนถึงตอนนี้

"สิ่งที่พวกเขาทำสวยงามมาก ฉันซาบซึ้งมากๆ มันทำให้ฉันคิดจริงๆนะว่า ความยากลำบากของฉันไม่ได้สูญเปล่า สิ่งที่ฉันทำกลายเป็นตำนาน"

แคมโปส พูดด้วยความภูมิใจเมื่อมองไปที่จำนวนผู้ตัดสินหญิงมากมายที่ก้าวขึ้นมาห้ามทัพในวงการลูกหนังตอนนี้ เธอถึงขนาดชูกำปั้นด้วยความดีใจตอนที่ สเตฟานี่ แฟรปปาร์ท ผู้ตัดสินสาวชาวน้ำหอม กลายเป็นหญิงสาวคนแรกที่ได้ตัดสินเกมแชมเปี้ยนส์ ลีก ของฟุตบอลชาย เมื่อปี 2020

"ฉันรู้สึกว่าความสำเร็จของสเตฟานี่ เป็นชัยชนะของฉันด้วย มันทำให้ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างที่ฉันผ่านมามันคุ้มค่า ฉันรู้สึกเหมือนกับต้นไม้แก่ที่ยังสามารถออกดอกออกผลได้"

แม้ความสำเร็จของแฟรปปาร์ท คือก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งวงการผู้ตัดสินสาวเดินมาไกลมากนับตั้งแต่ยุค 70 แต่แคมโปส เชื่อว่า ตอนนี้ก็ยังคงมีอคติต่อการทำหน้าที่ของบรรดาเชิ้ตดำสาวๆอยู่

"ทำไมถึงยังไม่เคยมีผู้หญิงทำหน้าที่ตัดสินเกมฟุตบอลโลกของผู้ชายเลย?" สาวแซมบ้า ตั้งคำถาม

"ฉันคาดหวังว่าสิ่งต่างๆจะพัฒนามากขึ้นกว่านี้ กรรมการทั้งชายและหญิงผ่านการฝึกสอนอย่างเข้มข้นมาเหมือนกัน ดังนั้นทำไมถึงต้องแยกพวกเขาออกจากกันล่ะ? น่าตลกนะ"
แก้ไขล่าสุดโดย ZONG'TEEN เมื่อ Sun Jan 23, 2022 19:16, ทั้งหมด 1 ครั้ง
13
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel