ความรู้สึกของคนโดนลวนลามบนรถไฟฟ้า และการดำเนินคดี
“วันนั้นเราขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีพระราม 9 เพื่อไปลงที่สถานีสามย่าน ชายคนนั้นเป็นพนักงานออฟฟิศท่าทางปกติ เราเห็นเขามองๆ อยู่ แต่ไม่ได้คิดอะไร สถานีต่อมาคือเพชรบุรี เรากับเขาที่อยู่หน้าประตูต้องเดินออกก่อนแล้วเข้ามาใหม่ พอกลับเข้ามา ปรากฏว่าเขาเดินมาอยู่ติดกับเรา ตอนนั้นคนเบียดกันมาก รถโอนเอนไปมา อยู่ๆ เรารู้สึกว่ามีมือมาโดนตรงนั้น ตอนแรกคิดว่าบังเอิญ แต่หลังจากนั้นนิ้วมือก็ขยับ-ขยี้ของเรา เลยรู้ว่าเขาจงใจ เราโกรธมาก ตีที่หลังคนนั้นทันที แล้วพูดว่า ‘ทำอะไร!’ ปรากฏว่าเขาหันมาด่ากลับ 'คุณเป็นอะไร คนเบียดขนาดนี้ ยังมีความคิดอกุศลอีก' เขาด่าๆๆ จนเราโกรธ ด่ากลับ ตอนนั้นโกรธจนร้องไห้ออกมาเลย
“ช่วงเวลานั้นเด็กจุฬาฯ พูดกันหลายคนว่า มีคนโดนลวนลามบนบีทีเอสและเอ็มอาร์ที คนทำจะหันมาด่ากลับให้อาย เราก็คิดว่าอาจจะเป็นคนนี้แหละ เรายืนด่ากันจนถึงสถานีคลองเตย คำพูดของเขาคือ 'ทุกคนครับ ถ้าผมไม่บริสุทธิ์ ผมออกไปตั้งแต่สถานีสุขุมวิทแล้ว' เรารู้สึกว่าคนมองมาแปลกๆ เหมือนไม่มีใครเชื่อ เขาบอกทำนองว่าว่า 'คุณอย่าคิดว่าตัวเองต้องเป็นเหยื่อของทุกอย่าง ไม่คิดว่าผมต้องรีบไปทำงานเหรอ ทำไมผมถึงต้องทำแบบนั้น' ยิ่งทำให้เราโกรธมาก จนผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่า 'น้องคะ ไม่ต้องเถียงแล้วล่ะ เราไปแจ้งความกัน' แล้วเดินมาจับมือ เขาเป็นรุ่นพี่ที่จุฬาฯ เราไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มันทำให้เราอุ่นใจขึ้นมา อย่างน้อยก็มีคนฟังที่เราพูด
“เราแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีให้ช่วยพาผู้ชายคนนั้นไปแจ้งความ แล้วขึ้นแท็กซี่ไปสถานีตำรวจด้วยกัน เขาเอาแต่พูดว่า ‘ผมไม่ผิด ผมไม่กลัว’ ‘ถ้าผมไม่บริสุทธิ์ใจก็หนีไปแล้ว’ เราถามเจ้าหน้าที่ว่า ‘ขอดูกล้องวงจรปิดได้ไหม ตอนแรกเขายืนห่างแล้วเดินมาประชิดตัว ถ้ามีภาพน่าจะช่วยยืนยันได้’ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า ‘หลังจากแจ้งความมาขอภาพได้เลย’ ชายคนนั้นได้ยินที่เราคุยด้วย เราไปสถานีตำรวจแห่งแรกแล้วปรากฏว่าที่เกิดเหตุเป็นคนละพื้นที่ เลยต้องย้ายไปอีกแห่ง ระหว่างทางรุ่นพี่จุฬาฯ ขอตัวกลับไปสอบ พอไปถึงสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ เขายืนกรานเหมือนเดิม พ่อแม่ของเราอยู่ต่างจังหวัด แม่ของแฟนที่คบตอนนั้นเลยมาที่สถานีตำรวจ เขาเป็นผู้หญิงทรงดุๆ หน่อย พอชายคนนั้นเจอหน้าแม่แฟนแล้วก้มกราบเลย 'ผมขอโทษครับ ไม่ได้ตั้งใจ'
“เราโกรธที่โดนทำแบบนั้น แล้วยิ่งโกรธมากที่เขาใช้วิธีด่าเรากลับ ทำแล้วยังโยนความผิด ปล่อยไปเดี๋ยวเขาก็ทำอีก เราเลยอยากดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อนของเขามาหาที่สถานีตำรวจแล้วพูดว่า 'เมียของเขากำลังท้องอยู่ ที่บ้านก็มีปัญหา สงสารเขาได้ไหม' โอเค เราสงสารเมียเขาที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่คนผิดก็ควรได้รับผิด และพอลองนึกว่าถ้าเราเป็นผู้หญิง แฟนมีพฤติกรรมคุกคามคนอื่น เราก็ควรรับรู้นะ เพราะที่สุดแล้วมันคือการใช้ชีวิตด้วยกันต่อไป และในฐานะคนรักจะได้รู้ไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจใดๆ เราเลยไม่มีความลังเลเลยที่จะดำเนินการต่อ พอแจ้งความแล้วก็แยกย้ายกันไป เวลาผ่านไปตำรวจคนหนึ่งโทรมาบอกว่า ‘ทางนั้นมีค่าทำขวัญให้ 3-4 หมื่น จบตรงนี้เลยได้ไหม’ เราตอบกลับไปว่า 'ที่เราทำแบบนี้เราไม่ได้อยากได้เงิน แต่ไม่อยากให้เขาไปทำกับคนอื่น ไม่ต้องมาเสนออะไรแบบนี้อีก' แล้วยืนยันว่าจะดำเนินคดีต่อ
“กว่าเราจะได้ขึ้นศาลครั้งแรกก็นานพอสมควร อัยการที่รับเรื่องเป็นผู้หญิง เจอกันครั้งแรกที่ศาลตรงสาทร (ศาลอาญากรุงเทพใต้) เขาบอกว่าดีใจที่มีการแจ้งความ ดีใจที่คดีมาถึงศาล เพราะหลายคนหยุดไปกลางทาง ระหว่างทางตำรวจอีกคนมาทำงานแทนคนที่โทรมาไกล่เกลี่ย เขาก็ช่วยซัพพอร์ทเต็มที่ เราถามว่า ‘โทษของคดีนี้น่าจะประมาณไหน’ เขาบอกว่า ‘ต้องดูท่าทีของทนายและเขาด้วย สุดท้ายน่าจะปรับ’
“สิ่งที่ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเปลืองเวลาเลยที่ดำเนินการมาถึงตรงนี้คือท่าทีของทนายฝั่งนั้น เขาเค้นถามด้วยน้ำเสียงขู่ 'คุณแน่ใจได้ยังไงว่าสิ่งนั้นคือการคุกคาม!' ฝั่งนั้นยืนยันว่าบังเอิญเอามือมาโดน ไม่รู้ว่าแตะโดนส่วนไหนด้วยซ้ำ แล้วถามว่า 'คุณขึ้นที่สถานีพระราม 9 ตอนกี่โมง' เราบอกว่า 'ไม่แน่ใจ น่าจะประมาณ 7 โมง 40 นะคะ' เขาถามต่อว่า 'คุณถูกกระทำกี่โมง!' เราบอกว่า 'น่าจะเกือบแปดโมงนะคะ ไม่แน่ใจ' เขาเลยบอกว่า 'คุณจะบอกว่าระยะทางจากพระราม 9 ถึงเพชรบุรีมันเกือบ 20 นาทีเลยเหรอ!' เขาจับผิดด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และมีท่าทีแข็งมาก มันสะท้อนว่าเขาตั้งใจจะสู้คดีจริงๆ เราก็โต้กลับไปว่าเราไม่จำเป็นต้องกุเรื่อง เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ วันเกิดเหตุเรากำลังรีบไปเข้าห้องเรียนเพราะมีควิซเก็บคะแนนด้วยซ้ำ ทำไมเราต้องเสียเวลาไปแจ้งความ
“เราไปสถานีตำรวจสองครั้ง ไปศาลหนึ่งครั้ง ระหว่างนั้นตำรวจคอยโทรมาอัพเดทเป็นระยะ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเกือบหนึ่งปี เราโดนตอนปี 3 ซึ่งแฟนเราซัพพอร์ทเราตลอด ช่วงขึ้นศาลคือตอนปี 4 พอวันตัดสินคดี แฟนของเราเปลี่ยนเป็นอีกคนไปแล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายคนนั้นไม่ได้ติดคุก ต้องจ่ายเงินสามสี่หมื่น ซึ่งเท่ากับค่าทำขวัญที่เคยเสนอ แม่ของเราที่เดินทางมาจากแพร่เพื่อมาขึ้นศาลเป็นเพื่อนเราก็เอาเงินนั้นไปให้องค์กรที่ทำงานเรื่องนี้
“เราเข้าใจว่า ที่ทำงานของเขารับรู้ เมียก็น่าจะรับรู้ แต่ไม่รู้เลยว่าชีวิตหลังจากนั้นเป็นยังไง คือเราไม่ได้โฟกัสว่า เขาต้องถูกลงโทษแค่ไหนอย่างไร แค่อยากได้ยินว่า ศาลตัดสินใจว่าเขาผิดจริง ต้องการแค่นั้นเลย ภาพสุดท้ายที่จำได้คือ เขาเดินมาคุยกับแม่แล้วพูดว่า 'ถ้าน้องหางานไม่ได้ บอกผมนะ เดี๋ยวผมจะช่วย' ประโยคมันดูเย้ยๆ นะ ว่าเราจะหางานไม่ได้ ขณะที่เขาตำแหน่งระดับผู้จัดการอยู่เหมือนกัน ไม่รู้เราคิดมากไปเองหรือเปล่า ดูท่าแล้วเขาอาจมองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยซ้ำ
“เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเสียหายอะไร แต่หลังจากเกิดเหตุไม่นาน เราเจอเพื่อนของเขาที่เคยมาช่วยขอร้องที่สถานีพระราม 9 อีก เลยหลอนไปเลย อีกอย่างคือเราไม่ขึ้นรถไฟฟ้าไปหลายปีเลย กว่าจะกลับมาขึ้นได้อีกก็หลังจากเรียนจบแล้ว เราโดนกระทำแล้วรู้สึกว่าต้องสู้ เราเคยตั้งคำถามด้วยว่า ‘ทำไมคนโดนกระทำถึงไม่สู้วะ’ แต่ตอนหลังเราถึงได้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อม บางคนเจ็บปวด บางคนไม่กล้า หรือไม่อยากพูดถึงมันอีก การพูดส่งผลต่อจิตใจของแต่ละคนต่างกัน เราเลยอยากบอกว่าใครที่พูดได้ก็เชียร์ให้พูด ส่วนใครไม่สามารถพูดได้ เราเข้าใจ ขอแตะไหล่ บีบมือ ให้กำลังใจกันไป คนเราไม่จำเป็นต้องแข็งแรงกับทุกเรื่อง เราไม่ได้แข็งแรงกว่าเขาหรอก เราแค่พูดเรื่องนี้ได้ ยิ่งกรณีนี้อาจเพราะเราโดนแค่ภายนอกด้วย ถ้าตอนนั้นโดนหนักกว่านี้ เราไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นยังไงเหมือนกัน
“สุดท้ายแล้ว มันไม่แฟร์เลยที่คนถูกกระทำต้องมาแบกรับความรู้สึกแย่ๆ ของการออกมาพูด-การไม่ออกมาพูด เราไม่ควรต้องมาเปรียบเทียบว่าใครแข็งแรง-ใครเปราะบาง ความรับผิดชอบควรเป็นของคนกระทำ มึงควรหยุด! และใครขอโทษได้ก็ควรขอโทษต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ส่วนการตัดสินความผิดก็ให้เป็นไปตามกระบวนการทางสังคมแล้วกัน”
https://www.facebook.com/1432299840387293/posts/3109594069324520/