มีนักเตะอยู่คนเดียวที่เป๊ปยอมรับว่า uncoachable หรือไม่สามารถสอนได้ ไม่ใช่ว่านักเตะดื้อดึง หรือมีอีโก้จัด แต่สไตล์การเล่นของเขาไม่เหมือนใคร และไม่สามารถปรับให้ไปเล่นเหมือนคนอื่นได้ด้วย วิธีเดียวที่จะใช้งานคือต้องปล่อยให้นักเตะได้เล่นในสไตล์ที่ตัวเองถนัด คือเป๊ปเองก็ไม่รู้ว่าจะไปสอนหรือปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นได้อย่างไร
เขาคนนี้คือ โทมัส มุลเลอร์ เด็กปั้นจากสโมสรบาเยิร์น มิวนิคเอง
ในบรรดาตัวรุกของบาเยิร์น มุลเลอร์เป็นประเภทที่จำแนกได้ยากที่สุด คือคนอื่นก็มีสไตล์ของตัวเองชัดเจน อย่างอาร์เยน ร็อบเบน ก็ยืนริมเส้นด้านขวา แล้วตัดเข้าในก่อนยิงประตูด้วยซ้ายถนัด
ฟรองค์ ริเบรี่ ก็ยืนฝั่งซ้าย จากนั้นก็ขยับเข้ามาตรงกลางเพื่อสร้างแอสซิสต์ให้เพื่อน ส่วนมาริโอ มันด์ซูคิชก็เป็นกองหน้าตัวเป้าสไตล์ Target Man ตัวใหญ่บังบอลเก่ง เล่นลูกกลางอากาศดี
แต่กับมุลเลอร์นี่สิ คำถามคือเขาเล่นตรงไหนกันแน่ถึงจะดีที่สุด ตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าก็ไม่น่าจะใช่ เขาไม่ได้ตัวใหญ่บังบอลดีแบบมันด์ซูคิช หรือโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ แต่จะบอกว่าเป็นปีกก็ไม่ใช่อีก เพราะมุลเลอร์ก็ไม่ได้มีความเร็วแบบร็อบเบน หรือจะบอกว่าเป็นกองกลางตัวรุกก็ไม่น่าใช่ มุลเลอร์ไม่ได้แอสซิสต์คมๆแบบ เมซุต โอซิลเสียหน่อย
นั่นทำให้ตอนเป๊ปย้ายมาบาเยิร์นใหม่ๆเขาเองก็สับสนว่าจริงๆแล้วมุลเลอร์เล่นตำแหน่งอะไรกันแน่
มุลเลอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมจะเล่นฟุตบอลอย่างมีความสุขที่สุด ถ้าหากไม่ได้รับคำสั่งให้ทำอะไรเลย" ฟังดูเหมือนเป็นประโยคที่กวนประสาท แต่ความหมายที่ซ่อนอยู่ของประโยคนี้คือ เขาต้องการอิสระอย่างที่สุด อยากจะไปยืนตรงไหน ทำอะไร เขาก็จะไปตรงนั้น
แน่นอน ช่วงมาคุมบาเยิร์นแรกๆ กวาร์ดิโอล่าก็รู้สึกขัดใจ เพราะในสายตาของโค้ชอย่างเขา นักเตะสักคนต้องมีหน้าที่อะไรสักอย่างเสมอ แม้แต่ลีโอเนล เมสซี่ ยังถูกป้อนคำสั่งให้เล่น False 9 เลย แล้วมุลเลอร์จะเล่นแบบตามใจชอบขนาดนี้ได้อย่างไร
ความที่มุลเลอร์เป็นสัญลักษณ์ของบาเยิร์น มิวนิค เป็นเด็กปั้นของสโมสร แถมเกิดในแคว้นบาวาเรีย นอกจากนั้นยังขยันฝึกซ้อมหนักยิ่งกว่าใคร และเป็นดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2010 มาอีก มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เป๊ปจะไปดร็อปเขาได้ ดังนั้นเป๊ป จึงต้องหา "วิธี" ที่จะใช้งานมุลเลอร์
เกมแรกสุดในฤดูกาล 2013-14 บาเยิร์นเจอกับกลัดบัค เป๊ป ใช้ระบบ 4-1-2-3 แนวรุกสามคนมี ริเบรี่ (ซ้าย) - มันด์ซูคิช (กลาง) - ร็อบเบน (ขวา) ส่วนกองกลางสามคน มีชไวน์สไตเกอร์เป็นมิดฟิลด์ตัวรับ ส่วนมิดฟิลด์คู่กลางใช้ โทนี่ โครส กับ โทมัส มุลเลอร์
เป๊ปทดลอง ให้มุลเลอร์มาเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวกลาง ทำหน้าที่คอยไล่ประกบคู่แข่ง และสร้างสรรค์เกมจากกลางสนาม ซึ่งก็ปรากฏว่ามุลเลอร์เล่นไม่ดีเท่าไหร่ ไม่มีส่วนร่วมกับเกม ก่อนจะโดนเปลี่ยนตัวออกโดยไม่มีประตู และแอสซิสต์
กวาร์ดิโอล่าเห็นว่า เมื่อมุลเลอร์โดนป้อนคำสั่งให้ทำนี่ทำนั่นมากๆ รวมถึงโดนบอกให้ช่วยเล่นเกมรับ มันเห็นได้ชัดว่า ไปลดทอนประสิทธิภาพของเขาลงไป ดังนั้นในเกมต่อมาที่เจอแฟรงค์เฟิร์ต กวาร์ดิโอล่าเลยทดลองใหม่ จับเอามุลเลอร์ไปเล่นปีกขวา และคราวนี้เขาเล่นดีขึ้น ทำแอสซิสต์ให้เพื่อนได้ ก่อนบาเยิร์นชนะ 1-0
ในช่วง 10 เกมแรกของฤดูกาล มุลเลอร์เป็นนักเตะคนเดียวที่ลงเล่นมากถึง 4 ตำแหน่ง คือมิดฟิลด์ตัวกลาง, ปีกขวา, ปีกซ้าย , กองหน้าตัวเป้า คือกวาร์ดิโอล่าพยายามค้นหาว่า มุลเลอร์จริงๆแล้ว เล่นตรงไหนดีที่สุด
กวาร์ดิโอล่าเคยลองดร็อปมุลเลอร์เป็นสำรองอยู่บ้างเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่า การมีมุลเลอร์ในสนามดีกว่าไม่มี พอมุลเลอร์ลงเล่นทีมมีสปิริตมากขึ้น และมุลเลอร์ก็จะแอสซิสต์ หรือยิงได้ตลอด ไม่ว่าจะโดนจับไปยืนตรงไหนก็ตาม
หลังจากความพยายามอยู่นาน ในที่สุดเป๊ปก็รู้แล้วว่า เขาจะใช้งานมุลเลอร์ตำแหน่งไหนดี
คำตอบคือ "ตำแหน่งไหนก็ได้" ขอแค่ให้อิสระกับนักเตะก็พอ
ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆจะมีการดร็อปบ้าง ริเบรี่ ร็อบเบน มันด์ซูคิช มีช่วงที่ไม่ได้ลงเป็นตัวจริง แต่มุลเลอร์จะได้ลงตลอด โดยจะหมุนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ไม่ปีกซ้าย ปีกขวา ก็หน้าเป้า ตามแต่ว่าวันนั้นกวาร์ดิโอล่าจะดร็อปใคร
มุลเลอร์เป็นนักเตะที่เป๊ปเองก็ไม่เคยเจอเหมือนกัน ยิ่งไม่ให้คำสั่งยิ่งเล่นดี การเล่นของมุลเลอร์จะมีทิศทางการวิ่งแบบแปลกๆ แต่สุดท้ายจะไปยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องเสมอ มันเป็นเซนส์บางอย่างที่ยากจะอธิบาย มันคือการเล่นฟุตบอลด้วยสัญชาตญาณ
ซึ่ง ณ วันนั้นกวาร์ดิโอล่าก็ได้เรียนรู้ว่า มันมีนักเตะแบบนี้อยู่บนโลกเหมือนกัน อัจฉริยะที่เล่นฟุตบอลแบบคาดเดาอะไรไม่ได้เลย
สรุปแล้วในซีซั่น 2013-14 มุลเลอร์เป็นนักเตะที่ได้ลงสนามมากที่สุดของทีม บุนเดสลีกามี 34 นัด เขาลงเล่นไป 31 เกม เยอะกว่านักเตะที่เหลือทั้งหมด มันด์ซูคิช,ร็อบเบน,ริเบรี่,เกิตเซ่,ชาคิรี่,โครส,ติอาโก้,ชไวน์สไตเกอร์ ไม่มีใครได้ลงสนามมากกว่าเขา
จบฤดูกาลมุลเลอร์ยิงประตูได้ 13 ลูก เป็นรองดาวซัลโวของทีม และแอสซิสต์ได้ 11 ลูก เป็นรองดาวแอสซิสต์ของทีม พร้อมทั้งพาบาเยิร์นคว้าแชมป์ลีกโดยทำแต้มห่างอันดับ 2 ดอร์ทมุนด์ 29 คะแนน
หลังจากคว้าแชมป์บุนเดสลีกา มุลเลอร์ติดทีมชาติเยอรมันไปเล่นฟุตบอลโลก 2014 และพาเยอรมันคว้าแชมป์โลกได้อย่างสุดยอด ในขณะที่เขาเองได้ตำแหน่งรองดาวซัลโว
"โทมัสเป็นผู้เล่นที่ไม่เหมือนใครจริงๆ คุณไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเขาจะวิ่งไปทิศทางไหน" โยอาคิม เลิฟ บุนเดสเทรนเนอร์ก็คิดคล้ายๆกับกวาร์ดิโอล่าเช่นกัน ว่านี่เป็นนักเตะที่แปลกประหลาดมากจริงๆ
แน่นอน คนที่จะตอบได้ดีที่สุดว่าสไตล์การเล่นของมุลเลอร์คืออะไรกันแน่ ก็คือตัวเขาเองนั่นล่ะ หนังสือพิมพ์ซุดดอยซ์ ไซตุ้ง เคยถามคำถามกับมุลเลอร์ไปตรงๆว่า "สไตล์การเล่นของคุณ คืออะไรกันแน่?" ซึ่งมุลเลอร์ตอบกลับไปว่า
"นั่นสิ ผมเล่นเป็นอะไรกันแน่นะ ผมคิดว่าตัวเองคือรอมดอยเตอร์นะ ใช่แล้วๆ ผมคือรอมดอยเตอร์นี่ล่ะคำอธิบายที่ดีที่สุด นี่น่าจะเป็นพาดหัวที่น่าสนใจลงหนังสือพิมพ์ของคุณเลยใช่ไหม"
บทสัมภาษณ์ของมุลเลอร์สร้างความมึนงงให้ที่เยอรมันเหมือนกัน เพราะไม่เคยมีใครใช้คำว่า รอมดอยเตอร์ (Raumdeuter) ในสารบบของวงการฟุตบอลมาก่อน
แต่ก็นั่นล่ะ มันอธิบายความเป็นตัวตนของมุลเลอร์ได้ดีที่สุดจริงๆ คำแปลของรอมดอยเตอร์คือ "นักล่าหาพื้นที่" นั่นคือวิธีการเล่นของเขา ที่จะวิ่งไปหาพื้นที่ที่ถูกต้องเสมอ ไม่ว่าตอนเริ่มเกมจะโดนจับยืนอยู่ตรงไหนของสนามก็ตาม
ความยากของผู้เล่นในตำแหน่งรอมดอยเตอร์คือผู้เล่นในทีมต้องมีความเข้าใจร่วมกันสูงมาก เพราะเมื่อมีนักเตะที่เป็นอิสระ 1 คน แปลว่านักเตะเอาต์ฟิลด์ที่เหลืออีก 9 คน ต้องคอยคัฟเวอร์เวลาที่มุลเลอร์ไปอยู่ไหนก็ไม่รู้
อย่างเช่นถ้ามุลเลอร์ออกสตาร์ตเป็นปีกซ้าย ถ้าเป็นนักฟุตบอลทั่วไปก็ต้องยืนปักหลักด้านซ้าย ไม่หายไปไหน เพราะถ้าตัวเขาหลุดตำแหน่งแล้วโดนคู่แข่งโจมตีด้านนี้ ก็จะเหลือแค่แบ็กซ้ายดาวิด อลาบาคนเดียว ที่ต้องรับมือกับปีกตัวจี๊ดของคู่แข่ง
ดังนั้นนักเตะคนอื่นๆในทีมอย่างกองกลางของบาเยิร์น เมื่อเห็นมุลเลอร์หายไปแล้ว ก็ต้องมาคัฟเวอร์ด้านซ้ายเพื่ออุดไม่ให้เกิดรอยรั่ว
ในเกมฟุตบอลนั้น นักเตะแต่ละคนก็มีอีโก้สูงทั้งนั้น มันไม่ได้มีทุกทีมหรอกที่ผู้เล่นพร้อมจะให้ใครสักคนเป็นอิสระขนาดนี้ คือพวกเขาก็มีสิทธิคิดได้ว่าทำไม เราต้องมาอุดรอยรั่วที่คนคนเดียวสร้างขึ้น ทำไมไม่แบ่งหน้าที่ หน้าที่ใคร หน้าที่มันล่ะ
ดังนั้น นักเตะในสไตล์รอมดอยเตอร์ จึงหาได้ยากมาก เพราะบางทีแม้ตัวเองจะเป็นรอมดอยเตอร์โดยธรรมชาติ แต่ถ้าไปอยู่ในทีมที่เพื่อนๆไม่คิดจะช่วยเหลือกัน เขาก็ไม่สามารถเล่นได้เช่นกัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์ของตัวเองเป็นแบบอื่น
แต่มุลเลอร์นั้นโชคดี ที่มีเพื่อนร่วมทีมที่ดี ทั้งกับสโมสรและทีมชาติ โดยเข้าใจในสไตล์ของเขา ดังนั้นเขาจึงปลดปล่อยความเป็นตัวเองได้เต็มที่ และนำมาสู่ความสำเร็จมากมาย
สำหรับในวงการฟุตบอลปัจจุบัน คิดถึงรอมดอยเตอร์ ยุคนี้ก็มีลีโอเนล เมสซี่ กับบาร์เซโลน่าในซีซั่นปัจจุบัน นั่นคือเมสซี่จะได้อิสระ 100% อยากวิ่งไปตรงไหน อยากทำอะไร ก็ไปได้เสมอ แล้วเพื่อนร่วมทีมจะเล่นตามจังหวะของเมสซี่เอง
หลังจากมุลเลอร์ให้สัมภาษณ์กับสื่อไปในวันนั้น อีก 2 ปีต่อมาเกม FM ก็จับเอาคำว่า รอมดอยเตอร์ ใส่ลงไปในเกมด้วย
ค่า Attributes หรือคุณสมบัติหลักๆที่นักเตะจำเป็นต้องมี เพื่อที่จะเล่นในสไตล์รอมดอยเตอร์ได้ดี ประกอบไปด้วย
- Finishing (จังหวะจบสกอร์)
- First Touch (การจับบอลแรก)
- Anticipation (เซนส์บอล - การคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้น)
- Composure (ความเยือกเย็น)
- Concentration (สมาธิ)
- Decisions (การตัดสินใจ)
- Off the ball (การเคลื่อนที่ตอนไม่มีบอล)
- Work Rate (ความขยัน)
- Accelaration (สปีดต้น)
- Balance (บาลานซ์ การทรงตัว)
- Stamina (ความอึด)
จะเห็นได้ว่า สกิลทั้งหมดที่นักเตะในตำแหน่งรอมดอยเตอร์ต้องการ เป็นทักษะของสายเกมรุกทั้งสิ้น ทักษะอื่นๆที่เกี่ยวกับเกมรับไม่มีความจำเป็นเลย เช่นเสียบหนัก,ความกล้าหาญ, ความดุดัน,ความฟิตของร่างกาย, ความแข็งแกร่ง, ทีมเวิร์ก
ตามปกติในเกม FM เมื่อเรากำหนดสไตล์ของนักเตะแล้ว สิ่งที่เราจะเลือกต่อมา คือนักเตะคนนั้นจะเล่นแบบไหนดี ซึ่งตำแหน่งส่วนใหญ่จะมีให้เลือกคือ Attack,Support,Defend (บุก,สนับสนุน,ป้องกัน)
แต่กับตำแหน่งรอมดอยเตอร์ คุณเลือกได้แค่ Attack อย่างเดียว ซึ่งก็เหมือนชีวิตจริงคือคนเล่นฟุตบอลสไตล์นี้ จะบุกอย่างเดียวเสมอ ไม่มีความสนใจในเกมรับใดๆทั้งสิ้น
บทสรุปของเรื่องนี้ นอกจากทุกท่านจะได้รู้จักผู้เล่นในตำแหน่งรอมดอยเตอร์แล้ว
เรายังเห็นการจัดการของเป๊ป กวาร์ดิโอล่าอีกด้วยว่า เขาเป็นผู้จัดการทีมที่มีความยืดหยุ่นขนาดไหน คือแทนที่เป๊ปซึ่งเป็นกุนซือเบอร์ 1 ของโลก ณ เวลานั้น จะบังคับให้มุลเลอร์เล่นตามวิธีที่เขาต้องการ แต่เป๊ปกลับเลือกทดลองทุกรูปแบบ และสุดท้ายก็ค้นพบวิธีใช้งานมุลเลอร์จนได้
แม้เป๊ปคืออัจฉริยะและมีอำนาจในมือ แต่เป็นเขาเองที่ปรับตัวเข้าหานักเตะ ลดอีโก้ของตัวเองลง เพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร
สัจธรรมในโลกของการทำงาน คือไม่ว่าองค์กรไหนๆก็อยากได้คนเก่ง และคนที่มีความพิเศษมาครอบครองทั้งนั้น
แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ถ้าหากได้คนเก่งขนาดนั้นเอาไว้ในมือแล้ว คนเป็นหัวหน้าใช้งาน "เป็นหรือเปล่า"
ถ้าได้คนเก่ง แต่ใช้งานไม่เป็น บอกตรงๆ มันเสียดายของน่ะ
https://www.blockdit.com/posts/5e62465a30aa4a0ca07ec34d