สรุป 2 ดราม่าจาก Cat Expo
**จากเพจ Poetry of Bitch
https://www.facebook.com/1093222840880948/posts/1754166401453252/
สรุป 2 ดราม่าจาก Cat Expo
—————
จาก Fat Radio ถึง Cat Radio
:
1- ในปี 2542 รายการวิทยุ Fat Radio ได้ถือกำเนิดขึ้นและสร้างมิติใหม่ให้กับวงการเพลงไทย ด้วยการเปิดเพลงไม่จำกัดค่าย ทำให้เกิดยุครุ่งเรืองของเพลงอินดี้ขึ้น พร้อมกับเปิดโลกการฟังเพลงให้กับคนไทยไปพร้อมกัน
2- Fat Radio ได้ต่อยอดความสำเร็จนี้ด้วยการจัดเทศกาลดนตรี Fat Festival โดยในงานจะมีคอนเสิร์ตจากศิลปินทุกค่ายทุกแนว มีการเปิดตลาดให้ขายแผ่นซีดี ของที่ระลึก งานศิลปะต่าง ๆ เหมือนป็นจุดนัดพบของศิลปินกับแฟนเพลง จนกลายเป็นเทศกาลดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
3- แต่แล้ว 10 กว่าปีต่อมา ทีมงานก็ถึงจุดอิ่มตัว ทำให้ในปี 2555 Fat Festival ก็ยุติการจัดงาน แล้วในปี 2556 Fat Radio ก็ปิดตัวตามไปด้วย
4- ต่อมาในปี 2557 "จ๋อง พงศ์นรินทร์" หนึ่งในผู้บุกเบิก Fat Radio และ Fat Festival ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับรายการวิทยุออนไลน์ Cat Radio ที่ฟังได้จากเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
5- แล้วยังมีการจัดเทศกาลดนตรี Cat Expo ในคอนเซ็ปต์เดียวกับที่เขาเคยทำ มีวงดนตรีทั้งในกระแส-นอกกระแสเป็นร้อยวงมาร่วมงาน มีเวทีหลายเวที มีตลาดให้ศิลปินได้พบคนฟังเพลง ได้ขายอัลบั้มและซิงเกิ้ลโดยตรง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคนเจนใหม่เป็นอย่างดี
—————
บางวงขึ้นเล่นโดยไม่ได้ค่าตัว?
:
6- ในปี 2563 ก็มีการจัด Cat Expo ปีที่ 7 ขึ้นที่สวนสนุกวันเดอร์เวิลด์ รามอินทรา โดยจัด 2 วัน (21-22 พฤศจิกายน) มีศิลปินมากกว่า 100 ชีวิต เวทีอีก 5 เวที
7- ดราม่าเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกของวงดนตรีวงหนึ่งโพสต์ว่าจะรวบรวมสิ่งที่เรียกว่าเป็นการกินเลือดกินเนื้อของเทศกาลดนตรีหนึ่งให้ฟัง เช่น
- บัตรราคาสูง แต่จ่ายค่าจ้างศิลปินในราคาถูก บางวงเล่นฟรี
- คนดูจ่ายค่าบัตรแพง แต่การบริการ การให้ข้อมูล การจัดระเบียบต่อแถว เรียกได้ว่าช่างมัน บางคนมารอตั้งแต่ 4 โมงเย็น ได้เข้างาน 1 ทุ่ม
- มีการขอเพลงของวงดนตรีบางวงมาใช้ประกอบสื่อฟรี แต่ไม่ให้เกียรติเจ้าของเพลง นอกจากจะไม่มีค่าตอบแทนแล้วยังไม่มีการเมนชั่นถึง และไม่ได้ให้ขึ้นแสดง เช่นเดียวกับวงของตนที่เป็นได้แค่เพลงประกอบ
- วงดนตรีต้องเปิดบัญชีเงินฝากใหม่แทบทุกปี เพื่อเอาใจธนาคารที่เป็นสปอนเซอร์ให้เทศกาลดนตรีนี้
- ผู้จัดงานมีสปอนเซอร์ แต่กลับต่อรองราคาวงดนตรี
- วงเล็ก ๆ นอกกระแสเป็นได้แค่ตัวประกอบฉาก ให้ดูว่าเป็นงานดนตรีนอกกระแส ผู้จัดไม่ได้ทอดทิ้งวงนอกกระแส
- ถ้าวงไม่ทำเงิน ต่อให้ออกอัลบั้มทุกปีก็ไม่ได้ขึ้นเล่น
- เป็นระบบอุปถัมป์และผูกขาดทางการค้า ทีมงานชอบวงไหน สนิทวงไหน จะจิ้มเลือกวงนั้นมาเล่น
- วงดนตรีหน้าใหม่ไม่กล้าปฏิเสธงานโชว์ ทั้งที่ไม่ได้เงินหรือได้ไม่เหมาะสม เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ได้เล่น แต่ผลที่ตามมาคือ งานต่อ ๆ ไปก็จะมีวงหน้าใหม่อื่นมาแทนที่
ฯลฯ
8- มือกีตาร์วงดังกล่าวบอกว่า ถ้าใครอยากสนับสนุนวงเหล่านี้ ให้ไปดูโชว์ที่วงจัดหรือโชว์งานเล็ก ๆ แล้วสั่งซื้อผลงานผ่านวงโดยตรง จะเป็นการซัพพอร์ตศิลปินนอกกระแสได้ดีที่สุด
9- ต่อมาสมาชิกของวง Gym and Swim ได้ทวีตยอมรับว่า ที่ไม่ได้ไปเล่นในงาน Cat Expo อีกก็เพราะไม่ได้ค่าตัว เวลาทำงานก็ต้องได้เงิน บัตรก็ขายหมด สปอนเซอร์ก็มี อะไรที่ไม่ถูกไม่ควรก็ไม่ควรสนับสนุน และตอนนี้ก็มีหลายวงที่เริ่มถอยแล้ว
—————
แถลงการณ์จาก Cat Radio
:
10- โพสต์ดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักฟังเพลงอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่มองว่าผู้จัดงานไม่แฟร์ เพราะศิลปินผลิตผลงานมาก็มีต้นทุน มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน
11- บางคนมองว่า การที่พวกเขาซื้อบัตรมางานในราคาหลักพัน ส่วนหนึ่งก็เพราะเข้าใจว่าเงินจะถึงมือวงดนตรีที่พวกเขาชอบบ้าง เพื่อซัพพอร์ตพวกเขาให้ทำผลงานเพลงต่อไป แต่เพิ่งมารู้ว่าพวกเขาไม่ได้เงิน
12- ต่อมาทาง Cat Radio ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า Cat Radio เป็นเพียงรายการวิทยุออนไลน์เล็ก ๆ ไม่ได้มีอิทธิพลกับวงการขนาดนั้น ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเพลงที่เปิดหรือวงที่มาเล่นจะโด่งดังหรือประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่สามารถบังคับฝืนใจใครได้
13- ยืนยันว่าไม่คิดเอาเปรียบใคร ให้ค่าตัวศิลปินน้อย เพราะอยากให้โอกาสวงได้เล่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทุกครั้งจะมีการตกลงกับวงหรือค่ายก่อนเรื่องค่าตัว
14- นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่ให้แต่ละวงได้มีบูธขายของโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แฟน ๆ สามารถอุดหนุนศิลปินได้โดยตรง รายได้เป็นของศิลปินหรือค่ายทั้งหมด
15- แถลงการณ์ดังกล่าวยังพูดถึงวง Gym and Swim ที่เคยขึ้นแสดงใน Cat Expo ว่าเป็นการตกลงกันระหว่าง Cat Radio กับค่ายต้นสังกัดของ Gym and Swim ศิลปินควรไปปรึกษากับทางค่าย
:
อ่านแถลงการณ์ของ Cat Radio ที่นี้
https://www.facebook.com/185534088320509/posts/1634966823377221/?d=n
—————
ฟีดแบคจากผู้บริโภคและแฟนเพลง
16- หลัง Cat Radio ออกแถลงการณ์ ก็ยังมีคนจำนวนมากไม่พอใจ มองว่าเป็นการแถลงที่ขาดความเป็นมืออาชีพ มีการเอาชื่อวงมาแขวน ไม่มีคำขอโทษ ไม่มีส่วนไหนที่แสดงว่ารับฟังฟีดแบคของผู้บริโภคและศิลปิน เห็นชัดว่าจะไม่นำไปสู่การปรับปรุง
17- คนยังมองว่าการไม่จ่ายค่าตัวศิลปิน แม้จะอ้างว่ามีการตกลงกันแล้ว แต่ก็เป็นการเอาเปรียบศิลปินอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเบอร์เล็กหรือเบอร์ใหญ่ก็ควรได้รับค่าตอบแทน เพราะทุกอย่างมีต้นทุน ทุกคนต้องกินต้องใช้ อย่าเอาคำว่า “ให้โอกาส” มาบังหน้า
18- คนยังฟีดแบคถึงการจัดงานด้วย เช่น สถานที่แออัดเหมือนขายบัตรเกินความจุของสถานที่ ปัญหาการเข้างาน คุณภาพอาหารในงาน ฯลฯ ทั้งที่ผู้จัดขายบัตรหมด สปอนเซอร์เต็ม จึงควรพัฒนาปรับปรุงเรื่องนี้ด้วย
19- อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งให้กำลังใจ Cat Radio และบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด พี่จ๋องเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ตั้งแต่ปี 2560 ว่า ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ศิลปิน อยู่ที่ความสมัครใจของศิลปินว่าอยากมาไหม อีกทั้งผลประกอบการแต่ละปีของบริษัทก็ยังขาดทุนอยู่
—————
ดราม่าการเมืองบนเวที
:
20- นอกจากนี้ยังมีอีกดราม่าจากงาน Cat Expo ตีคู่มา เมื่อวง t047 ขึ้นแสดงในงาน แล้วเชิญ 3 แกนนำกลุ่มราษฎร คือ รุ้ง ไผ่ แอมมี่ขึ้นเวที และร่วมร้องเพลง “หลังคา” เพื่อให้กำลังใจแกนนำทั้งสาม ซึ่งคนดูจำนวนมากพากันเปิดแฟลชและร่วมชู 3 นิ้ว
21- จากนั้นมีคนที่อ้างว่าเคยเป็นหนึ่งในทีมงานที่จัด Fat Festival และ Cat Expo โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีศิลปินวงหนึ่งดูถูกความตั้งใจของผู้จัด ด้วยการเอาความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาเห่าหอนประกาศศักดาบนเวที ศิลปินวงนี้สะกดคำว่ามารยาทเป็นหรือไม่
22- วงนี้แอบเอาแกนนำคณะราษฎรมาขึ้นเวที หากมีคนแอบเอาหมอวรงค์หรืออุ๊ หฤทัย มาขึ้นเวที ผู้จัดก็คงไม่ยินดีเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในพื้นที่ของผู้ชมนับหมื่น อาจมีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกัน เวทีนี้คือเวทีดนตรี ไม่ใช่เวทีการเมือง คนมาเพื่อฟังดนตรี
23- ส่วนคอมเมนต์ในโพสต์ดังกล่าวก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เช่น “ถ้ากูยังอยู่ แล้วเป็นโชว์ไดเรคเตอร์เวทีนั้น กูจะให้แบคสเตทลากแม่งลงมา” และมีคนมาต่อว่า “ลากลงมา...กระทืบ” รวมถึงการเรียกวงดนตรีที่สนับสนุนผู้ชุมนุมว่า “แก๊งนิ้วด้วน” แม้โพสต์นี้จะถูกลบไปแล้ว แต่ก็ทำให้เรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
24- อย่างไรก็ตาม ยังมีศิลปินอีกจำนวนมากในงาน Cat Expo ที่แสดงท่าทีสนับสนุนผู้ชุมนุมบนเวที ผ่านเสียงเพลง การพูด และสัญญะอื่น ๆ