Clovre พิมพ์ว่า:
LondonBridge พิมพ์ว่า:
บ้านผมจีน ฝั่งพ่อมาจากจีน พ่อกิน ผมกิน
ที่แปลกใจคือ ตอนผมไปเที่ยวที่ จีน(เซี่ยงไฮ้) กับ ไต้หวัน
เนื้อวัวนี่ หากินง่ายมากกว่าเนื้อหมู เนื้อไก่อีกนะครับ
กลับมาเลยสงสัย ลองเสิร์จดู
ไม่แน่ใจว่า มาจากซีรีส์เจ้าแม่กวนอิมที่มาฉายในไทยสมัยก่อนรึป่าว
ผมคิดว่าจริงนะ กินตามซีรีย์
อีกอย่างเจ้าแม่กวนอิมไม่ได้ห้ามกินวัว แต่ห้ามกินม้า แต่ในไทยคงไม่มีใครกินม้าอย่างจริงจัง ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นวัวแทน
ตามซีรี่ย์ TVB สมัยก่อน เนื้อเรื่องคือ
องค์หญิงเมี่ยวซ่าน หลังจาก บรรลุเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว มาเทศนา เสด็จพ่อซึ่งเป็น พระราชบิดา กษัตริย์ เมี่ยวจวง (หรือ เมี่ยวจง) ซึ่งพระราชบิดาสมัยยังเป็นกษัตริย์ ก่อกรรมทำเข็ญกับเจ้าหญิงและราษฎร เป็นอย่างมาก จึง ทำให้ เมื่อสิ้นพระชนม์หลังจากมีการเทศนา ทำให้พระเจ้า เมี่ยวจวง เกิดใหม่ เป็น โค กระบือ
ดังนั้น เอาเฉพาะความเชื่อในไทย จึงเอาซีรี่ย์ดังกล่าว ไปอ้างอิงว่า ห้ามกิน วัว กินควายเพราะจะเป็นการกินลูกหลานของพระราชบิดาของเจ้าแม่กวนอิมด้วย ซึ่งเดิมที่ หากนับถือเจ้าแม่จริงๆ ควรจะงดเนื้อสัตว์ทุกอย่างเพราะเจ้าแม่เป็นมังสวิรัติ เหตุที่บอกว่าไม่กินเพราะเป็นสัตว์ใหญ่มันฟังยากเพราะหมูตัวเล็กกว่าไม่มาก
ซึ่งแกนนำในการตั้งตนไม่กินเนื้อวัว เพราะนับถือเจ้าแม่ ถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงดังๆในไทยก็เป็น อาจารย์ วิโรจน์ตั้งวานิชย์ ตอนเด็กๆ ผมมักจะได้ยินเลยว่า อย่ากินนะ อันนี้มันบาป
ซึ่งเพื่อนฝูงของผมที่อยู่มาเลเซีย สิงคโปร์หรือ จีนเอง นับถือเจ้าแม่กวนอิมก็ทานครับ ความเชื่อนี้เป็นเฉพาะคนไทยเท่านั้น
ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ผนวกมาจาก อ้างอิงนี้ครับ ขออนุญาติก๊อบจาก
https://www.matichonweekly.com/column/article_124400
มื่อไม่นานมานี้ได้มีใครบางคนที่ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า Pat Hemasuk ได้อ้างเอาไว้ว่า คนไทยที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายจีนนั้น เพิ่งจะมาไม่กินเนื้อกันเอาก็เมื่อซีรี่ส์ฮ่องกงเรื่อง “กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม” ถูกนำเข้ามาฉายในเมืองไทย
เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า ฉากหนึ่งในซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวได้เล่าถึงพระราชบิดาของ “พระนางเมี่ยวซ่าน” (ที่ต่อไปจะกลายเป็นเจ้าแม่กวนอิม) ได้สิ้นพระชนม์ลง แล้วไปเกิดใหม่เป็น “วัว” เพราะกรรมเก่าที่ได้ทำไว้สมัยเป็นมนุษย์
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ใครที่นับถือเจ้าแม่องค์นี้ก็เลย “งด ละ เลิก” ที่จะกินเนื้อวัวไปด้วย นัยว่าเป็นการทำบุญให้กับพระราชบิดาของเจ้าแม่นั่นเอง
แต่ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวเพิ่งจะถูกนำเข้ามาฉายในไทยเมื่อ พ.ศ.2528 เท่านั้นเองนะครับ
นั่นจึงหมายความว่า ใครคนเดียวกันนั้นก็ได้บอกเอาไว้ด้วยว่า แต่เดิมคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมก็กินเนื้อวัวให้เพียบเหมือนกันนี่แหละ เห็นได้ก็จากอาหารที่คนจีนทำขายสารพัดก็มีเนื้อเป็นส่วนประกอบสำคัญ
และก็ไม่เห็นจะมีข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวที่ตรงไหน?
ผมไม่แน่ใจนักว่า ก่อนหน้าที่ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวจะเข้ามาฉายในประเทศไทยนั้น จะไม่มีคนไทยเชื้อสายจีน หรือแม้กระทั่งคนจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในไทย ที่ไม่กินเนื้อวัวด้วยเพราะแรงศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิมอยู่เลย จริงอย่างที่ใครคนนั้นอ้างเอาไว้หรือเปล่า?
เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็มีหลักฐานที่เล่ากันปากต่อปาก อย่างที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “มุขปาฐะ” ในหมู่ชนเชื้อสายจีนหลายครอบครัวเลยทีเดียวว่า มีการตราข้อห้ามเอาไว้อย่างแน่นหนาว่าอย่ากินเนื้อวัว ด้วยสาเหตุมาจากเจ้าแม่กวนอิมนี่เอง
แต่หลักฐานของข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวในประวัติศาสตร์สังคมของจีน ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมเท่านั้นนะครับ ข้อห้ามในการบริโภค และฆ่าสัตว์วัว ที่เรียกว่า “หนิวเจี้ย” (niu jie) โดยอันที่จริงแล้ว
ข้อห้ามนี้ยังหมายรวมถึงสัตว์จำพวกเดียวกันอย่างควายอีกด้วย
นักจีนศึกษา ผู้สนใจในเรื่องของระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาเต๋า ขงจื๊อ หรือพุทธ อย่างวินเซนต์ กูสเสิร์ต (Vincent Goossaert) ได้เคยเสนอเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “The Beef Taboo and the Sacrificial Structure of Late Imperial Chinese Society” (ข้อห้ามกินเนื้อวัว และโครงสร้างการบูชายัญของสังคมจีนในยุคปลายจักรวรรดิ) ว่า ในบรรดาเอกสารจีนระหว่างราว พ.ศ.1350-1850 (ตรงกับช่วงระหว่างราชวงศ์ถัง ต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หยวนของจีน) นั้น มีข้อห้ามที่เรียกว่า “หนิวเจี้ย” นี้เอาไว้แล้ว ดังเช่นในเอกสารชิ้นหนึ่งในช่วงยุคดังกล่าว ที่มีเรื่องเล่าอ้างอยู่ในนั้นว่า
“…นายทัพคนหนึ่งชื่อโจวเจี้ย (Zhou Jie) เจ็บปวดทรมานจากโรคที่ติดเชื้อ เขาจึงขอลาจากที่ทำงานกลับมายังบ้าน จนเมื่อม่อยหลับไปเขาก็ฝันว่า ตนเองถูกจับกุมแล้วนำไปพิพากษาที่ศาลซึ่งรายล้อมไปด้วยเหล่าเจ้าหน้าที่คุ้มกันในชุดแดง ที่นั่นยังมีผู้คนจำนวนมากที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ (ในศาล) เข้ามาทักทายเขาอย่างเป็นพิธีการ แล้วจึงล้อมวงตัดสินคดีของเขา จากนั้นศาลได้เบิกตัวโจวเข้าไปแล้วถามว่า
“(จิตใจ) เจ้าโหดร้ายจนรู้สึกดื่มด่ำกับไปรสชาติของเนื้อวัวได้อย่างไร?”
จากนั้นก็ตะโกนให้เจ้าหน้าที่คุ้มกันจับโจวโบยเข้าที่หลัง แล้วลากเขาออกไป โจวหันไปขอความเมตตาจากศาล แล้วอ้อนวอนว่า
“จากนี้เป็นต้นไปข้าจะไม่กินเนื้อวัวอีกแล้ว และข้าขอสาบานด้วยว่า จะให้คนในครอบครัวของข้ายึดถือปฏิบัติในข้อห้ามนี้ด้วยเหมือนกัน”
ศาลจึงพิจารณาละเว้นโทษ แล้วปลดปล่อยโจวให้กลับไปบ้าน เมื่อนั้นนายทัพโจวค่อยสะท้านตื่นขึ้นจากความฝัน ซึ่งก็น่าแปลกที่โจวก็หายจากพิษไข้ของโรคติดเชื้อไปโดยปริยาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โจวปฏิเสธที่จะกินเนื้อวัวอย่างเคร่งครัด และเผยแพร่ความเชื่อนี้ในทุกๆ ครั้งที่สบโอกาส…”
แน่นอนว่าเรื่องความฝันของนายโจวเจี้ยคนนี้ ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กวนอิมเลยสักนิด แต่ก็เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ลัทธิการไม่บริโภคเนื้อวัวในจีนสมัยโบราณนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดวงแคบอยู่เฉพาะแค่ในเฉพาะกลุ่มศาสนิกชนผู้ศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิมเท่านั้น
แถมนายกูสเสิร์ตคนดีคนเดิมยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า เขาสามารถรวบรวมเอกสารของจีนที่กล่าวถึงข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวในช่วงยุคเดียวกันนี้ (พ.ศ.1350-1850) ได้ถึง 35 ชิ้นเลยทีเดียว
น่าเสียดายที่ในข้อเขียนชิ้นดังกล่าวนั้น นายกูสเสิร์ตไม่ได้แจกแจงเอาไว้ว่า ในบรรดาเอกสารที่เหลืออีก 34 ชิ้นนั้น มีข้อความที่ระบุถึงความสัมพันธ์ของข้อห้ามการกินเนื้อวัวที่เกี่ยวข้องอยู่กับลัทธิการบูชาเจ้าแม่กวนอิมด้วยหรือเปล่า?
แต่เขาก็บอกเอาไว้ด้วยว่า ในช่วงเริ่มแรกนั้นก็เห็นได้ว่าลัทธิการไม่บริโภคเนื้อวัวนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเชื่อในพุทธศาสนา และดูเหมือนว่ากูสเสิร์ตจะค่อนข้างให้น้ำหนักกับศาสนาพื้นเมืองของจีน อย่างศาสนาเต๋าเป็นสำคัญ
เฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยพุทธศาสนานั้น ข้อสันนิษฐานของกูสเสิร์ตสอดคล้องกับหลักฐานของนิทานเรื่อง “เจ้าแม่กวนอิม” (ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่ว่าเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้นก็คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) นั้น ก็เพิ่งจะมีหลักฐานเก่าแก่ระบุถึงอยู่ในจารึกหลักหนึ่ง ที่เรียกว่า “จารึกเจี่ยงจือฉี” ตามชื่อของผู้สร้างจารึก ซึ่งถูกจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.1643 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับช่วงที่นายกูสเสิร์ตอ้างถึงเอกสารจำนวน 35 ชิ้นดังกล่าว
แต่ข้อความในจารึกเจี่ยงจือฉี ที่เล่าถึงประวัติของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านทั้งหลักนั้น กลับไม่ได้ระบุถึงข้อห้ามเรื่องการกินเนื้อวัว หรือแม้กระทั่งตำนานที่ว่าพระราชบิดาของพระนางทรงไปเกิดใหม่เป็นวัวเลยสักนิด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ข้อห้ามเรื่องการกินเนื้อวัวในหมู่ศรัทธาเจ้าแม่องค์นี้ เป็นสิ่งที่ถูกผนวกเข้าไปในภายหลัง โดยได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิความเชื่ออื่นๆ ในจีน ที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการกินเนื้อวัวมาก่อนแล้ว
อันที่จริงแล้ว ร่องรอยของข้อห้ามการกินเนื้อวัวนั้นมีมาก่อน พ.ศ.1350 ซึ่งอยู่ในช่วงราชวงศ์ถังเสียอีก
เพราะในข้อเขียนชิ้นเดียวกันของกูสเสิร์ตยังระบุไว้ด้วยว่า จักรพรรดิของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.341-763) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.1503-1819) นั้น ได้มีพระราชโองการให้เนื้อวัวควาย เป็นเนื้อสัตว์ที่ใช้เซ่นสรวงในพิธีการต่างๆ ได้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไปจะใช้ได้เฉพาะเนื้อแพะ แกะ และหมู สำหรับเซ่นสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เหตุที่เป็นเช่นนี้เราอาจจะเห็นได้จากข้อความเกี่ยวกับวัวควายต่างๆ ในกฎหมายโบราณของจีน โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ.1500 ลงมา (คือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา) นั้นก็จะเห็นได้ถึงการปกป้องวัวควาย ในฐานะทรัพยากรทางการเกษตร ที่รัฐต้องเข้าไปจัดการ ไม่ต่างจากกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับผืนนา และภาษีที่ได้จากผลผลิต
และกฎหมายของราชวงศ์ซ่งฉบับที่ว่า ก็คงมีรากฐานมาจากกฎหมายเก่าแก่ของจีนฉบับก่อนหน้านั้นนับพันปีคือ กฎหมายห้ามฆ่าวัวควายในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ.341-551) ซึ่งไม่ได้ระบุว่าทำไมจึงห้ามฆ่า แต่อาจจะสังเกตได้ว่า กฎหมายของจีนโบราณไม่เคยห้ามฆ่า หรือบริโภคสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทุ่งนาเลยสักครั้งนะครับ
พูดง่ายๆ ว่า ในสายตาของรัฐจีนครั้งกระโน้น “วัวควาย” ไม่ได้เป็นเพียงอาหารละมุนลิ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์มากกว่านั้นในฐานะ “แรงงาน” ภาคการเกษตรอีกด้วย
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ในท้ายที่สุดแล้ว “หนิวเจี้ย” หรือข้อห้ามการบริโภคเนื้อวัว จะปรากฏอยู่มากในศาสนาต่างๆ ของจีน โดยเฉพาะศาสนาพื้นเมือง ที่ค่อนไปทางเรื่องราวเกี่ยวกับผีสาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างศาสนาเต๋าเป็นสำคัญ
ชุดคำอธิบายให้ใครต่อใครทั่วไปในสังคมจีน ลด ละ เลิก ที่จะกินเนื้อวัว ที่แรกเริ่มเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม กับความมั่นคงของผลผลิตทางเกษตรกรรม จึงกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัตรปฏิบัติทางศาสนาไปด้วยในที่สุด ซึ่งชุดคำอธิบายนี้ก็ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา กรณีของเจ้าแม่กวนอิมก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้นนั่นแหละครับ
แต่ก็แน่นอนว่า ข้อห้ามการกินเนื้อวัวอย่างนี้ ก็มีเรื่องของชนชั้นปะปนอยู่ด้วย เห็นได้ชัดๆ ก็จากการที่ราชสำนักจีนสงวนให้เนื้อวัวเป็นเครื่องเซ่นไหว้เฉพาะในราชสำนักนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่คนจีนทุกคนที่ไม่มีโอกาสบริโภคเนื้อวัว ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื้อสัตว์เซ่นไหว้ 3 อย่างที่เรียกกันว่า “ซานเซิง” (san sheng) นั้น มีทั้งชุดที่ประกอบไปด้วยเนื้อหมู, สัตว์ปีก (ส่วนจะเป็นเป็ดหรือไก่ก็แล้วแต่) และปลา กับชุดที่ประกอบไปด้วยเนื้อวัว, เนื้อแกะ และเนื้อหมู
ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในไทยนั้น ก็ย่อมไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มเดียว แต่มีทั้งชาวจีนชนชั้นแรงงาน ที่ไม่ได้กินเนื้อวัว กับชาวจีนชนชั้นมีอันจะกิน ที่รู้จักการปรุงเนื้อวัวให้อร่อยเด็ด
ดังนั้น ในประเทศไทยยุคก่อนที่ซีรี่ส์กำเนิดเจ้าแม่กวนอิมจะเข้ามาฉาย จึงมีร้านเนื้อวัวรสชาติเด็ดดวง ที่ปรุงรสโดยคนเชื้อสายจีนมาเนิ่นนานแล้ว อย่างที่คุณ Pat Hemasuk เขาว่า ส่วนคนจีนที่ไม่กินเนื้อวัวนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นกลางในสังคมไทย และได้รับการตอกย้ำความเชื่อว่า ถ้านับถือเจ้าแม่กวนอิมแล้วต้องไม่กินเนื้อวัว จากซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวนี้เอง
ถ้าซีรี่ส์เรื่องกำเนิดเจ้าแม่กวนอิม จะมีบทบาทอะไรกับลัทธิการไม่กินเนื้อวัวเพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิมในไทย ก็คือเผยแพร่ความเชื่อนี้ผ่านทางสื่อในวงกว้างกว่าที่เคย แต่ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้คนที่นับถือเจ้าแม่องค์นี้ในไทย หันมาไม่กินเนื้อแน่
จึงสรุปได้ว่า
เจ้าแม่กวนอิมไม่ใช่ต้นเหตุของการไม่ทานเนื้อ แต่เป็นเพียงการอ้างเพื่อให้ไม่ทานสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนในบางกลุ่ม
แต่เป็นการ Mixed ความเชื่อของข้อห้าม ของการกำหนด สัตว์เพื่อบริโภคในจีนของแต่ละชนชั้น อย่างเช่น ราชวงค์ซ่ง ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ทานเนื้อวัวเลย หรือ การห้ามกินเพราะเป็นสัตว์ที่มีคุณค่ามากกว่าการใช้แรงงาน
การที่บางคนทานเนื้อวัวแล้วบอกว่า เป็นลมชัก หรือ มีอาการผิดปกติ นี่สำหรับบางคนอาจเป็นได้ครับ แต่ส่วนใหญ่ที่ผมรู้จัก เป็น "อุปทาน" ตอนยังไม่ทราบไม่มีอาการ พอทราบแล้ว ดิ้น ลำบากตัว หายใจไม่ออก จนมีเพื่อนผมบางคนที่เดิมมีอาการดังกล่าว ปัจจุบัน ทานเนื้อปกติ และยังบอกผมว่า เมื่อก่อนเหมือนกดดันตัวเองเวลารู้ว่าทานเนื้อมันกระวนกระวายเอง
ที่ผมออกมาพิมพ์ยาวๆ รวมถึงอ้างอิงข้อมูลต่างๆ เพราะ
1.ไม่อยากให้อ้างถึงการไม่กินเนื้อมาจากการบอกว่าเจ้าแม่ไม่ให้กิน แต่กินเนื้อสัตว์อื่นๆได้ ผมว่า มันย้อนแย้ง
2.ซีรี่ย์ ที่เป็นตัวชักจูง เริ่มมีเมื่อตอนปี 2528 ซึ่งผมได้ทันดูช่วงปี 253x จำไม่ได้เหมือนกัน กลับสร้างอิทธิพล ต่อคนไทย ที่เชื่อแบบไม่มีหลักฐาน
3.ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่ผมไม่ก้าวล่วง แต่ผมว่าไม่ควรเอามาปน จนบอกว่า เป็นศาสนาพุทธเถรวาท ในบางคนที่ทึกทักเชื่อ
4.งดฆ่าสัตว์ งดกินสัตว์ใหญ่ ตอนเข้าโรงเชือดเห็นภาพน้ำตาไหล อันนี้ความเห็นส่วนตัวจากที่บ้านเลี้ยงวัวชน ปกติ ผมเห็นวัว น้ำตาไหลบ่อยมากครับ ไม่ใช่เฉพาะเวลาเข้าโรงเชือด ซึ่งหลายๆคนมักเอาเหตุผลนี้เวลาอ้างว่าสงสารวัว มันทำให้ผมย้อนกลับไปคิดว่า หมูมันไม่มีน้ำตาเวลาเข้าโรงเชือดมันเลยไม่น่าสงสาร หมูมีไซส์เล็กกว่าวัวนิดนึงจึงมองว่าสัตว์เล็ก หรือ เบค่อน คอหมู มีรสชาติดีกว่า เลยไม่รณรงค์ ในการไม่กินหมู หรือเพราะไก่เป็ดมันหน้าตาไม่น่ารัก เลยเชือดไปเถอะกินได้
5.ปีนักษัตร บางคนอ้างว่าเกิดปีฉลู เลยห้ามกินเนื้อวัว อันนี้โครตจะเสียใจมากกับแนวคิดนี้ ลองมามองดูว่า ใน 12 นักษัตร มีอะไรบ้างที่เราสามารถหากินได้บ้าง กลุ่มที่อาจหากินได้ ชวด ฉลู เถาะ มะเส็ง มะแม ระกา กุน
ไม่น่าจะหากินง่าย และ ไม่ควรกิน ขาล มะโรง มะเมีย วอก จอ แต่เอาจริงๆ ใครจะหามะโรงกิน
กลับกลายเป็นว่า กินได้จริงๆ มีแค่ ฉลู มะแม ระกา กุน แล้วถ้าบังเอิญว่า มีปีนักษัตร กุ้ง ปลา ปลาหมึก คนที่เกิดปีดังกล่าว ควรงดกินด้วยเลยใช่มั้ย อันนี้แปลกจริงๆครับ
ท้ายนี้ไม่ได้มาพูดเพื่อให้ทานเนื้อวัวนะครับ แต่ไม่อยากให้ เอาเหตุผลแปลกมาเพื่ออ้างและชักจูงให้คนอื่นไม่ทานอย่างที่ตัวเองไม่ทาน (อันนี้เคยโดนมา) และโดนคนในกลุ่มนี้บางคนรังเกียจราวเป็นตัวประหลาด แค่นี้แหละครับ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบ