เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง
เหตุการณ์ "ถังแดง" หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "เผาลงถังแดง" เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงเวลาของทศวรรษ 2510 ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบนี้คือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐด้วยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยที่ผู้ต้องสงสัยบางส่วนถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังไม่เสียชีวิตก็จะถูกเผาทั้งเป็น
การเลือกใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อผู้ต้องสงสัยในเวลาดังกล่าว เป็นผลมาจากการหล่อหลอมความคิดเรื่องความชิงชังและความเป็นศัตรูระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐกับกลุ่มประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นผู้ปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคของสงครามเย็นซึ่งการต่อสู้กันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและทางการทหารระหว่าง 2 ขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายทั่วไปทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่สำคัญทั้งทางการเมืองและทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารของรัฐบาลไทยเช่นกัน
นับตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้น ซึ่งที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและความไม่พอใจที่กองทัพญี่ปุ่นคุกคามประเทศจีนและประเทศไทยในช่วงสงคราม กลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้เริ่มรวมตัวกันอย่างลับๆ เพื่อดำเนินการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงคนเหล่านี้ซึ่งซึมซับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มากขึ้นก็เริ่มเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองตามระบอบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ เช่น ตรัง หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง เป็นต้น และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีสมาชิกของพรรคเข้ามาปฏิบัติการทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวและเข้าร่วมดำเนินงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปัจจัยในเรื่องความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและความไม่พอใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ทั้งในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและกดขี่ข่มเหงประชาชนในพื้นที่
บทความยาวมาก แต่เป็นอีกเหตุการณ์ที่พี่น้องชาวใจ้อัดอั้นในยุคสงครามเย็น ตามอ่านที่ลิ้งค์ครับ
https://www.thaipost.net/main/detail/40709