เรื่องไม่ลับหลังป้ายอวยพรวันเกิดตามสี่แยก วัฒนธรรมของแฟนด้อมเพื่อศิลปิน

เราเชื่อว่า คุณต้องเคยเห็น และต้องเคยสงสัยในป้ายโฆษณาพวกนี้อยู่บ้าง
มันคือป้ายอะไร ใครเป็นคนทำ และทำไปทำไม
ขอให้ข้อมูลเรื่องสื่อโฆษณานอกบ้านก่อนสักนิด ทุกวันนี้สื่อโฆษณานอกบ้านโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากขึ้น ค่าลงสื่อก็ไม่ถูก แถมยังจองยากเพราะมีจำนวนจำกัด (แม้จะมากขึ้นแล้ว) สื่อนอกบ้านจึงเป็นของหรูหราสำหรับนักการตลาด ต้องมีทั้งเงินและบุญบารมีถึงจะจองพื้นที่ที่ต้องการในเวลาที่ต้องการสำหรับลงสื่อโฆษณาสินค้าได้
แต่ถึงจะแพงแค่ไหน จองยากเท่าไหร่ เมื่อสังเกตดีๆ เราจะเห็นพลังเล็กๆ ที่มาลงสื่อกันเป็นครั้งเป็นคราว มีอาร์ตเวิร์กหน้าตาไม่คุ้น แถมมีข้อความที่ค่อนข้างจะเป็นส่วนตัว อย่างการอวยพรวันเกิดมาปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
เชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและลอยฟ้าต้องเคยงุนงงกับป้ายแบบนี้มาแล้วแน่ๆ
ป้ายเหล่านี้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของกลุ่มแฟนคลับที่มีชื่อเรียกน่ารักๆ ว่า ‘ชาวติ่ง’
แฟนคลับแต่ละคนมีไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบและคอยให้การสนับสนุน การซื้อป้ายโฆษณาเพื่ออวยพรวันเกิดเช่นนี้เป็นหนึ่งในการแสดงออกว่าสนับสนุนศิลปินคนนั้นๆ
ป้ายเหล่านี้ไม่ต่างอะไรจากป้ายโฆษณา ที่ต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างให้คนรับรู้ในวงกว้าง แต่ข้อความลับๆ ที่แฝงไว้ในป้ายเหล่านี้คืออะไร ต้องการสื่อสารกับใคร และแฟนคลับเอาเงินมากมายจากไหนถึงซื้อป้ายโฆษณาแบบนี้ได้
เรารู้ว่าคุณก็อยากรู้ เราเลยไปสืบมาให้
ชาวติ่งมีคำเรียกคนที่ไม่อินกับวัฒนธรรมแฟนคลับว่า ‘มักเกิ้ล’
และนี่คือ 10 เรื่องที่จะทำให้เหล่ามักเกิ้ลมองป้ายโฆษณาเหล่านี้เปลี่ยนไป
1. กลุ่มแฟนคลับไม่ได้ทำ ‘โปรเจกต์’ ซื้อป้ายโฆษณา แค่วาระวันเกิดของศิลปินเท่านั้น
ป้ายโฆษณาที่เหล่าแฟนคลับจัดหามาเป็นของขวัญพิเศษสำหรับศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ เป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่เรียกว่า ‘โปรเจกต์’ สำหรับหลายโอกาส ทั้งหมุดหมายสำคัญอย่างวันเปิดตัว (เดบิวต์) วันปล่อยผลงานใหม่ (คัมแบ็ก) หรือวันที่มียอดเข้าชมผลงานของศิลปินเป็นจำนวนที่สมควรแก่การเฉลิมฉลอง รวมไปถึงการสื่อสารกิจกรรมของแฟนคลับที่ร่วมกันทำเพื่อศิลปินในโอกาสต่างๆ ด้วย
โปรเจกต์แบบนี้ฮอตฮิตในหมู่แฟนคลับศิลปินเอเชีย รวมทั้งศิลปินไทย แต่ไม่ค่อยมีให้เห็นในหมู่ศิลปินชาวตะวันตก
จุดกำเนิดของการซื้อป้ายโฆษณานี้มาจากประเทศเกาหลี แฟนคลับชาวเกาหลีอยากทำอะไรบางอย่างให้ศิลปินที่ตนชื่นชอบได้รับกำลังใจและพลังบวกนี้ไป แต่จะส่งไปถึงตรงๆ ก็ทำไม่ได้ เลยเลือกแสดงออกในที่สาธารณะแทน อย่างการขึ้นป้ายโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน คนที่เดินผ่านไปผ่านมาจะได้รู้จักศิลปินผู้เป็นที่รักนี้ด้วย
ในประเทศไทย กลุ่มแฟนคลับมีการเชิญชวนแฟนคลับด้วยกันมาระดมทุนสำหรับแต่ละโปรเจกต์ โดยอาจจะมีของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ มอบให้เป็นการตอบแทน
2. ศิลปินที่มีแฟนคลับทำป้ายโฆษณาให้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปินเกาหลี ต้นตำรับวัฒนธรรมนี้ ตามมาด้วยศิลปินไทยเครือ GMM Grammy ส่วนผู้ซื้อก็มีทั้งแฟนคลับไทยและแฟนคลับจากต่างประเทศ ซึ่งสายเปย์ยืนหนึ่งคือเหล่า ‘แม่จีน’
ศิลปินหนึ่งคนอาจมีแฟนคลับหลายบ้าน (ชื่อในวงการที่มีความหมายว่ากลุ่ม) แต่ละบ้านเขาจะเรียกกันว่า ‘แม่’ (คาดว่าย่อมาจากแม่ยก) แม่ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวตั้งตัวตีจัดทำป้ายให้ศิลปินในวาระโอกาสต่างๆ ความหลากหลายของศิลปินที่ได้ขึ้นป้ายโฆษณาในกรุงเทพฯ ต้องยกให้ศิลปินเกาหลี ป้ายศิลปินไทยที่มีอยู่ทั่วเมืองก็ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นคนเดิมๆ
มาว่ากันในฝั่งผู้ซื้อ กลุ่มที่ซื้อเยอะที่สุดคือแม่จีน เราจึงเห็นป้ายที่มีภาพศิลปินไทยมากกว่าศิลปินเกาหลี เพราะแฟนคลับชาวจีนเป็นฝ่ายมาซื้อให้ศิลปินไทยบ่อยมาก และเยอะมาก
ที่ชาวจีนอยากจะสื่อสารกับศิลปินไทยบ่อยๆ นั้น อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมจีนมีเทศกาล และวาระโอกาสที่มีความหมายอยู่บ่อยๆ เช่น วันบอกรัก วันให้ดอกไม้ แฟนคลับจึงอยากให้ความหมายกับวันสำคัญเหล่านั้นแด่ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบด้วย แต่พอตัวอยู่ไกล รูปแบบการส่งความรักความห่วงใยอาจมีไม่มากนัก ป้ายโฆษณาเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกยอดนิยม
อ่านต่อที่ : https://readthecloud.co/idol-birthday-billboard/?fbclid=IwAR3NjDJp44fe-K_5ADVC86EQgFPRdHDBAdH4bmbRpTGCayT_3UKUt1t_qdQ
**ในกระทู้นี้มีการเพิ่มรูปประกอบนิดหน่อย ขออภัยต้นทางไว้ทีนี้ด้วยครับ