นับถอยหลังเป็นเวลาอีกไม่กี่เดือน “โรงเรียนไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ” ก็จะถึงเวลาปิดตัวลงอย่างถาวร ทันทีที่การสอบปลายภาคภาคเรียนสุดท้ายเสร็จ ก็เป็นอันว่าสถาบันแห่งนี้ได้ส่งนักเรียนรุ่นสุดท้ายถึงฝั่งได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับปิดตำนาน 58 ปีของโรงเรียนสอนศิลปะชื่อดังของไทย โดยทางโรงเรียนได้เลิกรับนักเรียนใหม่มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน เพื่อเตรียมการปิดสถาบันหลังจากนักเรียนรุ่นนี้จบนั่นเอง
ตลอดเวลาเกือบ 6 ทศวรรษ สถานศึกษาแห่งนี้ได้สร้างศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในหลากหลายวงการ โดยมีทั้งช่างทางศิลปะ นักออกแบบ นักเขียน รวมไปถึงศิลปินในวงการสร้างสรรค์ความบันเทิงด้านต่างๆ มากมาย อาทิ อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูผู้สืบสานหัตถศิลป์ของแผ่นดิน ถือเป็นบรมครูด้านผ้าไทย, อดิเรก วัฏลีลา (ผู้กำกับภาพยนตร์), อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง (นักถ่ายภาพชื่อดัง), เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล นักเขียนเจ้าของสำนักพิมพ์เศรษฐศิลป์, ภาณุ สมบูรณ์พสุธา (นักเขียนอิสระ), ศักดา พัทธสีมา (วงดนตรีอินคา), สมพงษ์ ศิวิโรจ์ (วงมาลีฮวนน่า), รวิชญ์ เทิดวงศ์ (นักแสดง), ธงชัย ทองกันธม (ปิงปอง ไดอารี่ตุ๊ดซี่) ร่วมด้วย นาธาน โอมาน, ศรีศิลป์ เอมเจริญ, เล็ก Greasy cafe เป็นต้น
ย้อนตำนาน 58 ปีของ “ไทยวิจิตรศิลป”
โรงเรียนไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2505 โดย ร.ท. โภคัย ว่องกสิกร (ยศในขณะนั้น) ปัจจุบันเป็นสถาบันเอกชนที่เปิดสอนในระดับอาชีวศึกษาในหลักสูตร ปวช. (ประโยควิชาชีพชั้นต้น-เทียบเท่า ม.6) และหลักสูตร ปวส. (ประโยควิชาชีพชั้นสูง-เทียบเท่าอนุปริญญา) โดยใช้หลักสูตรการสอนชั้น ปวช. เป็นหลักสูตรเดียวกับสถาบันในกรมอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
หลักสูตร ปวช. มี 3 สาขา คือ
1. สาขาวิจิตรศิลป วิชาที่มีการเรียนการสอน คือ วาดเส้น, จิตรกรรม, ประติมากรรม
2. สาขาออกแบบ (เดิมใช้ชื่อว่าสาขาออกแบบประยุกต์ศิลป์) วิชาที่มีการเรียนการสอน คือ ออกแบบพาณิชยศิลป์, ออกแบบตกแต่งภายใน, ออกแบบผลิตภัณฑ์, ถ่ายภาพ, คอมพิวเตอร์กราฟิก
3. สาขาเทคนิคสถาปัตย์ วิชาที่มีการเรียนการสอน คือ ออกแบบสถาปัตยกรรม, เขียนแบบก่อสร้าง, วัสดุและวิธีการก่อสร้าง, การประเมินราคา, ธุรกิจอุตสาหกรรม
หลักสูตร ปวส. มี 3 คณะวิชา คือ
1. คณะวิจิตรศิลป เปิดสอนในสาขา จิตรกรรม
2. คณะออกแบบ เปิดสอนในสาขา ออกแบบพาณิชยศิลป์, ออกแบบตกแต่งภายใน
3. คณะเทคนิคสถาปัตย์ วิชาที่มีการเรียนการสอน คือ ออกแบบสถาปัตยกรรม, เขียนแบบสถาปัตยกรรม, เทคโนโลยีทางการก่อสร้าง
ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียน ประกอบด้วย 1) ลายยอดกนก เพื่อเป็นเครื่องเร้าให้นักศึกษาใฝ่ดี และขยันหมั่นเพียรเรียนหาความรู้เพื่อเดินสู่ที่สูงและดีกว่า 2) แผ่นสี่เหลี่ยม 4 แผ่น อันหมายถึงเป็นโรงเรียนของมวลชนที่อ้าแขนต้อนรับเยาวชนจาก 4 ภาค เหนือ, ใต้, ตะวันออก, ตะวันตก และ 3) วงกลมล้อมรอบสื่อถึงความรักสมัครสมาน แต่มีอุดมการณ์เพื่อชาติ
ดิสรัปชั่นของสถาบันการศึกษาไทย
หากไม่นับเรื่องปัญหาการตีกันของกลุ่มเด็กอาชีวะ ต้องบอกว่าธุรกิจการศึกษาในภาพรวม ไม่เฉพาะสถาบันการศึกษาประเภทอาชีวะ ถือได้ว่าประสบปัญหาอย่างหนักกับยุค Technology Disruption ทั้งที่ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม
ไม่ว่าจะเป็นสื่อการศึกษาทางไกล สื่อออนไลน์ที่ทำให้การเข้าถึงการศึกษาที่ต้องการเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันด้วยคลื่นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาการแขนงต่างๆ ทำให้หลายคนมองการศึกษาแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์และไม่ได้การันตีว่าจบแล้วจะมีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางด้วยแล้ว หากเป็นสาขาที่ไม่เป็นที่นิยมในตลาดแรงงานในอนาคต โอกาสที่สถานศึกษาแห่งนั้นจะอยู่รอดในยุคดิสรัปชั่นเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก บวกกับก่อนหน้านี้ที่ธุรกิจการศึกษาผุดขึ้นเร็วราวกับดอกเห็ด ปัจจัยหลายๆ อย่างเหล่านี้ส่งผลให้เราเริ่มเห็นการปิดตัวของสถานศึกษาหลายๆ แห่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ย้อนไปเกือบ 10 ปีที่แล้ว “ไทยวิจิตรศิลป” เคยมีการขยายสาขาไปเปิดวิทยาลัยอาชีวศึกษาไทยวิจิตรศิลป เชียงใหม่ แต่ก็ปิดโรงเรียนที่เชียงใหม่ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2559 โดยข้อมูลจากสำนักบริหารการอาชีวศึกษาระบุว่า ณ 31 มี.ค. 2559 มีโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทอาชีวศึกษา เลิกกิจการ 156 รายทั่วประเทศ
ไม่เฉพาะวิทยาลัยอาชีวะ แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เริ่มกระทบจากจำนวนนักเรียนที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นปี 2561 ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายการศึกษาไทย ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0” เอาไว้ว่า
“ขณะนี้อุดมศึกษากำลังประสบปัญหาทั้งจากบุคลากรที่ไม่ปรับตัว จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงจนมีบางแห่งต้องปิดตัวลง หรือปิดหลักสูตรเพราะไม่มีคนเรียน ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุงหลักสูตรหรือวิธีการสอน มหาวิทยาลัยในประเทศมีแนวโน้มที่จะปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ ที่สถาบันอุดมศึกษาปิดตัวไปแล้ว 500 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 แห่งในช่วง 10 ปีข้างหน้า”
มหาวิทยาลัยไทย “รอดยาก” … เพราะ
ผศ. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เขียนบทความเรื่อง “ความไม่มั่นคงของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยในคอมฟอร์ตโซน” ลงใน MGROnline วันที่ 17 ธ.ค.2562 โดยระบุว่า
มหาวิทยาลัยไทยนั้นไปรอดได้ยาก ด้วยสาเหตุหลายอย่าง
1) ประชากรสูงวัย ไม่มีเด็กเกิด
2) มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้คุณค่าอะไรมากนักกับนักศึกษาและสังคมดังในอดีตที่เคยทำได้ดี
3) Business model ของมหาวิทยาลัยคือรูปแบบธุรกิจอายุเจ็ดร้อยปีเท่าอายุมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกในสเปน ซึ่งน่าจะอยู่ยงคงกระพันมานานเกินไปแล้ว
4) การไปเรียนเมืองนอกสมัยนี้ง่ายมาก มหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกาก็ร่อแร่จากภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการนักเรียนต่างชาติจำนวนมากเพื่อการอยู่รอด
5) การระเบิดดิจิทัล (Digital disruption) ทำให้เกิดการเรียนรู้ออนไลน์ได้ และความรู้บนโลกออนไลน์มีมากและเข้าถึงได้ง่าย จนความจำเป็นที่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยลดลง
ความไม่มั่นคงของธุรกิจมหาวิทยาลัยในไทยเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้ขายให้ทุนจีนไปแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเกริก และ มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งประกาศเลิกกิจการเพื่อขายที่ดินทำคอนโดบ้าง ทำรีสอร์ตบ้าง แนวโน้มดังกล่าวไม่ต่างจากการล้มหายของโรงเรียนเอกชนหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่บางแห่งยังกัดฟันสู้ต่อ แต่ก็ร่อแร่ด้วยการปิดหลักสูตร แล้วยุบรวมคณะต่างๆ ไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงยังสะท้อนผ่านข่าวการเลย์ออฟหรือไม่ต่อสัญญาอาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูง เป็นผู้เชี่ยวชาญแบบหาตัวจับได้ยาก หลายแห่งก็ปล่อยให้อาจารย์ที่ติดทุนเป็นอิสระเพราะไม่มีนักศึกษาให้สอน บางมหาวิทยาลัยถึงขนาดปิดอาคารสัปดาห์ละ 1-2 วันเพื่อประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าดูแลรักษาอาคารสถานที่ เป็นต้น
… การปิดตำนานของ “ไทยวิจิตรศิลป” ครั้งนี้ ถือเป็นอีกภาพสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของโลกธุรกิจและการแข่งขันด้านการศึกษาที่รุนแรงและหนักหน่วง นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก Fanpage: Thaivichitsilp Art Of School (ไทยวิ) และ Fanpage: ไทยวิจิตรศิลปสามศูนย์ กับภาพเเห่งความทรงจํา
จาก
https://marketeeronline.co/archives/142120?fbclid=IwAR2IyI7imVXww5I2nHXs7I_C1fyNpXPGQ1eTG0OfIQyzAnrGluaBhf3fRmY

เป็นสถาบันที่ฝีมือดีมากๆหลายคนเลยนะครับ เสียดายเลย