"อยู่เป็น" แบบซูซุนทง (叔孙通)
สมัยที่บ้านเมืองรบราฆ่าฟันกัน พวกปัญญาชนมักตายก่อน หาไม่แล้วก็ไม่ถูกเหยียดหยามแทบไม่เหลือศักดิ์ศรี ในยุคจ้านกั๋ว รัฐต่างๆ ล้วนแต่นิยมนักต่อรองผลประโยชน์ นักการทูต และนักยุทธศาสตร์ พวกปัญญาชนที่สอนเรื่องคุณธรรมถูกเมินเฉย ดังนั้นต่อให้ขงจื๊อทรงคุณธรรมแค่ไหน ปราดเปรื่องเพียงใด ก็ไม่มีรัฐไหนช่วงใช้ท่าน
เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ปราบรัฐต่างๆ ลงได้ สถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น แม้จะช่วงใช้พวกปัญญาชนทรงคุณธรม แต่ก็ทรงเห็นว่าพวกนี้แสดงความเห็น "เยอะ" เกินไปจนขัดต่อการปกครองที่เข้มงวดและอำนาจเผด็จการ ทำให้พระองค์ต้องดำเนินนโยบาย "เผาตำราฆ่าบัณฑิต" จนสานุศิษย์ขงจื๊อแทบจะสูญพันธุ์
แต่ราชวงศ์ฉินไม่ได้ฆ่าศิษย์ขงจื๊อจนหมด ยังมีปัญญาชนทำงานในราชสำนักสืบมา หนึ่งในนั้นคือซูซุนทง
เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต ขันทีจ้าวเกาสมคบกับองค์ชายหูไฮ่ ปลอมราชสาส์นสังหารองค์รัชทายาทแล้วหูไฮ่ครองบัลลังก์เองเป็นพระเจ้าจิ๋นยี่ซี แต่แผ่นดินฉินใกล้จะถึงจุดจบแล้วเพราะความโหดร้าย ประชาชนลุกฮือขึ้น จ้าวเกาคิดแต่รักษาอำนาจตัวเองจึงไม่กราบทูลจิ๋นยี่ซีว่าบ้านเมืองจะฉิบหายอยู่รอมร่อ พวกกบฎจะรุกเข้าเมืองหลวงวันไหนก็ไม่รู้
สุดท้ายจิ๋นยี่ซีรู้จนได้ แต่กลับหลอกตัวเองอย่างเลวร้าย หากม้าเร็วมากราบทูลว่าพวกกบฎมีชัยชนะทัพหลวงจะถูกลงทัณฑ์ จึงไม่มีใครกล้ากราบทูลความจริง มีแต่แปลงสาส์นว่าทัพหลวงมีชัยทุกครั้งไป
ขุนนางผู้ใหญ่ทนไม่ไหว กราบทูลให้ทรงยุติการกดขี่ราษฎรโดยเกณฑ์แรงงานสร้างวัง สร้างกำแพงใหญ่ และสุสานหลวง แต่กลับถูกตังข้อสงสัยเรื่องความภักดี ทั้งหมดถูกจับและประหาร เมื่อเจอแบบนี้แล้วใครเล่าจะกล้าทัดทานได้?
อาการหลอกตัวเองของฉินยี่ซีร้ายแรงขนาดที่วันหนึ่งในท้องพระโรง ได้ซักถามพวกราชบัณฑิตว่าที่แคว้นฉู่เกิดกบฎขึ้นพวกท่านเห็นประการใด? พวกราชบัณฑิตกว่า 30 คนกราบทูลอย่างตรงมา รบเร้าให้แต่งทัพไปปราบไม่อาจละเว้นได้
แต่สีหน้าของจิ๋นยี่ซีแดงฉานเพราะความพิโรธ ในท่ามกลางหมู่ราชบัณฑิตนั้น มีปัญญาชนผู้หนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่า พวกท่านนี่เลอะเลือน ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการกบฎ มีแต่พวกโจรปล้นหมาปล้นไก่ ให้ตำรวจท้องที่ไปจับก็พอแล้ว!
จิ๋นยี่ซีได้ฟังวาทะเชลียร์ของซูซุนทงก็คลายวิตกลงแล้วถามพวกราชบัณฑิตทีละคนว่า เหตุครั้งนี้พวกเจ้าเห็นว่าเป็นกบฎหรือโจรกัน พวกที่ตอบว่าเป็นกบฎก็มี พวกที่ตอบว่าเป็นโจรก็มี ปรากฎว่าพวกที่ตอบเป็นกบฎนั้นถูกสั่งจับขัง ส่วนพวกที่ตอบว่าเป็นแค่โจรรอดตัวไป ฝ่ายซูซุนทงได้รับการอวยยศเป็น "ป๋อซือ" หรือปุโรหิต
เมื่อออกจากท้องพระโรงแล้ว พวกราชบัณฑิตต่างต่อว่าซูซุนทงกันใหญ่ที่เชลียร์เจ้าแผ่นดินเพื่อเอาตัวรอด แต่ซูซุนทางตอบว่า เมื่อตะกี้นี้เดินเข้าปากเสือยังไม่รู้ตัวอีก ข้ารอดมาได้ก็นับว่าบุญโขแล้ว ว่าแล้วก็รีบเก็บข้าวของหนีกลับไปบ้านเกิดที่แคว้นหลู่ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของขงจื๊อ เป็นที่ชุมนุมปราชญ์แต่โบราณ เพราะบัดนี้เขาเห็นแล้วว่าราชวงศ์ฉินถึงกาลอวสานแน่นอน
อันที่จริงแล้วพวกบัณฑิต "ผู้ทรงคุณธรรม" ที่รุมต่อว่าซูซุนทง หากไม่ได้เขาแก้ไขสถานการณ์แบบ "อยู่เป็น" แล้วละก็คงไม่มีโอกาสได้มายืนต่อว่าเขาดอก
หลังจากนั้นแผ่นดินฉินก็ล่มสลายลง เกิดการชิงอำนาจระหว่างกลุ่มกบฎต่างๆ ซูซุนทงเมื่อแรกนั้นไปเข้ากับฝ่ายเซี่ยงเหลียงและเซี่ยงอวี่ ต่อเมื่อหลิวปังตีเมืองเผิงเฉิงได้ซูซุนทงก็สวามิภักดิ์กับหลิวปัง
หลิวปังเหมือนพวกผู้ปกครองยุคนั้น คือชังน้ำหน้าพวกบัณฑิตเป็นอันมาก ถึงขนาดหยิบหมวกบัณฑิตมาเยี่ยวใส่ แต่ซูซุนทงแสดงความคมคายให้เห็นจนหลิวปังเริ่มจะยอมรับ แต่งตั้งเขาเป็นป๋อซือ ซูซุนทงเห็นเป็นโอกาสดีจึงชวนสหายและศิษย์บัณฑิตจากแคว้นหลู่มาทำงานกับหลิวปังด้วยกัน
แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้ว พวกบัณฑิตกลับนั่งแคะขี้เล็บไปวันๆ เพราะซูซุนทงไม่เสนอชื่อพวกเขาให้หลิวปังช่วงใช้เสียที เอาแต่เสนอให้หลิวปังใช้พวกจอมยุทธ์บ้างโจรบ้าง ทำเอาพวกศิษย์ทนไม่ไหวพากันต่อซูซุนทงว่าไม่เห็นหัว
ซูซุนทงตอบว่า ตอนนี้หลิวปังออกรบพิชิตใต้หล้า พวกเจ้ารบกับเขาเป็นด้วยหรือ?
พวกศิษย์ได้ยินดันนั้นก็ได้แต่สงบปากสงบคำรอกันต่อไป เพราะหากถูกเสนอชื่อไปทำงานจริงๆ แล้วเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หัวจะหลุดจากบ่าเสียเปล่าๆ
ครั้นปี 202 ก่อนคริสตกาล หลิวปังปราบฉ้อปาอ๋องเซี่ยงอวี่ พิชิตใต้หล้าได้สำเร็จ ตั้งตนเป็นฮ่องเต้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่หลิวปังกลับรู้สึกไม่ค่อยจะภาคภูมินัก เพราะพวกลูกน้องล้วนแต่เป็นคนกักขฬะ เข้าเฝ้ากินเลี้ยงในท้องพระโรงก็เอะอะมะเทิ่ง โต้เถียงทะเลาะเบาะแว้งกันไร้มารยาทสิ้นดี ทั้งยังชักกระบี่ฟันเสาท้องพระโรงเป็นว่าเล่น หลิวปังเห็นแล้วเพลียใจ จึงหันมาปรึกษาซูซุนทง
ซูซุนทงเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องใช้จารีตประเพณีแล้ว จึงเสนอให้หลิวปังช่วงใช้พวกนักปราชญ์ราชบัณฑิตในการกำหนดจริยามารยาทในราชสำนัก พวกบัณฑิตจากแคว้นหลู่จึงช่วยกันสอนจริยาให้กับพวกขุนนางใหม่ หนึ่งเดือนผ่านไปซูซุนทงจึงกราบทูลหลิวปังให้มาทอดพระเนตร หลิวปังเห็นว่าใช้การได้ ก็สั่งให้ซ้อมไว้เตรียมออกงานจริง
ในปี 200 ก่อนคริสตกาล พระราชวังฉางเล่อกงแล้วเสร็จ มีการสมโภชน์พระราชมณเฑียร ปรากฎว่างานพระราชพิธีเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีใครกล้าส่งเสียงเอะอะ ดูแล้วจำเริญตา พระเจ้าฮั่นเกาจู่ หลิวปังปลาบปลื้มเป็นอันมาก รู้สึกพระองค์ว่าได้เป็นจักรพรรดิสมฐานะแล้ว จึงปูนบำเหน็จและแต่งตั้งซูซุนทงเป็นไท่ฉาง (เสนากรมพระราชพิธี) และยังอวยยศและรางวัลให้กับพวกบัณฑิตที่ติดตามมาด้วย
พวกบัณฑิตที่เคยเหยียดซูซุนทงต่างก็ตระหนักในที่สุด และยกย่องเขาเป็น "ยอดปราชญ์ รู้ลำดับความสำคัญของกิจการในโลก" (叔孫生誠聖人也,知當世之要務) คือรู้ว่าอะไรควรไม่ควร
คำว่าจอมปราชญ์ (聖人) นี้เป็นสถานะเทียบเท่ากับขงจื๊อเลยทีเดียว แต่ซูซุนทงต่างกับขงจื๊อตรงที่เขายอมงอไม่ยอมหัก ส่วนขงจื๊อยอมหักไม่ยอมงอ
ขงจื๊อไม่ยอมหักทำให้เจ้ารัฐระแวงและขุนนางริษยา จริยาของท่านจึงไม่แพร่หลาย
แต่เพราะซูซุนทงยอมงอ จึงรอดคมเขี้ยวพยัคฆ์ของเจ้าแคว้น ทำให้ขุนนางยอมสงบ ช่วยรักษาชีวิตบัณฑิตผู้เป็นเสาค้ำวัฒนธรรม และยังช่วยเผยแพร่จริยาของขงจื๊อเสียอีก
เพราะความใจเย็นและรู้หน้ารู้หลังของซูซุนทงจึงทำให้จารีตประเพณีได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง เปลี่ยนนิสัยของเจ้าแผ่นดินและขุนนางที่เคยเป็นดั่งโจรป่าให้กลายเป็นตัวอย่างของบ้านเมือง
แม้ซูซุนทงจะดูเหมือน "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" แต่เราต้องพิจารณาเงื่อนไขปัจจัยด้วย เพราะเจ้าแผ่นดินฉินนั้นโหดเหี้ยมและดื้อรั้น ทัดทานไปก็ไร้ผล
ผิดกับหลิวปังที่มีพื้นเพเป็นสามัญชนและพอจะฟังคนอื่นบ้าง ซูซุนทงจึงกล้าเสนอสิ่งที่ดีและยังกล้าทันทานอย่างกล้าหาญ เช่นครั้งที่หลิวปังคิดจะปลดรัชทายาทเพื่อตั้งโอรสจากสนมคนโปรด ซูซุนทงคัดค้านหัวชนฝาแบบไม่กลัวตาย เพราะการเปลี่ยนตัวรัชทายาทกระทันหัน จะทำให้แผ่นดินเกิดกลียุคขึ้นอีก และยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่รัชกาลหลังๆ
ปรากฎว่าหลิวปังยอมฟังซูซุนทง แผ่นดินฮั่นจึงรอดพ้นจากการนองเลือดไปได้
ดังนั้นการอยู่เป็นของซูซุนทงจึงไม่ใช่จะเชลียร์ไปเรื่อย แต่หมายถึงการดูทิศทางลม รู้สถานการณ์ รู้ใจคนมีอำนาจ และเกลี้ยกล่อมผู้มีอำนาจให้ทำเพื่อประโยชน์ที่เหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
อีกหนึ่งคุณูปการของซูซุนทง คือยังได้โอกาสฟื้นฟูขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองให้ตั้งอยู่บนคุณธรรมจรรยา สั่งสอนโอรสเหนือหัวให้ทรงคุณธรรมแบบขงจื๊อ ยุติการชิงแผ่นดินทำให้แผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นหลังผ่านสงครามหลายร้อยปี
รากฐานลัทธิขงจื๊อที่ซูซุนทงวางไว้แต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ทุกวันนี้ก็ยังฝังรากลึกอยู่ในแผ่นดินจีน
ผู้เขียน Kornkit Disthan
ซู่ซุนทง Shusun Tong (叔孙通) ชื่อไทย อังกฤษ จีน เผื่อไว้หาเพิ่มเติม