ซีพีปูพรมเร่งสร้าง 6 แบรนด์ร้านกาแฟจับลูกค้าทุกกลุ่มรายได้
ตัวเลขตลาดกาแฟนอกบ้านสูงถึง 17,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีงานนี้มีหรือที่กลุ่มซีพี ของตระกูลเจียรวนนท์จะพลาด
ยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือกวาดกลุ่มลูกค้าทุกระดับรายได้ เริ่มตั้งแต่ “กาแฟมวลชน”ราคาเริ่มต้นแก้วละ 29 บาทขึ้นไปจนถึงกาแฟระดับพรีเมียมแก้วละร่วม 100 บาท จากแบรนด์ “เบลลินี เบค แอนด์ บริว บาย ซีพีออลล์ ”
เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน “กาแฟมวลชน” เป็นแค่ร้านเล็กๆ ที่ใช้ประลองวิชาในโครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ของบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ บริษัทหนึ่งในเครือ ซีพี กรุ๊ป เพิ่งมาเริ่มสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง ด้วยการขยายสาขาเอง และเปิดขายแฟรนไชส์ เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 150 สาขา โดยผู้บริหารเคยให้ข่าวว่ามีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็นพันสาขาอย่างรวดเร็ว พร้อมวางแผนขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จีน เวียดนาม เบลลินี เบค แอนด์ บริว บาย ซีพีออลล์ เปิดตัวมาแล้วประมาณ 4-5 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 26 สาขา ราคาเริ่มต้นแก้วละประมาณ 65 บาท ไปจนถึงกาแฟพิเศษแก้วละประมาณ 100 กว่าบาท แบรนด์นี้จะเน้นในการขายเบเกอรี่อบสดด้วย
อราบิเทีย (ARABITIA) จับกลุ่มลูกค้าบีบวก เน้นเปิดร้านในทำเลทอง เช่น โรงพยาบาล ปัจจุบันมีประมาณ 6 สาขา
Jungle Café ฟังแค่ชื่อก็รู้แล้วว่าแบรนด์นี้ต้องการชนกับแบรนด์ไหน และยังจับกลุ่มเป้าหมายบีบวกเช่นกัน ราคาประมาณ 45–80 บาท ปัจจุบันมีประมาณ 12 สาขา
กาแฟมวลชน อราบิเทีย และจังเกิ้ล คาเฟ่ ยังมีบริการร่วมกันคือ Delivery ส่งตรงถึงมือลูกค้าฟรีภายในรัศมี 1 กิโลเมตร และในรัศมีตั้งแต่ 1-5 กิโลเมตรส่งฟรีในยอดขาย 300 บาทขึ้นไปด้วย
ยังไงก็ตามทั้ง 4 แบรนด์ความเคลื่อนยังไม่ชัดเจนเท่า All Café ร้านขายกาแฟสด ตลอด 24 ชั่วโมงใน 7-ELEVEN ที่มีพระเอก-นางเอก อย่าง ณเดชน์ ญาญ่า มาเป็นพรีเซนเตอร์ระดับแม่เหล็ก
All Café มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถขยายสาขาไปได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องลงทุนเรื่องหาทำเลเพิ่ม แค่ปรับพื้นที่มุมหนึ่งใน 7- ELEVEN เอาเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติของบริษัทในเครือมาลง เทรนพนักงานกลุ่มเดิมในร้านเพิ่มเติมอีกหน่อยก็สามารถเปิดขายแก้วละ 25-50 บาท ชนกับร้านค้าแผงลอยด้านนอกได้ทันที
วันนี้ 7-ELEVEN มีสาขาทั่วประเทศประมาณ 1 หมื่นสาขา All Café ก็สามารถเปิดไปได้แล้วประมาณ 5 พันสาขา เป็นการแข่งขันในร้านสะดวกซื้อที่สาขาของ All Café วันนี้ชนะขาดไปแล้ว
ส่วนร้านทรูคอฟฟี่ ที่เปิดมานานถึง 18 ปี วันนี้มีประมาณ 300 สาขา เน้นทำเลในอาคารสำนักงาน และมหาวิทยาลัย เอาใจคนยุคดิจิทัลด้วยการเป็นร้านกาแฟศูนย์รวมของไลฟ์สไตล์ด้านเทคโนโลยีแบบคอนเวอร์เจนซ์ในกลุ่มธุรกิจเครือซีพีและทรูอีกด้วย
วันนี้ซีพีได้คุม Supply chain ของธุรกิจกาแฟไว้ได้หมดแล้วตั้งแต่เม็ดกาแฟ, โรงคั่วกาแฟ ไปจนถึงธุรกิจเครื่องชงกาแฟ ผ่านบริษัท ซีพีรีเทลลิ้งค์
ดังนั้นจุดแข็งก็คือสามารถทำร้านกาแฟที่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งอีกหลายเจ้า แต่จุดอ่อนที่น่าสนใจคือยักษ์ใหญ่รายนี้จะบริหารจัดการร้านกาแฟในแต่ละแบรนด์ให้มีความแตกต่างกันได้อย่างไร
หรือเป็นเพียงเกมทดลองตลาด แบรนด์ไหนติดก็ค่อยเปิดฉากรุกอย่างจริงจังต่อไป เงินหนาอย่างซีพีรอได้อยู่แล้ว รายย่อยอื่นๆ ต้องระวังตัวเองให้ดีแล้วกัน
ที่มา
https://marketeeronline.co/archives/68509