"ไอศกรีมจะต้องถูกผลิตในจำนวนมาก และวางขายในราคาที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม’
- พรรคบอลเชวิค, 1937
-----------------------------------
คุณทนความหนาวได้แค่ไหน? เชื่อหรือไม่คนรัสเซียชอบไอศกรีมมากพอๆ กับวอดก้า
มอสโคว (วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 1972) หนังสือพิมพ์อเมริกันบรรยายความหนาวของรัสเซียในช่วงนั้นว่า ‘หนาวขนาดที่รายการทีวีของมอสโคว ต้องรายงานว่ายอดขายไอศกรีมตก’
เวลาพูดถึงไอศกรีมเรามักคิดถึงอากาศร้อน แต่เชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่หนาวแทบจะตลอดเวลาอย่างรัสเซีย นิยมรับประทานไอศกรีมกันมากจนเป็นสินค้ายอดขายไม่ตกอันดับสองรองจากวอดก้า
ความรักในไอศกรีม (мороженое) ของรัสเซียต้องย้อนไปในสมัยสหภาพโซเวียต ในปี 1937 พรรคบอลเชวิคประกาศว่า ‘ไอศกรีมจะต้องถูกผลิตในจำนวนมาก และวางขายในราคาที่เข้าถึงได้และเป็นธรรม’
โรงงานไอศกรีมที่ถูกเปิดในปีเดียวกันนำเข้าเครื่องทำไอศกรีมจากอเมริกา ก่อนจะพัฒนามาเป็นแบบของตัวเอง
ไอศกรีมของสหภาพโซเวียตถือว่าคุณภาพดีเกินคาด เพราะใส่นมสดในปริมาณมากกว่าไอศกรีมอเมริกัน และที่น่าสนใจคือ แต่ละโรงงานผลิต จะมีฟาร์มโคที่คอยส่งนมสดรีดใหม่มาให้แบบรายวัน เพราะเป็นอย่างนั้น ราคาไอศกรีมของรัสเซียจึงถูกมาก (และอร่อยด้วย) ระบบแบบนี้ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
ใครที่ไปรัสเซียจะเจอว่า ต่อให้ดูกาก ดูไม่น่าอร่อยแค่ไหน แต่ไอศกรีมรัสเซียไม่เคยทำให้ผิดหวัง ราคาเฉลี่ยของไอศกรีมโคนตามห้าสรรพสินค้าในปัจจุบัน ตกอยู่ที่ประมาณ 10 รูเบิลเท่านั้นเอง (ไม่ถึง 10 บาท)
มีรายงานว่าเฉพาะผู้คนในมอสโควก็บริโภคไอศกรีมกันมากถึง 330 ตัน ต่อสัปดาห์ และแม้ว่าอากาศจะอยู่ราว -25°C แถวต่อซื้อไอศกรีมก็ไม่มีทีท่าจะลดลง มีการทำสถิติว่าชาวมอสโควในยุคสหภาพโซเวียตนิยมไอศกรีมโคนรสช็อกโกแลต วานิลลา และสตอเบอรี่ หรือถ้าใครมีสไตล์หน่อย คาเฟ่ดีๆ ในยุคนั้น มักมีเสิร์ฟไอศกรีมคู่กับไวน์ขาว
ไอศกรีมอีกชนิดที่ฮิตมากๆ คือไอศกรีมแท่งเคลือบช็อกโกแลตเรียกกันว่า “Eskimo” ซึ่งเจ้าไอศกรีมที่ว่า จริงๆ แล้วลอกแบบมาจากไอศกรีมของอเมริกา แต่นำมาทำขายในราคาที่ถูกกว่า คือ ราคาแค่ 11 โคเปค (100 โคเปคเป็น 1 รูเบิล)
เนื่องจากสหภาพโซเวียตให้ความสำคัญกับการผลิตไอศกรีม มีการควบคุมทั้งคุณภาพและราคา ไอศกรีมในยุคนั้นจึงราคาไม่ถึง 1 รูเบิล กันทั้งนั้น และเพราะขี้เกียจจะคอยตั้งชื่อให้ บางครั้งจึงมีการเรียกไอศกรีมตามราคา เช่น 7 โคเปค 11 โคเปค 20 โคเปค 28 โคเปค และ 48 โคเปค (เหยแก อยากกินติมว่ะ ไปซื้อ 11 โคเปคกันดีกว่า)
เพราะชื่อมันเป็นแบบนี้ หลังโซเวียตล่มสลาย หลายแบรนด์ ที่อยากขายไอศกรีมธีมย้อนอดีต ก็เลยนำชื่อแบบนี้มาตั้งเป็นชนิดสินค้า เช่นไอศกรีม 48 โคเปกของ Nestle (ไอเดียการขายคือ brings up warm memories from the Soviet childhood)
เห็นแบบนี้ใครมีโอกาสไปรัสเซียก็อย่ามัวแต่กลัวหนาว ลองไอศกรีมรัสเซียสักทีเผื่อจะติดใจ :)
References:
https://marketinginuse.blogspot.com/2011/02/plombir-ice-cream-nostalgia.html
http://englishrussia.com/2010/12/06/the-history-of-ice-cream-in-the-ussr/2/
http://windowstorussia.com/ice-cream-in-the-soviet-union.html
https://culturecheesemag.com/blog/morozhenoe-russian-ice-cream
เครดิตเพจ
พื้นที่ให้เล่า