ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
หน้าแรกบอร์ด >> คุณค่ากับการเชียร์กีฬาฟุตบอลในประเทศไทย
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
แข้งบุนเดสลีกา
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 23 Aug 2009
ตอบ: 565
ที่อยู่: ถ้ำของเพลโต
โพสเมื่อ: Mon Oct 24, 2016 23:05
คุณค่ากับการเชียร์กีฬาฟุตบอลในประเทศไทย
คุณค่ากับการเชียร์กีฬาฟุตบอลในประเทศไทย

ผมอยากจะเขียนบทความ (หรือจะเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้) ชิ้นนี้ขึ้นมา ก็เพราะรู้สึกคับข้องใจ กับการที่แฟนบอลชาวไทยมักใช้คุณค่าของทีมที่ตนเชียร์เป็นข้ออ้างในการทิ่มแทงแฟนบอลทีมตรงข้าม คุณค่าที่มักถูกใช้อ้างถึงมากที่สุดคือถ้วยแชมป์ แน่นอนก็เพราะว่าถ้วยแชมป์เป็นรูปธรรมของชัยชนะที่จับต้องได้ ทั้งยังเป็นเป้าหมายสูงสุดในการแข่งขันฟุตบอลแทบจะทุกรายการในโลกใบนี้ ทว่าในอีกแง่หนึ่ง คุณค่าของการเป็นแชมป์ยังผูกนัยยะของการเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวจากการต่อสู้และฝ่าฟันอย่างยาวนาน ดังนั้นการที่ทีมที่เราเชียร์ได้แชมป์จึงช่วยทำให้เราเข้าใกล้คุณค่าที่ว่าด้วย หากแต่ปัญหาก็คือการเข้าใกล้คุณค่านั้น ก็ไม่ได้แปลว่าคุณค่าจะเป็นของตัวเรา (เพราะเราไม่ได้ผลิตคุณค่านั้น) แต่ไมมีใครสนหรอก เราทึกทักหลอมรวมตัวเองเข้าไปด้วยกันกับทีม โดยไม่สนว่าแท้จริงตนเองอยู่ไกลจากคุณค่านั้นมากเพียงใด

ผมตั้งข้อสังเกตว่าแท้ที่จริงแล้ววัฒนธรรมการดูบอลในประเทศไทย เหมือนเป็นการดูภาพยนตร์จากในจอเสียมากกว่า เนื่องจากเมื่อวันที่นัดหมายของการแข่งขันมาถึง กองเชียร์หรือแฟนบอลก็จะนั่งรอที่หน้าจอโทรทัศน์ ในขณะที่จริงๆนักฟุตบอลกำลังเดินลงสนามที่อยู่ห่างออกไปไกลกว่าซีกโลก แต่เรากับรู้สึกว่าอยู่ใกล้นักฟุตบอลมากแค่จากตัวเราไปถึงจอโทรทัศน์ แต่ถ้าจะพูดกันให้ถูกแล้วละก็ เราที่นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์อยู่ใกล้ชิดกับนักฟุตบอลมากกว่าแฟนบอลที่อยู่ในสนามเสียอีก! ก็เพราะว่า การถ่ายทอดฟุตบอลมิได้จับภาพกว้างของสนามไปเรื่อยๆให้เราดูเหมือนเวลานั่งอยู่บนอัฒจรรย์ แต่กล้องมักจะซูมเข้าไปให้เห็นรายละเอียดที่ปกติเรามักมองไม่เห็น เราเห็นอารมณ์ สีหน้าแววตาของผู้เล่น การกัดฟันสู้เมื่อทีมเป็นฝ่ายตามหลัง เราเห็นความทุ่มเทอันเต็มเปี่ยมเพื่อชัยชนะอย่างใกล้ชิด เรารู้สึกเห็นใจเมื่อพวกเขาทำผิดพลาด หรือบางครั้งก็เป็นการฉายภาพช้าของเหตุการณ์ในสนามซึ่งตาของเราไม่สามารถให้ผลแบบนี้ได้ (ภาพเวลาฉลองการยิงประตูก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ ภาพมักตัดเข้าไปในกล้องตัวที่อยู่ขอบสนามมากที่สุด เพื่อให้แฟนบอลได้รู้สึกดีใจ,สะใจไปพร้อมกับนักฟุตบอลและบรรยากาศตรงนั้น -หรือกระทั่งคิดว่าตัวเองได้อยู่ตรงนั้นด้วย) เหล่านี้เป็นเทคนิคในการถ่ายทำทางภาพยนตร์ คือการใช้มุมกล้องและการตัดต่อ ด้วยเหตุนี้เองมันเลยเป็นเหตุผลทางอ้อมในการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกสัปดาห์ ในที่สุดก็เกิดผลลัพธ์บางอย่าง ก็คือแฟนบอลรู้สึกใกล้ชิดกับทีมมากกว่าความรู้สึกทางกายภาพ (จากประเทศไทยถึงอังกฤษ/ที่นั่งถึงจอโทรทัศน์) เป็นการใกล้ชิดในแง่จินตภาพ (คือจินตนาการว่าได้ใกล้ชิด,ผูกพันธ์กับเหล่าผู้เล่นภาพการใช้ขนาดภาพ/ตัดต่อ) ทั้งที่ในความเป็นจริงระยะทางระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษก็ยังคงเท่าเดิม

ประการต่อมา การเชียร์ฟุตบอลของคนประเทศอังกฤษ กองเชียร์แท้ๆมักผูกอิงอยู่กับพื้นที่ถิ่นกำเนิดเป็นส่วนมาก อย่างเช่น เกิดที่ตำบลนี้ก็มักเชียร์ทีมประจำตำบลนี้ หรือเปลี่ยนจากตำบอลเป็นเมือง (หรือเมืองเป็นประเทศก็ตาม) เพราะตัวเขามีความรู้สึกผูกพันธ์ในแง่สายเลือดหรือความเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นนั้น การที่จะสร้างพลังกลุ่มหรือทำให้คนหมู่มากรู้สึกร่วมกันได้เร็วที่สุด คือการที่พวกเค้ามีสิ่งที่ไม่ชอบหรือเกลียดในสิ่งเดียวกัน ในที่นี้อาจหมายถึงทีมฟุตบอลที่อยู่ใกล้เคียงกัน หรือทีมฟุตบอลที่มีปัญหาเชิงประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมา ดังนั้นเมื่อเรามาที่สนามบอลเราก็จะเจอคนที่เชียร์ทีมเดียวกัน เกลียดทีมนั้นเหมือนกัน เราก็ (น่าจะ) มีความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือเราเริ่มรู้สึกผูกพันกับแฟนทีมเดียวกัน ในฐานะที่คือคนที่น่าจะเข้าใจเรามากๆ (อย่างน้อยก็ในเรื่องฟุตบอล ทั้งๆที่ในความจริงเราอาจไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ) แถมเป็นการที่มีคนเข้าใจเรานับพันนับหมื่นเสียด้วย การร้องเพลงเชียร์ไปพร้อมๆกันก็ยิ่งสร้างความแน่นแฟ้นในกลุ่มขึ้น การได้ตะโกนแขวะด่าไปพร้อมๆกับคนอื่น ก็ให้ความรู้สึกคล้ายๆกัน และสุดท้ายเราและแฟนบอลคนอื่นก็นับได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน การด่าทอทีมฝ่ายตรงข้ามจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น (ขาดความยับยั้งชั่งใจ) เมื่ออยู่ในสนามหรือในบอร์ด ที่ซึ่งจิตใต้สำนึกเรารู้ว่ามีพวกเดียวกันอยู่มาก แล้วเรื่องขัดแย้งประมาณนี้ดูจะเบาบางถ้าหากเราทะเลาะกับเพื่อนแค่คนเดียวหรือไม่กี่คน เพราะเราขาดคนที่รู้สึกเหมือนเราจำนวนมากๆ ดังนั้นการที่จะยกให้ทีมใดทีมหนึ่งเป็นอริ เป็นภาระที่แฟนบอลทีมนั้นที่เกิดจากการตกลงอย่างหลวมๆ และจะต้องรับรู้ทั่วกันเป็นจำนวนมาก

กลับมาที่ประเทศไทย การเป็นแฟนฟุตบอลเฉยๆยังไม่อาจให้คุณค่าผูกพันกับทีมอย่างจริงๆ (เพราะไม่ได้เกิดเป็นคนในท้องถิ่นอังกฤษจริงๆ) เราจึงจำเป็นจะต้องน้อมรับเอาความคิดเดียวกับแฟนบอลที่อังกฤษ ในการร่วมจงเกลียดจงชังทีมนั้นทีมนี้ไปกับพวกเขาด้วย ทั้งๆที่เราไม่ได้มีปัญหาร่วมอะไรกับที่นั่นเลยก็ตาม แม้แต่บริบททางสังคมที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่างๆขึ้น เราก็ไม่เข้าใจความรู้สึกเหล่านั้น แต่เราก็ต้องเกลียดตามไปด้วยเพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เป็นแฟนบอลที่แท้จริงของทีมฟุตบอลทีมนั้นๆ ดังจะกล่าวว่า หากคุณเป็นแฟนอาเซน่อล(แม้ว่าในไทย)ก็จำเป็นจะต้องเกลียดทีมฟุตบอลทีมสเปอร์ ทั้งที่จริงๆแล้วอาจไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่จะต้องเกลียด (เพราะไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวใดๆเกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นของความเกลียดชัง แต่อย่างที่บอกว่าก็เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกองเชียร์ที่แท้แบบที่อังกฤษ) มีเรื่องเล่าขำๆคือตั้งแต่เด็กๆ พี่ของผมชอบทีมสเปอร์ แต่ผมดันชอบทีมอาเซน่อล ผมไม่ยักกับเกลียดพี่ชายซึ่งเป็นแฟนบอลทีมคู่ตรงข้าม เนื่องจากผมเข้าใจว่าต้องพึ่งพาพี่อยู่ในหลายๆเรื่อง ถ้าลองเกลียดแล้วพี่มันไม่เล่นด้วยหรือมันไม่ดูแลเราก็จะเป็นการซวยมาก แต่ถ้าเป็นแฟนสเปอร์คนอื่นๆก็ยังคงความเกลียดชังตามที่ถูกปลูกฝังมา ดังนั้นการเกลียดทีมอริในหมู่แฟนบอลไทยคือการเกลียดที่เป็นไอเดีย (ซึ่งรับมา) มากกว่าการเกลียดที่ตัวตนของบุคคลจริงๆ

หลังจากที่เราผ่านสิ่งต่างๆมาจนเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นแฟนบอลที่ไม่ต่างจากแฟนบอลที่อยู่อังกฤษแล้ว รู้สึกใกล้ชิด ดีใจเสียใจไปพร้อมกับนักเตะภายในทีมแล้ว เรารู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้นจริงๆ อย่างการที่ผลิตวัฒนธรรมการเรียกผู้จัดการทีมว่าป๋า (หรือเจ๊ ซึ่งมีนัยหมายถึงการเป็นครอบครัวเดียวกัน) ดังนั้นการเชียร์ฟุตบอลจึงไปไกลกว่านั้น มันไม่ใช่เพียงแค่การเชียร์ฟุตบอลธรรมดาอีกต่อไป แต่มันหมายถึงคุณค่าของครอบครัวๆหนึ่ง ที่มีเราเป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น กอปรกับเมื่ออยู่ในบริบทประเทศไทย สถาบันครอบครัวถูกยกให้เป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใครอื่นจะแตะต้องมิได้ ด้วยความรู้สึกแบบนี้เราจึงโกรธแค้นและต้องการจะปกป้องเมื่อมีคนมาต่อว่าหรือด่าทอทีมที่เราเชียร์ (ซึ่งในขณะนี้แรงเทียบเท่ากับการมีคนมาด่าคนในตระกูลของคุณ)

แต่กลับกันยามใดครอบครัวของคุณได้กลายไปเป็นแชมป์ หรือก็หมายถึงการเป็นได้ผู้ชนะสูงสุดที่ต่อสู้และฝ่าฟันการแข่งขันอันยาวนาน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะเผลอคิดว่าครอบครัวของคุณดีกว่าครอบครัวคนอื่น ที่กำลังชิงในสิ่งเดียวกัน (ครอบครัวอื่นจึงมีสถานะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์แย่งคุณค่าสูงสุดนั้นไปจากคุณ) การที่จะแสดงคุณค่าที่ตัวเองมี (ในแบบไทยๆ) ก็คือการกดทับคนที่เป็นแฟนบอลทีมอื่นเอาไว้ และบังคับให้ต้องรู้สึกด้อยกว่า ไม่แม้แต่จะทียบเคียงตนเองได้ การหยิบยกถ้วยแชมป์ (หรืออื่นๆอีกก็ตาม) มาเป็นอาวุธทิ่มแทงผู้อื่นก็เพราะมันทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้สึกสะใจ ที่ปกติพวกเขาไม่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวัน

ที่ผมเขียนมาจนถึงตอนนี้ก็เพื่อที่จะอธิบายว่า ทำไมการเชียร์ฟุตบอลในประเทศไทยจึงห่างไกลจากคุณค่าที่แท้จริง เพราะถ้าหากเรานึกตามความจริง เราสามารถน้อมรับคุณค่าของสโมสรๆหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตเราไม่เคยเห็นด้วยตาเปล่า (บางคนอาจจะบอกว่าเคยบินไปดูมา 1 นัด) มาเป็นคุณค่าของตนเองอย่างหน้าตาเฉยได้อย่างไร แถมยังใช้คุณค่านั้นทำลายแฟนบอลทีมอื่นๆที่ตนเองจงเกลียดจงชังได้อีกต่างหาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่แย่เท่ากับการที่คุณไม่เฉลียวใจว่าคุณค่านั้นไม่ใช่ของคุณ เพราะตัวคุณไม่ได้ลงทุนลงแรงลงไปวิ่งในสนาม หรือกระทั่งว่าเป็นทีมงานช่วยวางแผนอันสลับซับซ้อนจนทีมได้รับชัยชนะ คุณมีฐานะเป็นกองเชียร์ทีมฟุตบอลในประเทศอังกฤษ แถมตัวคุณยังอยู่ที่ประเทศไทย แต่ก็ดันผยองใจเมื่อทีมชนะ โดยทึกทักว่าชัยชนะนั้นเป็นของตัวคุณด้วย

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะบอกว่าที่ผมเขียนมายืดยาวนั้นเป็นเพียงเพราะความอิจฉา ก็ดูทีมที่ผมเชียร์ มันแทบไม่เคยได้แชมป์อะไรเลย ซึ่งบางทีผมก็ต้องยอมรับว่าผมค่อนข้างอิจฉาทีมที่ได้เป็นแชมป์ แต่ก็นั่นแหละครับ อิจฉาทีมแชมป์ไม่ได้แปลว่าผมอิจฉาแฟนบอลของพวกเขาเสียหน่อย

_____________________________________________________________________
แก้ไขล่าสุดโดย ALL OF AR'NAL เมื่อ Mon Oct 24, 2016 23:06, ทั้งหมด 1 ครั้ง
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
หน้าแรกบอร์ด >> คุณค่ากับการเชียร์กีฬาฟุตบอลในประเทศไทย
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel