“บวชให้หน่อยนะลูก พ่อ/แม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”
“บวชให้หน่อยนะลูก พ่อ/แม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”
อาจเป็นประโยคที่คนไทยที่มีเพศกำเนิดชายหลาย ๆ คนประสบพบเจอในช่วงชีวิตของตน บางคนอาจจะยินดีที่จะบวช แต่เนื่องจากสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป การนับถือศาสนามีความเสรีมากขึ้น มุมมองต่อการบวชเพื่อทดแทนบุญคุณก็เริ่มเปลี่ยนตาม หลายคนจึงอาจอึดอัดใจที่จะต้องบวช วันนี้ผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านไปคุยกันเรื่องวัฒนธรรมการบวชในไทย บริบทความเป็นชาย ประวัติศาสตร์ และการผูกติดบทบาทพระกับผู้มีเพศกำเนิดชายว่าสร้างความกดดันให้กับพวกเขาอย่างไรบ้าง
SPECTROSCOPE: ผู้ชาย การบวช และความกดดันจากการผูกติดบทบาทพระ
การบวชในบริบทไทยมันมีความยึดโยงกับเพศกำเนิดชายตั้งแต่ตอนไหน? - ไม่มีใครทราบที่มาไปอย่างชัดเจน บ้างก็สันนิษฐานกันว่าเพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพศชาย ดังนั้นจึงเกิดการยึดโยงการบวชกับเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก และก็มีคนสันนิษฐานกันว่าในสมัยก่อนผู้ชายคุมอำนาจในหลายพื้นที่ และหลักฐานที่เห็นได้ชัดคือเมื่อปี พ.ศ. 2471 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 ได้ออกคำสั่ง "ห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี" หลังจากนั้น ผู้คนก็เริ่มใช้คำสั่งนี้เพื่ออ้างไม่ให้สตรีบวช นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ในปัจจุบัน การบรรพชาอุปสมบทส่วนใหญ่จึงมีแต่ผู้ชาย การจำกัดให้ผู้ชายเท่านั้นบวชเป็นพระนี่เองก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สร้างคุณค่าและเกียรติยศให้แก่ผู้ชาย (ทวีสิทธิ์ 324)
แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้มีการกำหนดว่าพระสงฆ์จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ท่านทรงยอมรับว่าสตรีก็มีศักยภาพในการบรรลุธรรมเท่าเทียมกับผู้ชายเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า “จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม ผู้นั้นไปใกล้นิพพานด้วยยานนี้แล” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 15 ข้อ 46:60)
วัฒนธรรมการบวชในไทย - ในประเทศไทย อาจเป็นเพราะกุศโลบายด้านศาสนาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ให้ข้าราชสำนักไปบวช และได้มีการส่งต่อวัฒนธรรมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงยุคการแบ่งชนชั้น ที่กลุ่มไพร่ในยุคนั้นเห็นว่าจะสามารถเป็นอิสระและมีเกียรติได้เมื่อบวช (วิสารโท 22) อีกทั้งในอดีตยังมีความเชื่อว่าการบวชย่อมเปลี่ยนผู้บวชเรียนให้มีศีลธรรมและคุณธรรมอันสูงส่ง ผนวกกับความเชื่อของผู้ปกครองที่เชื่อว่าถ้าบุตรของตนบวช ตนเองก็จะได้เป็นทายาทพระศาสนา ดังนั้นการบวชจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่และสำคัญมากในบางครอบครัว และเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอิทธิพลต่อแนวคิดของสังคมและส่งผลกระทบมาถึงเพศกำเนิดชายที่จำเป็นต้องบวชในปัจจุบัน
ความคาดหวังของสังคมต่อผู้บวช - แน่นอนว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาเลยหากผู้บวชนั้นมีความประสงค์จะอุปสมบทที่มาจากตนเอง ไม่ว่าจะบวชเพราะความเลื่อมใสศรัทธา เพื่อตอบแทนคุณบิดา -มารดาและครอบครัว หรือสนใจเจริญรอยตามประเพณีที่สืบทอดกันมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ครั้งคือหลายคนนั้นบวชเพราะความกังวลว่าสังคมและตัวผู้ปกครองจะตำหนิ หรือบวชเพียงเพื่อจะทำให้ผู้ปกครองสบายใจ จะได้พาผู้ปกครองเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาหาใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่
LGBT+ ลูกชาย การบวชพระ - ปัญหาของการกดดันให้บวชของเพศกำเนิดชายไม่เพียงที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ชายสเตรทอย่างเดียว แต่ปัญหายังส่งผลกระทบต่อกลุ่ม LGBT+ ที่มีเพศกำเนิดชายอีกด้วย ในบางครอบครัว ก็มีการดึงดันให้กลุ่ม LGBT+ บวช เพียงเพราะเป็นเพศกำเนิดชาย ปัญหาการกดดันในลักษณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจอัตลักษณ์และเพศวิถีของกลุ่ม LGBT+ และเกิดจากการผลิตซ้ำค่านิยมจากสื่อและจากสังคม จนกลายเป็นบรรทัดฐานขึ้น
อย่างเช่นในวารสารออนไลน์ “อยู่ในบุญ” ฉบับที่ 87 ในปี พ.ศ. 2553 ก็พาดหัวบทความว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย ต้องบวชเป็นลูกพระพุทธเจ้า” หรือบทความสนับสนุนให้เพศกำเนิดชายไปบวชชื่อ “ชายไทย ทำไมต้องบวช” ของคมชัดลึกในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น การยึดติดเรื่องเพศกับการบวชอย่างต่อเนื่องในสื่อนั้นมีอิทธิพลต่อความคิด และส่งผลให้บางครอบครัวผิดหวังที่ลูกของตนเป็น LGBT+ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถที่จะเติมเต็มความต้องการในการบวชได้ และความผิดหวังนี้ก็ยิ่งสร้างตราบาปให้กับกลุ่ม LGBT+ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
การผูกติดบทบาทว่าเป็นเพศกำเนิดชายแล้วควร (หรือต้อง) บวชนั้นสร้างความลำบากใจให้กับผู้บวช เพราะถึงแม้จะเป็นคติ วัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมไทย การคาดหวังให้ผู้บวชทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการนั้นแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครอง รวมไปถึงตัวสังคม ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของพวกเขาร่วมด้วย จะมีใครเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ไปได้อย่างไรหากผู้บวชไม่ได้เชื่อหรือเลื่อมใสต่อพุทธศาสนา
ยิ่งไปกว่านั้น สังคมและผู้ปกครองควรตระหนักว่าวิธีการแสดงความกตัญญูกตเวทีนั้นไม่ได้มีอยู่วิธีเดียวอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ผู้ปกครอง รวมไปถึงสังคมควรทำต่อผู้บวชคือการเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าต้องการบวชหรือไม่ หรือถ้าให้ดี ควรให้ลูกตัดสินใจว่าตัวเองอยากศรัทธาในศาสนาใด และควรเลิกผูกติดเพศกำเนิดชายกับการอุปสมบท เพราะในท้ายที่สุด การอุปสมบทจากความกดดันนั้นไม่มีทางที่จะสร้างบุญหรือความเลื่อมใสให้กับผู้บวชได้
#Religion #SocialExpectation
#TheravadaBuddhism
#SPECTROSCOPE #WeScopeforYou
https://www.facebook.com/showyourspectrum/photos/a.276495186375492/789283221763350/
ปล.ผมยังไม่ได้บวชเลยนะ ไม่นับบวชงานศพนะครับ พ่อแม่ผมก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลยสักครั้ง