ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 04 Sep 2013
ตอบ: 276
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Sep 25, 2015 4:33 pm
25 สุดยอดแข้งไทยตลอดกาล โดย FourFourTwo TH Part3


อันดับที่ 14 “มิดฟิลด์อัจฉริยะ”

วรวรรณ ชิตะวานิช เขา คือ หนึ่งในกองกลางที่มีพรสวรรค์ครบเครื่องมากที่สุดเท่าที่แฟนบอลยุคเก่าจะนึกออกคนหนึ่ง เขาจึงก้าวเข้ามาในตำแหน่งท็อปเทน
ชีวิตวัยเด็ก ป้ำ - วรวรรณ เขาเหมือนกับนักเตะไทยในยุคก่อนทั่วไป….ลำบากยากจน แต่เพราะคุณเป็นแม่ครัวในสโมสรราชประชา ทำให้เขาได้มีโอกาสติดตามห้อยสอยคุณแม่เข้าไปดูนักเตะทีม “ตราชฏา” ที่เต็มไปด้วยนักเตะระดับตำนานมากมายลงฝึกซ้อม จากการเริ่มนั่งดูทักษะของรุ่นพี่… คอยวิ่งเก็บบอล… แถมยังได้รับวิชาความรู้จาก วิทยา เลหากุล ที่คอยพร่ำสอนอีกต่างหาก

ไม่นานนักจากเด็กก้นครัวบ้านราชประชา...ก็กลายเป็นนักเตะเยาวชนทีมชาติ ชุดชิงแชมป์เอเชีย ก้าวไปติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ในทุกรายการตั้งแต่อายุ 17 ปี สร้างความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง…เขาติดทีมซีเกมส์ 5 สมัย ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2520 และคว้าเหรียญทองได้ถึง 3 สมัย ส่วนรายการอื่นๆ ทั้งฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก, เอเชี่ยน เกมส์ รวมถึงรายการพิเศษต่างๆนาๆ เขามีส่วนร่วมทั้งหมด

ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับ “มิดฟิลด์อัจฉริยะ” คนนี้ คือ การเดินทางไปค้าแข้งต่างแดนในลีกยุโรปกับสโมสรฟุตบอล วีบอร์ก ในเดนมาร์ก ปี พ.ศ. 2532-34 เหมือนกับอาจารย์ด้านฟุตบอลของเขา วิทยา เลาหกุล โดยปัจจุบัน วรวรรณ ชิตะวานิช ผันตัวเองมารับบทบาทการเป็นผู้ฝึกสอนทีมกระบี่ เอฟซี ในศึกดิวิชั่น 1 ของไทย ซึ่งช่วงที่ดีที่สุดในอาชีพโค้ชของเขา คือ ในสมัยทำทีม แทมปิเนส โรเวอร์ส ของสิงคโปร์ ระหว่างปี 2004 - 2010

โดยคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย, ฟุตบอลถ้วยในประเทศอีก 2 ครั้ง และ อาเซียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ อีก 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยมของสิงคโปร์ถึง 3 ครั้งด้วยกัน



อันดับที่ 13 “กัปตันกระดูกเหล็ก”

อำนาจ เฉลิมเชาวลิต นี่เป็นกองหลังระดับภูผาหินที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดของวงการลูกหนังไทย…

พลตรี อำนาจ เฉลิมเชาวลิต เป็นชาวจังหวัดสระบุรี เริ่มติดทีมชาติชุดเยาวชนเมื่อปี พ.ศ. 2514 และในปีเดียวกันก็ได้เลื่อนขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ นอกจากเรื่องฝีเท้า เขายังขึ้นชื่อในเรื่องของระเบียบวินัย และความรับผิดชอบที่สูงจัด และคอยยืนเป็นเซนเตอร์ฮาล์ฟสุดแกร่งให้กับทีมชาติไทยยาวนานร่วม 14 ปี

สำหรับความสำเร็จของ “กัปตันกระดูกเหล็ก” ในนามทีมชาติมีมากมายไมว่าจะเป็น ซีเกมส์ คว้าแชมป์ 4 สมัย ฟุตบอบชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ 5 สมัย โดย พลตรี อำนาจ ถือว่าเป็นนักเตะที่ติดทีมชาติ ซีเกมส์, คิงส์คัพ และ เอเซียนเกมส์ ยาวนานที่สุด และสื่อมวลชนรวมไปถึงแฟนบอลต่างยกย่องในเรื่องฝีเท้ารวมไปถึงการปฏิบัติตัว ทั้งในและนอกสนาม ก่อนที่จะยุติบทบาทนักเตะระดับทีมชาติแขวนสตั๊ดในช่วงปี 2528




อันดับที่ 12 “คนจริง”

ชัชชัย พหลแพทย์ นี่ คือ อีกหนึ่งตำนานทีมชาติไทย ชุด โอลิมปิก เกมส์ 1968 ที่เม็กซิโก...

“น้าชัช” ชัชชัย พหลแพทย์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2509 – 2517… เขาเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด และเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ ช่วงชีวิตของเขา เริ่มเล่นฟุตบอลจริงจัง เมื่อตอนปี พ.ศ. 2506 กับสโมสรธนาคารกรุงเทพยุคที่เพิ่งริเริ่มก่อตั้ง ในชุดเยาวชน 16 ปี ก่อนที่ปี พ.ศ. 2510 เขาจะได้ก้าวขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ พร้อมพาทีมคว้าแชมป์ชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก. และควีนส์คัพ จนติดทีมชาติไทยไปแข่งขัน เมอร์เดก้า คัพ ในปีดังดล่าว

ชัชชัย เป็นผู้เล่นที่มีความมุ่งมั่น ขยันซ้อม ตั้งใจ จริงจัง ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับเกมลูกหนัง... สิ่งเหล่านี้ทำให้เขากลายเป็นยอดปราการหลัง ซึ่งหลังติดทีมชาติไทยปีเดียว เขาก็พาทีมไปแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 1968 ที่เม็กซิโก โดยเขามีสถิติการลงเล่นให้ทีมชาติไทยในรายการสำคัญต่างๆ ทั้ง คิงส์คัพ, กีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์ หรือ ซีเกมส์ ในปัจจุบัน), เอเชี่ยน เกมส์, เอเชี่ยน คัพ, ฟุตบอลฉลองเอกราชเวียดนาม (ทีแอนด์ที คัพ ที่คนปัจจุบันคุ้นหู) เบ็ดเสร็จกว่า 100 นัด...

ในฐานะนักเตะเขาเป็นตำนาน... และในฐานะกุนซือเขาก็เป็นตำนานเช่นกัน... ชัชชัย พหลแพทย์ คือ โค้ชยุคบุกเบิกที่สร้าง “ดรีมทีม” ของไทย ได้แก่ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธชตวัน (ตะวัน) ศรีปาน, ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล, และ ดุสิต เฉลิมแสน พร้อมพาทีมชาติคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ได้ 3 ครั้ง, คว้าแชมป์คิงส์คัพ 2 ครั้ง และอาเซียน คัพ 1 ครั้ง



อันดับที่ 11 สิงห์สนามศุภฯ

“น้าต๋อง” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ชาวเมือง “สองแคว” จังหวัดพิษณุโลก เริ่มเล่นฟุตบอลในตำแหน่งผู้รักษาประตู แน่นอนว่าไม่มีใครสอนเขา… เขาฝึกฝนด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเดินทางเข้าศึกษาต่อที่เมืองหลวง

ปี พ.ศ. 2507 เล่นให้ฟุตบอลทีมโรงเรียนปานะพันธ์ ยอดทีมขาสั้นในยุคสมัยนั้น… ชีวิตของ “น้าต๋อง” มีสุดยอดปรมาจารย์ลูกหนังไทยคอยเคี่ยวเข็ญถึง 2 คน คือ นาย เดือน ดารา หรือ เหงียน วัน ดึ๊ก อดีตทีมชาติเวียดนาม ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของเขา และ อ.สำเริง ไชยยงค์ ที่ช่วยสอน นิวัฒน์ ให้เล่นเป็นกองหน้าแทนสมัยเข้าไปเล่นให้ทีมชาววัง ราชวิถี ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะย้ายไปเล่นให้กับสโมสรการท่าเรือฯ

ปี พ.ศ. 2510 นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในเกมที่พบกับ เกาหลีใต้...เกมนั้น เขาถูกจับไปเล่นปีกขวาและยิงประตูได้ด้วย แม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ 1 ต่อ 2 แต่ตำนาน “สิงห์สนามศุภ” ทางกราบขวามาจุดเริ่มต้นจากวันนั้น แม้มีส่นสูงเพียง 155 เซนติเมตร แต่เขารวดเร็ว

12 ปีที่รับใช้ทีมชาติ หากไม่เจ็บเขาไม่เคยถอนตัว ลงเล่นทุกรายการไม่ว่าจะเป็นเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย, กีฬาแหลมทอง, เมอร์เดก้าคัพ, เอเชี่ยนเกมส์, คิงส์คัพ กระทั่งโอลิมปิกเกมส์ ที่เม็กซิโก ปี ค.ศ.1968 สร้างตำนานมากมายก่อนที่จะตัดสินใจยุติบทบาทของตัวเองทันที หลังพาทีมชาติไทยคว้าแชมป์คิงส์คัพในฐานะกัปตันทีม เมื่อปี พ.ศ. 2522




อันดับที่ 10 รถด่วนเมืองละโว้

อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ตำนานผู้ทำประตูให้ไทยในโอลิมปิก
ความเป็นตำนานของชายผู้นี้ คือ… เขาเป็นผู้ยิงประตูให้ทีมชาติไทยในการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ รอบสุดท้ายประตูแรก และประตูเดียวในประวัติศาสตร์…
อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เป็นชาวจังหวัดลพบุรี จบการศึกษาจากกิตติพณิชยการ และได้เป็นนักเตะสโมสรธนาคารกรุงเทพ ยุคที่มี อ.สำเริง ไชยยงค์ คุมทีม ตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชน

เขาติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2509 ลงเล่นครบทุกรายการที่ขวางหน้า แต่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ โอลิมปิก เกมส์ 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก
โอลิมปิก ที่เม็กซิโก ทีมชาติไทย อยู่กลุ่มดี ร่วมกับ เช็กโกสโลวาเกีย,บัลแกเลีย และ กัวเตมาลา นัดแรกไทย พ่าย บัลแกเลีย 0-7 แต่เกมนัดที่ 2 ที่ไทย พบกับ กัวเตมาลา ก็เกิดประตูประวัติศาสตร์ขึ้น… เมื่อ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ยิงประตูตีเสมอให้ไทยเป็น 1-1 แม้สุดท้ายจะแพ้ไป 1-4 แต่ประตูนั้นถูกบันทึกให้เป็นตำนาน เพราะจนถึงปัจจุบันยังไม่มีทีมชาติไทยชุดไหนได้เข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ อีกเลยหลังจากนั้น… มัน คือ ประตูแรก และประตูเดียวที่ไทยจารึกบนสกอร์บอร์ดในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

หลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น “รถด่วนเมืองละโว้” ตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาทันที พร้อมกับการลงหลักปักฐานยังต่างแดน...ปัจจุบันในวัย 68 ปี อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ยังกลับมาที่เมืองไทยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตที่แดนลุงแซม

เดี่ยวมาต่อกับอันดับ 9-6
0
0