ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 01 Dec 2013
ตอบ: 15501
ที่อยู่: มิลาน
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 4:43 pm
ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้
Derby Della Mole
Juventus F.C. VS Torino FC




ตูริน, เปียดมองต์, อิตาลี

เปียดมองต์ ภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี ติดกับฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ เคยมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของอิตาลี เมื่อเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ซาวอย(หรือ ซาวอย่าในสำเนียงอิตาเลี่ยน) ในการรวมแผ่นดินอิตาลีในปัจจุบันให้เป็นประเทศหนึ่งเดียวกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19



วันนี้ของตูริน

ปัจจุบัน ตูรินก็เหมือนกับเมืองใหญ่ๆของอิตาลีที่จะมีกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรมยุคเรอเนสซองส์ แต่ที่พวกเราจะรู้จักเมืองนี้กันดีในฐานะบ้านของ เฟียต บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอิตาลีเพราะงั้นตูรินจึงเป็นเหมือน “ดีทรอยต์ แห่ง อิตาลี” ในฐานะบ้านของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลกเหมือนกัน (เฟียตกับเจเนอรัล มอเตอร์)



ฐานบัญชาการใหญ่ของเฟียตที่ตูริน

แม้ว่าทุกวันนี้เฟียตจะโดนไครส์เลอร์บริษัทยักษ์ใหญ่จากดีทรอยต์อีกรายของอเมริกาควบรวมกิจการไปแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนสาเหตุเกิดจากเกิดวิกฤตรถยนต์ในช่วงปี 2008-2010 อันเป็นผลพวงจาก Hamburger Crisis เจ้าเก่าเจ้าเดิมนั่นแหล่ะครับ บวกกับราคาเชื้อเพลิงสำคัญอย่างน้ำมันที่ขั้นราคาพรวดๆ ทำเอาหลายเจ้านี่แทบจะล้มทั้งยืนเลยครับ

ทุกวันนี้ตระกูลอันเญลลี่ไม่ได้ดูแลเฟียตแล้วนะครับ เพียงแต่ส่งคนของตระกูลไปนั่งตำแหน่งบอร์ดบริหารเท่านั้นเอง แต่หน้าที่บริหารงานหลักจริงๆจะเป็นคนของไครส์เลอร์ดูแลจัดการครับ

ทว่าตระกูลอันเญลลี่ยังไม่ยอมทิ้งสมบัติชิ้นสำคัญประจำตระกูลที่สืบทอดกันมากว่าสามรุ่น ประธานคนปัจจุบันของทีมเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งเฟียต แต่เป็นคนที่สี่ของตระกูลที่เข้ามานั่งตำแหน่งประธานสโมสร



เครือข่ายของตระกูลอันเญลลี่ที่ปกครองยูเวนตุสมาอย่างยาวนาน

ตระกูลอันเญลลี่-เฟียต-ยูเวนตุส ทุกวันนี้มันเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งจนแยกไม่ออก แต่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อตั้งสโมสรนะครับ เพราะทีมก่อตั้งมาโดยเด็กนักเรียนชาวตูริน ในปี 1897 โดยใช้คำในภาษาละติน ยูเวนตุส ที่แปลว่า เด็กๆน้องๆหนูเยาวชนมาเป็นชื่อทีม ซึ่งในช่วงแรกพวกเขายังไม่ใช้เสื้อแข่งลายสลับขาว-ดำเหมือนม้าลายที่เรารู้จักกันทุกวันนี้กันหรอกนะ ยุคแรกเริ่มยูเว่มีเสื้อทีมเหย้าเป็นสีชมพู



ในร้อยปีก่อนที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าไอ้สีสดใสมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งแบบเนี้ยซักไม่กี่ทีก็เรียบร้อย สีตกครับพี่น้อง ทีมก็เลยมองหาเสื้อสีใหม่มาทดแทน พวกเขาเลยติดต่อนักเตะชาวอังกฤษของทีมที่มีชื่อว่า จอห์น ซาเวจ ให้จัดหาเสื้อทีมจากเกาะอังกฤษที่มันดูดีให้หน่อย เรื่องของเรื่องคือ อีตาซาเวจเนี่ยพื้นเพเดิมเป็นคนน็อตติ้งแฮมครับ เขาเลยให้เพื่อนที่โน่นช่วยจัดหาเสื้อทีมให้หน่อย แล้วบังเอิ๊ญ บังเอิญเพื่อนของซาเวจเป็นสาวกตัวยงของทีม น็อตต์ เคาน์ตี้ ทีมอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกพอดี ก็เลยส่งเสื้อของน็อตต์ เคาน์ตี้มาให้ ซึ่งพอทางยูเวนตุสได้รับก็ เออ เฮ้ย เข้าท่าดีนี่หว่า ขอเลยนะกันนะ ว่าแล้วก็ใส่เสื้อลายม้าลายมาตั้งแต่ปี 1903 โน่นแล้วครับ

ส่วนเรื่องราวของยูเวนตุสกับตระกูลอันเญลลี่ เริ่มต้นขึ้นในอีก 20 ปีต่อมา เริ่มจากเอโดอาร์โด้ อันเญลลี่ ลูกชายคนโตของโจวานนี่ อันเญลลี่ผู้ก่อตั้งบริษัทเฟียต ซื้อทีมยูเวนตุสไปดูแลในปี 1923 นั่นคือจุดกำเนิดของความผูกพันอันยาวนานที่แยกไม่ออกระหว่างคนในตระกูลกับสโมสรของยูเวนตุส

หรือจะพูดอีกอย่างนึงคือ ยูเวนตุสเป็นตัวแทนของตระกูลอันทรงอิทธิพลของประเทศในมาดของเจ้าพ่อ นั่นเอง ส่วนอีกทีมของเมืองที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากที่เดียวกันนี่แหล่ะครับ การแยกตัวของโตริโน่ในปี 1906



แผนผังตระกูลอันเญลลี่

- Allemandi Case –



ต้นกำเนิดของโตริโน่มีขึ้นในปี 1906 เมื่ออัลเฟรด ดิ๊ก นักธุรกิจชาวสวิสเจ้าของสโมสรยูเวนตุสในเวลานั้น เข้าเจรจากับพนักงานและนักเตะบางส่วนของทีมที่ต้องการจะย้ายออกไปเล่นนอกตูริน ไม่รู้ว่าไปเจรจากันอีท่าไหนถึงตกลงกันไม่รู้เรื่อง ที่สุดแล้วดิ๊กนำสมาชิกส่วนที่เห็นชอบด้วยกับเขามาก่อตั้งสโมสรใหม่ในชื่อของ โตริโน่ เอฟซี แล้วจัดการดึงนักเตะและสต๊าฟฟ์ทีมงานของ เอฟซีบี โตริเนเซ่ สโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในอิตาลีมายกเซ็ต ก็เป็นการควบรวมทีมกลายๆนั่นเองครับ โตริโน่ เอฟซีจึงได้ถือกำเนิด

และ ดาร์บี้ เดลลา โมเล่ ก็ถือกำเนิดตามไปด้วย



มันคือ สุเหร่ายิว หรือ Synagogue ที่มีชื่อว่า โมเล่ อันโตเนลลิอาน่า ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ครับ ก็แบบเดียวกับฮาเยีย โซเฟียของอิสตันบูลที่เคยเป็นทั้งโบสถ์คริสต์หรือมัสยิดมาก่อนนั่นแหล่ะ ก็เลยนำมาเรียกชื่อการพบกันของสองสโมสรร่วมเมืองตูรินเป็น ดาร์บี้ เดลลา โมเล่ ไงครับ

เพราะการถือกำเนิดของโตริโน่ มีมาก่อนอินเตอร์หนึ่งปีและก่อนหน้าซามพ์โดเรียร่วม 40 ปี ทำให้ดาร์บี้เดลลา โมเล่ จึงจัดเป็นดาร์บี้ที่เก่าแก่แม่ปลาช่อนมากที่สุดในแผ่นดินอิตาลีครับผม

จะขอกดปุ่ม Skip เปิดวาร์ปพาทุกคนข้ามไปยังช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กันเลยก็แล้วกันเพราะเรื่องราวของฟุตบอลอิตาลีช่วงเวลานี้ไม่ได้มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องของเรา เพราะยุคแรกเริ่มทีมที่ได้แชมป์มีอยู่ไม่กี่ทีมหรอกครับ เอซี มิลาน, เจนัว, โปร แวสเซลลี่ ที่ครองกันเป็นส่วนใหญ่

สำหรับการปรากฏตัวครั้งแรกของโตริโน่ในหน้าประวัติศาสตร์ของกัลโช่เริ่มต้นเมื่อปี 1926-27 แล้วก็ไม่ได้เดบิ้วต์ธรรมดาๆเหมือนไปประกวด เดอะ วอยซ์ หรอกนะ เพราะพี่แกมาพร้อมกับความอื้อฉาวครั้งแรกบนแผ่นดินอิตาลี

ฤดูกาล 1926-27 ตอนนั้นระบบการแข่งขันเป็นแบบนี้ คือแบ่งออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มละ 10 ทีม แล้วเอาอันดับ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ แชมเปี้ยน ลีก เตะแบบพบกันหมดเหย้า-เยือนทั้ง 6 ทีม ซึ่งทั้งยูเว่และโตริโน่ก็ได้แชมป์ของกลุ่ม A และ กลุ่ม B เข้ามาทำการแข่งขันตามปกติ ที่สุดแล้วเป็นโตริโน่ที่ทำผลงานที่สุดได้แชมป์ไปครอง

ก็น่าจะเป็นฤดูกาลปกติธรรมดา แต่แล้วความสุขของแฟนบอลโตริโน่ที่กำลังฉลองแชมป์ถูกทำลายอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ในตูรินรายหนึ่งแอบไปได้ยินบทสนทนาระหว่าง บอร์ดบริหารของโตริโน่รายหนึ่งกับ ลุยจิ อัลเลมานดี้ กองหลังของทีมยูเวนตุส เกี่ยวกับการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการให้อัลเลมานดี้ช่วยล้มบอลให้ในเกมที่ยูเวนตุสแพ้โตริโน่เมือนวันที่ 5 มิถุนายน ของปีเดียวกัน ซึ่งทางโตริโน่จ่ายเงินมัดจำไปแล้วครึ่งหนึ่งคือ 50,000 ลีร์ แต่เกิดบิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายส่วนที่เหลือ ทีนี้อัลเลมานดี้เลยมาทวงถามไงครับ ไม่รู้ว่าทะเลาะกันด้วยรึเปล่าแต่ความซวยบังเกิดตรงที่ไปเข้าหูของนักข่าวนี่แหล่ะครับ ก็เรียบร้อย จะเหลือเหรอ เอฟไอซีจี (สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี) เลยจัดการเล่นเข้าให้ อัลเลมานดี้โดนแบนตลอดชีพและขับออกจากทีมชุดโอลิมปิกของอิตาลีที่จะไปแข่งที่อัมสเตอร์ดัมด้วย ส่วนโตริโน่ผู้จ้างวานโดนริบสคูเด็ตโต้ในปีนั้น แต่ไม่มีรายงานว่าอีตาบอร์ดบริหารที่ไม่เปิดเผยชื่อคนนั้นโดนเล่นงานอะไรบ้าง



จุดศูนย์กลางแห่งความอื้อฉาว ลุยจิ อัลเลมานดี้ ของยูเวนตุส

นับเป็นคดีอื้อฉาวอันสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นวงการฟุตบอลอิตาลีเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคใหม่ ซึ่งโตริโน่ก็กลายเป็นทีมแรกที่โดนริบแชมป์

ก่อนที่ปีถัดมา โตริโน่จะกลบเรื่องอื้อฉาวเหล่านั้นด้วยการคว้าสคูเด็ตได้อีกครั้งและคราวนี้ไม่ต้องก่อเรื่องไปจ้างไปวานใครอีก ได้แชมป์เพราะฝีมือล้วนๆ




ทีมงานชุดคส้าสคูเด็ตโต้สมัยแรกของเจ้ากระทิง

แต่พอเปลี่ยนการระบบเพลย์ออฟหาแชมป์มาเป็นเซเรีย อา เหมือนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าโตริโน่ไปเอาความเก่งไปทิ้งไว้ที่ไหนเพราะว่ามันเกิดขึ้นแค่สองปีหลังจากพวกเขาเป็นแชมป์ครั้งแรกแค่นั้นเอง แล้วก็อะไรก็ไม่น่าเจ็บใจเท่ายูเวนตุสฉายแววของมหาอำนาจด้วยการฟาดเรียบ 5 สมัยรวด 1930-35 นี่หมดเรื่องบาเยิร์นแล้วต้องมาเจอกับยูเว่อีกแล้วเหรอ น่าเบี่ยแท้

แต่อย่างไรก็ตามโตริโน่ก็กลับมาได้อีกครั้งแล้วไม่ได้กลับมาแบบเงียบๆธรรมดา พวกเขามาพร้อมกับทีมงานสุดโหดที่จะทำให้ทั้งอิตาลีและทั่วโลกต้องตื่นตะลึง

- Il Grande Torino and Superga Diaster–



ถ้าคุณจะหาใครซักคนที่เป็นต้นกำเนิดของ เหล่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งโตริโน่ แล้ว คงต้องมองไปที่ผู้ชายคนนี้ คนที่มีชื่อว่า เฟร์รุคชิโอ้ โนโว่ นักธุรกิจเจ้าของกิจการฟอกหนังรายใหญ่ของเมือง ผู้เคยเป็นนักเตะให้กับโตริโน่เข้ามารั้งตำแหน่งประธานสโมสรในหน้าร้อนของปี 1939



เฟร์รุคชิโอ้ โนโซ่ ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของกรันเด้ โตริโน่

โนโว่ไม่ใช่คนที่ใจป้ำทุ่มแหลกแจกไม่อั้น เขาค่อนข้างรอบคอบในการใช้เงินอย่างระมัดระวัง เขานำการจัดการสโมสรแบบอังกฤษเข้ามา ระบบบู้ตรูมสตาฟฟ์ที่นำเอาผู้เล่นสมัยที่วิตตอริโอ ปอซโซ่ (คนที่พาอิตาลีเป็นแชมป์โลกสองสมัยรวดนั่นแหล่ะครับ) คุมทีมอยู่ในช่วงปี 1912-1922 เข้ามาทำงานให้กับสโมสร บรรยากาศแบบครอบครัวเริ่มกลับมาและนโยบายของโนโว่มิใช่การทุ่มทุนสร้างแต่คือการสร้างทีมจากฐานรากนั่นคือ ระบบเยาวชน

แต่จะให้ปั้นเองคงไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด ปู่โนโว่แกเลยจัดการเซ็นอนุมัติการสอยดาวรุ่งฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์เข้ามาสู่ทีมแบบไม่เสียดาย ที่โดนใจที่สุดคือการถอย ฟรังโก้ โอเดสซ่า ศูนย์หน้าดาวรุ่งวัย 18 ปีมาจากวาเรเซ่ด้วยค่าตัว 55,000 ลีร์ แล้วก็แจ้งเกิดตั้งแต่ปีแรกที่มาเลยโดยทำไป 15 ประตูจาก 22 นัด สมทบกับเหล่าดาวรุ่งฝีเท้าเยี่ยมของทีมอย่าง อันโตนิโอ ยานนี่ สมาชิกชุดเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1928 ของอิตาลี อันดับของทีมก็เลยพุ่งพรวดเดียวจบอันดับ 7 ในปี 1940-41

พอเด็กๆเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ทั่นประธานโนโว่ เลยจัดบริการเสริมอาวุธหนักให้กับทีม วาเลนติโน่ มัซโซล่า โดนดึงมาจากเวเนเซีย พร้อมกับคู่หูของเขา เอซิโอ ลอริค เข้ามาเป็นแกนหลักให้กับทีม ยัง ยัง ไม่สาแก่ใจทั่นประธานเพราะแกเซ็นอนุมัติการคว้าตัวนักเตะใหม่อีกห้ารายรวด ทั้งปีกชุดแชมป์โลก 1938 ปิเอโตร แฟร์ราริสมาจากอินเตอร์ จาซินโต้ เอลเลน่า ปีกความเร็วสูงมาจากฟิออเรนติน่า แล้วก็ไปเหมายกเซ็ตสามนักเตะยูเวนตุส อัลเฟรโด้ โบดอยร่า, เฟลิเซ่ บอเรล และ จูเยลโม่ กาเบ็ตติ เข้าสู่ทีม

เมื่อมีนักเตะดีๆไว้ในมือแล้วขั้นตอนต่อไปคือการหาแผนการเล่นเจ๋งๆให้กับทีม ไปๆมาๆนี่ชักจะเหมือนเกม Football Manager ไปทุกขณะแล้วแฮะ ซึ่งตอนนั้นแผนยอดฮิตคือ WM ของอาร์เซน่อลที่ครองเกาะอังกฤษช่วงก่อนสงครามโลกอยู่ ส่วนคาเตนัคโช่เหรอ ตอนนั้นยังเป็นเวร์รูอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์อยู่เลย

หลังจากการเบรนสตรอมกับเฮดโค้ชชาวฮังกาเรี่ยนของทีม อันดราส คุตติค บทสรุปที่ออกมาคือ เขาจะถอยกองกลางลงมาช่วยงานแดนหลังหนึ่งคนในตำแหน่งที่ปัจจุบันเราจะรู้จักกันว่าเป็น “สตอปเปอร์” แล้วจัดการถ่างฟูลแบ็คสองข้างออกไปด้านกว้างมากขึ้นเพื่อรับมือกับปีกฝั่งตรงข้าม แล้วถ้าต้องการจะเล่นงานคู่ต่อสู้ให้ราบคาบพวกเขาจะดันปีกทั้งสองข้างขึ้นไปช่วยงานกองหน้าทั้งสองคน มันคือแผนการเล่นที่ต่อมาทีมชาติบราซิลและฮังการีจะพัฒนาในลักษณะเดียวกัน นั่นคือแผนการเล่นในระบบ 4-2-4



หัวใจสำคัญของโตริโน่อยู่มิดฟิลด์ยอดอัจฉริยะ วาเลนติโน่ มัซโซล่า ที่โดดเด่นทั้งเกมรุกและเกมรับ แถมยังเป็นกัปตันทีมอีกด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเห็นว่าทีมพร้อมจะเล่นคู่ต่อสู้ให้ตายไปข้างแล้ว เขาจะพับแขนเสื้อขึ้นเพื่อส่งสัญญาณบอกลูกทีมให้เปิดเกมรุกเต็มสูบ ปกติแล้วมักจะเป็นครึ่งหลัง

จากอันดับ 7 ในปีก่อน คราวนี้โตริโน่ทะยานขึ้นมาถึงรองแชมป์ในปี 1941-42 และคราวนี้มันก็ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งพวกเขาได้อีกต่อไปเมื่อปีถัดมาสคูเด็ตโต้สมัยที่ 2 ก็มาถึงมือพวกเขาพร้อมกับโคปป้า อิตาเลียในปีนั้น เหมาเบิ้ลดับเบิ้ลแชมป์มันซะเลย

แต่เดี๋ยว ไม่มีอะไรหยุดยั้งได้งั้นเหรอ มีสิครับ จำกันได้มั้ยครับว่าช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นบนโลก ไม่เอาน่า ก็สงครามโลกครั้งที่ 2 ไงครับ พอมีสงคราม ฟุตบอลก็ต้องหยุดแข่งไปก่อน ใครมันจะมีแก่ใจเตะ

กดปุ่ม Forward เดินหน้า นี่มิใช่บทความสงครามโลกเราจะไม่พูดถึงตอนนั้นกัน แต่มีเรื่องนิดหน่อยซึ่งผมก็ขอกั๊กไปเล่าตอนซูเปอร์ก้าก็แล้วกันไม่งั้นไม่มีอะไรหากิน เอาล่ะพอสงครามจบลง สัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ฟุตบอลก็กลับมาเตะกันต่อในปี 1945 โชคยังดีที่แกนหลักของโตริโน่ยังอยู่กันครบ แถมยังมีกำลังเสริมที่เพิ่มเติมแดนกลางอย่าง โรเมโอ มอนติ และ มาริโอ ริกามอนติ เพิ่มดีกรีความโหดเข้าไปใหญ่ แล้วคราวนี้ก็ไม่มีอะไรจะหยุดพวกเขาได้จริงๆจังๆเลยซักอย่าง กรันเด้ โตริโน่ เดินหน้ากวาดสคูเด็ตโต้มาอีกสามสมัยรวด นักเตะในทีมกลายเป็นแกนหลักให้กับทีมชาติอิตาลีแบบยกแผง



ก็ลองดูสถิติตลอดยุคของกรันเด้ โตริโน่เอาเองแล้วกันนะครับว่าน่าสะพรึงกลัวขนาดไหน



หลังจากเป็นแชมป์สี่สมัยรวดแล้วกำลังจะเดินหน้าลุ้นแชมป์สมัยที่ 5 ติดต่อกันได้อยู่แล้ว

แต่แล้ว

ต้นเดือนพฤษภาคม 1949 นักเตะและสตาฟฟ์ของโตริโน่ เดินทางกลับด้วยเครื่องบินจากลิสบอน โปรตุเกสที่พวกเขาเพิ่งไปอุ่นเครื่องกับเบนฟิก้า ท้องฟ้าเหนือตูรินวันนั้นทัศนะวิสัยไม่ค่อยดี มีฝนตกปรอยๆ ท้องฟ้าปิด ลมแรง มองเห็นไกลสุดได้แค่ 40 เมตร สมัยหลังสงครามโลกใหม่ๆเนี่ยระบบนำทางอะไรก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่หรอกครับ อาศัยความสามารถของนักบินอย่างเดียว

แล้วท้องฟ้าเหนือตูรินที่เคยเป็นสวรรค์ แต่ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1949 มันกลายสภาพเป็นขุมนรก เครื่องบินบินตัดผ่านเนินเขาทางตอนเหนือของเมืองที่เป็นที่ตั้งของบาซิลิก้าแห่งซูเปอร์ก้า โบสถ์สำคัญประจำเมือง ด้วยทัศนะวิสัยอันเลวร้ายอย่างที่บอกไป กว่าที่จะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว เครื่องบินที่บินต่ำเพราะเตรียมร่อนลงฟาดเข้ากับกำแพงของซูเปอร์ก้าอย่างแรงจนพังยับทั้งลำ แรงปะทะส่งผลให้นักเตะของโตริโน่ทั้ง 18 ราย สตาฟฟ์โค้ช 3 ราย นักบินและผู้ช่วยอีก 4 ราย นักข่าวสามราย รวมไปถึงผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ตุ๊ตโต้สปอร์ตหนังสือพิมพ์กีฬาชื่อดังของอิตาลี แล้วก็เจ้าหน้าที่ของสโมสรอีกสามราย จบชีวิตของพวกเขาอย่างน่าเศร้า โดยไม่มีผู้ใดรอดชีวิต



สภาพอันย่อยยับของเครื่องบิน

นเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล เหตุการณ์ที่มิวนิคในปี 1958 ของแมนฯยูไนเต็ดยังมีผู้รอดชีวิตอยู่บ้าง แต่ครั้งนี้มันเลวร้ายกว่า ทั้งอิตาลีตกอยู่ภาวะช็อกและเศร้าสลด ไม่มีใครคาดคิดว่าฮีโร่ของพวกเขาจะพบกับจุดจบอันน่าเศร้าเช่นนี้

มันกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก คลื่นแฟนบอลจำนวนมหาศาลหลั่งไหลกันเข้ามาร่วมไว้อาลัยในพิธีศพของเหล่ากรันเด้ โตริโน่ บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า



คลื่นมหาชนหลั่งไหลมาร่วมกันไว้อาลัยฮีโร่ของพวกเขาเป็นครั้งสุดท้าย

สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีประกาศยกแชมป์ประจำปีให้กับโตริโน่ในอีกสองวันต่อมา (6 พฤษภาคม) ไม่มีใครคัดค้าน แม้ว่าในตอนนั้นจะเหลือเกมอีกสี่นัดและโตริโน่มีแต้มเป็นรองอินเตอร์อยู่ 4 คะแนน มันก็ไม่แน่ว่าพวกเขาจะแซงได้แต่เพื่อเป็นการไว้อาลัยและรำลึกถึงวีรบุรุษของประเทศทุกคนจึงเห็นชอบด้วย สี่นัดที่เหลือโตริโน่จึงใช้นักเตะจากทีมสำรองและทีมเยาวชนลงเล่นทั้งหมด

มันเป็นการปิดฉากอันน่าเศร้าของตำนานทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในอิตาลี ทีมที่น่าจะดีที่สุดในโลกเวลานั้น เป็นการปิดฉากยุครุ่งเรืองของโตริโน่ไปตลอดกาล มันยังสร้างรอยแผลร้าวลึกให้กับชาวอิตาเลี่ยน ทีมชาติของพวกเขาอ่อนแอลงอย่างมากจนตกรอบแรกในฟุตบอลโลกสองครั้งถัดมา (1950 และ 1954) นักเตะทีมชาติอิตาลีที่เดินทางไปแข่งขันที่บราซิลเกิดอาการหวาดผวาเครื่องบินแบบที่ เดนนิส เบิร์กแคมป์ เป็น พวกเขาจึงต้องเดินทางด้วยเรือไปยังบราซิลในฟุตบอลโลกในปีถัดมา (1950)

และทุกวันนี้ทางโบสถ์ซูเปอร์ก้าก็ไม่ได้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากโศกนาฏกรรมในคราวนั้น เหมือนจะทิ้งไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงเหล่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งตูรินไปตลอดกาล





Rest in Peace “Il Grande Torino”



- Juventus Gold Star –



ผ่านเรื่องราวอันน่าเศร้าของเหล่าฮีโร่แห่งโตริโน่กันไปแล้ว มันเหมือนเป็นการที่ทำให้ประวัติศาสตร์พลิกกลับด้าน ยูเวนตุสที่เคยเป็นแค่ลูกไล่ของโตริโน่มาตลอดช่วงทศวรรษ 1940 กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

แต่อันที่จริงถ้าเราจะว่ากันในมุมมองของยูเวนตุสแล้ว พวกเขาก็ใช่ว่าจะเป็นทีมอบต.บ้านนอกคอกนาที่ไหน แชมป์ 5 สมัยรวดที่โตริโน่เคยทำได้ (เอาน่าถึงอันหลังจะเป็นเพราะการยกแชมป์ให้เพื่อปลอบใจจากโศกนาฏกรรมก็เถอะ) ยูเวนตุสเคยทำได้มาก่อนแล้วในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น ปี 1930-35 พวกเขาคว้าสคูเด็ตโต้ได้เรียบไม่ต้องแบ่งใคร แบบว่าคนมันงกอะนะ นักเตะของทีมชุดนั้นพาเหรดกันเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จระดับแชมป์โลกของอิตาลีในปี 1934 แต่พอมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพวกเขาก็โคจรพุ่งชนกับความตกต่ำ ขนาดย้ายไปสนามโอลิมปิโก้ประจำเมืองตูรินให้มันสมฐานะแชมเปี้ยนแล้วนะ แต่ดูเหมือนพวกเขาจะสู้เหล่ากรันเด้ โตริโน่ ไม่ได้จริงๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตระกูลอันเญลลี่ก็กลับมาปกครองยูเวนตุสอีกครั้ง หลังจากรุ่นแรกคือ เอดาร์อาโด้ อันเญลลี่ ลาทีมไปนอนคุยกับรากมะม่วงตั้งแต่ปี 1935 แล้ว จานนี่ อันเญลลี่ บุตรชายคนโตซึ่งตอนที่พ่อเสียเขามีอายุได้แค่ 14 ปีเท่านั้น แมวที่ไหนจะเอาเด็กวัยรุ่นมาเป็นประธานสโมสรไม่ทราบครับ ก็เลยต้องรอพ่อหนุ่มจานนี่ แก่กล้าพรรษาก่อน



จานนี่ อันเญลลี่ สมัยยังเอ๊าะๆ ก่อนหน้าที่เขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลที่สุดของประเทศ

ปี 1947 อันเญลลี่รุ่นที่สองก็พร้อมจะบริหารงานแล้ว แต่ยังต้องตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของเพื่อนบ้านไปก่อน จนกระทั่งการล่มสลายของกรันเด้ โตริโน่ ยูเวนตุสถึงได้ทวงบัลลังก์เข็มขัดแชมป์ เฮ่ย ไม่ได้ไปต่อยมวย ถ้วยแชมป์ ก็ยังไม่มีอีกนั่นแหล่ะ เพราะก่อนหน้านี้พี่เลี่ยนเค้าไม่มีการมอบถ้วยแชมป์แบบเป็นเรื่องเป็นราว อ้าว แล้วทีนี้จะรู้ได้ยังไง



ได้ยินคำนี้บ่อยๆหลายคนที่ไม่ได้สนใจกัลโช่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันคืออาร์มที่บ่งบอกถึงการเป็นแชมป์เมื่อฤดูกาลก่อนครับ คล้ายกับเจ้าสิงโตของพรีเมียร์ที่ทีมแชมป์เก่ามันจะเป็นสีทองอยู่ทีมเดียวไงครับ ชื่อ สคูเด็ตโต้ แปลว่า โล่ ก็ดูจากลักษณะเอานะครับว่าเหมือนหรือไม่ ส่วนถ้วยแชมป์เพิ่งจะมีพิธีมอบกันเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อฤดูกาล 2004-05 ที่ผ่านมานี่เอง

ยูเวนตุสกลับมาทวงบัลลังก์ได้ทันควัน ปีถัดมาจากเหตุซูเปอร์ก้า ยูเว่คว้าสคูเด็ตโต้ไปทันทีและอีกครั้งในอีกสองปีต่อมา (1951-52) จากนั้นก็เริ่มตกลงไปปล่อยให้สองคู่แค้นจากมิลานมาแย่งแชมป์กันเป็นที่สนุกสนาน จนเจ้าพ่ออย่างจานนี่ อันเญลลี่ ชักจะไม่สบอารมณ์มาเฟียละ

ว่าแล้วฯพณฯ อันเญลลี่ก็จัดงบให้ไปสอย โอมาร์ ซิวอรี่ ศูนย์หน้าชาวอาร์เจนติเนี่ยนเชื้อสายอิตาเลี่ยนมาจากริเวอร์เพลท กับ จอห์น ชาร์ลส์ เจ้ายักษ์ผู้สุภาพชาวเวลส์ มาจากลีดส์ ทั้งคู่จะมาประสานงา เอ๊ย ประสานงานกับ จามเปียโร่ โบนิแปร์ติ เด็กปั้นของทีม ซึ่งชาร์ลส์ก็ยิงสะบั้นหั่นแหลก 28 ประตูพาทีมยึดสคูเด็ตโต้คืนมาสำเร็จในปี 1957-58 ก่อนที่สองปีต่อมา ซิวอรี่ จะโซ้ยบ้านแตก 28 ลูก พาทีมคว้าแชมป์อีกรอบ ผลงานยิงบ้าเลือดนี้ทำให้เขาได้รางวัลบัลลงดอร์ไปเป็นคนแรกของยูเวนตุสเลยทีเดียวเชียวแหล่ะ




โอมาร์ ซิวอรี่ กับ บัลลง ดอร์

แล้วมันก็มาถึงยุคสมัยของคาเตนัคโช่ครองเมือง ยูเวนตุสก็มองตามปริบๆ เฮ้ย นี่เล่นอัลลัยกัน อั๊วะตามไม่ค่อยจะทัน ทำให้ช่วงทศวรรษที่ 1960 พวกเขาได้แชมป์พาเพิ่มอีกแค่ครั้งเดียว (1966-67)

ก่อนที่พวกเขาจะค้นจิ๊กซอว์ขิ้นสำคัญที่จะพาทีมประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงยุค 1970 คนแรกคือ โรแบร์โต้ เบ็ตเตก้า อีกหนึ่งผลผลิตจากทีมเยาวชนของทีมในตำแหน่งกองหน้า และ กาเอตาโน่ ชีเรอา ในตำแหน่งสวีปเปอร์ หรือ ลิเบอโร่ ในแบบฉบับอิตาเลี่ยน รายหลังนี่จัดเป็นลิเบอโร่ชั้นตำนานเลยนะครับ เคยหยุดยั้งกองหน้าหมายเลขหนึ่งของโลกอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ในฟุตบอลโลก 1982 มาแล้วนะ ระดับไหนคงไม่ต้องบอก



นั่นเองที่ทำให้ยูเวนตุสได้สคูเด็ตโต้เพิ่มอีก 5 สมัยตลอดยุค 1970 (1972, 1973, 1975, 1977 และ 1978)

- From Relegation to Title –



ไม่เหมือนกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่ประสบชะตากรรมใกล้เคียงกัน แต่เหล่ากองทัพอสูรแดงแห่งเกาะอังกฤษ กลับมาผงาดได้อีกครั้งหลังเหตุอันน่าเศร้าผ่านไปราว 10 ปี

แต่กับโตริโน่ บาดแผลของพวกเขาสาหัสกว่ายูไนเต็ดเยอะ แทบจะกลายเป็นทีมใหม่ไปเลย คือ ก็ไม่ได้แย่ขนาดจะตกชั้นแต่ก็ไม่เคยจะกลับไปลุ้นแชมป์ได้อีก ก็จะสลับวนเวียนระหว่างเลขตัวเดียวบ้าง ครึ่งล่างของตารางบ้าง จนกระทั่งแจ๊กพ็อตแตกผลงานโหลยโท้ยขนาดต้องกระเด็นตกชั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรในซีซั่น 1958-59 10 ปีหลังจากโศกนาฏกรรมพอดี คนละเรื่องกับยูไนเต็ดเลยแฮะ

แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังมีดีเกินกว่าจะอยู่ลีกล่าง แค่ปีเดียวก็คว้าแชมป์เซเรีย บี เลื่อนชั้นกลับมาแล้ว กลับมาเพื่อพบว่าตอนนี้ฟุตบอลอิตาลีกำลังถูกปกครองโดยแก๊งคาเตนัคโช่แห่งเมืองมิลาน ใครมันจะไปสู้ไหว ว่าแล้วก็หันไปเอาดีทางบอลถ้วยดีกว่า

ทีมกระทิงหินก้าวไปหยิบแชมป์โคปป้า อิตาเลียมาได้สองครั้ง 1968 และ 1971 แต่กับแชมป์ลีกมันเหมือนเป็นตำนานที่เกิดขึ้นมานานแสนนานมาแล้ว จนกระทั่ง

ฤดูกาล 1975-76 โตริโน่คืนชีพกลับมาอย่างเหลือเชื่อด้วยผลงานของกองหน้าดีกรีทีมชาติอิตาลีนามว่า ฟรานเชสโก้ กราเซียนี่ พร้อมคู่หูในแดนหน้าของเขา เปาโล เปลิชี่ จับคู่กันยิงกันจนนับแทบไม่ทัน เอาง่ายๆสองคนนี้ยิงรวมกัน 36 จาก 49 ประตูที่โตริโน่ทำได้ก็แล้วกัน ช่วยให้ต้นสังกัดตามจี้ตูดคู่อริร่วมเมืองอยู่ตลอด



กราเซียนี่ ในเกมดาร์บี้ที่บุกไปถลกหนังม้าลายถึงถิ่น

สถานการณ์มันมาพลิกผันเอาตอนปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน ยูเวนตุสเกิดอาการเบรคสะบัด ครัชเสีย เกียร์หลุด เครื่องสะดุด เพลาหัก สลักหาย หัวเทียนบอด ยางแฟบ แหนบตาย โช๊กหัก ไฟไม่จ่าย ไดไม่ชาร์จ สตารท์พัง แพ้มันสามนัดรวด รวมไปถึงเกมดาร์บี้ที่โดนโตริโน่อาศัยจังหวะทีมคู่แข่งกำลังช็อตไล่เก็บไป 2-0 คาบ้าน จากที่นำสบายๆ 5 คะแนน กลายเป็นโดนแซงครับท่านผู้ชม สุดท้ายโตริโน่ที่อาศัยเร่งเครื่องเอาช่วงนี้แซงไปดื้อๆ 2 คะแนน

ดราม่าการลุ้นแชมป์ถึงจุดพีคสุดขีดใน 2 นัดสุดท้าย เมื่อโตริโน่ดันไปพลาดเสมอเวโรน่า 0-0 ทำให้ยูเวนตุสที่เก็บซามพ์โดเรียมา 2-0 ไล่จี้มาเหลือแค่คะแนนเดียวแล้ว (ในระบบชนะได้สองคะแนน) นัดสุดท้ายโตริโน่ต้องชนะเชเซน่าในบ้านสถานเดียวหรือถ้ายูเวนตุสคิดถึงทะเลอีกครั้งไปแพ้เปรูจาก็จบเลย

ครึ่งแรกทั้งสองสนามยังยิงกันไม่ได้ 0-0 แชมป์ยังอยู่ในมือของโตริโน่ ครึ่งหลังเหล่าโตโร่ (ชื่อเล่นของโตริโน่) ได้ข่าวดีโดยไม่คาดฝัน นาทีที่ 55 เรนาโต้ คูรี่ ของเปรูจายิงให้เจ้าบ้านออกนำยูเวนตุส 1-0 โมเมนตัมแชมป์เทมาทางพวกเขาหมดแล้ว

เปาโล เปลิชี่ กองหน้าตัวเก่งของโตริโน่ยิงให้ทีมออกนำ 1-0 ในอีก 6 นาทีต่อมา สถานการณ์ยิ่งสดใสจนกระทั่งโรแบร์โต้ มอซซินี่ กองหลังของทีมกระทิงหินดันทำพลาดเข้าประตูตัวเองในอีก 10 นาทีต่อมาเท่านั้นแหล่ะ สถานการณ์กลับไปตึงเครียดอีกครั้ง แต่ยังพออุ่นใจได้บ้างเมื่อยูเว่บุกระลอกแล้วระลอกเล่าแต่ก็หมดปัญญายิงเปรูจา จบ 90 นาที ยูเวนตุสแพ้ไปแบบชอกช้ำ 0-1 โตริโน่ที่ทำได้แค่เสมอคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

คลิปวันที่ยูเว่ไปแพ้เปรูจา ส่งแชมป์ไปให้ถึงมือโตริโน่เลย



เป็นครั้งแรกนับจากหมดเหล่าขุนพลกรันเด้ โตริโน่ มันเป็นแชมป์ที่รอคอยมายาวนานกว่า 27 ปี แฟนบอลหลายพันคนในอีกเสี้ยวนึงของตูรินได้ฉลองชัยชนะกันสุดเหวี่ยง ราวกับจะรู้ว่านี่มันเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้ดีใจกันเช่นนี้



เพราะหลังจากนั้นโตริโน่ก็กลับเข้าสู่สภาพเดิมอีก แม้ปีถัดมา (1977-78) พวกเขาจะมีลุ้นแชมป์อีกครั้ง แต่คราวนี้ยูเวนตุสไม่ยอมพลาดซ้ำสองอีกเดินหน้าเก็บชัยชนะเรียบคว้าแชมป์ไปแบบสบายๆ

และคราวนี้ไม่มีปาฏิหาริย์ซ้ำสองสำหรับโตริโน่อีก


- The Heysel’s Diaster –



ตามกฎความต้องการขั้นพื้นฐานของมาสโลว์ มนุษย์เราล้วนแต่ต้องการการยอมรับ

สำหรับในวงการฟุตบอลโดยเฉพาะที่ยุโรปแล้ว การเก่งแค่ในบ้านตัวเองไม่มีราคาอะไร ถ้าแน่จริงคุณต้องสยบยุโรปไว้ใต้ฝ่าเท้าสิถึงจะเรียกว่าว่า ยอดเยี่ยม

มันก็เป็นเรื่องราวมาตรฐานของทีมทั่วๆไปแหล่ะครับ แต่สำหรับยักษ์ใหญ่คับประเทศอย่างยูเวนตุส มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น

จานนี่ อันเญลลี่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งอิตาลี” จากอิทธิพลอันมากล้นของเขา หน้าที่ความรับผิดชอบที่มหาศาลทำให้ตัวเขาต้องแต่งตั้งคนอื่นมาดูแลยูเวนตุสแทน โดยเขาวางมือจากฉากหน้าไปตั้งแต่ปี 1954 โน่นแล้วแต่ให้น้องชายของเขา อุมแบร์โต้ คนจากตระกูลอันเญลลี่คนที่สามที่มานั่งเก้าอี้ประธานสโมสร แต่อยู่ได้แค่ 7 ปี (1955-1962) จานนี่ก็ดึงน้องชายของเขาไปช่วยงานที่เฟียตที่กำลังขยายสาขาเปิดโรงงานใหม่ทั้งในรัสเซีย อเมริกาใต้ หรือแม้แต่อเมริกา หน้าที่การบริหารจึงตกเป็นของจามเปียโร่ โบนิแปร์ตี้ อดีตนักเตะผู้เป็นตำนานของสโมสร



ราชาไร้มงกุฏแห่งอิตาลี จานนี่ อันเญลลี่

แต่ถึงจะยุ่งแสนยุ่งเพียงใด จานนี่ อันเญลลี่ ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อิตาลีสมัยใหม่ยังคงเปิดโทรศัพท์สายตรงถึงห้องนอนของเขาในทุกๆเช้าเพื่อรับฟังรายงานประจำวันจากโบนิแปร์ตี้ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่มุมไหนของโลก เขาหวังว่าจะได้ยินสิ่งที่เขาเผ้ารอมานานแสนนาน ยูเวนตุสของเขาจะเป็นแชมเปี้ยนแห่งยุโรป

ถึงแม้ว่ายูเวนตุสจะเคยได้แชมป์ยูฟ่า คัพ 1977 มาแล้วหนึ่งใบแต่สำหรับ ฯพณฯจานนี่ มันก็แค่ถ้วยน้ำจิ้ม ของจริงมันต้องเจ้าบิ๊ก เอียร์ สถานเดียว ที่ๆพวกเขาใกล้เคียงที่สุดก็แค่การโดนพลังโททั่ล ฟุตบอลของอาแจกซ์เล่นงานจนพ่ายไปในนัดชิงปี 1973



ลุง อิล แทรป พาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ ประเดิมถ้วยยุโรปให้กับสโมสรในปี 1977

โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ โค้ชผู้เคยปั้น เอซี มิลาน จนได้แชมป์ยุโรปมาแล้วสองสมัยถูกดึงมารับหน้าที่นี้ ในลีกไม่ต้องไปเน้นมากขอบิ๊ก เอียร์มาให้เฮียชื่นใจหน่อยไอ้น้อง คำสั่งตรงมาถึง อิล แทรป แต่ถึงอย่างนั้นลุงแทรปของเราก็ยังอุตส่าห์พาทีมติดตราสคูเด็ตโต้ได้ถึง 6 สมัย แล้วก็แชมป์ยูฟ่า คัพ 1977 ก็แกนี่แหล่ะที่เป็นคนนำมาสนองนายใหญ่ แต่มันยังไม่พอหรอก

แม้ขุมกำลังของทีมจะมีมือปืนระดับพระกาฬอย่าง เปาโล รอสซี่ ดีกรีแชมป์โลกกับอิตาลีปี 1982 กับ ซบิกนิว โบเนี้ยก ตำนานตลอดกาลของชนชาวโปแลนด์ แต่มันก็ยังไม่ใช่ที่สุด จนกระทั่งพวกเขาได้ตัว เพลย์เมคเกอร์อัจฉริยะชาวฝรั่งเศสนามว่า มิเชล พลาตินี่ เข้ามาร่วมทีมในปี 1982 ยูเว่ของอิล แทรป ก็ใกล้เคียงแล้วกับคำว่าสมบูรณ์แบบ พวกเขาประเดิมด้วยการสอยถ้วย คัพ วินเนอร์ส คัพ มาครองได้ก่อนในปี 1984 ก่อนที่จะถึงวันที่รอคอย เมื่อปีถัดมายูเวนตุสเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ อีกครั้ง กับ ลิเวอร์พูล ที่เฮย์เซลส์ สเตเดี้ยม หลังจากสองปีก่อนต้องผิดหวังมาแล้วในรายการนี้เมื่อไปแพ้ฮัมบูร์กจากเยอรมันไป 0-1

มิเชล พลาตินี่ ยิงประตูชัยในเกมนัดชิงที่หม่นหมองที่สุดในประวัติศาสตร์ ฮูลิแกนของลิเวอร์พูลที่ซ่าเกินลิมิต พยายามจะข้ามไปเอาเรื่องแฟนบอลยูเวนตุสที่อยู่อีกฟากของสนาม มันเลยกลายเป็นความชุลมุนวุ่นวายหนีตายอลหม่านของแฟนบอลที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวด้วย ที่สุดแล้วพวกเขาถูกไล่ต้อนไปติดผนังกำแพง บางส่วนพยายามจะเหยียบคนข้างล่างเพื่อปีนกำแพงหนี คนที่อยู่ด้านในก็โดนเบียดอัดกับกำแพง จนกระทั่งกำแพงรับน้ำหนักไม่ไหวถล่มลงมา ยอดผู้เสียชีวิตคือ 39 รายบาดเจ็บอีกร่วม 600 ราย ความรุนแรงยังมีกระจายไปรอบๆสนามตลอดทั้งเกม



จุดโทษตัดสินแชมป์ของพลาตินี่

มันเป็นฝันร้ายที่สุดเท่าที่คนจะนึกออกเวลาลงเล่นฟุตบอล ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของยูเวนตุสถูกบดบังด้วยโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก













คลิปเหตุการณ์ในวันนั้น



อันนี้ขอใส่สปอยล์ก็แล้วกัน มีรูปผู้เสียชีวิตอยู่ คงไม่น่าดูเท่าไหร่

Spoil
 


ตราปัตโตนี่ยังคงทำงานให้กับยูเวนตุสหลังคืนวันอันน่าเศร้าต่อไปอีกหนึ่งปี ก่อนจะอำลาทีมไปอยู่กับอินเตอร์ มันน่าเสียดายที่ว่านักเตะผู้ยิ่งใหญ่ระดับ มิเชล พลาตินี่ เจ้าของบัลลง ดอร์ สามสมัยซ้อน จะมีวาสนาได้สัมผัสกับแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ แค่สมัยเดียว แถมยังเป็นความทรงจำอันเป็นฝันร้ายเสียด้วย

หายนะที่เฮย์เซล ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลี่ยน (32 จาก 39 ราย ที่เหลือเป็นแฟนเจ้าถิ่น และผู้เคราะห์ร้ายจากฝรั่งเศสและไอริช) บั่นทอนสภาพจิตใจของทีมมาก สำหรับยูเวนตุสมันเป็นหายนะที่ไม่ต่างจากซูเปอร์ก้าของโตริโน่ ถึงตรงนี้พวกเขาเข้าใจแล้วว่าอีกฝ่ายรู้สึกเป็นอย่างไรยามเมื่อสูญเสีย

6 เมษายน 2005 เกือบสี่ยิบปีผ่านไป ยูเวนตุสและลิเวอร์พูล โคจรมาพบกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเรื่อง

รอบควอเตอร์ไฟนั่ลของยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก นัดแรกมีขึ้นที่แอนฟิลด์ เหล่าเดอะ ค็อปต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการแปรอักษร “Amicizia (มิตรภาพ ใน ภาษาอิตาลี)” เท่านั้นเองอารมณ์ที่แตกต่างกันของแฟนยูเว่ก็บังเกิด บางส่วนปรบมือให้ แต่อีกบางส่วนถึงกับหันหลังให้ เพื่อเป็นการแสดงออกว่า ไม่ว่าจะยังไงพวกเขาก็ไม่มีวันที่จะให้อภัย



สิ่งนั้นเห็นได้ชัดในเลกที่สองที่ตูริน สาวกยูเวนตุสต้อนรับผู้มาเยือนที่เคยสร้างบาดแผลร้าวลึกให้กับพวกเขาด้วยป้ายผ้า “ แค่พูดน่ะมันง่าย แต่ให้อภัยมันยากว่ะ ไอ้พวกฆาตกร, วันที่ 15 เมษายน 1989 พระเจ้ายังมีอยู่จริง” แรงบาดใจกันสุดๆ วันที่ที่ระบุคือหายนะที่ฮิลสโบโร่ที่แฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตจากการเบียดกันตายกว่า 96 ราย





เราคงไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลยูเวนตุสทุกคนรู้สึกเช่นนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาบางส่วนแสดงออก บางครั้งมันก็แรงไปนะ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้ว่า นอกจากโตริโน่แล้ว ชาตินี้พวกเขาจะไม่ขอเดินร่วมทางกับลิเวอร์พูล จะขอเดินอย่างเดียวดายดีกว่าจะต้องร่วมทางกับคนที่ฝากความทรงจำอันปวดร้าวที่ไม่มีวันลบเลือนให้กับพวกเขา

- The Calciopoli Part One –



ผ่านพ้นช่วงเวลาอันแสนเลวร้ายในช่วงปลายยุค 1980 ยูเวนตุสก็กลับมาอีกครั้งด้วยผลงานของกุนซือระดับตำนานของทีมอีกคน

มาร์เชโล่ ลิปปี้

และคราวนี้ยูเวนตุสกลายเป็นขาประจำในเวทียูฟ่า แชมเปี้ยน ลีกไปแล้ว พวกเขามุ่งมั่นจะคว้าแชมป์ให้ได้อีกครั้งเพื่อชดเชยความเศร้าเมื่อครั้งก่อน แต่มันก็น่าเหลือเชื่อการเข้าชิงชนะเลิศถึงสามครั้งติดต่อกัน พวกเขาจะมีปัญญาคว้ามันมาได้แค่ครั้งเดียวในปี 1996 ที่เหลืออีกสองครั้งต้องยอมสยบให้กับทีมดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งยุโรปทั้ง อาแจกซ์ (1995) และ ดอร์ทมุนด์ (1997) แต่ในลีกยูเวนตุสยังเป็นเจ้าพ่ออยู่เหมือนเดิม เพราะลิปปี้พาทีมคว้าสคูเด็ตโต้ได้ถึง 5 สมัยจากการคุมทีมสองรอบ กลายเป็นตำนานของทีมต่อจากโจวานนี่ ตราปัตโตนี่ไปอีกราย



แชมป์ยุโรปสมัยที่สอง เป็นสมัยสุดท้ายมาจนถึงปัจจุบัน

คนที่มารับช่วงต่อหลังจากลิปปี้ลาทีมเพื่อไปคุมทีมชาติอิตาลี คือ กุนซือระดับแนวหน้าของวงการอีกคน ฟาบิโอ คาเปลโล่

คาเปลโล่ลาทีมถังแตกอย่างโรม่ามารับงานสุดท้าทายนี้ แต่คุณลองกวาดตาดูรายชื่อขุนพลของคาเปลโล่ซะก่อน จานลุยจิ บุฟฟ่อน งี้ คันนาวาโร่ ตูราม งี้ เน็ดเว็ด วิเอร่า เอเมอร์สัน งี้ แดนหน้าแบบว่า เดล ปิเอโร่ เทรเซเก้ต์ อิบราฮิโมวิช งี้ แต่ละคน นี่มันทีมชุดไร้เทียมทานที่แทบจะไม่มีใครสู้ได้ในอิตาลีแล้ว สองปีของคาเปลโล่ ทีมของเขาแพ้รวมกันไปแค่ 5 นัด เสียประตูน้อยที่สุดในลีก ยิงเยอะที่สุดในลีก แต่คนที่ทำลายทั้งหมดนี้ลงไม่ใช่คู่แข่งจากที่ไหน แต่มาจากภายในสโมสรของพวกเขาเอง



พบกับคดีอันอื้อฉาวล่าสุดของวงการฟุตบอลอิตาลี คดีกัลโช่โปลี อันโด่งดัง

ก่อนอื่นเรื่องนี้ผมคงต้องอธิบายลักษณะของคดีให้ฟังก่อนนะครับ ค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก คือมันไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อล้มบอลโดยตรงแบบที่เรารู้จักกันทั่วๆไป แต่มันคือการทุจริตประเภทหนึ่งโดยอาศัยอิทธิพลจากตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับทีม

และคนที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องราวอันอื้อฉาวนี้ คือ ลูชาโน่ มอจจี้ หนึ่งในบอร์ดบริหารของยูเวนตุส ซึ่งตำแหน่งของแกคือ ผู้จัดการทั่วไป (General Manager) ของสโมสร



มอจจี้เข้ามาทำงานกับยูเวนตุสตั้งแต่ปี 1994 ก็อาศัยจังหวะที่พวกตระกูลอันเญลลี่วุ่นวายอยู่กับธุรกิจของพวกเขานั่นแหล่ะ อีตามอจจี้เลยค่อยๆสั่งสมอำนาจบารมีภายใต้ร่มเงาของอาณาจักรเฟียตเรื่อยมา

ส่วนโปรไฟล์การทำงานก็ไม่ธรรมดาครับ เข้าขั้นพิเศษใส่ไข่สองใบ เพราะเขาคือ สปอร์ต ไดเร็กเตอร์ ของนาโปลี ยุคที่มีเทพเจ้าของชาวเนเปิ้ลส์ นาม ดิเอโก้ มาราโดน่า ยุคที่นาโปลีครองเมืองในปลายทศวรรษที่ 1980 ก่อนจะมาทำงานรับใช้ยูเวนตุส ซึ่งก็ใช้บารมีของอันเญลลี่นี่แหล่ะครับไปตีซี้สร้างคอนเน็กชั่นกับบุคลสำคัญๆที่เป็นใหญ่เป็นโตในวงการฟุตบอลมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ปิแอร์ลุยจิ ปาเร็ตโต้ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้ตัดสินในอิตาลีซึ่งมีหน้าที่จัดหาผู้ตัดสินลงไปทำหน้าที่ในรายการต่างๆของอิตาลี แล้วก็ยังควบตำแหน่งหัวหน้าทีมผู้ตัดสินของยูฟ่าอีกด้วย

นอกจากนี้อเลสซานโดรลูกชายของเขายังทำงานเป็นเอเย่นต์ให้กับนักเตะและผู้จัดการทีม ก็เป็นอันว่าตอนนี้เครือข่ายของมอจจี้แทรกซึมชอนไชไปทั่ววงการฟุตบอลอิตาลีแล้ว

แล้วทีนี้เนี่ยพอมีตำแหน่งใหญ่โตซะขนาดนี้จะให้เซ็นเช็คจ่ายเงินล้มบอลดื้อๆ ไม่มีซะหรอกครับ ใครมันจะบ้าทำอะไรโจ่งแจ้งฆ่าตัวตายพรรค์นั้น ไหนๆก็ตีสนิทกับหัวหน้าทีมผู้ตัดสินแล้วก็ให้จัดผู้ตัดสินที่เป่าให้ยูเวนตุสได้ประโยชน์ เรียกง่ายๆว่า “ล็อกสเป็ก” ผู้ตัดสินนั่นแหล่ะครับ

คือ ทีแรกเนี่ย ทางเจ้าหน้าที่สืบสวนเค้าไม่ได้กะจะเล่นเรื่องนี้หรอกครับ เพราะคดีที่พ่อลูกมอจจี้โดนเล็งจะสอยอยู่คือ คดีจงใจหลบเลี่ยงภาษี แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนพอจะมัดตัวได้ ก็เลยนำมาสู่การดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของมอจจี้ผู้พ่อ แล้วก็เจอแจ็กพ็อตเลยครับ กลายเป็นการเปิดโปงที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลอิตาลีอีกครั้งถัดจากคดีโตโต้เนโร่ในปี 1980

ก่อนหน้าที่ฟุตบอลโลก 2006 จะเริ่มต้นขึ้น มีการเผยแพร่บทสนทนาที่ถูกถอดมาจากการดักฟังทางโทรศัพท์ของลูชาโน่ มอจจี้ กับ ปิแอร์ลุยจิ ปาเร็ตต้า ทางหนังสือพิมพ์ กัซเซ็ตต้า เดลโล่ สปอร์ต สื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มิลาน บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2004-2005 ที่ยูเวนตุสได้แชมป์สองปีติด

มีหลายเกมทีเดียวที่ต้องสงสัยว่า “มีงาน” แล้ววิธีของมอจจี้จัดว่าแยบยลมากครับ เพราะพี่แกเล่นใช้การตัดกำลังคู่ต่อสู้ที่จะพบกับยูเวนตุสด้วยการให้ผู้ตัดสินเล็งแจกใบเหลือง-ใบแดงให้กับกำลังสำคัญของอีกฝ่าย ใบเหลืองที่แจกให้ก็เล็งพวกที่มี “ใบเหลืองสะสม” ที่จะครบกำหนด เข้าใจกรณีนี้มั้ยครับ คือ สมมุติว่ากฎระบุว่าถ้าโดนใบเหลืองสะสมครบห้าใบก็ให้ไปแลกสแตมป์ที่เซเว่น ถรุ้ยยย จะโดนแบนหนึ่งนัดต่างหาก หรือ ครบสิบใบโดนแบนสองนัด อะไรก็ว่ากันไป

นัดที่โดนเพ่งเล็งที่สุดคือเกมที่อูดิเนเซ่พบกับเบรสชา ในวันที่ 26 กันยายน 2004 ซึ่งคนที่โดนสั่ง “เก็บ” คือ จามปินเอโร่ ปินซี่, ซัลลี่ย์ มุนตารี่ และมาเร็ก แยนคูลอฟสกี้ สองรายแรกโดนใบเหลือง ส่วน แยนคูลอฟสกี้หนักสุด โดนใบแดงมันซะ ซึ่งสามคนนี้เป็นแกนหลักของทีม (จริงๆมี ดิ มิเคเล่ อีกคน แต่ดันเก็บไม่สำเร็จ) พอขาดไปแล้วก็จะเหลือเหรอครับ นัดต่อมาที่เจอกับยูเว่เลยโดนสอยคาบ้าน 0-1

นี่แค่ตัวอย่างนะครับ เพราะจากการแกะคำสนทนาแล้วพบว่ามีเกมต้องสงสัยทั้งหมด 19 เกม ในฤดูกาล 2004-05 ที่คาดว่าน่าจะมี “งาน”

ทีนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เลย สื่อจัดการขุดคุ้ยลากไส้ แล้วก็ไปพบกับเรื่องอันน่าตกตะลึงเข้าไปใหญ่ เมื่อพบว่ายูเวนตุสอาจจะไม่ใช่รายเดียวที่ทำเรื่องพรรค์นี้ซะแล้ว มีตัวละครเพิ่มเข้ามาอีก ตัวละครลับที่ว่ามีดังนี้

- เลโอนาร์โด้ เมอานี่ บอร์ดบริหารของเอซี มิลาน ซึ่งพอเห็นยูเว่จัดผู้ตัดสินเองได้ก็เลยเอามั่ง แต่ไม่ได้ทำแบบยูเว่นะครับ เพราะเมอานี่ ทำการร้องขอผู้กำกับเส้น(ไลน์แมน)จากผู้ที่ดูแลการคัดตัว(ซึ่งไม่ใช่คนของมอจจี้) ในเกมที่มิลานบุกไปแพ้เซียน่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2005

- ดิเอโก้ และ อันเดรีย เดลล่า วัลเล่ สองพี่น้องเจ้าของสโมสรฟิออเรนติน่า หลังจากทีมเสี่ยงจะตกชั้นในปี 2004-05 สองพี่น้องเลยบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากมอจจี้แล้วก็ได้เรื่องเลย เพราะสี่นัดสุดท้ายฟิออเสมอ 2 ชนะ 2 รอดตายเหลือเชื่อ ซะที่ไหน โกงชาวบ้านเค้าต่างหาก

- เคลาดิโอ้ โลลิโต้ ประธานสโมสรลาซิโอ เป็นอีกทีมที่ต้องหนีตกชั้น ก็เลยไปติดต่อขอบริการจากมอจจี้ แล้วก็สมใจเก็บชัยชนะได้ต่อเนื่องสามนัดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แล้วอีกเรื่องคือ นัดรองสุดท้ายที่ต้องเจอฟิออเรนติน่า โลลิโต้โทรไปหาพี่น้องเดลล่า วัลเล่ เจ้าของทีมฟิออเรนติน่า เพื่อขอ “ฮั้ว” ผลการแข่งขันให้เสมอกัน เพราะตอนนั้นฟิออฯกำลังใช้โปรของมอจจี้อยู่เกิดชนะขึ้นมาลาซิโอจะซวยทันที

- ปาสกวาเล่ โฟติ ประธานสโมสรเรจจิน่า พอแกรู้ว่ามอจจี้ล็อกสเป็กได้ ก็เลยไปติดต่อขอโปรมาใช้บ้างเพราะทีมของเขาก็ต้องหนีตายอยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีลิสต์ที่ติดร่างแหอย่าง ฟรังโก้ คาร์เรโร่ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี อินโนเซนโซ่ มาซซินี่ รองประธานสหพันธ์ฯ เปาโล แบร์กาโม่ ลูกน้องของปาเร็ตต้า หนึ่งในทีมงานคัดเลือกผู้ตัดสิน เจนนาโร่ มาซเซอี ผู้กำหนดตัวผู้กำกับเส้น แล้วก็อีกหลายคนนะครับลงไม่หมด เนื้อที่ไม่พอ

เท่านี้ก็เพียงพอจะเขย่าอิตาลีและทั้งโลกแล้ว



โฉมหน้าตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้องในคดีนี้

- The Calciopoli Part two –



หลังจากแฉหลังไมค์ เอ๊ย บทสนทนาการดักฟังทางโทรศัพท์ นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวทันที อัยการจากหลายที่เปิดการพิจารณาคดีความของมอจจี้โดยข้อกล่าวหามีดังนี้

- แทรกแซงการทำงานของผู้ตัดสินในเกม เซเรีย อา, ยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีก และในระดับเยาวชน
- บงการเบื้องหลังการเลือกตัวนักเตะทีมชาติของเฮดโค้ชทีมชาติอิตาลี (ในเวลานั้นคือ ลิปปี้) โดยให้เลือกนักเตะที่อยู่ในการดูแลของอเลสซานโดรลูกชายของเขาไปติดทีม
- ล็อกสเป็กผู้ตัดสินตามที่ต้องการ
- แอบส่งเงินไปเก็บไว้ในวาติกันเพื่อทำการฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษี
- เข้าไปบิดเบือนผลการตรวจสารกระตุ้นของนักเตะยูเว่
- สั่งให้โปรดิวเซอร์โทรทัศน์แก้ไขจังหวะที่เป็นที่ถกเถียงกันของยูเวนตุส

โดยอัยการในแต่ละที่เริ่มทำการสอบดังนี้

- ที่เนเปิ้ลส์ หลังจากการแฉทางหนังสือพิมพ์ มีการเรียกตัวนักเตะ 41 ราย จาก 19 เกมต้องสงสัยเข้ามาให้ปากคำ
- ที่โรม เปิดการสอบสวน GEA บริษัทเอเย่นต์ของอเลสซานโดร มอจจี้ ซึ่งมีลุกค้าเป็นนักเตะอาชีพกว่า 220 ราย
- ที่ตูริน ผู้พิพากษาทำการตรวจสอบบัญชีการซื้อ-ขายนักเตะในช่วงที่มอจจี้และ อันโตนิโอ จิเราโด้ อีกหนึ่งผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งเป็นบอร์ดของยูเว่ ดำรงตำแหน่ง ซึ่งต้องสงสัยว่าจะมีการตบแต่งบัญชีเพื่อการเลี่ยงภาษี
- ที่ปาร์ม่า มีการเรียกตัว จานลุยจิ บุฟฟ่อน และอดีตสามนักเตะยูเว่ อันโตนิโอ คิเมนติ, เอ็นโซ่ มาเรสก้า และมาร์ค ยูเลียโน่ มาให้ปากคำ

ทั้งหมดมาจากหลักฐานการดักฟังทางโทรศัพท์ซึ่งก็รวบรมส่งให้ศาลกีฬา (โคนี่) ตัดสิน ซึ่งบทสรุปสำหรับบทลงโทษทีดังนี้ครับ

- ยูเวนตุส ริบแชมป์ เซเรีย อา ฤดูกาล 2004-05 และ 2005-06 ปรับตกชั้นไปเล่นในเซเรีย บี และหัก 9 คะแนนในฤดูกาล 2006-07 ริบสิทธิ์การไปเล่นฟุตบอลยุโรป โดยในปี 2004-05 ไม่ได้เลื่อนรองแชมป์ขึ้นมาแทน แต่เลื่อนในฤดูกาล 2005-06 ให้อินเตอร์เป็นแชมป์แทน
- ฟิออเรนติน่า หัก 30 คะแนน ในฤดูกาล 2005-06 และอีก 15 คะแนนในฤดูกาล 2006-07
- เอซี มิลาน หัก 30 คะแนน ในฤดูกาล 2005-06 และอีก 8 คะแนนในฤดูกาล 2006-07
- ลาซิโอ หัก 30 คะแนน ในฤดูกาล 2005-06 และอีก 3 คะแนนในฤดูกาล 2006-07
- เรจจิน่า หัก 11 คะแนนในฤดูกาล 2006-07 และปรับ 100,000 ยูโร
- เคลาดิโอ โลลิโต้ ประธานสโมสรลาซิโอ แบน 4 เดือน
- อาเดรียโน่ กัลเลียนี่ รองประธานสโมสรมิลานและรองประธานฟุตบอลลีกแบน 5 เดือน ข้อหา รู้เรื่องแต่ไม่ยอมทำอะไร
- ลูชาโน่ มอจจี้ ตัวการใหญ่ โดนแบน 5 ปี และต่อมาเพิ่มโทษเป็นแบนตลอดชีวิตจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับให้ลิปปี้เลือกนักเตะในสังกัดของลูกชาย
- ดิเอโก้ เดลล่า วัลเล่ เจ้าของทีมฟิออเรนติน่า ถูกแบน 8 เดือน
- อันเดรีย เดลล่า วัลเล่ ประธานสโมสรฟิออเรนติน่า ถูกแบน 13 เดือน
- ซานโดร มานกุชชี่ บอร์ดบริหารของฟิออเรนติน่า ถูกแบน 17 เดือน
- อันโตนิโอ จิเราโด้ ผู้อำนวยการของยูเวนตุส ถูกแบน 5 ปี
- เลโอนาร์โด้ เมอานี่ บอร์ดบริหารของมิลาน ถูกแบน 26 เดือน
- ปาสกวาเล่ โฟติ ประธานสโมสรเรจจิน่า ถูกแบน 13 เดือน
- ฟรังโก้ คาร์เรโร่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอล ถูกปรับ 80,000 ยูโร ข้อหารู้เรื่องแต่ไม่ยอมยับยั้ง
- ปิแอร์ลุยจิ ปาเร็ตโต้ หัวหน้าคณะผู้ตัดสิน ถูกแบน 2 ปีครึ่ง
- อินโนเซนติ มาซซินี่ รองประธานสหพันธ์ฯ ถูกแบน 5 ปี
- เจนนาโร่ มาซเซอี ผู้คัดเลือกผู้กำกับเส้น ถูกแบน 2 ปี
- มัสซิโม่ เด ซานติส ผู้ตัดสิน ถูกแบน 4 ปี

ก็จัดว่าโดนกันระเนระนาด ยูเวนตุสถึงขั้นตกชั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จำต้องปล่อยพวกตัวหลักอย่าง ฟาบิโอ คันนาวาโร่ กับ เอเมอร์สัน (ไปเรอัล มาดริดทั้งคู่) ลิลิยอง ตูราม กับ จานลูก้า ซามบร็อตต้า (ไปบาร์ซ่าทั้งคู่) ปาทริค วิเอร่า กับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช (ไปอินเตอร์ทั้งคู่) แต่ยังดีที่เก็บพวก เดล ปิเอโร่, เน็ดเว็ด, บุฟฟ่อน, เทรเซเก้ต์ หรือ คาโมนาเรซี่ ไว้กับทีมต่อไปได้ ก็เลยอยู่เซเรีย บีแค่ปีเดียวแล้วกลับมาได้



ยูเวนตุสกับแชมป์เซเรีย บี

แต่ถ้าจะถามว่าก็แล้วทำไมนักเตะถึงอยู่กันครบ ไม่เอาเปรียบชาวบ้านเกินไปเหรอ ด้วยความเคารพครับ นั่นมันฝีมือและผลงานของระดับผู้บริหารเอง นักเตะจะไปรู้เรื่องอะไรด้วย อาจจะข้องใจบ้างว่าทำไมกรรมการใจดีจัง แต่ก็ก้มหน้าก้มตาเล่นกันไป เคสนี้ไม่เหมือนกับเคสล้มละลายที่ปกติจะโดนปรับให้ไปเล่นในลีกระดับล่างสุด อย่างเคสของฟิออเรนติน่าหรือนาโปลี อันนั้นล้มละลายนะครับไม่ใช่เรื่องล็อกผล อย่าสับสน

แล้วเคสล้มบอลที่เคยมีมาก่อนอย่างเคสของมิลานในปี 1980 เค้าก็ปรับให้ตกไปเซเรีย บี เหมือนกันแล้วมิลานก็กลับมาเร็วแค่ปีเดียวเหมือนกัน

สำหรับเรื่องนี้คนที่ติดตามวงการฟุตบอลอิตาลีมานานคงพอจะเอะใจกันบ้างว่ามันน่าจะมีซัมธิงบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุม จริงๆผมว่ามีอีกหลายทีมนะ อย่างมิลานนี่ตัวดีเลย เพียงแต่ยูเวนตุสซวยโคตรๆที่โดนลากไส้ออกมาก่อน ถึงขนาดที่มอจจี้โอดครวญว่าเป็นการจัดฉากล้มยูเวนตุสของเขา มันก็เลยสื่อเป็นนัยๆว่าน่าจะมีอีหลายทีมที่ทำ อย่างอินเตอร์ก็โดนสอบทีหลังนะครับ แต่คดีหมดอายุความไปก่อน แถมตัวต้นเหตุอย่าง จานซินโต้ ฟาคเค็ตติ ก็ไม่อยู่ให้เล่นงานแล้ว เพราะแกเสียชีวิตไปซะก่อน

ว่ากันว่าสาเหตุที่มอจจี้ย่ามใจทำอะไรเกินขอบเขต น่าจะมาจากการที่ จานนี่ อันเญลลี่ อดีตเจ้าของทีมผู้ทรงอิทธิพลมากในอิตาลี เสียชีวิตไปในปี 2003 ซึ่งถ้าปู่จานนี่อยู่ มอจจี้ไม่มีวันกล้าทำอะไรเสื่อมเสียพรรค์นี้หรอกครับ

สำหรับเรื่องราวของยูเวนตุสพวกเขาก้มหน้ายอมรับชะตากรรมและชดใช้โทษจนหมดแล้ว ถึงตอนนี้พวกเขากลับมายึดครองวงการฟุตบอลอิตาลีได้อีกครั้งหลังจากการฟุบลงไปของสองทีมใหญ่จากมิลาน

แต่ กัลโช่โปลี ยังคงเป็นตราบาปติดตัว ลูชาโน่ มอจจี้ และสโมสรยูเวนตุสไปตลอดกาล

- Top Five Derby Della Mole Part One –



22 ตุลาคม 1967

หนึ่งสัปดาห์หลังอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พรากชีวิตอันรุ่งโรจน์ของ จิจี้ เมรอนี่ ปีกขวาตัวเก่งของโตริโน่ไปด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปีเท่านั้น

สร้างความช็อกและตกตะลึงไปทั่วตูริน เพราะเมรอนี่จัดเป็นผู้เล่นขวัญใจลำดับต้นๆของโตริโน่ในเวลานั้น และแน่นอนว่าทางฝั่งยูเวนตุสก็รู้จักเขาดี เพราะเขาเกือบจะย้ายข้ามฟากมาอยู่กับยูเว่อยู่แล้วแต่เกิดเปลี่ยนใจกะทันหันในช่วงหน้าร้อนของปีนั้นเอง

ก่อนเกมส์จะเริ่ม มีพิธีไว้อาลัยให้กับเมรอนี่ ท่ามกลางบรรยากาศอันโศกเศร้า เฮลิคอปเตอร์โปรยดอกไม้ลงบนฝั่งขวาของสนามอันเป็นตำแหน่งประจำการของเขา

ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าเพื่อเป็นการส่งดวงวิญญาณเพื่อนรักให้ไปสู่สุคติ เนสเตอร์ คอมบิน ศูนย์หน้าชาวอาร์เจนติเนี่ยน ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับเมรอนี่จัดการมอบของเซ่นด้วยแฮตทริก ในนาทีที่ 3 7 และ 60 ก่อนที่ อัลแบร์โต้ คาเรลลี่ ผู้ที่สวมเบอร์ 7 ของเมรอนี่ลงสนามในวันนั้นจะยิงปิดท้ายอีกประตูในนาทีที่ 67

เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เหล่าโตโร่จะมีให้แด่สหายรักของพวกเขา

Rest in Peace Luigi Meroni (1943-1967)




Juventus 0 –Tonio 4 22.10.1967



- Top Five Derby Della Mole Part Two –



27 มีนาคม 1983

ยูเวนตุส กำลังเบียดลุ้นแชมป์อยู่กับโรม่าอย่างเมามัน ก่อนการแข่งขันนัดนี้จะเริ่มพวกเขามีคะแนนตามหลังโรม่าอยู่ 3 คะแนน

มันไม่น่ายากกับการตบพวกโตโร่คว่ำเก็บสองคะแนนไล่จี้โรม่าต่อไป เมื่อ เปาโล รอสซี่ ตะบันประตูให้ยูเว่ออกนำตั้งแต่นาทีที่ 15 ก่อน มิเชล พลาตินี่ จะมาบวกเพิ่มอีกในนาทีที่ 65 2-0 ยูเว่นำห่าง

แต่เรื่องเหลือเชื่อก็บังเกิด โตริโน่ที่น่าจะนอนพะงาบๆหมอเตรียมจะปลดเครื่องช่วยหายใจอยู่แล้ว เอื้อมมือปลดสายน้ำเกลือแล้วลุกจากเตียงคนไข้มาหน้าตาเฉย ด้วยสามประตูจากเวลาแค่ 5 นาที

นาทีที่ 70 จูเซปเป้ ดอสเซน่า โหม่งจุดประกายก่อนเป็น 2-1 ก่อนที่ 2 นาทีต่อมาแนวรับยูเว่จะเสียท่าให้ลูกบอมบ์ของโตริโน่อีกครั้ง คราวนี้เป็น อเลสซานโดร โบเนซโซ่ โหม่งเข้าไป

คราวนี้เหล่ากระทิงก็รู้แล้วว่ายูเว่มีปัญหากับลูกเปิดริมเส้น พวกเขาก็เลยจู่โจมแบบเดิมอีกครั้ง และเป็นฟอร์ตูนาโต้ ตอร์ริซี่ วอลเล่ย์เต็มข้อเข้าไปในนาทีที่ 75

สถานการณ์พลิกผันเหลือเชื่อแค่นาที ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าโตริโน่ที่ใบ้รับประทานมาตลอดกว่า 70 นาทีจะมาองค์ลงช่วงสั้นๆแบบนี้ 3-2 แฟนยูเวนตุสแทบไม่อยากเชื่อกับสกอร์ที่พวกเขาเห็น

และมันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยูเว่ไล่โรม่าไม่ทันในปีนั้นด้วย

แสบได้โล่จริงๆ จำเอาไว้เลยนะ

Torino 3 – Juventus 2 27.03.1983



- Top Five Derby Della Mole Part Three –



14 ตุลาคม 2001

ต้นฤดูกาล 2001-02 ยูเวนตุสเปิดบ้านเจอกับโตริโน่

และมันเป็นอีกครั้งที่ยูเวนตุสพบว่าพวกเขาต้องเจอกับความแสบสันที่บรรจงมอบให้โดยเพื่อนบ้านตัวแสบ

อเล็กซ์ เดล ปิเอโร่ ยิงให้ทีมนำตั้งแต่ไก่โห่ในนาที่ 8 ก่อนที่ อิกอร์ ทูดอร์ จะมาบวกลูกที่สองเพิ่มในอีกสามต่อมา และเดล ปิเอโร่ ยิงประตูที่สองของเขาในเกมนี้นาทีที่ 24 3-0 ยูเว่นำขาดอีกครั้ง

พอๆเลิกๆ เกมขาดละ ปิดทีวีนอนกอดเมียดีกว่า เป็นความคิดที่ผิดพลาดมากครับ คุณกำลังจะพลาดของดีแล้ว

ครึ่งหลัง คริสเตียโน่ ลูคาเรลลี่ กองหน้าตัวเก่งของทีมเยือนยิงประตูจุดชนวนในนาทีที่ 57 ก่อนที่จะมาได้จุดโทษนาทีที่ 70 และเป็นมาร์โก้ แฟร์รันเต้ สังหารเข้าไปอย่างเฉียบขาด คราวนี้ยูเว่เริ่มหนาวๆร้อนๆแล้วว่าจะโดนทีเด็ดอะไรอีกหรือไม่

แล้วก็โดนจริงๆครับพี่น้อง ริคคาร์โด้ มาสเปโร่ ตัวสำรองที่โดนส่งมาในช่วง 10 นาทีสุดท้ายวิ่งเข้าไปซ้ำลูกโหม่งของแฟร์รันเต้เจ้าเก่าผ่านมือบุฟฟ่อนเข้าไป 3-3 โตริโน่ คัมแบ๊ก เหลือเชื่ออีกครั้ง

ยังครับ ดราม่ายังไม่หมด ก่อนหมดเวลาไม่กี่อึดใจ ยูเวนตุสได้จุดโทษ ถ้ายิงเข้าก็เกมโอเวอร์เลย

ไม่รู้ว่าฝั่งโตริโน่เล่นของอะไรไว้หรือไม่เพราะ มาร์เซโล่ ซาลาส เกิดอยากทำตัวเป็นพี่ตูนบอดี้สแลมด้วยการส่งลูกบอลออกแตะของฟ้าแถวๆเทือกเขาแอลป์โน่น

จบเกม 3-3 เป็นอีกครั้งที่ยูเวนตุสพบว่าเพื่อนบ้านของพวกเขานี่มันช่างน่ารำคาญเสียจริง



- Top Five Derby Della Mole Part Four –



24 กุมภาพันธ์ 2002

ฤดูกาลเดียวกันกับที่โตริโน่ทำแสบเมื่อต้นปี คราวนี้ถึงคราวพวกเขาเป็นเจ้าบ้านบ้าง

ดาวิด เทรเซเก้ต์ โหม่งให้ยูเว่นำตั้งแต่นาทีที่ 10 แล้วก็นำยาวจนถึงท้ายเกมเลยก่อนที่โตริโน่จะทำแสบในช่วงเวลาเดิมอีกครั้ง โดยได้ประตูตีเสมอในนาทีที่ 70 จาก มาร์โก้ แฟร์รันเต้ เจ้าเก่าเจ้าเดิม

แฟร์รันเต้จัดการฉลองประตูนี้ด้วยการทำมือแปลงร่างเป็นกระทิงไล่ขวิดผ้าแดงเลียนแบบมัสค็อตของสโมสร แต่เขาไม่รู้เลยว่าจะโดนเอาคืนในแบบบาดไส้ติ่ง

เบอนัว โกเอต์ ยิงให้โตริโน่พลิกแซง 2-1 ในอีกสิบนาทีต่อมา หรือพวกกระทิงจะทำแสบอีกรอบ

แต่เผอิญบทวันนี้สคริปต์พลาดไปหน่อย เพราะก่อนหมดเวลาแค่นาทีเดียว เอ็นโซ่ มาเรสก้า โหม่งประตูตีเสมอให้ยูเวนตุสสำเร็จเป็น 2-2

แล้วก็ถึงเวลาเอาคืน เอ็นโซ่ มาเรสก้า วิ่งฉลองชัยด้วยท่าประจำตัวของแฟร์รันเต้ ก็ไอ้ท่าที่ทำมือเป็นเขากระทิงนั่นแหล่ะครับ เอาคืนได้บาดลึกไปถึงผนังนิวเคลียส





- Top Five Derby Della Mole Part Five –



1 ธันวาคม 2012

ไม่ค่อยได้เจอกันบ่อยนักในช่วงหลังเพราะโตริโน่ไปคลุกฝุ่นในเซเรีย บี เสียหลายปี เป็นการพบกันครั้งแรกที่ ยูเวนตุส สเตเดี้ยม รังใหม่ของยูเวนตุส ที่เปิดใช้เมื่อปี 2009 แต่ตอนนั้นโตริโน่ยังอยู่ในเซเรีย บี อยู่

แต่การกลับมารอบนี้ดูเหมือนว่าโตริโน่จะลืมความแสบเอาไว้ในเซเรีย บี หมดแล้วเลยโดนยูเวนตุสไล่โขยกสนุกอยู่ฝ่ายเดียว

คามิล กลิก กัปตันโตริโน่ โดนไล่ออกตั้งแต่นาทีที่ 36 หลังจากไปแท็กเกิ้ลโหดเขาใส่ เอมมานูเอล จัคเครินี่ ปีกของยูเว่ ก็เลยโดนเจ้าบ้านที่ผู้เล่นมากกว่าบุกใส่อย่างเมามัน แต่ครึ่งแรกยัง 0-0 แม้ยูเว่จะได้จุดโทษในนาทีที่ 42 แต่ อันเดรีย ปีร์โล่ กลัวจะไม่สูสีหรืออย่างไร เลยซัดข้ามคานไปตามรอยซาลาสเมื่อ 11 ปีก่อน

แต่ครึ่งหลังโตริโน่ไม่โชคดีขนาดนั้นแล้ว เคลาดิโอ มาร์คิซิโอ สอยคนเดียวสองลูก นาทีที่ 57 และ 84 กับอีกหนึ่งประตูจาก เซบาสเตียน โจกวินโก้ ในนาทีที่ 67 ช่วยให้ยูเวนตุสจัดการหักเขากระทิงไป 3-0

แต่มันมีประเด็นหลังเกม เมื่อแฟนบอลโตริโน่ที่รับไม่ได้กับความพ่ายแพ้ย่อยยับของทีมจัดการอาละวาดระบายอารมณ์จนห้องน้ำของสนามได้รับความเสียหาย และเก้าอี้ยังพังไปส่วนหนึ่งจนเป็นเหตุให้ทีมโดนปรับไป 25,000 ยูโร เลยทีเดียว ส่วนยูเว่คู่กรณีก็โดนปรับไป 10,000 ยูโรเหมือนกันด้วยข้อหาแฟนบอลแสดงป้ายผ้าที่ไม่เหมาะสมต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ซูเปอร์ก้า



ข้อความแปลได้ว่า “พวกเราคือความภาคภูมิใจของตูริน ส่วนพวกแกมันก็แค่ความพินาศ”

เกมนี้ ซานโดร มัซโซล่า ลูกชายของวาเลนติโน่ มัซโซล่า หนึ่งในตำนานของกรันเด้ โตริโน่ ผู้ที่จบชีวิตลงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ที่เข้ามาชมเกมการแข่งขันด้วย กล่าวอย่างหดหู่ว่า

“นี่เป็นสัญญาณว่าประเทศของเรากำลังถึงจุดต่ำสุดจริงๆ ในทุกๆด้าน”

นี่ก็ไม่สมควรจะทำนะ ยิ่งต่อหน้าครอบครัวผู้สูญเสียด้วย แค่หมื่นยูโรน้อยไปหรือเปล่า?



- So close but So far For Turin –



ใกล้กันแค่เอื้อมแต่เหมือนแสนห่างไกล

ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวอันน่าเศร้า เหล่าโตโร่อดจะตั้งคำถามไม่ได้ว่า หากไม่เกิดความสูญเสียในครั้งนั้น มันน่าจะเป็นพวกเขาที่จะได้ผงาดล้ำค้ำโลกไม่ใช่ยูเวนตุสเหมือนดังเช่นทุกวันนี้

มันก็ไม่ถูกเสียทีเดียวหรอก หากคุณจะดูถึงที่มาที่ไป ในเมื่อยูเวนตุสมีเจ้าของทีมเป็นผู้มีอิทธิพลระดับประเทศ แล้วมันก็เหมือนองค์กรใหญ่ๆทั่วไป ที่มันจะมีคนนอกลู่นอกทางกันไปบ้าง แต่บังเอิญว่าคนที่ประพฤติตัวเช่นนั้นดันอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของสโมสร คนมันก็เลยมองว่าเป็นพวกมาเฟียในวงการฟุตบอล

เรื่องราวของ โตริโน่ เรื่องราวของ ยูเวนตุส มีส่วนคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแมนเชสเตอร์ เมื่อทีมสีแดงของเมืองได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่เฉพาะแค่ในเกาะอังกฤษ ส่วนทีมสีฟ้าของเมืองจะเป็นที่นิยมของชาวเมืองแท้ๆมากกว่า

หายนะของโตริโน่ ก็เหมือนกับหายนะของแมนฯยูไนเต็ด ที่หากฝั่งตรงข้ามต้องการจะยั่วอวัยวะเบื้องล่างให้กระดิกจะโดนคาถาเชิญขุดเอามาเล่น แต่จะเทียบกับจริงๆแล้ว แมนฯยูไนเต็ดจะไปคล้ายกับยูเวนตุสมากกว่า ในเมื่อแฟนยูเว่มักจะชอบด่าคู่อริร่วมเมืองว่า “ไอ้พวกชั้นต่ำ” หรือ “ไอ้พวกคนชั้นสอง” ส่วนโตริโน่ก็จะด่าสวนว่า “ไอ้พวกมาเฟีย” หรือ “ไอ้พวกขี้โกง”

ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้นั่งนึกเอาเองแต่คนที่เปรียบเทียบคือ แฟนบอลของแมนฯซิตี้ ต่างหาก

http://bluemoonnew.elasticbeanstalk.com/viewtopic.php?f=1&t=190182&sid=5758951fc3e954b3e8f75700352dacdd


ในเมื่อมันต่างกันขนาดนี้จะให้อยู่ร่วมเมืองกันเฉยๆได้อย่างไร มีหลายครั้งที่ความรุนแรงเข้าแทรกซึม ไม่ว่าจะเป็นการที่แฟนบอลของยูเวนตุสบุกรุกหลุมฝังศพของ จีจี้ เมรอนี่ ผู้ล่วงลับเพื่อระบายอารมณ์แค้นหลังจากทีมโดนยำเละ 4-0 ในปี 1967 หรือจะเป็นในฤดูกาล 2007-08 ที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างแฟนบอลทั้งสองฝั่งจนมีผู้บาดเจ็บถึงกว่า 40 รายและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปห้ามเหตุโดนลูกหลงเจ็บไปอีกสอง รถยนต์ ถังขยะ ถูกเผา ร้านค้าถูกพังเสียหายเพื่อระบายโทสะ

สำหรับ โตริโน่ เอฟซี แล้ว ความรุ่งเรืองดูเหมือนจะเป็นความทรงจำอันเลือนรางที่เหมือนไกลแสนไกล

แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาจำได้ไม่มีวันลืม นั่นคือความเกลียดชังที่มีต่อคู่อริมหาอำนาจของโลกรายนี้

มันอาจจะเหมือนเป็นการต่อสู้กันของกระทิงตัวจ้อยกับม้าลายตัวมหึมา แต่หลายต่อครั้งที่กระทิงจนตรอกตัวนี้จะขวิดคู่ต่อสู้จนไส้ไหลกลับบ้านแทบไม่ทัน

และนั่นมันคือเสน่ห์ของ “ดาร์บี้ เดลลา โมเล่” แห่งตูริน



Hate 2 Hate

Juventus VS Torino “Derby Della Mole”

พบกันทั้งสิ้น 188 ครั้ง ยูเวนตุสชนะ 79 ครั้ง โตริโน่ชนะ 55 ครั้ง เสมอกัน 54 ครั้ง

ยูเวนตุสทำได้ 273 ประตู โตริโน่ทำได้ 232 ประตู

พบกันครั้งล่าสุด: ยูเวนตุส 1 – โตริโน่ 0 23 กุมภาพันธ์ 2014 รายการ: เซเรีย อา

พบกันครั้งต่อไป: วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน 2014 รายการ: เซเรีย อา เจ้าบ้าน: ยูเวนตุส

ที่มา

http://it.wikipedia.org/wiki/Divisione_Nazionale_1926-1927
http://it.wikipedia.org/wiki/Serie_A_1948-1949
http://www.thehardtackle.com/2010/high-five-five-revolutionary-teams-you-didnt-know-about/
http://it.wikipedia.org/wiki/Grande_Torino
http://it.wikipedia.org/wiki/Tragedia_di_Superga
http://www.statistichesulcalcio.com/campionati/Italia/Serie-A_71/anno_45.html
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/europe/4409501.stm
http://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/taunts-and-trouble-mar-juves-attempts-to-deal-with-the-past-487268.html
http://topicstock.pantip.com/supachalasai/topicstock/2011/09/S11091127/S11091127.html
http://topicstock.pantip.com/supachalasai/topicstock/2011/07/S10828518/S10828518.html
http://calcioitaliascandal.blogspot.com/2006/07/faq-calciopoli-scandal-2006.html
http://it.wikipedia.org/wiki/Calciopoli
http://www.goal.com/en/news/10/italy/2010/04/09/1870791/goalcom-calciopoli-debate-it-is-about-time-juventus?ICID=AR_RA_2
http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/europe/4993482.stm
http://www.football-lineups.com/tourn/Serie_A_2004-2005/fixture/
http://www.worldfootball.net/schedule/ita-serie-a-2004-2005-spieltag/38/
http://qn.quotidiano.net/sport/2008/10/23/127712-juve_arriva_carica_derby_della_mole.shtml
http://www.gazzetta.it/Calcio/Primo_Piano/2008/10/23/juvetoro.shtml
http://www.rainews.it/it/news.php?newsid=172182
http://www.foxnews.com/sports/2012/12/03/juventus-fined-13000-after-fans-unveil-banner-offending-14-torino-plane-crash/
http://www.repubblica.it/sport/calcio/serie-a/juventus/2012/12/03/news/agnelli_striscione-47974763/

คลิปไฮไลท์การพบกันครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี มีบทสัมภาษณ์ของเอ็ดการ์ ดาวิดส์ อดีตมิดฟิลด์ชื่อดังของยูเว่แถมมาด้วยตอนพี่แกมาให้กำลังใจทีมเก่า



ที่มา : http://pantip.com/topic/32901155

บทความแรงนะ คนเขียนดันเป็นแฟนมิลาน




Gol Sur 1986
เข้าร่วม: 01 Jun 2009
ตอบ: 10069
ที่อยู่: www.juvethailand.com
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:00 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
นัด3-3นี่ดูสดๆเลย โคตรหงุดหงิดเอล มาทาดอร์เลยตอนนั้นซื้อมาไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเลยแถมยังมายิงไม่เข้าอีก

เกมที่มาเรสก้าทำท่ากระทิงก็ได้ดูสะใจชิบถึงแค่เสมอก็เถอะ ยุคนั้นแฟรันเต้นี่โคตรตัวแสบเลย
#GrazieMaestro
เข้าร่วม: 09 Jan 2011
ตอบ: 11814
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:08 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
เม้นก่อนอ่าน
0
0



เข้าร่วม: 31 Jan 2014
ตอบ: 33
ที่อยู่: Thailand
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:18 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ข้อมูลสุดยอดมากกกก[/b]
0
0
เข้าร่วม: 12 Aug 2014
ตอบ: 5307
ที่อยู่: มลฑณซานตง
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:20 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
บทความดีๆ แบบนี้ จะไม่ให้แผล็บก็กะไรอยู่ เอาไป 1 แผล็บ
0
0




เข้าร่วม: 24 Dec 2009
ตอบ: 11337
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:25 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
โอ้วโหว อ่านเพลินเบย เอาไปเบย 30 แผล่บ ครับ

ทำไมมันกดได้แค่ 3 เองฟร่ะ

เข้าร่วม: 05 May 2014
ตอบ: 4281
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:31 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ข้อมูลสุดๆ
0
0
เข้าร่วม: 05 May 2014
ตอบ: 4281
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:29 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ข้อมูลสุดๆ
0
0
เข้าร่วม: 27 May 2010
ตอบ: 4683
ที่อยู่: ฺฺ [ stadio olimpico ]
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:34 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ตาย เกมล่าสุดที่ผมเพิ่งแพ้ ซาสซู ไป จะรอดมั้ยเนี่ย แต่เท่าที่ดูได้ชม ดาเมี่ยนแล้วบอกตรงๆเลยว่า แกเติมเกมรุกโคตรสแด่วเลย
0
0

เข้าร่วม: 30 Oct 2014
ตอบ: 2253
ที่อยู่: โลกใบเล็กๆ
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 5:41 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ยาวนะ แต่ไม่รู้ทำไม ตามอ่านจนจบ
0
0
จะอยู่กับความฝัน หรือ จะทำตามความฝัน

คนเราจะมีความสุขมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า "มีเท่าไร" แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเรา "พอเมื่อไร"
เข้าร่วม: 29 Dec 2007
ตอบ: 2404
ที่อยู่: หน้าจอคอม
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 6:24 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ขอบคุณสำหรับบทความครับ นอนอ่านนานมาก นักเตะโตริโน่ชุดที่เครื่องบินตกชุดนั้น ขนาแฟนๆยูเว่และแฟนบอลในอิตาลียังยอมรับเลยว่าทีมนั้นคือทีมที่ดีสุดของอิตาลีตลอดกาล จำได้ว่าอาผมเคยร้องเพลงที่เค้าแต่งเพื่อระลึกถึงทีมและเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ฟังอยู่ แต่จำไม่ได้ว่าเพลงชื่ออะไร.....

ปล. เรื่องเฟียตโดนซื้อกิจการ ผมว่าเฟียตน่าจะไปซื้อเค้ามากกว่านะครับ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/global/20140122/557913/%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html
เข้าร่วม: 07 Sep 2009
ตอบ: 5385
ที่อยู่: มหาสารคาม ยูไนเต็ด
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 6:48 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
มาเต้ม ข้อมูลล้วนๆ
0
0
!^e-D3wzapaDanc^!ปูพิฆาต

เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 4522
ที่อยู่: ทางช้างเผือก
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 6:57 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
นั่นสิ ถ้าไม่มีเหตุการณ์เครื่องบินตกนี่ ไม่รู้ใครจะใหญ่สุดในตูรินนะ

ข้อมูลได้ความรู้มากครับ ครอบคลุมหมดทั้งเฮเซล ก่อนสงครามโลก กัลโช่โปลี โศกนาตกรรมของทั้ง2ฝั่ง ความเป็นมา

ขอบคุณมากครับ ตั้งใจอ่านเลยผม
0
0



เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 1086
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Tue Nov 25, 2014 9:14 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
อย่างยาวเลย แต่ก็ไม่เลว เอาไป 1 แผล่บ
1
0
เข้าร่วม: 23 Jun 2010
ตอบ: 581
ที่อยู่: @ที่นั่งสำรองแมนยู
โพสเมื่อ: Wed Nov 26, 2014 1:41 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ป๊าดมู้นี้ความรู้ประวัติศาสตร์ล้วนๆ กดแผลบทันที
0
0
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 351
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Nov 28, 2014 8:52 am
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ชอบบ
0
0
สูงสุดสู่สามัญ Manchester United Supporter


ความเป็นครอบครัวของยูไนเต็ด ..กำลังหายไป
เข้าร่วม: 05 Apr 2007
ตอบ: 763
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Nov 28, 2014 3:05 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
ไม่แปลกใจเลยว่า พลาตินี่ ถึงเกลียดทีมจากอังกฤษ ก็ตัวเองเจอทีมจากอังกฤษอย่างลิเวอร์พลู ก่อเหตุโศกนาฏกรรม กับแฟนบอลทีมที่ตัวเองลงเล่น อยู่กับตา

จำได้จากเหตุการณ์นี้ทีมจากอังกฤษ ถูกแบนยาวห้ามร่วมการแข่งขันฟุตบอลยุโรป เอฟเวอร์ตันปีต่อมาเป็นแชมป์ลีก เลยซวยอดเล่นไปเพราะเพื่อนร่วมเมืองก่อเหตุขึ้น
0
0
------------------
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 2883
ที่อยู่: Chuo,Osaka,Japan
โพสเมื่อ: Sun Nov 30, 2014 2:38 pm
[RE: ดาร์บี้เมืองอุตสาหกรรมแห่งอิตาลี ตูริน ดาร์บี้]
จขมอ่านจบยัง หรือเอามาเรียกแผล่บเเฉยๆ
0
0