จุลพันธ์รับไทยยังเจรจาภาษีUSAไม่จบ
จุลพันธ์ เผยไทยเจรจาภาษีศุลกากรตอบโต้กับสหรัฐฯ ไม่จบง่าย แต่มีสัญญาณบวก หวังเลื่อนช่วงเวลาบังคับใช้มาตรการ พร้อมย้ำความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เชื่ออำนาจต่อรองไม่ด้อยว่าเวียดนาม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ว่า แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย แต่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาในหลายระดับ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจไม่จบง่าย 100% อาจจะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกันต่อ รวมถึงเชื่ออีกว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ และจะมีการเลื่อนกรอบระยะเวลาที่จะมีผลกระทบออกไปอีก ส่วนอัตราภาษีสรุปสุดท้ายจะออกมาอยู่ที่อัตราเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เชื่อมั่นว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี
ส่วนผลการเจรจาสหรัฐฯ และเวียดนาม ไม่อยากให้ตกใจและยอมรับว่าน่าห่วงกับเวียดนาม เนื่องจากอัตราที่เวียดนามได้ คือเวียดนามจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% ขณะที่สินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าเวียดนามจะได้อัตราภาษี 0% อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า เทียบกับไทยไม่ได้ เพราะหากมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างแตกต่างจากไทยที่มีสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน แม้เรื่องนี้จะใช้ชั่งน้ำหนักในการเจรจามากไม่ได้ แต่ก็เป็นความหวังหนึ่ง
“ฝ่ายไทยมีความหวังว่า ประเทศไทยจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีที่สุด หรือจุดที่ก่อนจะมีการเก็บภาษีที่ 10% หรือไม่ แต่จากการติดตามผลการเจรจาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม พบว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง ต้องยอมรับว่ามีความกังวล” รมช.คลัง กล่าว
ทั้งนี้เมื่อคืนนี้ (3 ก.ค. 68) ทีมไทยแลนด์ โดยการนำของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการสำคัญในการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอเจรจาลดการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงจากเดิมในอัตรา 36% โดยที่ผ่านมา ไทยยื่นข้อเสนอไปแล้วและมีสัญญาณตอบรับที่ดีจากสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอฟังว่า ผลเจรจาเมื่อคืนที่ผ่านมาจะมีข่าวดีหรือไม่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มองในกรณีเลวร้ายว่าสหรัฐฯ จะกลับไปเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่อัตรา 36% อยู่แล้ว แต่หากการเจรจาไม่เป็นผล และสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเป็น 36% ไทยก็เตรียมกลไกรองรับไว้แล้ว รัฐบาลรจัดสรรเม็ดเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การรักษาการจ้างงาน และการประคับประคองธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน
https://www.matichon.co.th/economy/news_5260480