การเมืองเก่า vs การเมืองใหม่
ขออนุญาตเอามาตั้งกระทู้ใหม่แล้วกันครับ เพื่อสร้างความเข้าใจ อ้างอิงจากบทความของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นโดย อ.ปิยบุตร เพื่อใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้ง
https://futureforwardparty.org/?p=293
จะเห็นว่าหัวข้อส่วนใหญ่เกี่ยวกับวิธีการทำงานของพรรคการเมือง ที่มาของพรรคการเมือง และโครงสร้างของพรรคการเมือง โดยมีเพียงข้อที่ 1. ข้อเดียวที่เกี่ยวกับการโจมตีกันด้วยการแซะ การวิจารณ์ การด่า ซึ่งในคำอธิบายระบุไว้ดังนี้
การเมืองแบบใหม่ – การเมืองที่สร้างสรรค์ มุ่งเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศ ถกเถียงอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล มองฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่แข่งทางการเมืองว่าฝ่ายใดจะเอาชนะใจประชาชนได้ มิใช่ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง
การเมืองแบบเก่า – การเมืองที่จ้องทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สาดโคลน มุ่งโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามโดยไม่เสนออะไรใหม่ และไม่คำนึงถึงวิธีการ ใช้ทุกวิธีในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามออกไป
จะเห็นว่าความแตกต่างในส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องของการไม่โจมตีคู่แข่งทางการเมือง แต่อยู่ที่วิธีการในการโจมตีและจุดประสงค์ในการโจมตี
ระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มุ่งเน้นในการให้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์แก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นภายใต้ระบอบนี้ การวิจารณ์ การแซะ การด่า ตราบใดที่ยังอยู่ในขอบเขตของกฏกติกา กระบวนการเหล่านี้จึงเป็นกระบวนการปกติในการคัดกรองและตรวจสอบผู้ที่(จะเข้ามา)ถือครองอำนาจรัฐ
การเมืองใหม่ไม่ใช่การเมืองที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ทุกคนเป็นคนดีมีความรักใคร่สามัคคี ร่วมด้วยช่วยกันเสนอแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาบ้านเมือง แนวคิดแบบนี้ไม่ได้สอดคล้องอะไรเลยกับระบอบเสรีประชาธิปไตย ระบอบการปกครองไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเครื่องมือในการวางแบบแผนสังคม กำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกัน และตกลงจัดสรรผลประโยชน์ของประเทศ
ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมามากกว่าจำนวนนิ้วมือ และอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการลูกผสมมากกว่าประชาธิปไตยจริง ๆ สิ่งที่สังคมไทยขาดไม่ใช่เรื่องของความสามัคคีหรือจริยธรรมความดี แต่คือกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และการตระหนักถึงอำนาจอธิปไตยและเจตจำนงค์ของประชาชน
นั้นคือสิ่งที่การเมืองแบบใหม่ควรสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาในสังคมไทย