ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 2298
ที่อยู่: Bangkok Metropolis
โพสเมื่อ: Thu Aug 22, 2019 22:00
ถูกแบนแล้ว
การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา
credit เพจ วิพากษ์ประวัติศาสตร์


การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา


ช่วงนี้มีบทความทางประวัติศาสตร์นำเสนอเรื่องการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุทธยา ทำให้ความสนใจเรื่องการเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง ว่าพม่าอาจไม่ได้เผาทำลายกรุงศรีอยุทธยาอย่างหนักเหมือนที่เข้าใจกัน และความเสียหายหลายส่วนก็เกิดขึ้นภายหลังสงครามกับพม่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม มีบางแห่งให้ข้อมูลพาดหัวทำนองว่า “พม่าไม่ได้เผาอยุธยา” บ้าง หรือกล่าวอ้างหลักฐานของไทยเช่นพงศาวดารสร้างภาพว่าพม่าเผาทำลายกรุงว่าเป็นการ “เพิ่มบรรยากาศชาตินิยมเข้าไปแบบนิยาย และด้วยแนวคิดทางการเมืองแบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่เพิ่งรับจากตะวันตกบ้าง” แต่กลับไม่ได้อ้างอิงจากหลักฐานฝั่งพม่าเองที่ยืนยันไว้ตรงกับหลักฐานฝั่งไทยว่ากองทัพพม่าได้เผาทำลายกรุงศรีอยุทธยาอย่างหนัก

นอกจากนี้ ผู้เขียนพบว่าในโซเชียลมีเดียเช่นทวิตเตอร์หรือกลุ่มประวัติศาสตร์ในเฟซบุ๊ค มีหลายคนที่เหมือนจะไม่ได้อ่านบทความการขุดค้นโดยละเอียด และเผยแพร่ข้อมูลว่าพม่าไม่ได้เผากรุงจำนวนมาก ซึ่งไม่ตรงกับที่บทความนำเสนอ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวกับการเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยามาให้ได้ศึกษากันครับ


๏ ความเสียหายก่อนเสียกรุง

ก่อนกรุงศรีอยุทธยาจะแตกในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระนครถูกกองทัพพม่าปิดล้อมต่อเนื่องหลายเดือน ความเสียหายจึงเกิดขึ้นในบริเวณรอบนอกพระนครเป็นหลัก มีหลักฐานว่าพม่าได้โจมตีเผาทำลายบ้านเรือนและอาคารรอบนอกพระนครหลายแห่ง เช่น ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาระบุว่าพม่ายาเข้ามาเผาพระที่นั่งเพนียดและตั้งค่ายขึ้นที่เพนียดกับตามวัดต่างๆ และมีการรื้ออิฐตามวัดต่างๆ มาสร้างป้อมขึ้น สอดคล้องกับพงศาวดารพม่าที่ระบุว่ามีการสร้าง “ค่ายเมือง” สำหรับปิดล้อมพระนครถึง ๒๗ แห่ง ค่ายขนาดใหญ่มีกำแพงก่อด้วยอิฐมั่นคง

จนกระทั่งเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๙ ประมาณ ๓ เดือนก่อนเสียกรุง เกิดไฟไหม้ใหญ่กลางพระนคร สร้างความเสียหายมากกว่าหมื่นหลังคาเรือน ตามที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาระบุว่า

"ครั้นถึง ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๑๒๘ ปี เพลาดึกเที่ยงคืน เกิดเพลีงในพระนครไหม้ตั้งแต่ท่าทราย ติจลามมาถึ่งตะพานช้าง คลองประตูเข้าเปลือก แล้วข้ามมาติจป่ามพร้าว แลป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบุณะ วัดพระศรีรัตนมหาทาตุ เพลีงไปหยุดเพียงวัดฉัดทัน คิดกุฎิวิหารแลบ้านเรือนที่เพลีงไหม้ครั้งนั้นมากกว่าหมื่นหลัง"


ไฟไหม้ครั้งนั้นรุนแรงมาก จนพระราชพงศาวดารบันทึกว่าพระยาตากที่ตีฝ่าออกไปจากพระนครในวันที่เกิดเพลิงไหม้ ยังมองเห็นได้เมื่อยกทัพมาถึงสามบัณฑิต (ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ห่างจากพระนครประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

“พอบรรลุถึงสำบัณฑิตเพลาเที่ยงคืน ๒ ยามเศษ เพลิงเกิดในกรุงเทพฯ ไหม้แต่ท่าทรายตลอดถนนหลวงไปจนวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจโชตนาการ ครั้งพระองค์ได้ทอดทัศนาเห็นก็สังเวชสลดพระทัย ด้วยอาลัยถึง สมณพราหมณาจารย์ขัติวงศานุวงศ์ แลเสนาพฤฒามาตย์ราษฏร และพระบวรพุทธศาสนา มิใคร่จะไปได้ ดุจมีใจย่อหย่อนจากอุตสาหะ ซึ่งตั้งปฏิธานปรารถนาว่าจะแก้กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบวรพุทธศาสนา เทพดาเจ้าจึงบันดาลให้สมฤดีมีกำลังกรุณาอุตสาหะ”

พระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ในครั้งนั้น สาเหตุจึงเป็นไปได้หลายประการ เช่น อุบัติเหตุ วางเพลิง ฯลฯ อย่างไรก็ตามได้สร้างความเสียหายให้กับพระนครอย่างมาก

จดหมายของสังฆราชปีแยร์ บรีโกต์ (Pierre Brigot) ประมุขมิสซังสยาม ผู้อาศัยในกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่ก่อนเสียกรุง ส่งถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส (Missions Etrangères de Paris) รายงานว่าใน พ.ศ. ๒๓๐๙ กองทัพพม่าได้เผาห้างฮอลันดา ต่อมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม พม่ายกไปเผาค่ายของพวกเข้ารีตและไฟได้ลุกลามไปถึงวัดเข้ารีต

จดหมายอีกฉบับรายงานว่าห้างฮอลันดาซึ่งเป็นสถานที่ตั้งค่ายของชาวจีนถูกเผาจนเหลือแต่กำแพง วัดแซงโดมินิกถูกไฟไหม้ ส่วนวัดเซนปอลไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ แต่คนจีนและคนไทยได้ลักลอบไปขโมยของจนหมดรวมถึงไม้เครื่องบนหลังคา วัดและโรงเรียนสามเณรก็ถูกเผา นอกจากนี้ “พม่าได้เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือน ทุบต่อยเข้าของและฆ่าผู้ฟันคนทั่วไปหมด”


๏ ความเสียหายเมื่อเสียกรุง

ทั้งหลักฐานของฝั่งไทย พม่า และชาวต่างประเทศอื่นๆ ยืนยันไว้ตรงกันว่าเมื่อกองทัพพม่าบุกเข้ากรุงศรีอยุทธยาได้ ได้เผาทำลายเมืองอย่างหนัก

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระใน พ.ศ. ๒๓๓๘ สมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารฉบับเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงสงครามเสียกรุง กล่าวไว้อย่างย่นย่อว่า

“ครั้นณวันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุรนพศก เพลาบ่าย ๔ โมง พะม่ายิงปืนป้อมสูงวัดการ้อง วัดแม่นางปลื้ม ระดมเข้ามาในกรุง แล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพงครั้นเพลาค่ำกำแพงซุดลงหน่อยหนึ่ง พะม่าก็เข้ากรุงได้ เข้าเผาพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วกวาดเอากษัตริย์ขัตติยวงศ์ แลท้าวพระยาเสนาบดี อพยพครอบครัวทั้งปวงพาไป”

พระราชพงศาวดารที่ชำระรุ่นหลัง เช่น พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน ซึ่งชำระโดยสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสผู้เป็นศิษย์ ชำระเสร็จราวรัชกาลที่ ๓ ได้ขยายความว่า

"ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก ถึ่ง ณะ วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เปนวันเนาสงกรานวันกลาง พม่าจุดเพลีงเผาฟืนเชื้อใต้รากกำแพง ตรงหัวรอริมป้อมมหาไชย แลพม่าค่ายวัดท่าการ้อง วัดนางปลื้ม แลค่ายอื่นๆ ทุกค่าย จุดปืนใหญ่บนป้อมแลหอรบยิงระดมเข้ามาในกรุงพร้อมกัน ตั้งแต่เพลาบ่าย ๓ โมงจนพลบค่ำ ภอกำแพงที่จุดเชื้อฟืนเผารากนั้นทรุดลงน่อยหนึ่ง ถึ่งเพลา ๒ ทุ่ม จึ่งให้จุดปืนสัญาขึ้น พลพม่าทุกด้านทุกกองซึ่งเตรียมไว้ก็เอาบันไดพาดที่กำแพงทรุดแลที่อื่นๆ รอบพระนครพร้อมกัน ก็ปีนเข้ากรุงได้ในเพลานั้น แล้วจุดเพลีงขึ้นทุกตำบล เผาเย่าเรือนอาวาด แลพระราชวังทั้งปราสาทราชมณเฑียร แสงเพลีงสว่างดั่งกลางวัน แล้วเทียวไล่จับผู้คนค้นริบเอาทรัพเงีนทองสิ่งของทั้งปวงต่างๆ"


นอกจากเอกสารประเภทพระราชพงศาวดาร ยังมีหลักฐานอื่นๆ ที่ระบุว่าพม่าเป็นฝ่ายเผาทำลายเมือง เช่น จดหมายของพระยาพิฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมพระคลังส่งไปถึงข้าหลวงใหญ่บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Verenigde Oostindische Compagnie; VOC) ที่เมืองปัตตาเวีย ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒) ได้เล่าเหตุการณ์ในสยามว่า

“Phiatak is met enige manschappen in de stadt (die door de vijanden verbrand en geplunderd, en weer verlaten was) gekomen, waar zich alle de in de bossen gevluchte personen bij hem hebben vervoegd, en hem tot hun heer en gebieder hebben gekozen en erkend.”

(พญาตากและไพร่พลจำนวนหนึ่งได้เข้าไปยังกรุง (ซึ่งถูกเผาทำลายและปล้นสดมภ์โดยข้าศึกก่อนจะถูกทิ้งร้างไป) ซึ่งผู้คนที่หลบหนีเข้าป่าได้มาเข้าร่วมกับท่าน และพร้อมกันสมมติท่านขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน)


สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย งานนิพนธ์ภาษามคธของสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน (ในเวลานั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม) ซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัย แต่งใน พ.ศ. ๒๓๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๑ มีความว่า

“พระนครนั้น ก็ฉิบหายตามกาลอย่างใด ความฉิบหายอย่างใด สิ้นอายุอย่างใด สาปสูญโดยประการใด (พม่าข้าศึก) จับเอาประชาชนทั้งหลายมีพระราชวงศ์เปนต้นด้วย เก็บทรัพย์ทั้งหลายมีประการเปนอันมากด้วย แล้วเผาพระนครแลปราสาทสามองค์ แลพระอารามวิหารเสียด้วย แล้วทำลายกำแพงเสียด้วย แล้วทำพัศดุของกรุงอโยธยนคร มีพระธรรมแลพระวินัย คือไตรปิฎกเปนต้น ให้พินาศเสียแล้ว ก็กลับไปสู่บ้านเมืองของตน”


เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้เป็นบุคคลร่วมสมัย ก็กล่าวถึงกองทัพพม่าว่า “ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป“

หลักฐานฝ่ายพม่า ก็ยืนยันไว้ตรงกับหลักฐานฝั่งไทยว่ากองทัพพม่าได้เผาทำลายกรุงอย่างหนักในสงครามเสียกรุง

มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า คือพงศาวดารฉบับหอแก้ว (Hmannan Mahayazawin Dawgyi) ของพม่าที่แปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหม่องต่อ แต่ไม่ได้แปลครบถ้วนตามต้นฉบับ ได้กล่าวถึงการกระทำของกองทัพพม่าในช่วงเสียกรุงว่า

“ครั้นถึง ณ วัน ๕ ๑๑ฯ ๕ จุลศักราช ๑๑๒๙ พลทหารแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็เข้าในกำแพงเมืองกรุงศรีอยุทธยาได้ เมื่อเข้าในกำแพงเมืองได้นั้น พลพม่าทั้งปวงก็เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือนของพลเมืองแลวัดวาอารามเสียสิ้น”


เทียบกับ Hmannan Mahayazawin Dawgyi ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยหลวงไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน สุพินทุ - U Aung Thein) ข้าราชการชาวพม่าในกรมป่าไม้สมัยรัชกาลที่ ๕ ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม (Journal of The Siam Society) มีความใกล้เคียงกันว่า

“As soon as the Burmese gained a footing in the city they set fire to the houses, public building, monasteries, and other religion edifices.”

(เมื่อพม่าเข้าพระนครได้ ก็ได้จุดไฟเผาบ้านเรือน อาคารสาธารณะ วัดวาอารามและสิ่งปลูกสร้างทางศาสนาทั้งปวง)


วรรณกรรมร่วมสมัยของพม่าอีกชิ้นชื่อ Yodayar Naing Mawgun (บันทึกชัยชนะเหนืออยุทธยา) ผลงานประพันธ์ของลักไวนรธา (Letwe Nawrahta) ขุนนางพม่าซึ่งมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับสงครามเสียกรุงศรีอยุทธยา และสันนิษฐานด้วยว่าน่าจะได้เข้าร่วมในสงครามนี้เพราะได้บรรยายรายละเอียดถึงสงครามครั้งนี้ในงานประพันธ์ของตนอย่างละเอียด ตั้งแต่การเคลื่อนทัพลงมาถึงรายละเอียดการตั้งค่ายล้อมกรุง ซึ่งก็ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำลายเมืองอยุทธยาไว้ด้วยในตอนที่ ๕ บทที่ ๓๔ ความว่า

“Before the arrival of the Myanmar armies, the Siamese King Ekathat, who was merely of Sawbwa rank, proclaimed loudly that he ruled in the realm of human beings just like Saka ruled in Tavatimsa. When he tried to escape, no one recognized him as king, and he was hit and killed by a bullet. Because Ayutthaya suffered in the same way as everything on earth is scorched by the intense heat of seven suns which are said to rise nearing the extinction of the world, the palace, buildings with tiered roofs, and even brick houses were inflamed by fire and overwhelmed with smoke.

(เมื่อก่อนกองทัพพม่าจะเข้ากรุง พระเจ้าเอกทัศน์พระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งทรงมีศักดิ์เป็นเจ้าฟ้า ทรงอวดอ้างว่าพระองค์ทรงปกครองมนุสสภูมิประดุจท้าวสักกะครองดาวดึงส์ เมื่อพระองค์ทรงพยายามจะหลบหนี ไม่มีผู้ใดสามารถจดจำพระองค์ได้ และพระองค์ทรงต้องกระสุนปืนสวรรคต กรุงศรีอยุทธยาเปรียบเสมือนโลกภูมิที่ถูกเพลิงผลาญจากความร้อนมหาศาลของพระอาทิตย์เจ็ดดวงที่ปรากฏเมื่อจะใกล้จะสิ้นโลก พระราชวัง อาคารที่มุงหลังคากระเบื้อง แม้แต่อาคารก่ออิฐล้วนถูกเผาไหม้ด้วยเปลวเพลิงและปกคลุมด้วยหมอกควัน)

แม้ว่าเนื้อหาอาจมีการใช้โวหารขยายความตามประสากวี แต่เนื้อความก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักฐานพม่าชิ้นอื่นที่ระบุตรงกันว่าเมื่อเสียกรุงพม่าได้การเผาทำลายทั้งพระราชวังและอาคารอื่นๆ ในตัวเมืองอย่างหนัก

นอกจากหลักฐานของไทยและพม่าแล้ว หลักฐานร่วมสมัยของชาวฝรั่งเศสก็ได้กล่าวถึงการเผาทำลายเมืองของพม่าอย่างหนักไว้เช่นเดียวกัน ปรากฏในจดหมายของสังฆราชบรีโกต์ ระบุเหตุการณ์ในช่วงเสียกรุงว่า

“เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายเข้าของอยู่ ๑๕ วัน และได้ฆ่าผู้ฟันตนไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็ฆ่าเสียสิ้น แต่พวกพม่าก็พยายามฆ่าพวกพระสงฆ์มากกว่า และได้ฆ่าเสียนับจำนวนไม่ถ้วน ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ ในตอนเช้าวันเดียวเท่านั้นกว่า ๒๐ องค์ เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนในพระนครตลอดจนพระราชวังและวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าจึงเตรียมการที่จะยกทัพกลับไป พวกพม่าได้ยกทัพออกจากกรุงเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๖๗ (พ.ศ. ๒๓๑๐) บาดหลวงแบนาดีโนได้ตกน้ำตายใต้บางกอก บาดหลวงเยซวิตได้ตายที่ข้างช้าง บาดหลวงอีซีดอร์ได้หนีไปที่เมืองคันเคา ซาอานา ซิโอกับภรรยาถูกพม่าเก็บทรัพย์สมบัติจนหมดตัว ลงปลายที่สุด ก็อดอาหารตาย ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นได้หนีไปบางกอกพร้อมด้วย พวกเข้ารีด ๓๐๐ คน แล้วได้ลงเรือจีนไปยังเมืองคันเคาต่อไป”

หากข้อความที่ระบุว่า “พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายเข้าของอยู่ ๑๕ วัน” เป็นความจริง (จริงๆ ไม่ควรถึง ๑๕ วันเนื่องจากเสียกรุงในวันที่ ๗ แต่ถอนทัพกลับในวันที่ ๑๕ มีเวลาอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์) ก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่พม่าตั้งทัพอยู่ตั้งแต่ช่วงที่ตีกรุงได้จนถึงถอนทัพกลับ ก็น่าจะมีการเผาทำลายเมืองมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้งตลอด ไม่น่าเผาแค่สถานที่สำคัญเท่านั้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นควรจะมากพอสมควร โดยเฉพาะบ้านเรือนที่เป็นเครื่องไม้หรือเครื่องผูก ก็คงถูกไฟเผาทำลายโดยง่ายจำนวนมาก

หลักฐานชั้นต้นอีกชิ้นคือคำให้การของ Anthony Goyaton ชาวอาร์เมเนีย อดีตหัวหน้าประชาคมชาวยุโรปในสยาม กับ Seyed Ali นักบวชชาวอาหรับ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์สงครามเสียกรุงโดยตรง (ทั้งสองถูกพม่าจับเป็นเชลย แต่หลบหนีมาได้) บอกเล่าแก่ P. van der Hoort เจ้าท่าชาวดัตช์ ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ. ๒๓๑๑) ได้รายงานความเสียหายครั้งนั้นว่า

“...จนกระทั่งเดือนมีนาคม ๑๗๖๗ ในเวลานั้นพระนครถูกล้อมด้วยน้ำขึ้น พม่าได้ยกไปยังพระนครในเวลากลางคืนโดยใช้เรือ ใช้บันไดไต่ขึ้นกำแพงและขว้างหม้อดินบรรจุดินปืนไล่ผู้รักษาเมืองออกไปจากกำแพงเมือง เมื่อยึดครองพระนครได้ พวกเขาได้ทำลายเมืองจนกลายเป็นเถ้าถ่าน”

อย่างไรก็ตามกองทัพพม่าก็ไม่ได้เผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างจนวอดวายหรือเป็นเถ้าถ่าน ดังที่พบว่ายังมีการพบร่องรอยอาคารที่ไม่ถูกไฟไหม้ รวมถึงโบราณวัตถุหลายชิ้นที่ยั่งมีสภาพดี เช่น บานประตูไม้แกะสลักวัดพระศรีสรรเพชญ์ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพระวิหารวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธโลกนาถ ฯลฯ

เร็วๆ นี้มีรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณพระราชวังหลวงและวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ระบุว่าไม่พบชั้นดิน ชั้นถ่าน ชั้นขี้เถ้ารวมถึงร่องรอยไฟไหม้ “อย่างรุนแรง” บนโครงสร้างสถาปัตยกรรมเมื่อสงครามเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้ให้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าที่ไม่พบชั้นดินดังกล่าวเป็นเพราะพม่าไม่ได้เผาพระราชวังหลวงจริง หรือเป็นเพราะการขุดแต่งบูรณะเมืองโบราณในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้จึงคงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป


๏ ความเสียหายหลังเสียกรุง

หลังจากกองทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว บ้านเมืองอยู่ในสภาวะจลาจลจากสงคราม มีโจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วไป ผู้คนที่ยังเหลือรอดอยู่พยายามดำรงชีพตนเองด้วยการขุดสมบัติหรือทุบทำลายหลอมพระพุทธรูป ดังที่สังคีติยวงศ์บรรยายว่า

“ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ก็ทำอันตรายแก่พระพุทธรูป พระธรรมวินัย พระไตรปิฎก เมื่อขาดความรักษาเสียแล้ว ก็วินาศไปต่าง ๆ คือพวกมิจฉาทิฏฐิเยื้อแย่งเอาผ้าหอแลเชือกรัดไปบ้าง ตัวปลวกกัดกินยับเยินไปบ้าง แลพินาศสูญไปต่าง ๆ โดยที่พลัดตกลงดินเปียกน้ำผุไปเสียบ้างก็มี”


หลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศ ก็เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงสภาพความยากลำบากของราษฎรหลังเสียกรุง ปรากฏในจดหมายของจดหมายมองซิเออร์คอร์ บาทหลวงฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศหลายฉบับ รายงานว่าคนไทยและจีนขุดหาเงินทองตามเจดีย์และทำลายพระพุทธรูปไปทั่วตัวเมืองอยุทธยาเพื่อดำรงชีพ ส่งผลให้ศาสนาสถานและศิลปวัตถุถูกทำลายมากขึ้นหลังจากที่เสียหายจากสงครามกับพม่าอยู่ก่อนแล้ว

จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึงมองซิเออร์มาธอน ลงวันที่ ๘ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒) รายงานว่า

“ฝ่ายพวกจีนและพวกไทยเห็นว่าการหาเลี้ยงชีพเปนการฝืดเคือง จึงได้หันเข้าหาวัด โดยมาก เพราะพวกไทยด้วยความเชื่อถืออะไรของเขาอย่าง ๑ ได้เอาเงินและทองบัญจุไว้ในองค์พระพุทธรูปเปนอันมาก เงินทอง เหล่านี้บัญจุไว้ในพระเศียรก็มี ในพระอุระก็มี ในพระบาทก็มี และตามพระเจดีย์ต่าง ๆ ได้บัญจุไว้มากกว่าที่อื่น ท่านคงจะคาดไม่ถูก เปนแน่ว่าพวกไทยได้เอาทองเที่ยวซุกซ่อนไว้เปนจำนวนมากมาย สักเท่าไร ฝ่ายพวกเข้ารีดไปถือเสียว่าถ้าตัวได้ทำความดีในชาตินี้ เท่าไรก็คงได้รับความดีคืนตั้งร้อยเท่า จึงไม่ได้คาดการล่วงหน้า เหมือนอย่างไทย ในพระเจดีย์องค์เดียวเท่านั้นมีคนพบเงินถึง ๕ ไหและทอง ๓ ไห ผู้ใดทำลายพระพุทธรูปลงแล้วไม่ได้เหนื่อยเปล่าจนคนเดียว เพราะฉนั้นโดยเหตุที่พวกจีนมีความหมั่นเพียร และเปนคนชอบเงินมาก ประเทศสยามยังคงบริบูรณ์อยู่เท่ากับเวลาก่อนพม่ายกเข้ามาตีกรุง ทองคำเปนสิ่งที่หาง่ายจนถึงกับหยิบ กันเล่นเปนกำ ๆ ราคาทองคำซื้อขายกันราคา ๘ การัต พระเจดีย์ เปนเหมือนเตา สำหรับหล่อพระพุทธรูปด้วยทองเหลืองและทองแดง ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยถ่านและเศษทองแดง และตามทางเดิร ดำยิ่งกว่าปล่องไฟเสียอีก พระราชธานีของเมืองไทย ตลอดทั้ง วัดวาอารามและบ้านของเรากับค่ายปอตุเกตเหมือนกับเปนสนามอันใหญ่ที่มีคนขุดคุ้ยพรุนไปทั้งนั้น”


จดหมายมองซิเออร์คอร์ส่งถึงมองซิเออร์เลอฟิศกาลเดอมาลากา ลงวันที่ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๙ (พ.ศ. ๒๓๑๒) รายงานว่า

“พวกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องรับความเดือดร้อนต้องล้มตายวันละมาก ๆ เพราะอาหารการกินอัตคัดกันดารอย่างที่สุด ในปีนี้ได้มีคนตายมีจำนวนมากกว่าเมื่อครั้งพม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เหตุที่คนตายมากนักนั้นก็คือ เพราะเงินทองที่บัญจุไว้ตามพระเจดีย์หมดเสียแล้ว เมื่อปีก่อนและในปีนี้ พวกจีนและไทยไม่ได้หากินอย่างอื่น นอกจากเที่ยวทำลายพระพุทธรูปและพระเจดีย์ พวกจีนได้ทำให้เงินทองในเมืองไทยไหลไปเทมา และการที่ประเทศสยามกลับตั้งตัว ได้เร็วเช่นนี้ก็เพราะความหมั่นเพียรของพวกจีน ถ้าพวกจีนไม่ใช่เปน คนมักได้แล้ว ในเมืองไทยทุกวันนี้ก็คงไม่มีเงินใช้เปนแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น เพราะฉนั้นการที่ได้มีการค้าขายกัน ในทุกวันนี้ ก็เปนเพราะพวกจีนได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้ตามดิน และบัญจุไว้ตามพระเจดีย์นั่นเอง เมื่อพวกจีนได้ทำลายวัดภูไทย (Vat Phu Thia) ซึ่งเปนวัดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงเรียนสามเณรนั้น ข้าพเจ้าได้กลับมาถึงเมืองไทยแล้ว ในวัดนี้เมื่อทำลายลงแล้ว พวกจีนได้พบทองเปนอันมากพอบันทุกเรือยาวได้ถึงสามลำ ในวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงผนวชเรียกวัดประดู่ (Vat Padu) วัดเดียวเท่านั้นได้ พบเงินถึง ๕ ไห และวัดอื่น ๆ ก็มีเงินทุกวัดมากบ้างน้อยบ้าง พวกจีนเท่ากับทำสงครามกับพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองแดง เครื่องมือของจีนที่ทำลายพระพุทธรูปนั้น ก็คือบานหน้าต่างบานประตูและเสาโบสถ์ วัดต่างต่างเวลานี้เปรียบก็เท่ากับเตาไฟ ฝาผนังก็ดำหมด และตามลานวัดก็เต็มไปด้วยถ่าน และพระพุทธรูปหักพังเปนชิ้นเล็กชิ้นน้อย พระเจ้ากรุงสยามองค์ใหม่ได้หาจัดการป้องกันสาสนาไทยตามที่ควรทำไม่เพราะเหตุว่าทรงเกรงว่าคนจะเอาใจออกหาก”


จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ ลงวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๐ (พ.ศ. ๒๓๑๓) รายงานว่า

“เมื่อครั้งพม่ามาตีกรุงนั้นได้ทำลายวัดและพระพุทธรูปลงบ้างแต่เล็กน้อยเท่านั้น แต่การดีอันนี้คือ การทำลายวัดและพระพุทธรูปนั้น พวกจีนและพวกไทยได้ทำการต่อพวกพม่าอีก การที่ได้เห็นคนทำลายวัดและพระพุทธรูปเช่นนี้ ทำให้นักพรตของพระเยซูมีความสบาย ใจมากขึ้น เพราะเท่ากับเห็นผู้ที่นับถือเปรตได้ทำลายเปรตซึ่งเปนที่นับถือของตนเอง บรรดาพระพุทธรูปและพระเจดีย์ซึ่งได้ปิดทองกันอย่างงดงาม บัดนี้ก็ได้ทำลายหักพังเปนผงธุลีไปหมดแล้ว ตามวัดวาอารามก็ร้างไปหมด...เวลานี้บรรดาพระเจดีย์และพระพุทธรูปได้ ทำลายลงหมดแล้ว ด้วยพวกจีนทราบได้ดีว่าทองเงินของรูปพรรณ ได้บัญจุไว้ที่แห่งใดบ้าง และพวกจีนก็มิได้เลือกที่เลย ของมีที่ไหน ก็ทำลายสิ่งนั้นลงโดยไม่ละเว้น เมื่อทำลายแห่งนี้ลงแล้ว พวกจีนก็หยุดพอหายใจให้หายเหนื่อยสักหน่อย ก็ไปทำลายสิ่งอื่นหาทรัพย์ต่อไป”


นอกจากนี้ ในช่วงสงครามเสียกรุง มีคนนำทรัพย์สมบัติของตนฝังดินไว้จำนวนมากเพื่อป้องกันจากภัยสงคราม เมื่อพม่ายกทัพกลับไปแล้ว เจ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ถูกพม่าจับเป็นเชลยบ้าง ล้มหายตายจากไปบ้าง จำที่ฝังทรัพย์ไม่ได้บ้าง จึงมีทรัพย์ไม่มีเจ้าของจำนวนมาก บ้างมีผู้อื่นมาขุดพบก่อนเจ้าของเดิมบ้าง ในสมัยกรุงธนบุรีจึงกำหนดว่าบรรดาใครจะไปขุดทรัพย์ ให้แจ้งต่อรั้วแขวงอำเภอกำนันผู้รักษาเมืองกรมการกำกับคุมไปให้ขุด ถ้าชี้ว่าที่แห่งใดซึ่งตัวฝังทรัพย์ไว้ ให้ขุดแต่เฉพาะที่นั้น ทรัพย์ที่ขุดได้ก็ต้องแบ่งถวายช่วยราชการแผ่นดิน ส่วนทรัพย์ไม่มีเจ้าของถือว่าเป็นทรัพย์แผ่นดิน ใครขุดได้ต้องแบ่งเป็นภาคหลวง จึงมีผู้ขุดค้นหาทรัพย์สมบัติบริเวณพื้นที่กรุงศรีอยุทธยาจำนวนมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชนิพนธ์ว่า “กลับเปนช่องเปิดให้พวกที่มีโลภเจตนากล้า ขุดคัดค้นทลายไม่เลือกว่าอไร”


เมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการรื้อทำลายบริเวณกรุงเก่าเพื่อนำอิฐมาสร้างพระนครใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๒๖ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า

“ในจุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะ เบญจศก โปรดให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลังและเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าลงมาบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในปีนั้น”

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๒๗ คลองปากลัดกว้างออกจนน้ำเค็มขึ้นมาถึงพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงกรุงเก่านำอิฐมาปิดคลองปากลัด

“ดำรัสให้เกณฑ์ข้าราชการขนมูลดินและอิฐหักถมทำนบกั้นน้ำ และให้เกณฑ์ข้าราชการตามตัวเลข ขึ้นไปรื้อกำแพงกรุงเก่าบรรทุกเรือลงมา สานชะลอมบรรจุอิฐหักถมทำนบจนสูงเสมอฝั่ง และน้ำเค็มไหลขึ้นมาทางคลองปากลัดมิได้ ไหลไปทางแม่น้ำใหญ่ทางอ้อมก็มิสู้เค็มมาถึงพระนคร”


จะเห็นได้ว่า การที่กรุงศรีอยุทธยาถูกทำลายจนกลายเป็นซากนั้น ไม่ได้เกิดฝีมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดขึ้นจากคนหลายกลุ่มหลายช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงก่อนเสียกรุงที่มีไฟไหม้ครั้งใหญ่ ช่วงเสียกรุงที่พม่าเผาทำลายเมือง และช่วงหลังเสียกรุงที่มีการขุดรื้อทำลายศาสนสถานและกำแพงเมืองเพื่อหาทรัพย์สมบัติและใช้สำหรับสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ในเวลาต่อมาก็ยังมีการรื้ออาคารโบราณสถานในเขตกรุงเก่าเพื่อปรับปรุงพื้นที่อีกหลายครั้ง จนกระทั่งมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

-----------------------------------------------------
บรรณานุกรม
Spoil


- จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี. พระนคร, พิมพ์ในงานพระศพ หม่อมเจ้าหญิงอับสรสมาน กิติยากร, ๒๔๘๒.
- ต่อ, นาย, ผู้แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ ฉบับโรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ. กรุงเทพฯ : แสงไทยการพิมพ์, ๒๕๓๘.
- ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ศรีหงส์, ๒๔๗๐.
- พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จดหมายรายวันทัพ, อภินิหารบรรพบุรุษ และเอกสารอื่น. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, ๒๕๕๑
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๘
- รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๖๐.
- สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ แต่ง, พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปล. สังคีติยวงศ์. พระนคร : โรงพิมพ์ไท, ๒๔๖๖.
- Boeles, J. J., 'Note on an Eye-witness Account in Dutch of the Destruction of Ayudhya in 1767', JSS 56/1 (1968), 101-11.
- Dhiravat na Pombejra, “Letter from the acting Phrakhlang Phya Phiphat Kosa in Siam to the Supreme Government in Batavia, 13 January 1769, and the answer from Batavia, 29 May 1769”. In: Harta Karun. Hidden Treasures on Indonesian and Asian-European History from the VOC Archives in Jakarta, document 28. Jakarta: Arsip Nasional Republik Indonesia, 2016.
- Phraison Salarak, Laung (trans). Intercourse between Burma and Siam as record in Hmannan Maha Yazawindawgyi. in Journal of the Siam Society. 11, 1914-15, pp. 1-67.
- Soe Thuzar Myint (trans). “ ‘Yodayar Naing Mawgun’, by Letwe Nawrahta : A Contemporary Myanmar Record, Long Lost, of How Ayutthaya Was Conquered,” in Journal of the Siam Society. 99, 2011, pp. 3-23. ”
.

ภาพประกอบ : ภาพถ่ายทางอากาศวัดบริเวณพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ปีเตอร์ วิลเลียม-ฮันท์ (Peter William-Hunt) ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ (พ.ศ.๒๔๘๙) เพื่อสำรวจพื้นที่ในการคำนวณค่าปฏิกรรมสงคราม หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มาภาพ : Geo-Spatial Digital Archive Project (GDAP)  
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ
ออฟไลน์
ดาวเตะพรีเมียร์ลีก
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 13 Mar 2018
ตอบ: 5859
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Aug 22, 2019 22:35
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
ขอบคุณที่รวบรวมมาให้อ่าน เพื่อชำระประวัติศาสตร์ .. แต่ประวัติศาสตร์ มีไว้เพื่อทบทวนและเรียนรู้ ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อให้เราเปลี่ยนแปลงมัน
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
ดาวซัลโวฟุตบอลโลก
Status: "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 12 Aug 2014
ตอบ: 25965
ที่อยู่: รับบูชาพระเครื่อง วัตถุโบราณ ของแปลก PM
โพสเมื่อ: Thu Aug 22, 2019 23:08
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
รื้อเพื่อนำมาสร้างรัตนโกสินทร์
3
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน






ออฟไลน์
ซุปตาร์ยูโร
Status: ❤️❀janrybnk48❀❤️my january.
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 11958
ที่อยู่: Rivendell
โพสเมื่อ: Thu Aug 22, 2019 23:38
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
พวกที่ศึกษาประวัติศาสตร์รู้กันมานานแล้วว่าอยุทธยาแต่ก่อนมันไม่ได้เสียหายอะไรมากนักไม่ได้ถึงกับเป็นเถ่าถ่านแบบที่เราเคยรู้กันมันเหลือประมาณเปลือกเมือง มันมาเสียหายหนักจริงๆก็ช่วงที่ไปเอาวัสดุจากอยุทธยามาทำเมืองที่บางกอก
4
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
ผู้เยี่ยมชม
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 24 Jun 2019
ตอบ: 264
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Aug 23, 2019 15:16
ถูกแบนแล้ว
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
ช่วงตั้งรัตนโกสินต์ ไม่แปลกที่จะเอามาจากอยุธยา เพราะตอนนั้นแรงงานวัสดุมันขาดแคลนหายาก

ยิ่งช่วงจอมพล ป. นี่ยิ่งหนัก
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ออฟไลน์
นักบอลถ้วย ก.
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 24 Apr 2007
ตอบ: 11666
ที่อยู่: UNDER TABLE
โพสเมื่อ: Sat Aug 24, 2019 01:31
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
เมื่อมีแพะแล้ว ใครจะเผาจะทำอะไร ก็ให้แพะรับไปครับ
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
รูปไม่หล่อ แถมจน แต่ก้อเลือกนะ



ออนไลน์
นักเตะอบต.
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 08 Sep 2013
ตอบ: 5953
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Aug 24, 2019 21:27
[RE: การเผาทำลายกรุงศรีอยุทธยา]
หนังสือเรียนไม่ถูกใจบทความนี้
0
0
หากโดน 40 เรื้อน จะถูกแบน
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel