ไว้คราวหน้า X
ไว้คราวหน้า X
ไม่ต้องแสดงข้อความนี้อีกเลย
ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
ฝากรูป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ออฟไลน์
นักบอลลีกภูมิภาค
Status:
: 0 ใบ : 0 ใบ
เข้าร่วม: 05 Dec 2016
ตอบ: 699
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Jul 21, 2018 09:35
ปัจเจกทางอารมณ์ในมวลหมู่ผึ้ง

ปัจเจกทางอารมณ์ในมวลหมู่ผึ้ง : ทำไมแมลงถึงทำให้เราเข้าใจระบบประสาทและสมอง
เวลาบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตกกำลังดี คุณตัดสินใจเดินออกไปทอดน่องตามสวนสาธารณะใกล้บ้าน ทั้งต้นไม้และแปลงดอกไม้สีสันสวยงามคลาคล่ำไปด้วยฝูงแมลงมากมายหลายสายพันธุ์ ซึ่งต่างก็มีธุระกับหมู่ดอกไม้เช่นเดียวกับมนุษย์อย่างคุณ พวกแมลงบินหึ่งๆ เหมือนเฮลิคอปเตอร์ลำจิ๋ว ผ่านหูซ้าย บินหลบไปหูขวา แน่นอนว่าตลอดชีวิตของพวกเราต้องประสบพบเจอกับแมลงมาแล้วนับล้านๆ ครั้ง จนแทบไม่ตื่นเต้นเสียแล้ว เผลอๆ จะสร้างความรำคาญด้วยซ้ำ

พอทุกอย่างเคยชิน มนุษย์อย่างเราก็พานคิดไปว่า การดำเนินชีวิตของแมลงคงไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น เป็นชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยสัญชาตญาณดิบขั้นพื้นฐาน ไร้หัวจิตหัวใจอันละเอียดอ่อน ดั่งแมลงเหล่านี้ถูกตั้งโปรแกรม autopilot ไว้ถาวรให้ดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ไร้ซึ่งความปัจเจก (individuality) ยอมอุทิศแบบถวายหัวเพื่อให้อาณาจักรของพวกมันได้อยู่รอดต่อผ่านพันธกิจจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอผลิตทายาทรุ่นต่อๆ ไป


แต่นั่นอาจเป็นเพียงมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อแมลง นักวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการไม่ปล่อยให้ความธรรมดาเหล่านี้เกิดขึ้นและผ่านไป พวกเขาพบว่าแมลงมีพฤติกรรมซับซ้อนที่ถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ ‘ผึ้ง’ (bee) แมลงจิ๋วใจกล้าที่ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ในมิติลึกๆ แล้ว พวกมันมีบุคลิกเฉพาะตัว สามารถพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา มีความสามารถตัดสินใจ ‘เลือก’ ที่จะทำหรือไม่ทำบางอย่างได้ และบางครั้งมันก็สลับซับซ้อนเสียจนใกล้ชิดกับนิยามของ ‘อารมณ์’ (emotion) ในสัตว์ ที่มีโครงสร้างซับซ้อนเฉกเช่นมนุษย์เราๆ ท่านๆ

“ผึ้งมีพฤติกรรมที่แยบยล เรียกได้ว่าสูสีกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในบางมิติเลยทีเดียว หากคุณพินิจพิเคราะห์พวกมันด้วยสายตาที่ละเอียดลออสักหน่อย”

– แอนดรูว์ บาร์รอน (Andrew Barron) นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัย Macquarie University


หากคุณว่างๆ ลองหยิบซากผึ้งข้างทางมาผ่า และมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ดู (หวังว่ามันคงตายแล้วก่อนถึงมือคุณ) จะพบว่าผึ้งมีสมองเล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ดและมีเซลล์ประสาทเพียง 1 ล้านเซลล์เท่านั้น อย่างที่พวกเรารู้ๆ กัน พฤติกรรมของผึ้งเป็นลักษณะรวมฝูง (collective) เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกมันทำเรื่องอันน่าเหลือเชื่อได้เยอะแยะไปหมด ทั้งการสร้างรังที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน การเลี้ยงดูตัวอ่อนที่เป็นภาระหนัก ภารกิจหาน้ำหวานเพื่อเป็นพลังงานจุนเจือให้กับรัง ยังไม่รวมไปถึงลีลาโยกย้ายกลางอากาศคล้าย ‘การเต้น’ ที่ผึ้งจะส่งข้อมูลระหว่างกันผ่านท่าทาง เพื่อบอกเส้นทางลัดที่สุดไปสู่แหล่งน้ำหวานให้กับผึ้งตัวอื่นๆ ได้รับรู้

ใช่แล้ว สิ่งเหล่านี้ปรากฏในหนังสือเรียนชีววิทยาอยู่นานนมแล้ว แต่ในระยะ 10 ปีให้หลัง นักวิจัยตั้งคำถามกับพฤติกรรมผึ้งที่ซับซ้อนและลึกซึ้งกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกมันจะเป็นนักเรียนรู้ตัวยง หรือพฤติกรรมผึ้งอาจถูกผลักดันด้วยอะไรบางอย่างที่ละเอียดลออเป็นพิเศษ อย่างเช่น ‘อารมณ์’ ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใช้เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต

โชคดีที่งานวิจัยด้านพฤติกรรมแมลงพาเราไปลึกและพบกับเรื่องน่าตื่นเต้น ผึ้งไม่เพียงทำหน้าที่แบบฝูงได้ดี พวกมันยังมีความเป็นปัจเจกที่ควรได้รับเครดิตเช่นกัน ผึ้งสามารถ ‘แหกกรอบ’ จากฎของฝูงได้ แถมมีทักษะรับรู้รูปทรงและสีสัน หรือมีความสามารถทางคณิตศาสตร์อย่างหยาบๆ ในการแก้ปัญหาง่ายๆ (คงไม่ถึงท่องสูตรคูณให้คุณฟังหรอกนะ)

แม้แต่สมองที่เล็กจิ๋ว ก็ยังมีศักยภาพเรียนรู้อะไรได้อีกตั้งมากมาย โดยเฉพาะ ‘การเรียนรู้ผ่านสังคม’


นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม Olli Loukola จากมหาวิทยาลัย Queen Mary University of London ทดลองความฉลาดของ ‘ผึ้งบัมเบิลบี’ (bumblebee) โดยปล่อยให้พวกมันเรียนรู้การเลี้ยงลูกฟุตบอลเข้าไปในประตู (ประตูที่ว่ามีลักษณะเป็นหลุม ไม่เหมือนประตูกีฬาฟุตบอลนะ) เมื่อมันเลี้ยงลูกเข้าประตูสำเร็จจะได้รับน้ำหวานเป็นรางวัล

คราวนี้เราไปหาผึ้งที่ไม่รู้จักกฎเกณฑ์นี้เลย แล้วให้มัน ‘เฝ้ามอง’ ผึ้งที่เลี้ยงบอลเป็นมาสักพักแล้ว น่าแปลกใจที่ผึ้งมือสมัครเล่นเหล่านี้สามารถเรียนรู้กฎนี้ได้เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับให้มันลองผิดลองถูกเอง ราวกับนักบอลเยาวชนได้แรงบันดาลใจจากนักเตะพรีเมียร์ลีก ผึ้งบัมเบิลบีที่มีโอกาสเห็นการละเล่นนี้มากเท่าไหร่ มันก็ใช้เวลาเลี้ยงลูกบอลเข้าประตูได้รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ


งานวิจัยนี้นำเสนอไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในวารสาร Science ก่อนหน้านี้เราเคยเชื่อกันว่าทักษะการเรียนรู้ส่วนใหญ่อยู่ในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเท่านั้น แต่งานวิจัยนี้เปิดมุมมองที่กว้างออกไปอีก เพราะแม้แต่แมลงที่มีสมองขนาดเล็กก็ยังสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ได้เช่นกัน

ผึ้งนักกีฬาทั้ง 10 ตัว ดูการสาธิตเลี้ยงลูกบอลเข้าประตูเพียง 3 ครั้งเท่านั้น ก่อนพวกมันจะทำตาม และประสบความสำเร็จทุกครั้ง นี่แสดงให้เห็นว่า ผึ้งก็มีการเรียนรู้ผ่านทางสังคมเช่นเดียวกัน

แม้การเลี้ยงลูกบอลอาจไม่ใช่วิสัยตามธรรมชาติของผึ้ง แต่นักวิจัยจำลองพฤติกรรมของพวกมันเวลาลำเลียงทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่รัง ซึ่งใช้วิธีการกลิ้งคล้ายเลี้ยงลูกบอล

มีการไถ่ถามกันเล่นๆ ว่า “อย่างงี้เราฝึกให้ผึ้งแบ่งเป็น 2 ทีม แล้วให้พวกมันแข่งกันได้ไหม?”

“น่าจะได้นะ แต่เราต้องศึกษาก่อนว่า ทำอย่างไรให้ผึ้งส่งบอลต่อด้วย ส่วนใหญ่มันชอบเลี้ยงเดี่ยวซะมากกว่า”

ผึ้งก็ไม่ชอบถูกหลอก
ผึ้งตัดสินใจได้ไหม เมื่อสิ่งที่ทำอยู่ ‘ไม่นำพาแล้ว ไม่อยากทำแล้ว’ พลังแห่งการตัดสินใจเหล่านี้อยู่ภายใต้สิ่งเร้าใด ถ้ามันไม่เวิร์ก จะทู่ซี้อยู่ทำไม

ในปี 2017 นักวิจัย Andrew Barron จากมหาวิทยาลัย Macquarie University ทดลองให้ผึ้งแยกแยะระหว่างเส้นแนวนอน 2 เส้นที่คล้ายกันเด๊ะ แต่จะวางเหลื่อมองศากัน คราวนี้เราทดสอบกันว่า เส้นแนวนอนเหล่านี้ เส้นไหนอยู่เหนือกว่ากัน

หากผึ้งเลือกถูกต้อง มันจะได้รับรางวัลเป็นน้ำหวาน แต่ถ้าพวกมันตอบผิดมันจะได้รับน้ำรสขมรสชาติแย่แทน (ทำโทษ) หลังจากนั้นนักวิจัยเล่นสนุกโดยเอาเส้นทั้ง 2 เส้นมาวางในระนาบเดียวกัน คือไม่มีคำตอบไหนดีที่สุด เพราะมันเท่ากัน


ที่น่าสนใจคือ เมื่อผึ้งเลือกไม่ได้ว่าคำตอบไหนดีที่สุดจากโจทย์นี้ พวกมันก็ ‘ไม่เลือกเอาเส้นไหนเลย’ แถมบินหนีไปอีกต่างหาก ดังนั้นจากปัจจัยท้าทายเหล่านี้ที่นักวิจัยผลักดันเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า ผึ้งสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งได้เช่นกัน

ไม่ได้ถูกโปรแกรมอย่างตรงไปตรงมาจากธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จึงสนใจประสิทธิภาพสมองผึ้ง ที่แม้จะเล็กจิ๋วแต่สามารถคำนวณหาเส้นทางลัด และแก้ปัญหาเชิงตรรกะได้ โดยนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาหุ่นยนต์บินขนาดเล็กที่คำนวณการบินและหาทิศทางได้เอง

การค้นพบศักยภาพนี้ของผึ้งผ่านงานวิจัยรุ่นใหม่ๆ สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับนักชีววิทยาทั่วโลก จากที่เคยปรามาสว่า ผึ้งถูกโปรแกรมให้มีชีวิตเหมือนๆ กันคล้ายโดรน แต่จริงแล้วชีวิตของพวกมันเต็มไปด้วยกลไกซับซ้อนใกล้เคียงกับอารมณ์ ซึ่งในหลายมิติใกล้เคียงกับมนุษย์ทั้งความฮึกเหิมมีกำลังใจ รู้พึงพอใจ และรู้สึกไม่พอใจ

อารมณ์แห่งความกล้า


สำหรับมนุษย์นั้น ความรู้สึกอันเปี่ยมสุข ทำให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ใดๆ ด้วยประสบการณ์เชิงบวก ด้วยกลไกเช่นนี้นักวิจัยลองทดสอบสร้างประสบการณ์เชิงบวก (positive input) เพื่อให้พวกผึ้งผลักดันตัวเองไปได้มากกว่าเดิม พวกเขาเอาน้ำหวานให้แก่ผึ้งที่บินไปไกลที่สุด ยิ่งพวกมันบินได้ไกลมากก็จะยิ่งได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้นตามลำดับ

กลไกการให้รางวัลในสมอง (brain reward system) ของผึ้งใช้รูปแบบพื้นฐานไม่ต่างจากมนุษย์ ความสุขและความพึงพอใจมาจากสารสื่อประสาท ‘โดปามีน’ (dopamine) ที่ทำให้ผึ้งถูกกระตุ้นด้วยการตอบสนองเชิงบวก เมื่อพวกมันได้รับการตอบแทนด้วยอาหารที่มันต้องการ ทำให้พวกมันกล้าทำอะไรที่ท้าทายและฉีกขีดจำกัดของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ผึ้งสามารถ ‘กล้า’ (brave) มากขึ้นเรื่อยๆ หากถูกกระตุ้นเชิงบวกมากๆ เข้า หรือในทางตรงกันข้าม นักวิจัยจำลองศัตรูตามธรรมชาติเพื่อสร้างความกลัว (fear) ให้ผึ้งไม่กล้าออกไปหาอาหารตามเดิม พวกมันก็มีฮอร์โมนเครียด ‘คอร์ติซอล’ (cortisol) เพิ่มขึ้น กดดันให้พวกมันไม่ออกไปทำสิ่งเดิมๆ


อย่างไรก็ตามในแวดวงพฤติกรรมสัตว์ยังถกเถียงถึงนิยามว่า ‘ความสุข’ (happiness) ของผึ้งนั้น จัดเป็นรูปแบบทางอารมณ์ด้วยหรือไม่ บางสายก็ยืนยันว่า ‘ใช่’ เพราะกลไกการก่อกำเนิดสุขของสัตว์ในลำดับชั้นที่สูงกว่าก็ยังอาศัยเงื่อนไขง่ายๆ นี้เช่นกัน นักกีฏวิทยาจึงเชื่อสมมติฐานจากงานวิจัยต่างๆ ว่า ผึ้งมีความรู้สึกเช่นกัน

การจะบอกว่าสัตว์มีความรู้สึกใกล้เคียงกับมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่มักสร้างประเด็นถกเถียงเผ็ดร้อนได้ตลอด (บางสายก็ถือเป็นเรื่องต้องห้าม) นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่กล้าฟันธงไปเช่นนั้น หากคิดติดตลกหน่อยๆ เราคงไม่มีทางให้ผึ้งมากรอกแบบสอบถามความพึงพอใจ ให้เราเอาแบบมาประเมินอารมณ์ความรู้สึกได้

แต่หากมองในกรอบที่ว่า การตัดสินใจทางอารมณ์ล้วนมีกลไกพื้นฐาน ผึ้งก็ช่วยให้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตในสารบบวิวัฒนาการมีการเลือกที่จะตัดสินใจอย่างเหมาะสมที่สุดต่อสถานการณ์นั้นๆ

เพราะหากสัตว์ไม่เรียนรู้ที่จะกลัว มันจะออกไปเผชิญอันตรายอย่างมุทะลุและได้ผลลัพธ์แห่งความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเมื่ออาหารมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ยั่วยวนให้พวกมันออกไปตักตวงเช่นกัน ซึ่งภาวะ ‘หวานขม’ เมื่อสิ่งมีชีวิตตอบสนองได้เหมาะสมและยืดหยุ่นก็ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้สรรพชีวิตได้


แต่คำนิยาม ‘อารมณ์’ ของผึ้งก็อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนมนุษย์ซะทีเดียว สิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีวิวัฒนาการทางอารมณ์เพื่อจุดประสงค์เฉพาะเจาะจงในแต่ละสายพันธุ์ ต่อให้มีขนาดสมองใหญ่ที่สุดหรือเล็กที่สุด อารมณ์ก็ยังทำงานได้ไร้ข้อจำกัดจากจำนวนเซลล์ประสาท

สิ่งนี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยิ่งค้นลึกลงไปเรื่อยๆ และยิ่งต้องเกาหัวด้วยความฉงน เมื่อผึ้งไม่มีสมองส่วน prefrontal cortex ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและวางแผนเฉกเช่นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการขั้นสูง แต่พวกมันก็ยังเป็นนักแก้ปัญหาและวางแผนที่ดีโดยใช้ทรัพยากรอย่างทรงคุณค่า ดูเหมือนว่าสมองไม่ว่าจะจิ๋วยังไงก็ไม่จำกัดศักยภาพเลย มีหลายทฤษฎีพยายามตอบคำถามนี้ว่า แมลงไม่ได้ใช้แค่สมองเท่านั้นเพื่อตอบสนองต่างๆ แต่เซลล์ประสาทที่อยู่ทั่วร่างกายของพวกมันช่วยประมวลผลพฤติกรรมที่ซับซ้อนโดยไม่ถูกจำกัดผ่านลักษณะทางกายภาพ

ยิ่งเราทำความรู้จักกับระบบประสาทและสมองของแมลงได้มากเท่าไหร่ ก็อาจช่วยส่องแสงสว่างให้เราทำความเข้าใจความซับซ้อนทางความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ได้แยบยลขึ้น ผึ้งจะทำให้เราแก้ไขโรคทางประสาทอย่าง พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ หรือความผิดปกติทางการเรียนรู้ ความทรงจำ และอารมณ์ หากเราขยายคำนิยามของการตระหนักรู้ของสัตว์อื่นๆ ให้กว้างมากขึ้น
การไขความลับสมองที่ซับซ้อนและทรงพลังที่สุดของมนุษย์ อาจเริ่มต้นจากสมองของผู้ที่อยู่มาก่อนเรา ฝูงแมลงที่ห้อมล้อมคุณอาจมีเรื่องอะไรจะกระซิบบอก ถ้าคุณลองตั้งใจฟังสักหน่อย


Cre. The MATTER
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ



ไปหน้าที่ 1
ไปที่หน้า
GO
ตั้งกระทู้ใหม่
กรุณาระบุเหตุผลที่จะแจ้งความ
ผู้ต้องหา:
ข้อความ:
Submit
Cancel
กรุณาเลือก Forum และ ประเภทกระทู้
Forum:

ประเภท:
Submit
Cancel