ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 2298
ที่อยู่: Bangkok Metropolis
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 10:35 pm
รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]
ตอนที่ 1

หลายคนคงคุ้นตากับภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่ง ที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับเคียงข้างพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย (ไม่ใช่ภาพนี้นะฮะ ลองเสิร์ชดูในกูเกิ้ลว่า "ร. 5 ซาร์" แต่เลือกเอาภาพนี้มา เพราะดูสนิทสนม และอบอุ่นดี)

พระบรมฉายาลักษณ์นั้นมีความสำคัญอย่างไร

ทำไมบางคนถึงกับกล่าวว่า ภาพนี้ เป็นภาพที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเลยทีเดียว

ในประชุมพระนิพนธ์เล่ม 1 ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เล่าว่า "... พระเจ้าซาร์ผู้ทรงอิทธิพล เป็นผู้หนึ่งที่ฝรั่งเศสเกรงใจอยู่มาก เมื่อทรงทราบว่ารัชกาลที่ 5 พระสหายเก่าถูกรังแก ซาร์ตรัสว่า

"อ๋อ ไม่ยากดอก พรุ่งนี้มาถ่ายรูปกับฉันนะ"

แล้วก็ทรงสั่งเสนาบดีวังให้ส่งรูปนี้ไปยังหนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิอง เดอ ปารี บอกว่าเป็นพระบรมราชโองการของพระเจ้าซาร์ ให้ขยายเต็มหน้าแรกลงในหนังสือพิมพ์นั้น

พระบรมฉายาลักษณ์นี้ยังอยู่บนฝาผนังหอสมุดดำรงราชานุภาพบัดนี้ ผลที่ได้คือฝรั่งเศสหยุดคิดเอาเมืองไทยแต่นั้นมา

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะฝรั่งเศสเอาใจประเทศรัสเซียอยู่เสมอเพราะกลัวเยอรมนี ถ้าเยอรมนีจะตีฝรั่งเศสก็จะขอให้รัสเซียตีหลังเยอรมนีอีกที การที่พระเจ้าซาร์ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ประทับคู่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้วส่งไปให้ฝรั่งเศสดูก็เท่ากับว่าจะช่วยไทย การจึงสงบลงได้เท่านั้น"

ความสนิทสนมของรัชกาลที่ 5 กับซาร์นิโคลัสที่ 2 ยังมีปรากฎในข้อความตามพระราชหัตเลขาส่วนพระองค์ใน ร.5 ที่เขียนถึงพระพันปีหลวงอีกหลายครั้ง เช่น

"ฉันรู้สึกเย่อหยิ่งเป็นอันมาก ว่ามีพี่น้อง (ราชวงศ์โรมานอฟ) ที่สนิทอันมีน้ำใจดีต่อเรามากอย่างแท้จริงในที่นี้ ทุกสิ่งเป็นไปเกินคาดหมาย จนฉันไม่รู้ว่าความยินดีท่วมในใจฉันเพียงใด"

“คำอันใดที่เอมเปอเรอรัสเซียได้รับสั่งกับฉัน ได้คิดแล้วจึงได้ตรัสทั้งนั้น ตรัสแล้วไม่ได้ลืมทิ้งเสียเลย คำที่ว่าอินดิเปนเดนต์ของเมืองไทยไม่มีเวลาที่จะต้องสูญต้องทำลายยังปรากฏติดหูอยู่”

"ไม่รู้ว่าเขา (ซาร์) ผูกจิตร์ผูกใจฉันอย่างไร เรียกได้ว่าหลง"
แม้กระทั่งตอนที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับก็มีบรรยากาศที่แสดงการร่ำลาที่มีความห่วงใยต่อกัน

“ด้วยวันนี้เบร็กฟัสส่ง เจ้านายทั้งปวงช่างคุ้นเป็นกันเองหมด ดูเหมือนเปนคนหนึ่งในพี่น้องเอมเปรสส์ (พระราชมารดาของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) เกือบจะทรงกันแสง สั่งแล้วสั่งเล่า รับปาวารณากันว่าจะคิดว่าฉันเป็นลูก ฉันก็จะคิดว่าเปนแม่ตั้งแต่นี้ไป วันนี้ตกลงเปนแม่ลูกกันแล้ว เอียงพระปรางให้ฉันจูบ บรรดาลูกทั้งผู้หญิงผู้ชายนับว่าเปนพี่น้องกัน ต่างคนต่างจูบกันกับฉันทุกคน ลูกเราเอมเปรสส์ก็เอาไปจูบเปนหลานหมดทั้งนั้น”

นอกจากนี้ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ยังทรงถวายซองพระโอสถทองลงยาราชาวดีสีเหลืองมีรูปมงกุฎกรุงรัสเซียประดับเพชรอยู่ที่มุมข้างในซองมีลายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอ จารึกเป็นภาษาอังกฤษว่า “From your friend” อีกด้วย

บันทึกต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมของหนึ่งกษัตริย์แห่งสยามกับจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิรัสเซียได้เป็นอย่างดี
และการสนิทสนมนี้ ทำให้ไทยรอดจากการเป็นเมืองขึ้น

จริงหรือ?

หลังจากนั้น ก็เกิดคำถามตามมาเต็มไปหมด

รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงไปสนิทกับซาร์นิโคลัสที่ 2 ตอนไหน

ทำไมถึงต้องให้รัสเซียช่วย

ช่วยเรื่องอะไร

ภาพหนึ่งภาพมีอิทธิพลขนาดนั้นเชียวหรือ

ถ้าท่านสนิทกันขนาดนี้ แล้วทำไมในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ถึงไม่เดินทางไปเยี่ยมเยือนกัน

พระเจ้าซาร์ยิ่งใหญ่ขนาดไหน หากยิ่งใหญ่แล้วเพราะเหตุใดถึงรบแพ้ญี่ปุ่น
แล้วอะไรทำให้พระองค์คือซาร์องค์สุดท้าย

จากเรื่องนี้ ก็เลยไปอ่านๆ มา ก็ลามไปจนถึงประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตย์ ศาสนา ทีนี้ยาวไป จนกลายมาเป็นทัวร์รัสเซีย 1-10 เดือน 7 นี่ล่ะครับ (บางคนถามว่าทำไมไปช่วงนี้ ไม่ใช่วันหยุดยาวอะไรแบบนี้สักหน่อย แถมเป็นหน้าร้อนอีกตะหาก ก็ตอบว่า เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 ท่านเสด็จประพาสจริงๆ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน น่าจะได้บรรยากาศและเห็นภาพมากที่สุดล่ะเนอะ)




ตอนที่ 2

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1891 เรือพระที่นั่งปัมยัตอาโซวา (Pamiat Azova) ล่องเข้ามาสู่กรุงเทพฯ นำพาบุคคลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเฝ้ารอ และอยากพบมากที่สุดในช่วงเวลานั้น

มกุฎราชกุมารหรือซาเรวิตซ์นิโคลาสแห่งจักวรรดิรัสเซีย

ตอนนั้นลัทธิล่าอาณานิคมโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส กำลังแผ่ขยายอิทธิพลบริเวณอุษาคเนย์กันอย่างอุตลุต การมาถึงของบุคคลสำคัญจากรัสเซีย หนึ่งในมหาอำนาจของโลก และยังไม่มีนโยบายหรือความสนใจในการล่าอาณานิคมบริเวณนี้ จึงเป็นความหวัง
หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความคาดหวังของสยาม ที่จะอาศัยอิทธิพลของรัสเซียในการทำให้อังกฤษระแวงและฝรั่งเศสเกรงใจ

จริงๆ แล้ว ซาเรวิตซ์ออกเดินทางด้วยจุดประสงค์อันใด

ภารกิจในการเดินทางของพระองค์คือ การมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์จุดต้นทาง เพื่อเริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียที่เมืองวลาดิวอสต๊อคและศึกษาดูงานระบบการปกครองในประเทศต่างๆ อันเป็นการสั่งสมบารมีและเสริมอิทธิพลการเมืองทางอ้อมให้กับรัสเซีย นอกจากนี้ ยังมีพระราชประสงค์แฝงบางประการของพระราชบิดา คือ การต้องการให้ซาเรวิตซ์ ออกห่างจากแฟนสาวนักบัลเล่ต์ชื่อ มาทิลด้า คเชซินสกาย้า (Mathilde Skchessinska) อีกด้วย

ทันทีที่มีข่าวว่าซาเรวิตซ์จะออกเดินทางสู่ตะวันออกไกล (ไกลมาก) จากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สู่กรุงเวียนนา จนถึงเมืองตรีเอสเต (Trieste) ล่องเรือผ่านกรีก เข้าอียิปต์ แล้วเดินทางสู่เอเชียผ่านคลองสุเอซ เข้าอินเดีย ศรีลังกา สิงค์โปร์ สยาม เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ก่อนจะจบลงที่เมืองวลาดิวอสต๊อค (รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 51,000 กิโลเมตร ) บรรดาประเทศมหาอำนาจและประเทศที่เกี่ยวข้องกับมหาอำนาจทั้งหลาย ต่างก็ตื่นตัวและจับตากับข่าวการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

ในตอนนั้น สยามเองก็มีท่าทีแสดงความกระตือรือล้นกับการเดินทางครั้งนี้ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศโทรเลขถึงอุปทูตสยามที่กรุงเบอร์ลินให้ดำเนินการผ่านราชทูตรัสเซียที่เมืองนั้น เพื่อทูลเชิญซาเรวิตซ์แวะมาที่สยาม

แต่ก็เกือบจะไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมา

ด้วยเพราะ อังกฤษไม่ต้องการให้ซาเรวิตซ์ประทับใจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสยาม เพราะไม่อยากให้รัสเซียมาข้องเกี่ยวหรือมีอิทธิพลกับภูมิภาคนี้เลย (ฝรั่งเศสก็คงไม่ต่างกัน)

อังกฤษจึงได้สร้างเรื่องโดยการเผยแพร่ตีพิมพ์ข่าวลือจากตัวแทนรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ว่ากรุงเทพฯ เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก ตัวของซาเรวิตซ์ได้รับการแจ้งเตือนจากทางราชสำนักรัสเซียเมื่อพระองค์เสด็จถึงเมืองโคลัมโบ ศรีลังกา ให้ระงับการเดินทางไปสยามไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย และให้ยึดตามกำหนดการเดิมคือ เดินทางจากโคลัมโบ ไปสิงคโปร์แล้วไปไซ่ง่อนตามเลย

นั่นหมายความว่า สยาม ไม่ได้อยู่ในแผนการของซาเรวิตซ์มาตั้งแต่แรก

อะไรคือจุดเปลี่ยน?

โคลัมโบห่างจากสยามด้วยการเดินทางทางเรือประมาณ 1 อาทิตย์ รัฐบาลสยามก็ร้อนใจมากกับข่าวลือนั้น และแผนการรับเสด็จที่เตรียมไว้อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติสำหรับซาเรวิตซ์...อาจถูกยกเลิก

ตอนนั้นเอง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชบัญชาให้ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงถือพระราชสาส์นส่วนพระองค์เดินทางล่วงหน้าไปรอที่สิงคโปร์ ก่อนที่ซาเรวิตซ์จะเสด็จมาถึง เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของซาเรวิตซ์ เป็นการไปล่วงหน้าเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสยาม และสร้างความมั่นใจว่าจะทรงปลอดภัยในการมา

ในที่สุด ซาเรวิตซ์ ก็ทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เองในนาทีสุดท้าย
เสด็จฯมาสยามตามคำเชิญของรัชกาลที่ 5
ตลอดเส้นของการเดินทางอันยาวนาน กว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเซนต์ปีเตอสเบิร์กอีกครั้ง ใช้ระยะเวลาถึงเกือบ 10 เดือน

ซาเรวิตซ์อยู่สยามแค่ประมาณ 5 วันเท่านั้น

เป็น 5 วันที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลสยาม ทุ่มเทจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ อาจเรียกได้ว่าตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ยังไม่เคยมีงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะครั้งใดที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
สยามใช้เวลา 5 วัน ทำอะไรผูกใจซาเรวิตซ์บ้าง

ป.ล. ภาพซาเรวิตซ์ล่าสัตว์ในอินเดีย



ตอนที่ 3

คณะของซาเรวิชนิโคลาสที่เดินทางมาสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434 ไม่ใช่คณะนักเดินทางจากรัสเซียคณะแรก

ก่อนหน้านั้น ก็มีคณะนักเดินทาง นักสำรวจจากรัสเซีย ก็ได้มาเยี่ยมเยือนสยามประราย จนต่อมารัสเซียได้ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับสัมพันธไมตรีอีกสองวาระ คือในปี พ.ศ. 2416 และครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2425 และทางสยามก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการมาเยือนครั้งที่ 2 ผู้แทนจากรัสเซีย พลเรือตรี อัสลันเบกอฟ ได้มีโอกาสเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 100 ปีและเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังแทบจะไม่รู้จักสยามอยู่ดี

ตามบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามซาเรวิชและเป็นผู้จดบันทึกเรื่องราวในการเดินทางครั้งนี้ เขียนไว้เมื่อมาถึงสยามว่า

"...เราบ่ายหน้าสู่สยามประเทศ ดินแดนแห่งนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักสำหรับเราเลย เราน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับแอฟริกากลางหรือชาวปาปัวนิวกินีดีกว่าด้วยซ้ำ..."
แต่เมื่อถึงเวลาที่คณะซาเรวิชต้องออกเดินทางต่อ ในบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้ กลับเขียนไว้ว่า

"...พรุ่งนี้แล้วที่พวกเราจำจะต้องกล่าวคำอำลาจากดินแดนแห่งความสุขนี้ไป ภาพอันน่าอัศจรรย์และตื่นเต้นมากมายที่เราได้เห็นตลอดสัปดาห์นี้ จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป การจากประเทศสยามไปในคราวนี้ เหมือนกับต้องแยกจากเพื่อนสนิทที่เรารู้จักมักคุ้นมานาน และจะทำให้พวกเราอาลัยมาก"

จากคนที่ห่างเหินกลายมาเป็นเพื่อนสนิท สยามทำอะไรในห้าวันนั้นบ้าง
.......

"ราวกับรับซาเรวิช"
เป็นประโยคเปรียบเปรยติดปากผู้คนในสมัยนั้น เมื่อต้องการสัพยอกใครต่อใครที่ทำอะไรใหญ่โตหรูหรา เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของการจัดการต้อนรับซาเรวิชในครั้งนั้น

นับตั้งแต่เรือพระที่นั่งผ่านสันดอนปากแม่น้ำเข้ามายังท่าเทียบเรือ (ท่าราชวรดิฐ) ที่ประดับประดาอย่างงดงาม มีแผ่นป้ายเขียนต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย เขียนโดยชาวลัตเวียที่มาแสวงโชคอยู่ที่นี่ กองทหารเกียรติยศสยามบรรเลงเพลงชาติรัสเซียรับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายการต้อนรับซาเรวิชอยู่ใต้ซุ้มประตู
หลังจากนั้นก็ทูลเชิญเสด็จสู่พระบรมมหาราชวัง มีการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ อันเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงสุดของไทย ที่สงวนไว้เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูงแก่ ซาเรวิชด้วย เป็นการแสดงถึงความยินยอมพร้อมใจรับซาเรวิชเป็นสมาชิกของครอบครัวจักรี

ในระหว่างที่ซาเรวิชประทับอยู่ที่สยามนั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซนต์แอนดรูชั้นที่หนึ่ง อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของรัสเซียแด่รัชกาลที่ 5 เช่นกัน

ซาเรวิชได้มีโอกาสเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมสถานสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น วัดพระแก้ว ภูเขาทอง พระบรมมหาราชวัง แต่ที่เป็นไฮไลท์สำคัญจริงๆ อยู่ที่อยุธยา

คณะจากรัสเซียได้เดินทางไปยังพระราชวังบางปะอิน มีการจัดงานปิกนิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชทานการรับรองในลักษณธของการปิกนิกแบบไทย ไปกันเป็นหมู่คณะราว 3,000-4,000 คน มีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จนับร้อย และที่สำคัญที่สุดคือ การจัดพระราชพิธีคล้องช้างที่เพนียด เป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์

ในบันทึกของฝั่งรัสเซีย โดยเจ้าชายอุคทอมสกี้

มองการต้อนรับที่พระราชวังบางปะอินนี้อย่างไร

"...ห้องพักของพวกเราอบอวลด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของพันธุ์พฤกษา และน้ำอบอันรัญจวนใจ ความเป็นเจ้าขอบ้านผู้เอื้อเฟื้อแบบชาวสยามนี้ เราเคยอ่านในบันทึกของนักเดินทางมาบ้าง แต่ก็เพิ่งจะค้นพบด้วยตัวเอง ในวันนี้มันคงเป็นความประทับใจที่คงจะลืมไม่ได้ง่ายนัก"

"...ความประทับใจอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากที่นี่ เกิดขึ้นราว 5 โมงเย็นวันนี้ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาพร้อมด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ตลอดจนข้าราชบริพาะผู้ใกล้ชิดทั้งหลาย ทุกคนลงไปยังลานกว้างหน้าพระที่นั่ง ตรงลานกว้างมีประชาชนมารอเข้าเฝ้าเป็นจำนวนมาก ถึงเป็นการรับเสด็จอย่างเรียบง่าย แต่ทุกคนก็กระทำด้วยน้ำใสใจจริง เป็นการแสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ใจของผู้คนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย

.....สัญชาตญานของชาวสยามผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของพวกเขาเป็นอานิสงส์ที่ถูกเผื่อแผ่ไปยังองค์รัชทายาทของรัสเซียด้วย ภาพของการพบปะฉันมิตรและการแสดงความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันที่บางปะอิน ระหว่างสมเด็จพระบรมฯ กับชาวบ้านธรรมดาจะเป็นสักขีพยานให้รำลึกอยู่เสมอว่า มิตรภาพอันบริสุทธิ์ระหว่างเราชาวรัสเซียและชาวสยาม จะดำรงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน ในความทรงจำของพวกเราและเขาทั้งหลาย...

...ต่อจากนั้น ก็มีชาวบ้านทั้งชายและหญิงอายุต่างๆ กัน...หอบหิ้ว "ของขวัญ" เข้ามาทูลเกล้าถวาย...ของที่นำมาถวายนั้นถึงจะเป็นของที่ไม่มีราคาค่างวด แต่ก็เป็นของที่ดีที่สุดที่พวกเขามี บางคนนำนกป่าหรือสัตว์เลี้ยงชนิดต่างๆ ใส่กรงมา บางคนมีผ้าทอแบบพื้นบ้าน บางคนมีหมอนอิง ที่ไม่ค่อยมีสมบัติอะไรก็ยังอุตส่าห์เก็บผักหรือผลไม้ชนิดงามๆ มาถวายเพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ....

ชาวบ้านทั้งหลายนี้คลานเข้ามาใกล้พระเจ้าแผ่นดินของพวกเขาอย่างเงียบสงัด...ทั้งๆ ที่มีคนจำนวนมากถึงสองพันคน ... พวกเขาทั้งหมดกก้มศีรษะลงกราบราวกับนัดกันไว้ วางของขวัญไว้เบื้องหน้า ...เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับองค์สมเด็จพระบรมฯ (ซาเรวิช) ของเราที่พลอยได้รับความเคารพนับถือไปด้วย ทั้งที่ไม่มีใครรู้จักพระองค์เลย ...และ

เมื่อพวกเขาได้รับสัญญาณจากพระเจ้าอยู่หัวให้นำของขวัญเข้ามาใกล้พระองค์ ของทั้งหมดที่อาจดูมีราคาเพียงเล็กน้อย กลับกลายเป็นของมีค่ายิ่งในขณะนั้น

แม้แต่รอยยิ้มพิมพ์ใจจากใบหน้าอันบริสุทธิ์ของพวกเขา ยังมีอำนาจพอที่จะทำให้บรรดานกและสัตว์เล็กๆ ทั้งหลาย มีความสำคัญขึ้นมาในทันทีทันใด
มันเป็นภาพที่ทำให้เราตรึงอยู่กับที่..."
........


ภาพจาก www.facebook.com/colouredbysebastianpeet


ตอนที่ 4

วันที่ 23 มีนาคม 2434

มีการจัดพระราชพิธีคล้องช้างเกิดขึ้นที่เพนียด เป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด และถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์

เพราะการคล้องช้างป่าต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมากและยังถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ไม่ได้จัดขึ้นอย่างง่ายๆ ซาเรวิชเคยทอดพระเนตรการแสดงเช่นนี้มาแล้วที่ศรีลังกา แต่ที่นั่น มีช้างเพียง 9 เชือก ในขณะที่สยามมีช้างป่าเข้าร่วมถึง 300 เชือก
ตามบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้เขียนไว้ว่า

"...วันนี้จะมีแสดงการคล้องช้างป่า ซึ่งจะมีช้างในการเข้าร่วมการแสดงนี้มากมายถึง 287 เชือก ช่างดูมากมายเสียจริง ที่คัดมานี้ถูกแยกออกมาแล้วจากโขลงขนาดมหึมาถึง 2,000 เชือก...ประชากรที่แห่แหนกันมาร่วมงานในวันนี้ช่างมืดฟ้ามัวดิน และมีจำนวนมากมายจนไม่อาจประมาณได้ ต่างรายล้อมเข้ามารอบๆ บริเวณรั้วที่ปักอยู่ด้วยหมุดหัวเสาขนาดใหญ่รอบบริเวณลานกว้าง...

...ในไม่ช้า ฝูงช้างป่าขนาดมหึมาก็วิ่งกรูกันเข้ามาในลาน เสียงจากฝีเท้าของมันกระแทกลงบนพื้นดินเสียงดังกึกก้องกัมปนาท...พวกช้างที่น่าสงสารดูคลุ้มคลั่งน่ากลัวเพราะมันไม่แน่ใจว่าจะถูกทำร้ายหรือไม่ พากันร้องด้วยความตื่นตกใจ และเบียดเสียดยัดเยียดอลหม่าน...

...การต้อนช้างป่าเข้ามาเช่นนี้ มิใช่เป็นการแสดงแบบไม่มีจุดหมาย แต่เป็นงานใหญ่ประจำปีที่เจ้าพนักงานประจำกรมคชบาล...จะคัดเลือกช้างที่มีลักษณะดีที่สุด คือ แข็งแรงสมบูรณ์ และกำยำล่ำสัน เพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนัก และเพื่อสรรหาช้างที่งดงามและทะมัดทะแมงที่สุด เพื่อฝึกเป็นช้างทรงของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมสานุวงศ์ต่อไป..."

การคล้องช้างแบ่งออกเป็น 2 วัน ในวันแรกสามารถคล้องช้างงาใหญ่ที่อาละวาดอย่างหนักได้เพียงตัวเดียว ความที่เป็นช้างพลายตัวเดียวที่คล้องได้วันนั้น จึงได้ชื่อเรียกว่า "พลายซาเรวิช"

ในวันเดียวกันนี้ตอนกลางคืน ยังมีการจัดการประชุมเดือนหงาย หรือ Moonlight Party ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 7 หน้า 475 อธิบายไว้ว่างานนี้จะจัดขึ้นที่ชาลาพระที่นั่งอทยานภูมเสถียร

"...มีร้านเลี้ยงอาหารแลของดื่มต่างๆ แลบุหรี่หมาก ทั้งแจกพวงมาไลย์แลช่อดอกไม้ซึ่งทำอย่างประณีต 4 ร้าน ปลูกอย่างปรำ ผูกม่านตกแต่งงดงาม ผู้เชื้อเชิญดื่มสุราแลสูบบุหรี่กินหมาก ให้พวงมาไลแลช่อดอกไม้นั้น จัดหญิงซึ่งพูดอังกฤษได้ประจำทุกร้าน ร้านละสองคน...

...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยซาร์วิตส์และพวกรัสเซียเจ้านายข้าราชการนั่งแลยืนกันใต้ต้นมะม่วงทอดพระเนตรแห่คบไฟ ซึ่งเดินรำแลขับร้องต่างๆ แลพลทหารเรือถือกิ่งไผ่ติดเทียนแลคนเป่าปี่ตีฉาบ สิงห์โตฬ่อแก้ว ผู้หญิงถือเทียน ลาวเป่าขลุ่ย คนถือพุ่มเทียน แลลครเรื่องรามเกียรติ์ชุดหนึ่ง รำถวายตัวแลมีทหารถือเทียนโคมบัวเปนที่สุด เวลา 5 ทุ่มเศษเสด็จขึ้น ซาร์วิตส์แลพวกรัสเซียเจ้านายข้าราชการยังนั่งแลเดินเล่นอยู่จน 7 ทุ่ม หมดการประชุม"

เดี๋ยวมาดูสรุปกันว่า ในบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้และรายงานของกงสุลใหญ่รัสเซียประจำสิงคโปร์ เขียนถึงการต้อนรับของสยามไว้ว่าอย่างไร และสยามมอบอะไรเป็นที่ระลึกให้ทางฝ่ายรัสเซียบ้าง




ตอนที่ 5 (จบ)

มาลองดูกันว่าบทสรุปของการรับเสด็จซาเรวิชครั้งนั้นเป็นอย่างไร
ตามรายงานของนาย อา.แอ็ม. วืยวอดเซฟ กงสุลใหญ่รัสเซียประจำสิงคโปร์ถึงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียลงวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1891 เขียนไว้ว่า

"...สิ่งที่ได้รับจากการเสด็จฯ ทั้งจากองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าขุนนางและประชาชนทั้งมวล ล้วนเป็นไปด้วยความจริงใจและอบอุ่นยิ่ง
ทุกคนได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและความสนใจที่จะได้ใกล้ชิดมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย นับว่าเป็นครั้งแรกที่สยามได้รับเสด็จพระราชอาคันตุกะชั้นสูงที่ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลประเทศมหาอำนาจที่สยามเข้าใจเป็นอย่างดี ว่าจะช่วยถ่วงดุลอำนาจระหว่างเพื่อนบ้านที่รายล้อมสยาม ซึ่งคอยเฝ้ามองชาวสยามด้วยความสนใจมานานแล้ว และคอยข่มขู่ด้วยความกระหายที่จะพิชิตและครอบครองสยาม"

"...มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียทรงแสดงความเห็นหลายครั้งว่า เป็นความประทับใจที่สุดเท่าที่ทรงเคยได้รับ และทรงสะดวกสบายอย่างเปี่ยมล้น พระมหากษัตริย์สยามทรงมีพระราชประสงค์ที่แท้จริงที่จะให้พระราชอาคันตุกะทรงลำบากพระทัยน้อยที่สุด...

...ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียในครั้งนี้ได้สร้างความประทับใจแก่ทุกคนเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์มีพระเมตตากรุณา และมีพระราชอัธยาศัยดีทำให้เป็นที่รักของทุกคนในราชสำนักสยาม...

...ประวัติศาสตร์ของสยามช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่ทรงคุณค่าและน่าประทับใจมากมาย ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของชาวอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศอังกฤษพยายามที่จะให้อิทธิพลของประเทศอื่นๆ ในตะวันออกหมดไป..."
ส่วนบันทึกของเจ้าชายอุคทอมสกี้ให้ทัศนะเกี่ยวกับสยามไว้ว่า

"...การที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศสยามและความเป็นไปในประเทศที่กล้าหาญนี้ ควรจะใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบที่สุด การจดลงไปก็ควรแต่เฉพาะความเป็นจริงที่เกิดความยุติธรรมสำหรับคนที่นี่ ซึ่งชาวยุโรปรู้กันน้อยมากหรือไม่รู้เลย...

...สิ่งเดียวที่พวกฝรั่งเศสทำผิดพลาดก็คือ การเริ่มต้นกับสยามแบบไม่เป็นมิตรเท่าไหรนัก แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เราคงพอที่จะแก้ไขได้ ถ้าฝรั่งเศสเคยชนะใจสมเด็จพระนโรดม พระเจ้าแผ่นดินเขมรมาแล้ว โดยยอมให้พระองค์ได้สวมมงกุฎเป็นกษัตริย์ตามที่พระองค์ทรงต้องการ ฝรั่งเศสก็ควรจะทำใจโดยปล่อยให้สยามธำรงไว้ซึ่งอธิปไตย และควรหยุดรุกรานชายแดนของสยามแต่โดยดี...

...ข้าพเจ้าเห็นว่าถึงเวลาที่รัสเซียต้องมองสิ่งต่างๆ ในทัศนะที่แตกต่างออกไปบ้าง แล้วหันมาสนใจประเทศทางตะวันออกมากขึ้น โดยทำให้เห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับดินแดนแถบนี้เป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น.."

สำหรับของที่ระลึกที่สยามมอบให้รัสเซีย ได้แก่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และพระพันปี งาช้าง พระแสงขรรค์ต่างๆ เชิงเทียนโลหะเป็นรูปนกยืน ฐานแกะลวดลายตราแผ่นดินรัสเซีย เหรียญเคลือบดินเผา ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่างๆ เช่น ลูกช้างน้อย 2 เชือก ลูกเสือดำ 2 ตัว ลิงเผือก 2 ตัว รวมทั้งนกต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญที่สุดคือ ความประทับใจของฝั่งรัสเซีย

แต่ความคาดหวังที่จะให้รัสเซียช่วยถ่วงดุลกับมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด

สองปีต่อมาเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
และเสียเงินฝรั่งเศสอีก 3 ล้านฟรังค์

รัชกาลที่ 5 กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนล้มประชวร
ตอนนั้นสยามขอความช่วยเหลือรัสเซียหรือไม่
ตอนนั้นรัสเซียมีปฏิกิริยาอย่างไร

แล้วหลังจากนั้น การเสด็จประพาสรัสเซียของรัชกาล มีความหมายอย่างไร
ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปไหนในรัสเซียบ้าง
จะค่อยๆ ทยอยเล่าให้ฟังต่อไปครับ :)

ป.ล. ภาพ คือ เจ้าชายอุคทอมสกี้ (Prince Esper Esperovich Ukhtomsky)

ผู้จดบันทึกการเดินทางของซาเรวิชขณะอยู่ที่สยาม
สำหรับผู้สนใจเรื่องการเดินทางของซาเรวิชในสยามสามารถตามหาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง "เบื้องหลังการเยือนกรุงสยาม ของ มกุฏราชกุมารรัสเซีย มิติการใหม่สมัยรัชกาลที่ 5" ของคุณไกรฤกษ์ นานา ได้เลยครับ


credit : www.facebook.com/wayfarers494
เข้าร่วม: 11 Jan 2011
ตอบ: 14505
ที่อยู่: สิ่ง เหล้ าห นี
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 10:56 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
ซาร์นิโคลาสเท่มาก เห็นทีไรนึกถึงการ์ตูนโจโจ้ทุกที
0
0


ได้
เข้าร่วม: 09 Apr 2009
ตอบ: 6025
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 11:06 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
วังที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนี่ยิ่งใหญ่ที่สุดละ เท่าที่ผมเคยไปมาละ รวยโคตรรวยไรขนาดนี้ แกะสลักทองระเอียดมากๆ

เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 2298
ที่อยู่: Bangkok Metropolis
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 11:07 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
Red_Duckza พิมพ์ว่า:
ซาร์นิโคลาสเท่มาก เห็นทีไรนึกถึงการ์ตูนโจโจ้ทุกที  


Spoil
พระเจ้าจอร์จที่ 5, พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2: ลูกพี่ลูกน้อง กับวาระสุดท้ายที่โหดร้าย


ภาพถ่ายข้างต้นเป็นของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (ซ้าย) และพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งอังกฤษ (ขวา) ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (Getty Images)

พระเจ้าซาร์ที่ 2 และพระเจ้าจอร์จที่ 5 มีฐานะเป็นลูกพี่ลูกน้อง เจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระมารดาของพระเจ้าจอร์จ เป็นพี่น้องแท้ๆ ของเจ้าหญิงดักมาร์ พระมารดาของพระเจ้าซาร์นิโคลัส โดยเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์เป็นพระธิดาในพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เชื้อพระวงศ์ที่ปกครองยุโรปล้วนมีสายสัมพันธ์ทางสายเลือด อย่างพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 ก็ถูกขนานนามว่าเป็น “พ่อตาแห่งยุโรป” ส่วนพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระอัยยิกาของพระเจ้าจอร์จ ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คุณยายแห่งยุโรป” เช่นกัน

พระเจ้าจอร์จและพระเจ้าซาร์นิโคลัสต่างมีสัมพันธ์ที่อบอุ่นตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ แม้ว่าอังกฤษและรัสเซียจะมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันนับตั้งแต่สงครามไครเมีย (1853-1856) และด้วยทั้งคู่มีพระมารดาเป็นพี่น้องเจ้าหญิงจากเดนมาร์ก จึงไม่แปลกที่ทั้งสองจะมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกันมากจนบางคนจำผิด

ภายหลังรัสเซียกับอังกฤษเริ่มมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เมื่อพระราชินีวิกตอเรียน่าจะเห็นประโยชน์จากการเป็นมิตรกับรัสเซีย พระองค์จึงให้เจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระนัดดาคนโปรดได้อภิเษกสมรสกับซาเรวิช (ตำแหน่งของพระเจ้าซาร์ในขณะนั้น)

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าจอร์จที่ 5 เคยกล่าวกับ พระเจ้าซาร์ที่ 2 ว่า “โปรดจำไว้ว่า เธอสามารถนึกถึงเราในฐานะเพื่อนได้เสมอ”

แต่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีสันติสุข และมิตรภาพที่ยืนยาว สงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้นในปี 1914 ทั้งๆ ที่ผู้นำยุโรปสมัยนั้นล้วนเป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีสัมพันธ์ทางสายเลือดต่อกัน

ส่วนอังกฤษของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และรัสเซียของพระเจ้าซาร์นิโคลัส ยังคงมีสถานะเป็นพันธมิตร

เบื้องต้นสงครามทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์ในรัสเซียเข้มแข็งขึ้น แต่การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของพระเจ้าซาร์ตั้งแต่ความพยายามเข้ามาคุมกองทัพด้วยตนเอง โดยปลดแกรนด์ดยุกนิโคลัส พระปิตุลาผู้สามารถและได้รับการยอมรับออกจากตำแหน่ง ทั้งที่พระองค์าดประสบการณ์ในการสงคราม จึงเป็นการทำลายขวัญกำลังใจ และทำให้กองทัพขาดเอกภาพ

นอกจากนี้ การที่พระองค์ลงมาบัญชาการกองทัพเอง ยังทำให้การควบคุมรัฐกิจตกไปอยู่ในมือของราชินีอเล็กซานดราและ “รัสปูติน” คนสนิทที่นำพารัสเซียไปสู่หายนะ

ความไม่พอใจของประชาชนจากความเดือดร้อนด้วยผลของสงครามและการบริหารที่ล้มเหลวนำไปสู่การก่อจลาจลในปี 1917 บีบให้พระเจ้าซาร์ต้องสละราชบัลลังก์

ในช่วงเวลาอันวิกฤต รัฐบาลเฉพาะกาลของรัสเซียได้ติดต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอให้พระเจ้าซาร์และพระราชวงศ์ได้ลี้ภัย

เบื้องต้นทางรัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว

แต่พระเจ้าจอร์จ ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าซาร์ ผู้เคยกล่าวว่า “เธอสามารถนึกถึงเราในฐานะเพื่อนได้เสมอ” กลับไม่เห็นด้วย

พระองค์เชื่อว่า การปล่อยให้ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์เข้าประเทศอาจเป็นภัยต่อสถานะของพระองค์เอง ด้วยหวาดกลัวว่าฝ่ายซ้ายจะใช้เป็นข้ออ้างในการก่อเหตุวุ่นวาย พระองค์จึงพยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลยกเลิกข้อเสนอยอมรับการลี้ภัยของพระเจ้าซาร์

อีกราว 18 เดือนต่อมา พระเจ้าซาร์นิโคลัสและครอบครัวก็ถูกสังหารโหดในเอคาเทอรินเบิร์ก (Ekaterinburg) เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พระเจ้าจอร์จถูกมองว่าละทิ้งลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของหมาป่า

แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ต่อให้พระเจ้าจอร์จยอมยื่นมือมาช่วยพระเจ้าซาร์ ถึงอย่างนั้น การที่พระเจ้าซาร์จะหนีเอาชีวิตรอดออกมาจากแผ่นดินรัสเซียในภาวะที่ประชาชนกำลังเคียดแค้นระบอบเก่าอย่างรุนแรง และทหารก็ไม่ได้อยู่ในวินัยอย่างเต็มที่ ย่อมถือเป็นเรื่องยากเช่นกัน

credit : https://www.gmlive.com/george-v-and-nicholas-ii  
เข้าร่วม: 14 May 2006
ตอบ: 2207
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 11:11 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
กว่าจะอ่านจบ... ยาวจริงๆ
วันนี้ อ่านเรื่อง รัสเซีย กับสยาม เยอะมาก

มีเหตุการณ์อะไรหรือเปล่าครับ อาทิตย์นี้ อยู่ ตปท. ไม่รู้ข่าวสารในไทยเลยครับ
0
0
||| More transparent, Less power, Under the same sun
เข้าร่วม: 21 Apr 2010
ตอบ: 644
ที่อยู่: KU
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 11:40 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
ช่วงนี้กำลังอ่านพวกประวัติศาสตร์อะไรเรื่อยเปื่อย ชวงประมาณww1 มีเรื่องพระเจ้าซาร์และร.5พอดี

มาอ่านกระทู้นี้ต่อ อินสุดๆ
0
0
เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 5227
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sat Mar 24, 2018 11:49 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
ผมชอบประวัติศาสตร์
0
0
เข้าร่วม: 05 Dec 2015
ตอบ: 1991
ที่อยู่: Brazilia , Brazil
โพสเมื่อ: Sun Mar 25, 2018 2:42 am
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
อยากรู้ว่าตอนราชวงศ์โรมานอฟล่มสลาย ทางเรามีปฏิกิริยายังไงบ้างครับ ศึกษามานานละไม่เจอสักที
0
0
เข้าร่วม: 06 Apr 2017
ตอบ: 2014
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sun Mar 25, 2018 10:43 am
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
ผมเกิด 23 ตุลา
0
0
เข้าร่วม: 15 Sep 2013
ตอบ: 1788
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sun Mar 25, 2018 11:07 am
รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]
siamese talk

0
0
Munchen for life
เข้าร่วม: 02 Nov 2008
ตอบ: 2766
ที่อยู่: โพรงข้างต้นสะแบง
โพสเมื่อ: Sun Mar 25, 2018 12:25 pm
[RE: รัชกาลที่ 5 กับซาร์สุดท้ายแห่งรัสเซีย [บทความ]]
หน้า 1 L'ILLUSTRATION ตามมู้


0
0