ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 30 Oct 2009
ตอบ: 168457
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 6:12 am
คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)
การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกฤดูกาล 2018 กำลังจะเริ่มขึ้นในสุดสัปดาห์นี้แล้ว เพื่อความสนุกในการติดตามรับชม เราขอสรุปข้อมูลสำคัญสำหรับการแข่งขันในปีนี้มาให้แฟนๆ ได้รับทราบกันตามด้านล่างนี้เลยออเจ้า

ปฏิทินการแข่งขันปี 2018

การแข่งขันเป็นระบบเก็บคะแนนสะสม ประกอบด้วยทั้งหมด 21 สนาม โดยในปีนี้สนามฝรั่งเศสกลับเข้าสู่ปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และเยอรมันกลับมาอีกครั้งด้วยสนามฮ็อคเคนไฮม์ ขณะที่มาเลเซียไม่มีการจัดการแข่งขันแล้ว

สนามที่ 1: 25 มี.ค. - เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
สนามที่ 2: 8 เม.ย. - ซาคีร์ บาห์เรน
สนามที่ 3: 15 เม.ย. - เซี่ยงไฮ้ จีน
สนามที่ 4: 29 เม.ย. - บาคู อาเซอร์ไบจัน
สนามที่ 5: 13 พ.ค. - บาร์เซโลน่า สเปน
สนามที่ 6: 27 พ.ค. - มอนติคาร์โล โมนาโก
สนามที่ 7: 10 มิ.ย. - มอนทรีออล แคนาดา
สนามที่ 8: 24 มิ.ย. - เลอ กาสแตลเลต์ ฝรั่งเศส
สนามที่ 9: 1 ก.ค. - สปีลเบิร์ก ออสเตรีย
สนามที่ 10: 8 ก.ค. - ซิลเวอร์สโตน สหราชอาณาจักร
สนามที่ 11: 22 ก.ค. - ฮ็อคเคนไฮม์ เยอรมัน
สนามที่ 12: 29 ก.ค. - บูดาเปสต์ ฮังการี
สนามที่ 13: 26 ส.ค. - สปา-ฟรองคอร์ชองป์ เบลเยี่ยม
สนามที่ 14: 2 ก.ย.- มอนซ่า อิตาลี
สนามที่ 15: 16 ก.ย. - สิงคโปร์
สนามที่ 16: 30 ก.ย. - โซชิ รัสเซีย
สนามที่ 17: 7 ต.ค. - ซูซูกะ ญี่ปุ่น
สนามที่ 18: 21 ต.ค. - ออสติน สหรัฐอเมริกา
สนามที่ 19: 28 ต.ค. - เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก
สนามที่ 20: 11 พ.ย. - เซาเปาโล บราซิล
สนามที่ 21: 25 พ.ย. - อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์



ทีมและนักแข่ง

ในปีนี้มีจำนวนทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมนักขับ 20 คน เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

แชมป์โลกฟอร์มูล่าวันคนปัจจุบันคือ ลูอิส แฮมิลตัน ซึ่งเป็นแชมป์ 4 สมัย และเมอร์เซเดส ต้นสังกัดของเขาก็เป็นทีมแชมป์โลกขณะนี้ด้วย โดยนักขับแชมป์โลกที่ลงแข่งขันในฤดูกาลนี้มีทั้งหมด 4 คนด้วยกัน นอกจากแฮมิลตัน (แชมป์ปี 2008 2014-2015 และ 2017) ก็ยังมีเซบาสเตียน เวทเทล (2010-2013) เฟอร์นันโด อลอนโซ่ (2005-2006) และคิมี่ ไรค์โคเน่น (2007)

สำหรับรายชื่อทีมแข่ง นักแข่ง รวมถึงแชสซีส์และเครื่องยนต์ มีดังนี้


เมอร์เซเดส (Mercedes AMG Petronas Motorsport)*
แชสซีส์: W09
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 44 ลูอิส แฮมิลตัน (สหราชอาณาจักร) และ 77 วาลท์เทรี่ บอตทาส (ฟินแลนด์)

เฟอร์รารี่ (Scuderia Ferrari)
แชสซีส์: SF71H
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 5 เซบาสเตียน เวทเทล (เยอรมัน) และ 7 คิมี่ ไรค์โคเน่น (ฟินแลนด์)

เร้ดบูล (Aston Martin Red Bull Racing)
แชสซีส์: RB14
เครื่องยนต์: เรโนลต์ ในนามแท็กฮอยเออร์ (สปอนเซอร์ของทีม)
นักแข่ง: 3 แดเนียล ริกเคียร์โด้ (ออสเตรเลีย) และ 33 แม็กซ์ เวอร์สตัปเพ่น (ฮอลแลนด์)

ฟอร์ซอินเดีย (Sahara Force India F1 Team)
แชสซีส์: VJM11
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 11 เซอร์จิโอ เปเรซ (เม็กซิโก) และ 31 เอสเตบัน โอคอน (ฝรั่งเศส)

วิลเลียมส์ (Williams Martini Racing)
แชสซีส์: FW41
เครื่องยนต์: เมอร์เซเดส
นักแข่ง: 18 แลนซ์ สโตรล (แคนาดา) และ 35 เซอร์เกย์ ซิรอตกิ้น (รัสเซีย)

เรโนลต์ (Renault Sport Formula One Team)
แชสซีส์: R.S. 18
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 27 นิโค ฮูลเคนเบิร์ก (เยอรมัน) และ 55 คาร์ลอส ซายนซ์ (สเปน)

โตโร รอสโซ (Red Bull Toro Rosso Honda)
แชสซีส์: STR13
เครื่องยนต์: ฮอนด้า
นักแข่ง: 10 ปิแอร์ กาสลีย์ (ฝรั่งเศส) และ 28 เบรนดอน ฮาร์ตลีย์ (นิวซีแลนด์)

ฮาส (Haas F1 Team)
แชสซีส์: VF-18
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 8 โรแมง โกรส์ฌอง (ฝรั่งเศส) และ 20 เควิน แม็กนุสเซ่น (เดนมาร์ก)

แม็คลาเรน (McLaren F1 Team)
แชสซีส์: MCL33
เครื่องยนต์: เรโนลต์
นักแข่ง: 2 สตอฟเฟล แวนดูร์น (เบลเยี่ยม) และ 14 เฟอร์นันโด อลอนโซ่ (สเปน)

เซาเบอร์ (Alfa Romeo Sauber F1 Team)
แชสซีส์: C37
เครื่องยนต์: เฟอร์รารี่
นักแข่ง: 9 มาร์คุส เอริกสัน (สวีเดน) และ 16 ชาร์ล เลอแคลร์ (โมนาโก)

*ชื่อเต็มของทีม



*********************************************************


กฎการแข่งขันทั่วไป


สุดสัปดาห์การแข่งขัน


ปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันในแต่ละปีหรือแต่ละฤดูกาลประกอบด้วยจำนวนสนามแข่งขันได้มากที่สุด 21 สนาม ขึ้นอยู่กับการลงนามร่วมกันในสัญญาการจัดการแข่งขันระหว่างสนามนั้นๆ กับผู้ถือลิขสิทธิ์ทางการค้าของการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันนี้ฟอร์มูล่าวันบริหารงานโดยลิเบอร์ตี้มีเดีย ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์รายใหญ่ของอเมริกา สำหรับฤดูกาล 2018 มีสนามที่ต้องชิงชัยรวมทั้งสิ้น 21 สนามดังปฏิทินการแข่งขันข้างต้น โดยเริ่มที่รายการออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์ วันที่ 25 มีนาคม และปิดท้ายด้วยรายการอาบู ดาบี กรังด์ปรีซ์ วันที่ 25 พฤศจิกายน

ในแต่ละสุดสัปดาห์การแข่งขันจะประกอบด้วย

วันศุกร์ - เป็นรอบฝึกซ้อม (Free Practice) แบ่งเป็น 2 รอบ เช้าและบ่าย หรือบ่ายและค่ำสำหรับกรณีไนท์เรซ รอบละ 90 นาที (สำหรับรายการโมนาโก กรังด์ปรีซ์ รอบฝึกซ้อมวันแรกจะจัดในวันพฤหัสบดี เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของเมือง)

วันเสาร์ - ประกอบด้วยรอบฝึกซ้อมครั้งสุดท้าย ใช้เวลา 60 นาที และถัดมาจะเป็นรอบควอลิฟาย (Qualifying) หรือรอบแข่งขันจับเวลาเพื่อจัดอันดับสตาร์ทในวันแข่งขันจริงคือในวันอาทิตย์ ใช้เวลา 60 นาที ซึ่งรอบควอลิฟายจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงย่อย ได้แก่

Q1 ใช้เวลา 18 นาที ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุด 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 16-20)

Q2 ใช้เวลา 15 นาที สำหรับรถ 15 คัน เวลาจาก Q1 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่ ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุดอีก 5 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 11-15)

Q3 ใช้เวลา 12 นาที สำหรับรถ 10 คันสุดท้าย เวลาจาก Q2 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่และจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 1-10) ผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ออกตัวจากกริดสตาร์ทอันดับที่ 1 หรือที่เรียกว่าตำแหน่งโพล (Pole Position) ซึ่งเป็นตำแหน่งสตาร์ทที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ จำนวนการคัดรถออกจาก Q1 และ Q2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนรถที่เข้าแข่งขันในแต่ละฤดูกาล สำหรับปี 2018 มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 10 ทีม รวมจำนวนรถ 20 คัน โดยรถทุกคันจะต้องทำเวลาให้อยู่ในเวลา 107% ของเวลาที่เร็วที่สุดใน Q1 เพื่อผ่านการควอลิฟายไปเข้าร่วมการแข่งขัน หากเวลาควอลิฟายไม่ถึง 107% ให้อยู่ในดุลพินิจของกรรมการว่าจะอนุญาตให้รถคันนั้นๆ ลงแข่งขันหรือไม่

วันอาทิตย์ - เป็นวันแข่งขันหรือ Race Day โดยกำหนดให้ระยะทางรวมในการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 300 กม. (สำหรับสนามโมนาโกถือเป็นข้อยกเว้น) หรือใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นแต่การแข่งขันจะถูกคั่นด้วยธงแดงเพื่อหยุดการแข่งขันชั่วคราวอันเนื่องจากอุบัติเหตุหรือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย


คะแนนสะสม

ฟอร์มูล่าวันใช้ระบบสะสมคะแนนตลอดทั้งฤดูกาล ผู้ที่ได้คะแนนสะสมมากที่สุดทั้งประเภทนักขับและประเภททีมผู้สร้างจะได้แชมป์โลกประจำฤดูกาลไปครอง โดยการให้คะแนนนักขับจะจัดสรรให้กับผู้ที่เข้าเส้นชัย 10 อันดับแรกดังนี้

อันดับที่ 1 - 25 คะแนน
อันดับที่ 2 - 18 คะแนน
อันดับที่ 3 - 15 คะแนน
อันดับที่ 4 - 12 คะแนน
อันดับที่ 5 - 10 คะแนน
อันดับที่ 6 - 8 คะแนน
อันดับที่ 7 - 6 คะแนน
อันดับที่ 8 - 4 คะแนน
อันดับที่ 9 - 2 คะแนน
อันดับที่ 10 - 1 คะแนน

โดยคะแนนทีมผู้สร้างจะเป็นการนำคะแนนของนักขับในทีมทั้ง 2 คนที่ได้รับจากแต่ละสนามมารวมกัน


การใช้ยาง

ยางที่รถฟอร์มูล่าวันใช้ในปัจจุบันมาจากผู้ผลิตรายเดียว เป็นยี่ห้อปิเรลลี่ (Pirelli) ของอิตาลี ประเภทของยางแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือยางสำหรับแทร็คแห้ง (slick) และยางสำหรับแทร็คเปียก ซึ่งแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้ดังนี้

ยางแห้ง:
ยางไฮเปอร์ซอฟต์ - แถบสีชมพู (ยางใหม่ของปี 2018)
ยางอัลตร้าซอฟต์ - แถบสีม่วง
ยางซูเปอร์ซอฟต์ - แถบสีแดง
ยางซอฟต์ - แถบสีเหลือง
ยางมีเดียม - แถบสีขาว
ยางฮาร์ด - แถบสีฟ้าสด
ยางซูเปอร์ฮาร์ด - แถบสีส้ม (ยางใหม่ของปี 2018)

ยางเปียก:
ยางอินเตอร์มีเดียต - แถบสีเขียว สำหรับแทร็คกึ่งเปียกกึ่งแห้ง
ยางฟูลเว็ท - แถบสีฟ้า สำหรับแทร็คที่เปียกมาก มีน้ำขัง



กฎการใช้ยางมีรายละเอียดดังนี้

- ปิเรลลี่ โดยการปรึกษาร่วมกับเอฟไอเอ จะประกาศชนิดยางสำหรับการแข่งขันในแต่ละสนามล่วงหน้าจำนวน 3 ชนิดให้ทีมแข่งรับทราบ

- นักขับแต่ละคนจะได้รับยางจำนวนทั้งสิ้น 13 ชุด สำหรับใช้ในช่วงฝึกซ้อม รอบควอลิฟาย และการแข่งขันในแต่ละรายการ

- ปิเรลลี่จะระบุชนิดยางบังคับในการแข่งขันให้รถแต่ละคันจำนวน 2 ชุด (อาจต่างชนิดกันได้) และยางเนื้อนิ่มที่สุดอีก 1 ชุดไว้ใช้เฉพาะรอบควอลิฟาย ช่วง Q3 เท่านั้น หากรถคันใดไม่ได้ผ่านเข้า Q3 ก็สามารถเก็บยางชนิดนิ่มที่สุดนั้นไปใช้วันแข่งได้

- แต่ละทีมสามารถเลือกชนิดของยางสำหรับ 10 ชุดที่เหลือของนักขับแต่ละคนได้เองจากยาง 3 ชนิดที่ระบุให้ใช้ในสุดสัปดาห์การแข่งขัน

- ทีมจะต้องเลือกยางที่จะใช้ภายในวันที่ปิเรลลี่กำหนด ซึ่งปิเรลลี่จะแจ้งการเลือกยางไปยังเอฟไอเอ และจากนั้นจะแจ้งกลับมายังปิเรลลี่ถึงจำนวนยางที่ต้องผลิต การเลือกยางของแต่ละทีมจะถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่ง 2 สัปดาห์ก่อนการแข่งขัน หากทีมใดเลือกยางช้ากว่ากำหนด เอฟไอเอจะเป็นผู้เลือกยางให้แทน

- เมื่อมีการเลือกยางสำหรับรถแต่ละคันแล้ว เอฟไอเอจะติดบาร์โค้ดให้กับยางแบบสุ่ม

- แต่ละทีมสามารถเลือกยางให้เหมาะกับรถแต่ละคันได้ หมายความว่านักขับแต่ละคนของทีมไม่จำเป็นต้องเลือกยางเหมือนกัน

- ยางชนิดต่างๆ จะได้รับการแยกชนิดด้วยแถบสีด้านข้างอย่างชัดเจน

- ทีมต้องส่งคืนยางตามกำหนดที่ระบุ แต่พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกชนิดของยางที่จะส่งคืนได้ตามกำหนดเวลาช่วงต่างๆ ได้แก่
1 ชุดหลัง 40 นาทีแรกของการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
1 ชุดเมื่อจบการซ้อมครั้งที่ 1 (FP1)
2 ชุดเมื่อจบการซ้อมครั้งที่ 2 (FP2)
2 ชุดเมื่อจบการซ้อมครั้งที่ 3 (FP3)
*เว้นแต่ทั้ง FP1 และ FP2 ได้รับการประกาศให้เป็นช่วงแทร็คเปียกหรือถูกยกเลิก นักขับแต่ละคนอาจเก็บยางไว้ได้ 1 ชุด แต่ต้องส่งคืนก่อนเริ่มรอบควอลิฟาย

- ห้ามทีมส่งคืนยางบังคับ 2 ชุดที่ปิเรลลี่เลือกให้ไว้และยางนั้นต้องพร้อมใช้ในการแข่งขัน

- หากไม่ได้ใช้ยางอินเตอร์มีเดียตหรือฟูลเว็ทในการแข่งขัน นักขับทุกคนต้องใช้ยางสำหรับแทร็คแห้งอย่างน้อย 2 ชนิดระหว่างการแข่งขัน และต้องเป็น 1 ใน 2 ชุดที่ปิเรลลี่กำหนดไว้ ซึ่งก็แล้วแต่ทีมว่าจะเลือกเป็นชุดไหน

- นักขับที่สามารถผ่านเข้ารอบควอลิฟาย Q3 ต้องส่งคืนยางชนิดนิ่มกว่าที่ให้ใช้ใน Q3 ดังกล่าว และต้องสตาร์ทการแข่งขันด้วยยางที่ตนทำเวลาเร็วที่สุดใน Q2 ส่วนนักขับที่ไม่ได้ผ่านเข้า Q3 สามารถเก็บยางที่ให้ใช้เฉพาะ Q3 นั้นไปใช้ในการแข่งขันได้


สัญญาณธงในสนามที่สำคัญ

ธงตาหมากรุก - จบการแข่งขันหรือในรอบควอลิฟายจะหมายถึงไม่อนุญาตให้เริ่มควอลิฟายรอบใหม่

ธงเหลืองเดี่ยว - มีอันตรายอยู่ข้างหน้า ให้เตรียมลดความเร็ว
ธงเหลืองคู่ - มีอุบัติเหตุอยู่ข้างหน้า ให้ลดความเร็วลงทันที
*ห้ามแซงภายใต้ธงเหลืองใดๆ โดยเด็ดขาด

ธงเขียว - แทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นักแข่งใช้ความเร็วในการแข่งขันตามปกติได้

ธงแดง - หยุดช่วง ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันหรือควอลิฟาย มักใช้กรณีที่มีอุบัติเหตุรุนแรง แทร็คมีเศษชิ้นส่วนกระจัดกระจายไปทั่ว หรือสนามไม่พร้อมสำหรับการแข่งขันเนื่องจากสภาพอากาศ

ธงเหลืองสลับแดง - ระวังแทร็คลื่นข้างหน้า มักเกิดจากมีน้ำมันหรือน้ำบนผิวแทร็ค

ธงดำจุดกลมสีส้มตรงกลางพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นมีปัญหาทางเทคนิคและให้กลับเข้าพิตโดยเร็วที่สุด

ธงดำพร้อมหมายเลขนักขับ - รถคันนั้นต้องกลับเข้าพิตโดยทันทีเนื่องจากถูกตัดออกจากการแข่งขัน (disqualified)

ธงครึ่งขาวครึ่งดำพร้อมหมายเลขนักขับ - นักขับรถคันนั้นขับขี่โดยไม่สมควร ถือเป็นการเตือนครั้งสุดท้ายก่อนจะถึงธงดำ

ธงขาว - ให้ระวังพาหนะเคลื่อนที่ช้าที่อยู่ในแทร็ค

ธงฟ้า - บอกให้รถช้าที่กำลังจะถูกน็อกรอบรู้ว่ามีรถที่เร็วกว่าและอยู่คนละรอบตามมา ต้องเปิดทางให้ ถ้าผ่านธงฟ้า 3 จุดติดต่อกันแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ


เซฟตี้คาร์

เซฟตี้คาร์จะออกมาเมื่อกรรมการฝ่ายควบคุมการแข่งขันเห็นว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ในจุดที่เสี่ยง และการกู้รถต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนกับจุดเดิม เซฟตี้คาร์ออกมาวิ่งนำการแข่งขันโดยอยู่ข้างหน้ารถผู้นำ เป็นการควบคุมความเร็วของรถบนแทร็คให้เหมาะสม ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป ขณะที่วิ่งตามหลังเซฟตี้คาร์ ห้ามไม่ให้มีการแซงกัน หากมีรถช้าที่วิ่งคนละรอบ (รถถูกน็อกรอบ) แทรกอยู่ กรรมการจะให้สัญญาณรถช้านั้นแซงเซฟตี้คาร์ขึ้นมาเพื่อวนกลับไปอยู่ในตำแหน่งจริงของตน ซึ่งนักขับอาจเข้าพิตไปเปลี่ยนยางได้ตามสัญญาณที่กรรมการแจ้งว่าพิตเลนเปิด

หากสถานการณ์ในแทร็คกลับมาเป็นปกติได้แล้ว เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลน โดยจะให้สัญญาณแก่ผู้นำด้วยการดับไฟสีเหลืองบนรถในรอบสุดท้ายที่วิ่ง เมื่อเซฟตี้คาร์กลับเข้าไปในพิตเลนแล้ว รถจะกลับมาแข่งขันด้วยความเร็วเต็มที่และแซงกันได้ตามปกติก็ต่อเมื่อวิ่งผ่านเส้นสตาร์ทเพื่อนับรอบใหม่ไปแล้ว ทั้งนี้ ผู้นำการแข่งขันมีสิทธิ์กำหนดจังหวะวิ่งผ่านเส้นสตาร์ท ถ้าผู้นำยังไม่ข้ามเส้นสตาร์ท แม้เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเลนแล้วก็ยังแซงกันไม่ได้

ในกรณีที่การกู้รถที่เกิดอุบัติเหตุทำไม่สำเร็จภายในรอบการแข่งขันที่เหลือ เซฟตี้คาร์จะวิ่งอยู่จนจบการแข่งขัน แต่ก่อนถึงเส้นชัยเซฟตี้คาร์จะวิ่งกลับเข้าพิตเลนไปก่อนเพื่อปล่อยให้รถผ่านเส้นชัยตามปกติ

ปัจจุบันมีการนำระบบเสมือนมีเซฟตี้คาร์ในสนาม (Virtual Safety Car - VSC) มาใช้โดยมีสถานะเทียบเท่ากับการโบกธงเหลืองคู่ แต่อาจไม่จำเป็นถึงขั้นใช้เซฟตี้คาร์ เมื่อกรรมการตัดสินใจให้ใช้ระบบ VSC จะมีป้ายไฟสัญญาณขึ้นแจ้งนักขับด้านข้างสนาม นักขับต้องลดความเร็วลงแต่ไม่ช้าเกินกว่าที่กำหนด และเมื่อสถานการณ์ในแทร็คกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ป้ายไฟสัญญาณจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว

นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ คือกระบวนการเริ่มการแข่งขันอีกครั้งหลังเซฟตี้คาร์กลับเข้าพิตไปแล้ว เดิมนั้นเป็นแบบโรลลิ่งสตาร์ทอย่างที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับฤดูกาล 2018 นี้เมื่อหมดช่วงเซฟตี้แล้วจะเป็นแบบตั้งกริดสตาร์ทกันใหม่ ไฟสัญญาณจะขึ้นเป็นตัวอักษร SS ไปทั่วสนาม พร้อมข้อความ STANDING START จากระบบส่วนกลาง และไฟสีส้มของเซฟตี้คาร์ก็จะดับลงเพื่อเป็นสัญญาณให้นักขับทราบว่าการแข่งขันจะกลับสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม แบบโรลลิ่งสตาร์ทยังคงมีอยู่ หากสถานการณ์ไม่เหมาะกับการรีสตาร์ทแบบตั้งกริด โดยสัญญาณและข้อความของโรลลิ่งสตาร์ทคือ RS หรือ ROLLING START



*********************************************************



กฎด้านเทคนิคเบื้องต้นที่ควรทราบ

ตัวถัง/แชสซีส์

หลังจากฟอร์มูล่าวันเข้าสู่ยุคล่าสุดเมื่อปี 2014 ปีนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนกฎด้านเทคนิคอยู่หลายครั้ง ซึ่งสำหรับปี 2018 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากรถปีที่แล้วมากนัก จุดหลักที่มีการเปลี่ยนแปลงของตัวถัง ได้แก่

- ทุกทีมต้องติดตั้งอุปกรณ์เฮโล (Halo) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันศีรษะนักขับขณะนั่งในรถ เฮโลแข็งแรงมาก สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 12.7 ตัน และอนุญาตให้ทีมเพิ่มแฟริ่งได้



- ห้ามมีครีบฉลามและปีกตัวทีอย่างฤดูกาลที่แล้ว

- เข้มงวดมากขึ้นกับระบบช่วงล่างเพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์ในด้านแอโรไดนามิกส์

- น้ำหนักรถขั้นต่ำขยายเป็น 733 กก. เพื่อรองรับการติดตั้งเฮโล โดยรวมน้ำหนักนักขับ อุปกรณ์ความปลอดภัย และยาง แต่ไม่รวมเชื้อเพลิง


เครื่องยนต์

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เครื่องยนต์ฟอร์มูล่าวันใช้ขนาด 1.6 ลิตร V6 เทอร์โบ จำกัดความเร็วรอบเครื่องไม่เกิน 15000 rpm นอกจากกำลังของเครื่องยนต์แล้ว ยังจะได้แรงม้าจากการใช้ระบบ ERS (Energy Recovery System) ซึ่งเป็นระบบที่เปลี่ยนพลังงานกลและพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

หน่วยเครื่องยนต์ (Power Unit) ของรถฟอร์มูล่าวันประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 6 ส่วน ได้แก่

1. เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน (Internal Combustion Engine: ICE)
2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานจลน์ (Motor Generator Unit - Kinetic: MGU-K)
3. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า - พลังงานความร้อน (Motor Generator Unit - Heat: MGU-H)
4. ระบบสะสมพลังงาน (Energy Store: ES) หรือแบตเตอรี่
5. ตัวชาร์จเทอร์โบ (Turbo Charger: TC)
6. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Control Electronics: CE) หรือ CPU



สำหรับกฎการใช้หน่วยเครื่องยนต์ของปี 2018 ระบุไว้ดังต่อไปนี้


- การใช้หน่วยเครื่องยนต์ (power unit) ตามโควต้าปีนี้นักขับต้องใช้เครื่องยนต์ (ICE) เทอร์โบ (TC) และ MGU-H คนละ 3 ตัว / MGU-K แบตเตอรี่ (ES) และ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (CE) คนละ 2 ตัว หากเกินจากนี้จะต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทในเรซที่ใช้ส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์เกินโควต้า

> นักขับใช้ส่วนประกอบใดเกินโควต้าเป็นครั้งแรก นักขับผู้นั้นจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทลง 10 อันดับ นับจากที่ทำได้จากรอบควอลิฟาย และหากใช้ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกินโควต้าเป็นครั้งแรกตามมา นักขับผู้นั้นจะต้องถูกปรับกริดสตาร์ทส่วนประกอบละ 5 อันดับ โดยกระบวนการลงโทษจะเป็นไปเช่นนี้อีกเมื่อเริ่มใช้ส่วนประกอบใดๆ เกินโควต้าอีกเป็นครั้งที่ 2 3 4 ฯลฯ

- ถ้านักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ท 15 อันดับขึ้นไป จะต้องสตาร์ทจากอันดับสุดท้าย และหากมีนักขับต้องรับโทษแบบเดียวกันนี้มากกว่า 1 คนในรายการหนึ่งๆ ผู้ที่รับโทษเปลี่ยนส่วนประกอบเครื่องยนต์มากที่สุดจะต้องเป็นผู้ออกตัวจากกริดสุดท้าย

- ห้ามไม่ให้นักขับยอมรับโทษจำนวนมากในสนามเดียวโดยจงใจ เพื่อสะสมส่วนประกอบของหน่วยเครื่องยนต์ที่เกินโควต้าไปใช้ในสนามอื่นๆ หากมีการเปลี่ยนส่วนประกอบใดๆ ของหน่วยเครื่องยนต์มากกว่า 1 ตัวในสุดสัปดาห์การแข่งขัน จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะส่วนประกอบตัวล่าสุดเท่านั้นในสนามถัดไปโดยไม่ต้องรับโทษอีก

- มีการเข้มงวดกับการเผาไหม้ของน้ำมันเครื่อง โดยอนุญาตให้เผาไหม้ที่อัตรา 0.6 ลิตร/100 กม.

- ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องยนต์ในฟอร์มูล่าวันมี 4 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เฟอร์รารี่ เรโนลต์ และฮอนด้า


เกียร์บ็อกซ์/ชุดเกียร์

ในฤดูกาลนี้ นักขับแต่ละคนต้องใช้เกียร์บ็อกซ์ 1 ตัวสำหรับ 6 สนามติดต่อกัน หากมีการเปลี่ยนเกียร์บ็อกซ์ก่อนกำหนด นักขับต้องรับโทษปรับกริดสตาร์ทลง 5 อันดับ เว้นแต่ถ้าไม่จบการแข่งขันด้วยเหตุที่นักขับไม่สามารถควบคุมได้ก็สามารถใช้เกียร์บ็อกซ์ตัวใหม่ได้ในสนามถัดไปโดยไม่ต้องรับโทษ


อากาศพลศาสตร์/แอโรไดนามิกส์

งานด้านแอโรไดนามิกส์ของรถฟอร์มูล่าวันมี 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน คือ แรงกด (downforce) และแรงลาก (drag) ดาวน์ฟอร์ซจะกดยางลงบนพื้นถนนและช่วยให้เข้าโค้งได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะลดแรงลาก ซึ่งเป็นเหมือนกำแพงต้านอากาศขณะรถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทั้งนี้ ดาวน์ฟอร์ซจะช่วยเพิ่มความเร็วให้รถระหว่างวิ่งบนทางตรงอีกด้วย

ทุกตารางนิ้วบนรถฟอร์มูล่าวันมีผลกับแอโรไดนามิกส์โดยรวมของรถและการทำให้แอโรไดนามิกส์เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของทีม


*********************************************************



ประวัติฟอร์มูล่าวันโดยสังเขป

การแข่งขันฟอร์มูล่าวันชิงแชมป์โลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1950 โดยเกิดจากการรวบรวมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการใหญ่ (Grand Prix) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในทวีปยุโรประหว่างยุคทศวรรษที่ 1920 และ 1930 เข้าไว้ด้วยกัน การแข่งขันฟอร์มูล่าวันกรังด์ปรีซ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่สนามซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1950 ซึ่งจวบจนถึงวันนี้ฟอร์มูล่าวันแข่งขันกันมาแล้วมากกว่า 900 ครั้ง

แชมป์โลกคนแรกของฟอร์มูล่าวันคือ จูเซปเป้ ฟาริน่า ส่วนทีมแชมป์โลกทีมแรกได้แก่ทีมแวนวอลล์ (ตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมมอบให้ในปี 1958 เป็นปีแรก) สำหรับนักขับที่ครองแชมป์โลกจำนวนมากที่สุดคือ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ซึ่งคว้าแชมป์โลกทั้งสิ้น 7 สมัย ในปี 1994-1995 และ 2000-2004 เขายังถือสถิติเป็นผู้ชนะการแข่งขันมากที่สุดจำนวน 91 สนาม โดยเฟอร์รารี่เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดด้วยจำนวนแชมป์โลก 16 สมัย จากชัยชนะทั้งสิ้น 221 ครั้ง

ในวงการมอเตอร์สปอร์ตมีรายการที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎอยู่ 3 รายการ ได้แก่ อินดี้ 500 เลอมังส์ 24 ชั่วโมง และโมนาโก กรังด์ปรีซ์ ซึ่งรายการหลังจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1929 และอยู่ในปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันมาตลอดนับตั้งแต่ปี 1950

ข้อมูลจาก

facebook.com/f1starfanclub
bloggang.com/viewdiary.php?id=f1star


เข้าร่วม: 12 Aug 2017
ตอบ: 19576
ที่อยู่: STARSHIP
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 7:55 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
ศึกษาแปป ขอบคุณครับ
0
0
เข้าร่วม: 30 Oct 2014
ตอบ: 4882
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 9:14 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
ไม่เคยดูกีฬานี้เลย แต่อ่านกติกามะกี้ งงว่าทำไมต้องบังคับใช้ยาง Pirelli หว่า นึกว่าเลือกได้ว่าใครถนัดยางไหนซะอีก
0
0
เข้าร่วม: 30 Oct 2009
ตอบ: 168457
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 9:20 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
twentyfourseven พิมพ์ว่า:
ไม่เคยดูกีฬานี้เลย แต่อ่านกติกามะกี้ งงว่าทำไมต้องบังคับใช้ยาง Pirelli หว่า นึกว่าเลือกได้ว่าใครถนัดยางไหนซะอีก  


ผู้สนับสนุนครับ

เขาจัดมาให้ยังไง

ทีมไปจัดการกันเองครับ (เลือกยางแบบใหน)


เข้าร่วม: 11 Feb 2017
ตอบ: 2128
ที่อยู่: คอรัสซานท์
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 9:36 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
twentyfourseven พิมพ์ว่า:
ไม่เคยดูกีฬานี้เลย แต่อ่านกติกามะกี้ งงว่าทำไมต้องบังคับใช้ยาง Pirelli หว่า นึกว่าเลือกได้ว่าใครถนัดยางไหนซะอีก  


เป็นเหมือนสปอนเซอร์ที่ทำสัญญากับทางรายการแข่งขันน่ะครับ ก่อนหน้านี้ก็เป็น bridgestone จนมาใช้ pirelli ตั้งแต่2011มั้ง อย่าง moto gp ก็จะเป็น michelin พอหมดสัญญา ก็อาจจะมีการผัดเปลี่ยนยี่ห้อกันไป

เข้าร่วม: 27 May 2010
ตอบ: 21357
ที่อยู่: ฺฺ [ stadio olimpico ]
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 11:18 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
เอาไป1แผล่บช่วงนี้ว่างดูกีฬาเยอะ
0
0


เข้าร่วม: 22 Oct 2012
ตอบ: 47086
ที่อยู่: Forbidden Siren
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 2:04 pm
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
สงสัยจะหน้าเดิม
0
0
1yZGZS.png
เข้าร่วม: 05 Sep 2013
ตอบ: 6808
ที่อยู่: Stoke City
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 2:43 pm
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
เครื่อง1600 แต่วิ่งได้แรงเหลือเกิน
0
0
เข้าร่วม: 31 Jan 2010
ตอบ: 4756
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 4:31 pm
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
ยางแห้งแต่ละแบบ มีการเลือกใช้ในสถานการณ์ใดบ้างครับ
0
0
เข้าร่วม: 12 Jun 2010
ตอบ: 23601
ที่อยู่: ซานะนอนไหน ผมนอนนั่น
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 5:40 pm
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
F1 มันแซงยาก สำหรับผมเลยไม่สนุกเลย

moto gp นี่มันส์สุดแบบไม่กระพริบตาเลย ยกเว้นโดนตัดโฆษนา
0
0
TwIce nO.1 เพราะเทอไม่หวานเกิน คิดแล้วเพลิดเพลินเกินห้ามใจ


เข้าร่วม: 11 Feb 2017
ตอบ: 2128
ที่อยู่: คอรัสซานท์
โพสเมื่อ: Thu Mar 22, 2018 8:45 pm
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
trytostopme พิมพ์ว่า:
ยางแห้งแต่ละแบบ มีการเลือกใช้ในสถานการณ์ใดบ้างครับ  


คร่าวๆเลยก็เรื่องสภาพอากาศ เรื่องอุณภูมิของแทร็ค สภาพแทร็คครับ แต่ละสีจะมีเนื้อยางต่างกัน ถ้าจำไม่ผิดสีม่วงจะเนื้อยางนิ่มสุด ตัว hard น่าจะเป็นสีส้มนะ

เข้าร่วม: 02 Nov 2008
ตอบ: 5196
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Mar 23, 2018 1:12 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
วันอาทิตย์นี้รอดูดีกว่า อยากดูมาตั้งนานละตอนดูเรื่องDriveนี่ชอบมาก
0
0
เข้าร่วม: 28 May 2010
ตอบ: 6235
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Mar 23, 2018 2:31 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
ถ้าไม่ล๊อครอบเครื่องยนต์น่าจะมันกว่านี้ ใครจะทำรอบเครื่องเท่าไหร่ก็ทำไปในเมื่อความจุกระบอกสูบมันเท่ากัน
สงสัยทางฝรั่งจะกลัวเครื่องฮอนด้าในตำนานกลับมาสร้างชื่อ
0
0
เข้าร่วม: 08 Dec 2009
ตอบ: 406
ที่อยู่: The Bridge
โพสเมื่อ: Fri Mar 23, 2018 2:38 am
[RE: คู่มือรับชมการแข่งขัน F1 (ฉบับปี 2018)]
ยางเยอะเยะไปหมดปีนี้ ปวดหัวกันแน่ๆ


แต่ก็ดีครับ รถแต่ละคัน แต่ละทีม จะได้มีหลายสไตส์ รวมถึงการวางแผนของทีม
0
0