สวัสดีครับเพื่อนๆชาว SS สำหรับต้นเดือนสิงหาคมนี้ ครับ
ช่วงนี้ข่าวที่อยู่ในกระแสหลักๆ คือข่าวเรื่องของการ "ย้ายทีม" ซึ่งเป็นปกติของตลาดซื้อขายในทุกๆปีอยู่แล้วครับ โดยในอนาคตอันใกล้ อภิมหา "Big Deal" ที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็น เนย์มาร์ สตาร์ชาวบราซิล ที่อาจจะย้ายไปซบต้นสังกัดใหม่อย่าง PSG แต่ต้องผ่าน
"ค่าฉีกสัญญา"มหาศาล ก่อนเป็นอันดับแรก
นอกจากนั้นยังมีข่าวของ วานกิลด์ ฟาน ไดจ์ ของเซาท์แทมตั้น ที่เป็นตำนานของลิเวอร์พูลไปอีกคนนึงแล้ว เรื่องของการย้าย - ไม่ย้าย และถ้าย้าย
"ค่าตัว" จะเป็นเท่าไร
ในบทความนี้ เขียนขึ้นมาพอให้เข้าใจคอนเซปต์ของ "ค่า" ใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อนักเตะ หรือสโมสรต้องการซื้อตัวนักเตะ มาดูกันครับว่าจะมี "ค่า" อะไรเกิดขึ้นบ้าง
ปล. บทความนี้เหมาะสำหรับ คอบอลเลเวล 1 นะครับ จะไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก
แต่จะเน้น เล่าสู่กันฟังมากกว่า ว่าโดยคอนเซปต์แต่ละ "ค่า" มันคืออะไรบ้าง
พร้อมหรือยัง.. พร้อมแล้ว ไปกันเลยครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"Transfer fee" หรือค่าตัวนักเตะนั่นเองครับ
ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ว่าสโมสรนี้จะซื้อนักเตะคนนั้นคนนี้ พร้อมทุ่มทุนเท่านั้นเท่านี้
หรือที่เราเรียก "ค่าตัวนักเตะ" นั่นเองครับ
ซึ่งในกรณีปกติ สโมสรต้นสังกัดเดิม และสโมสรต้นสังกัดใหม่เห็นตรงกันในเรื่องของตัวเลข และความคุ้มค่าก็ วิน - วิน กันไป โดยสโมสรต้นสังกัดเดิม ก็จะระบุตัวเลขไปว่า โอเค เราพร้อมขายนักเตะในราคาเท่านี้นะ ถ้าคุณพร้อมก็เสนอซื้อด้วยเงินจำนวนนี้มา
จากนั้นสโมสรที่ต้องการซื้อ ก็จะมีสิทธิ์ในการเข้าพูดคุยเรื่องสัญญาใหม่ของนักเตะได้ครับ (เป็นขั้นเป็นตอนไป) กรณีตัวอย่าง ซาลาห์ ของลิเวอร์พูล หรือ โมราต้า ของเซลซีครับ
ซึ่งค่า Transfer fee นี้ สโมสรจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรือเรียกง่ายๆว่าได้รับเงินค่าตัวนักเตะเต็มๆนั่นเองครับ เช่น ลิเวอร์พูล ซื้อ ซาลาห์ 40 ล้านยูโร จากโรมา 40 ล้านยูโรนี้ เข้ากระเป๋า โรมา นะครับ ไม่ได้เข้ากระเป๋าซาลาห์ เอ๊า!! แล้วแบบนี้นักเตะจะได้อะไรจากการย้ายตัวเนี้ย ใจเย็นๆครับ มันยังมีอีกหลายค่าใช้จ่ายเลยครับ
Spoil
ปล. จริงๆแล้ว อยู่ที่สัญญาเริ่มต้นของนักเตะด้วยนะครับ นักเตะซุป'ตาร์บางราย อาจจะมีระบุ % ของมูลค่าจากการย้ายทีมได้ด้วยเช่นกันครับ แต่ว่าขอยกไว้ก่อน เราพูดถึงกรณีทั่วๆไป
Sign on-fee หรือค่าเซ็นสัญญา / ค่าจรดปากกา นั่นเองครับ
อันนี้แหละครับ ที่เข้าตัวนักเตะเต็มๆในเบื้องต้น เป็นเงินกินเปล่าสำหรับนักเตะที่เซ็นสัญญาครับ งานนี้ค่าเซ็นสัญญาสำหรับนักฟุตบอลบางราย อาจจะมีมูลค่าสูงพอๆกับดีลเล็กๆ บางดีลเลยเช่นกันครับ ซึ่งมูลค่าตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจ ให้นักเตะย้ายมาเข้าร่วมทีมนั่นเองครับ
Wage / ค่าเหนื่อยนักเตะ
ตรงนี้แหละครับ เป็นรายได้จริงๆ เนื้อๆของนักเตะ ซึ่งอันนี้แล้วแต่เลยครับว่าจะตกกันได้ที่ตัวเลขไหน ที่โดนพูดถึงบ่อยๆคงหนีไม่พ้น "เสี่ยหมู" เวนย์ รูนี่ย์ กัปตันทีมชาติอังกฤษ ในระหว่างเซ็นสัญญา ได้รับค่าเหนื่อยราวๆ 300K เลยทีเดียว อันนี้ถือเป็นรายได้หลักของนักเตะครับ โดยบางทีค่าเหนื่อยตรงนี้บางสโมสรคิดเผื่อไปถึง รายได้หลังหักภาษีให้แกนักเตะไว้แล้วด้วยครับ (เอาอกเอาใจกันจริงๆ)
Agent Fee / ค่าเอเย่นต์
อันนี้ดูแปลกๆ ไม่น่าจะเกี่ยว แต่อย่างไรก็ดี ในทุกๆการย้ายทีม ตัวแทนนักเตะ/นายหน้าของนักเตะ มักจะมีรายได้จากตรงนี้เสมอๆ (อันนี้ไม่ขอพูดถึงประโยชน์ของเอเย่นต์นะครับ) เพียงแต่จะบอกว่า ในการย้ายทีมต้นสังกัดใหม่ มักจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้นายหน้านักเตะด้วย นัยว่าเป็นค่ากล่อมนักเตะให้มาร่วมทีมเรานั่นเองครับ
รายได้ตรงนี้ ไม่เข้านักเตะ ไม่เข้าสโมสร เป็นเงินให้กับเอเย่นต์ส่วนตัวของนักเตะเท่านั้นครับ
Minimum release clause , Buyout clause / ค่าฉีกสัญญา
ค่าฉีกสัญญา หรือการ Breaking Contract นั่นเอง ก่อนอื่นค่าฉีกสัญญามีไว้ทำไม ?
ค่าฉีกสัญญาจริงๆแล้วไม่ใช่ทุกลีค หรือทุกทีมที่บังคับให้มีนะครับ (บังคับในลาลีกา) สำหรับนักเตะบางคนอาจจะมี บางคนอาจจะไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสัญญาของนักเตะที่นักเตะจะเซ็นนี่แหละครับ
Spoil
ถามว่ากฏการซื้อ-ขาย แบบนี้มีไว้เพื่ออะไร ตอบง่ายๆคือเพื่อป้องกันการเซ็นสัญญาแบบสัญญาทาสนั่นเองครับ ก่อนหน้านี้มันเคยมีกรณีที่นักเตะอยากย้ายแล้วสโมสรไม่ยอมปล่อย นักเตะก็งอแงไม่ลงเล่นแล้วก็โดนทำโทษ สโมสรใหม่ที่อยากได้ตัวก็ไม่ได้ นักเตะก็ไม่ได้ย้ายไปสโมสรที่อยากเล่น สรุปก็พังทั้งสามฝ่ายไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร
ข้อมูลจาก DujZ ; Pantip
โดยหลักการแล้ว ค่าฉีกสัญญามันจะทำงานแบบนี้ครับ
แรกเริ่มเดิมที นักเตะจะมีสัญญา (ลองนึกภาพเป็นสัญญาจ้างงานของเราๆนี่แหละครับ)
ทีนี้นักเตะอาจจะมองว่าในอนาคตฟอร์มดี หากตัวเองอยากจะย้ายทีม แต่ยังมีสัญญาอยู่มันคงจะเป็นปัญหา ดังนั้นเอาแบบนี้ ตั้งราคากลางสำหรับตัวนักเตะไว้ เผื่อในอนาคต ถึงแม้ว่าสโมสรจะไม่อยากขาย แต่ถ้ามีทีมไหนหน้ามืด ยื่นเข้ามาในราคาค่าฉีกสัญญา สโมสรที่ยื่นเงินเข้ามานั้น สามารถเข้ามาพูดคุยกับนักเตะ เรื่องทำสัญญาได้เลย
(โดยปกติแล้ว ราคาค่าฉีกสัญญา น่าจะตกลงโดยยินยอมกันทั้งสโมสรและนักเตะนั่นแหละครับ ว่าไม่ได้สูงมากจนเวอร์ จนไม่มีใครกล้ามาฉีกสัญญา และไม่ได้ต่ำมากไปจนสโมสรเสียเปรียบหากต้องเสียนักเตะไป)
เอาเข้าจริงๆ เราจะมองเป็น "ค่าปรับ" ก็ได้ครับ เหมือนกับผมจ้างคุณมาเตะบอลสามปี คุณมาเตะปีเดียวแล้วจะย้าย ดังนั้นคุณก็จ่ายค่าปรับมาให้ผมซะดีๆ 555
โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้นักเตะไม่ต้องจ่ายเองครับ ส่วนใหญ่ สโมสรที่สนใจนั่นแหละ เป็นผู้จ่ายให้ต้นสังกัดเดิมครับ
อย่างกรณีที่กำลังดังและชัดเจนที่สุดคือ เนย์มาร์นี่แหละครับ ที่ค่าฉีกสัญญาสูงถึง 200 กว่าล้านยูโร โดยไม่ว่าบาร์ซ่าอยากจะขายหรือไม่ก็ตาม ถ้า PSG ยื่นจริง บาร์ซ่าต้องยอมให้เนย์มาร์ได้พูดคุยกับ PSG
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่ายื่นมาแล้ว นักเตะต้องไปนะครับ
ถ้านักเตะไม่สนใจ แม้สโมสรใหม่จะทุ่มขนาดไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ต่อกับต้นสังกัดเดิมได้ครับ
ตัวอย่าค่าฉีกสัญญานักเตะครับ (นำมาโดยพี่โด้ ที่ 1,000 ล้าน !?!? )
Sell-on clause เปอร์เซ้นต์จากการขาย
ทีม A ขายตัวนักเตะให้ทีม B แต่มิวายพ่วงสัญญา(เอากำไรเข้าไปอีก) โดยบอกว่า
ถ้าเกิดเองเอานักเตะไปแล้ว เองเอาไปขายต่อ เองต้องแบ่งกำไรกลับมาให้ข้าด้วยนะโว้ย
เช่นในเคสของ ซาลาห์ ปีกริมเส้นตัวใหม่ของลิเวอร์พูล ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น ซาลาห์เซ็นสัญญานี้กับเซลซี ต่อมาได้ขายนักเตะให้กับโรมา และสุดท้ายเมื่อโรมา ขายนักเตะให้ลิเวอร์พูล เซลซีจึงได้เงินจากค่าตัวนัดเตะที่สโมสร B ได้รับมาด้วยครับ (อันนี้แล้วแต่ว่าสัญญาระบุไว้ที่กี่ % ครับ)
จะตัดจบตรงนี้ก็ห้วนไป 5555 เพราะจริงๆ มันยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกพอสมควร แต่มันมักจะอยู่ในสัญญาของนักเตะครับ เช่นโบนัส , ค่าฉีกสัญญาในรูปแบบต่างๆ , ค่าความภัคดีต่อสโมสร อะไรพวกนี้ครับ เลยขอเว้นไว้เอาไว้ก่อน จริงๆแล้วเรื่องสัญญานักเตะพูดไปจะให้มันส์ต้องเล่าต่อถึงกฏ "บอสแมน" ด้วย ถึงจะได้อรรถรสครับ เอาไว้ถ้ามีโอกาสหน้าผมจะพยายามเรียบเรียงมาเขียนครับ
ทีนี้ ลองมาทบทวนกันอีกรอบนะครับ ว่าขั้นตอนทั่วๆไปในการซื้อนักเตะ มันเป็นอย่างไรบ้าง ในที่นี้ขอได้รับเกียรติจากสโมสร
อาร์เซน่อล เป็นตัวอย่างนะครับ
สมมุติว่า อาร์เซน่อล ได้ไปเจอเทพบุตรลูกหนังรายหนึ่งเข้า และอยากจะเชิญให้เข้ามาร่วมทีมขย่มบัลลังก์เหล็ก เอ้ย บัลลังก์พรีเมียร์ลีค
เคสที่ 1 :
พ่อเทพบุตรลูกหนังรายนี้
ไม่มีสัญญาใดๆกับสโมสรใดอยู่เลย เตะบอลขำๆกับเพื่อนเฉยๆ แต่ผลงานเข้าตาแมวมองอย่างแรง อีแบบนี้ทางสโมสรสามารถติดต่อนักเตะได้โดยตรง และพูดคุยเรื่องการเซ็นสัญญาได้เลยครับ
เคสที่ 2 :
พ่อเทพบุตรสุดหล่อรายนี้ เกิดมีสัญญากับทีมเล็กๆในบ้านเกิด ตั้งใจเล่นขำๆ แต่ดันเผลอไปเซ็นสัญญาเข้าซ่ะอย่างงั้น แต่เดชะบุญ เพราะสุดล่อของเราเหลือสัญญา "น้อยกว่า 6 เดือน" /
"จะหมดสัญญาภายใน 6 เดือน" แบบนี้เช่นเดียวกันครับ อาร์เซน่อลสามารถเข้าไปพูดคุย เจรจากับนักเตะได้ถึงสัญญาใหม่กับอาร์เซน่อล หลังจากที่สิ้นสุดสัญญากับสโมสรเดิมแล้วนั่นเองครับ
เคสที่ 3 :
บุญมีแต่กรรมบัง แมวมองไปเจอพ่อเทพบุตรรายนี้เข้า แต่ปรากฏว่าสัญญาของนักเตะ
เหลือมากกว่า 6 เดือน แบบนี้อาร์เซนอล จะต้องเข้าไปคุยกับสโมสรต้นสังกัดของนักเตะแล้วครับ ไม่สามารถพูดคุยโดยตรงกับนักเตะได้เลย (ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือการที่เจรจาผ่าน "เอเย่นต์" ของนักเตะนั่นควบคู่ไปกับการพูดคุยผ่านสโมสรครับ ) - เคสลิเวอร์พูล ที่มีปัญหากับเซาท์แทมตันก็เรื่องนี้แหละครับ เข้าพรวด
ดังนั้นเห็นไหมครับ จากตัวอย่าง แบบที่ 1 และ 2 ถ้าทันทีที่สัญญาของทั้งสองฝ่าย (สโมสร - นักเตะ) ในเรื่องของค่าจ้าง ค่าเหนื่อย โบนัส ระยะเวลาของสัญญา ออฟชั่นต่างๆ ถ้าเสร็จสิ้น เข้าใจตรงกัน สัญญาก็ถือเป็นอันเรียบร้อย นักเตะเข้ารังปืนพร้อมใช้งานครับ
แต่นั่นแหละครับ ปัญหาซื้อ - ขาย นักเตะ มักอยู่ใน เคสที่ 3 ซ่ะเป็นส่วนใหญ่
ในเคสแบบนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยในการซื้อขาย ที่ต้องพิจารณาครับ
หลักๆคือสโมสรต้นสังกัดเดิม อยากขายไหม ..
ถ้าอยากขาย ก็โอเค ว่าราคามา แต่ถ้าไม่ อันนี้ก็แพ็คกระเป๋ากลับบ้านครับ
หรืออาจจะมี "ค่าฉีกสัญญา" ระบุไว้ ถ้าแบบนี้ก็จะเป็นไปตามกลไกข้างต้นที่เขียนไปแล้วครับ
หลักๆที่อยากให้ทราบคือ ตลาดซื้อ-ขาย นักเตะมันไม่เหมือนกับซุปเปอร์มาร์เก็ตซ่ะทีเดียวนะครับ ค่อนข้างเหมือนสนามประมูลมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวนักเตะเอง เป็นที่สนใจของสโมสรมากกว่าหนึ่งสโมสรขึ้นไป ทีนี้ละครับสงครามเงินล้านย่อมๆเลยทีเดียว
เอาละครับ เป็นยังไงกันบ้าง น่าจะพอเข้าใจคอนเซ็ปต์ กัน "ค่า" ต่างๆในระดับหนึ่งนะครับ
ซึ่งจริงๆแล้วอย่างที่บอกว่า มันยังมีอะไรอีกหลายๆๆๆๆๆๆๆอย่างมากครับที่เกี่ยวข้องกัน เช่นนักบอลสามารถซื้อสัญญาตัวเองก็ได้ด้วยนะครับ !! แต่เดี๋ยวมันจะยาวไป (เท่านี้ก็ยาวแล้วครับ) งั้นขออนุญาตจบบทความตรงนี้เลยนะครับ
ถือเป็นบทความอ่านง่ายๆก่อนนอน บางท่านอาจจะมีข้อมูลที่ลึกกว่านี้อยู่บ้างแล้ว ขอเชิญแชร์ข้อมูลกันได้นะครับ ส่วนถ้ามีเนื้อหา-ข้อมูลตรงไหนที่ตกหล่น ต้องขออภัยด้วยครับ
อ้างอิงข้อมูลครับ