ไขปริศนาแบร์ กริลส์ ของจริงหรือหลอกลวง
ไข สกิล Bear Grylls กินอึช้าง ฆ่าจระเข้ กินสารพัดสัตว์ดิบๆ จริงแท้หรือแค่ลวง
แบร์ กริล (Bear Grylls) มนุษย์ที่กำลังสร้างความพิศวง งง งวย ให้กับคนไทยทุกผู้ทุกนาม หลังจาก คุณโน้ส อุดม แต้พานิช นำเอาวีรกรรมที่เค้าโชว์สกิลที่สุดแสนจะเหลือเชื่อ ทั้งปล้ำจระเข้แล้วจับมากิน กินแมงมุมทั้งแบบสดๆ และปิ้งไฟ เอาหินทุ่มงูหางกระดิ่ง ก่อนจับมาสวาปามแบบสดๆ มาเล่าใน เดี่ยว 11 แต่สกิลที่สุดแสนจะสร้างทั้งความขยะแขยง ปนขนลุกขนพอง เจือสะอิดสะเอียน น่าจะหนีไม่พ้น อืม…ขอประทานโทษหากแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์กำลังนั่งรับประทานอาหารกันอยู่
นั่นก็คือ อืม…การคั้นกองมูลช้าง เพื่อเอาน้ำมากิน... โอววว… (ขออนุญาต ทำหน้าพะอืดพะอม ก่อนเล่าในบรรทัดต่อไป) อืม...ซึ่งเกือบทั้งหมดที่เล่ามานี้ ว่ากันว่าอยู่ในสารคดี Man VS Wild ทางช่อง Discovery
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เชื่อว่า หลังจากฟังผ่านการเล่าเสมือนแทบจะไปอยู่ในเหตุการณ์ ของ คุณโน้ส อุดม รวมทั้งลุยเสิร์ชหาอย่างหนัก ใน YOUTUBE เพื่อหาชมคลิปตามลายแทง จาก เดี่ยว 11 ทุกท่านน่าจะเกิดคำถามเช่นเดียวกับทีมข่าวว่า...น้ำในกองมูล ของพญาคชสาร มีจริงหรือ? คำถามต่อมา คือ แล้วหากถึงคราวที่มนุษย์เรา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นสิ่งมีชีวิตบนพื้นพิภพนี้ ที่ไม่สามารถขาดน้ำได้ นั้น เราจะเอาชีวิตรอด ด้วยการกลั่นน้ำ ที่มาจากกองมูลช้าง ได้จริงหรือ? แล้วคำถามต่อมาก็คือ หากมันมีจริง และจำเป็นถึงขั้นที่จะต้องกินมันจริงๆ ขึ้นมา มันจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย พูดง่ายๆ คือมันจะได้คุ้มเสียหรือไม่ ?
ทุกๆ คำถามนี้ เรามีคำตอบให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ทุกท่านแล้ว เชิญล้อมวงกันเข้ามาฟังทุกคำตอบนี้ จากหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างและป่าเขาลำเนาไพรของไทยเรา นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หนึ่งในโอปป้าผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ ขาประจำของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
เอาล่ะ...เมื่อพร้อมกันแล้ว เรามาแบกเป้ผจญป่า กับ พี่หมอล็อต ของเรากันเลย
คั้นกองมูลช้าง มีน้ำจริง แต่รู้กันไว้นะ ได้ไม่คุ้มเสียหรอก
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอตะลุยตั้งคำถามแรก ที่ทุกคนอยากรู้กันมากที่สุดเลยแล้วกัน (อืมมม...และแน่นอนคำถามนี้ ทีมข่าวต้องแอบซ่อนใบหน้าที่สุดแสนพะอืดพะอม ก่อนถาม) ว่า…กองมูลของพ่อพลาย แม่พัง ทั้งหลายนั้น เมื่อขยี้บี้มันแล้ว จะมีน้ำให้เราสามารถนำมาดื่มได้จริงหรือไม่...นายสัตวแพทย์หนุ่มมาดคมเข้ม ทำน้ำเสียงด้วยความฉงน ก่อนตอบพวกเราว่า หือ...ว่าอะไรนะ ? กองมูลช้าง... น้ำ…เอามาดื่ม... อืม…แล้วมันจำเป็นขนาดไหนกันถึงต้องเอามาดื่ม กันหือ…?
จากนั้น ก็ทำน้ำเสียงเปื้อนยิ้ม ก่อนเอ่ยประโยคต่อไปอย่างสำราญใจว่า...ในกองมูลของช้างนั้น ก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว เพราะในกระบวนการย่อยและขับถ่าย น้ำที่อยู่ในอุจจาระของช้าง จะทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นเพื่อช่วยลดการเสียดสีบริเวณลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก เวลาขับถ่าย เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่บรรดาพ่อพลาย แม่พัง กินเข้าไปนั้น จะเป็นหญ้าและพืชหยาบๆ เพราะฉะนั้น ในกองอึช้าง มีน้ำ...แน่นอน! แต่มันก็คงไม่ได้มีปริมาณมากมายอะไร ถึงขนาดเอามาดื่มบรรเทาความกระหายได้ เพราะอย่างช้างเอเชียเรา การขับถ่ายเฉลี่ยต่อครั้ง จะมีปริมาณอึอยู่ที่ 13-14 ก้อน เท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีน้ำอยู่น้อยมาก คั้นยังไงเต็มที่ก็ได้น้ำมาไม่เกิน 2-3 ซีซี เท่านั้น! เว้นแต่...ช้างจะท้องเสีย แบบนั้น รับรองในอึมีแต่น้ำแน่นอน
อีกข้อยกเว้น ที่กองอึช้าง อาจจะมีน้ำแฝงอยู่เยอะกว่าปกติ ก็คือ เป็นกองอึ ที่ตากฝนมาสักระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ก้อนอึนั้น ไม่ต่างอะไรกับฟองน้ำที่ซึมซับน้ำเข้าไปจนมากกว่าปกติ

แบร์ กริล คั้นกองมูลช้าง เพื่อกินน้ำ

หากริคิดกินสารพัดสัตว์ป่าดิบๆ อันตรายทุกชนิดเตือนใจเอาไว้
ทั้งเชื้อโรค พยาธิ น้ำเมือก แบคทีเรีย สารพัดชนิด คุณกล้าเสี่ยงไหมล่ะ
นอกจากนี้...หมอล็อต เว้นระยะให้ชวนอึดอัดด้วยความอยากรู้เล็กน้อย ก่อนกล่าวต่อไปว่า น้ำที่อยู่กับกองมูล แน่นอนมันก็คือของเสีย คำว่าของเสีย ความหมายก็บอกชัดๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ในน้ำของเสียนั้น มันจึงประกอบไปด้วยทั้งน้ำเมือกที่อยู่ตามผนังลำไส้ใหญ่ ที่จะออกมาพร้อมกัน นอกจากนี้แล้ว ของแถมสุดอันตรายที่มีตามมาแน่นอน ก็คือ เชื้อโรค แบคทีเรีย และพยาธิ สารพัดชนิด…
ถามว่า เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ลองคิดดูแล้วกันว่า หากแม้เราต้องขาดน้ำถึงขนาดไหน เรายังจะควรไปหาน้ำจากกองมูลช้างกันอยู่ไหม เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่า “ถึงจะได้ แต่ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย จริงไหม?” หมอล็อต ย้อนถามกลับทีมข่าว…ก็จริงนะพี่...ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ตอบกลับไป ก่อนตั้งปุจฉาข้อต่อไปว่า แล้วแบบนั้น หากกินน้ำเสียพวกนั้นเข้าไป อันตรายที่จะได้รับมีอะไรบ้าง?... “ร้อยทั้งร้อยเลย พี่ว่าคนที่กินเข้าไปอย่างน้อยที่สุด ยังไงก็ต้องท้องเสียแน่ๆ” นายสัตวแพทย์ผู้รักช้าง ตอบอย่างหนักแน่น...

หมอล็อต นายสัตวแพทย์ผู้รักช้าง
เผื่อแจ็กพอตแตก เจอพืชมีพิษแฝงในอึ อาจถึงตาย
นอกจากนี้ รู้ไหม? วิถีการกินของพญาคชสาร โดยเฉพาะช้างป่านั้น พวกเค้าจะตระเวนกินพืชในป่านานาชนิดจำนวนมากเข้าไป เมื่อขับถ่ายออกมา เศษซากพืชเหล่านั้น ซึ่งปกติ ช้างจะย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ เพราะจะย่อยอาหารที่กินเข้าไปเพียง 60 -70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังสดๆ อยู่ ไม่ถูกย่อย แล้วขับถ่ายออกมานั้น หากเกิดมีพืชมีพิษแฝงอยู่ แล้วเราเกิดพลาดกินเข้าไปพร้อมกับน้ำ จะเกิดอะไรขึ้น? มันอาจจะอันตรายถึงชีวิตก็ได้นะ เพราะพืชบางชนิดเป็นประโยชน์ต่อช้าง แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคน...เพราะฉะนั้น ต่อให้กระหายน้ำยังไง หากอยู่ในป่าเขา ลำเนาไพร ก็สู้อดทนเดินต่อไป เพื่อหากินน้ำเอาจากเถาวัลย์ พืชที่เป็นหน่ออยู่ใต้ดิน ขุดหาตาน้ำใต้ดิน หรือคั้นน้ำจากกล้วยป่าจะดีกว่าไหม? “ส่วนตัวพี่นะ บอกเลย หากอยู่ในป่า ต่อให้หิวน้ำแทบตายยังไง พี่ไม่มีวันมองไปที่กองมูลช้าง แน่นอน” นายสัตวแพทย์ภัทรพล หัวเราะอย่างอารมณ์ดี ทิ้งทายคำถามนี้

แบร์ กริล โชว์กินสารพัดสัตว์สดๆ

แบร์ กริล โชว์ดูดน้ำจากรังผึ้งสดๆ จากสารคดี Man VS Wild ทางช่อง Discovery
รู้กันไว้ ประโยชน์กองอึช้าง ช่วยแกะรอย บ่งบอกสุขภาพ ลักษณะเพศได้
เช่นนั้นแล้ว กองมูลช้าง มีประโยชน์อะไรบ้างไหม? มีสิ... หมอล็อต ตอบทันควัน เพราะกองมูลเหล่านั้น จะทำให้นักอนุรักษ์วิเคราะห์สุขภาพของช้างที่กำลังแกะรอยได้ว่า มีสุขภาพดีหรือแย่หรือไม่ เช่น หากกองมูลมีลักษณะละเอียด เป็นก้อนชัดเจน มีเมือกคลุมก้อนอุจจาระ แสดงว่า ช้างตัวนั้นมีฟันแข็งแรง สุขภาพดี จึงสามารถบดเคี้ยวอาหารที่กินเข้าไปได้เป็นอย่างดี แต่หากกองมูลที่พบ มีลักษณะหยาบ เหลว เป็นน้ำ แสดงว่าช้างตัวนั้นน่าจะกำลังมีปัญหาสุขภาพอยู่ เพราะไม่สามารถบดอาหารได้ละเอียดนัก
และนอกจากนี้ ลักษณะของกองมูลช้าง ยังมีลักษณะพิเศษ ที่ทำให้นักผจญไพร สามารถรู้ได้เลยว่าช้างที่ถ่ายนั้นเป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย...ทีมข่าวงวยงง ก่อนถามกลับว่าดูยังไงครับพี่? หมอล็อต ตอบทันทีว่า โดยปกติช้างจะอึและฉี่พร้อมกัน เพราะฉะนั้น หากกองมูล กองฉี่ อยู่ที่กองเดียวกัน แสดงว่าเป็นช้างเพศเมีย เพราะช้างเพศเมีย อวัยวะเพศที่ฉี่ลงมา มันจะฉี่ลงมาด้านล่าง แต่หากกองมูล กองฉี่ อยู่ห่างกัน แสดงว่าเป็นช้างเพศผู้ เพราะลักษณะการฉี่ของช้างเพศผู้จะฉี่ไปด้านหน้า
หากริ คิดกินสารพัดสัตว์ป่าดิบๆ อันตรายทุกชนิดเตือนใจเอาไว้

แบร์ กริล โชว์กินน้ำผึ้งจากรังผึ้งสดๆ

ระวังเหล็กในผึ้งด้วย
เอาล่ะ งั้นไปประเด็นถัดไป ... โชว์ Strong ปล้ำจระเข้ แทงท้ายทอย ทีเดียวตาย จริงหรือ?
นายสัตวแพทย์หนุ่มมาดเข้ม ครุ่นคิดสักพัก ก่อนตอบว่า ส่วนตัวพี่สันนิษฐาน ว่า จุดที่เค้าแทงเข้าไป น่าจะเป็นจุดแอ่งเลือด ซึ่งก็จะเหมือนจุดตาย บริเวณท้ายทอยของมนุษย์เรา นั่นแหละ ที่เป็นข้อต่อของกระดูกคอซี่แรกกับกระดูกกะโหลก ซึ่งจะทำให้ตายได้ทันที ซึ่งเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นไปได้
โชว์ กินสารพัดสัตว์สดๆ ทั้ง แมงมุม งูหางกระดิ่ง และสัตว์ป่านานาชนิด
หมอล็อต ตอบทันควันว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์ หากเอามากินสดๆ ก็เป็นอันตรายทั้งนั้นแหละ...เพราะมันมีเชื้อโรค และพยาธิไง โดยเฉพาะสัตว์ป่า จะมีมากที่สุด ทีมข่าวถามกลับไปทันทีว่า…แล้วมันไม่เหมือนปลาดิบหรือพี่? ปลาดิบ เรายังกินสดๆ ได้เลย นายสัตวแพทย์มาดเท่ ตอบกลับว่า ไม่เหมือนกัน ปลาที่นำมาทำปลาดิบ ส่วนใหญ่อยู่ใต้ทะเลลึก และปลาบางชนิด เชื้อโรคไม่สามารถเข้าไปอยู่ในตัวมันได้
แนะหลงป่า อย่าอวดดี กินใบไม้ นอนที่สูง ก่อกองไฟ ทางรอดของชีวิต
หากงั้นไปผจญไพร เกิดหลงป่า ไม่มีอะไรจะกิน จะกินอะไรได้? หนึ่งในนักผจญไพร แกะรอยช้างของไทย ตอบว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น จะแก้ไขโดยเลือกกินใบไม้ แต่คนจะทำแบบนี้ได้ ต้องมีประสบการณ์มากพอ ที่จะแยกแยะเป็นด้วยนะว่า ใบไม้แบบไหนกินได้ แบบไหนมีพิษ อย่างส่วนตัวที่เคยกินเข้าไป ก็เช่น ใบจากต้นหว้า
สกิล แบร์ กริล แค่ดูเพื่อความบันเทิง ความสามารถเฉพาะบุคคล อย่าคิดลอกเลียนแบบ
คิดว่า เราได้อะไรจากสารคดี เอาชีวิตรอดแบบไซโคสุดๆ นี้ หมอล็อตของเรา ตอบคำถามนี้อย่างจริงจังว่า เอาเป็นว่า สารคดีนี้ทำให้ผู้ชมทางบ้านได้ประโยชน์ในแง่ว่า นี่คือเทคนิคการเอาตัวรอดในป่าเฉพาะตัวบุคคล และผู้ชม ควรชมเพื่อความบันเทิง เพราะวิธีการเอาตัวรอด ที่ดีกว่าในสารคดีนี้ยังมีอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องไปทำตามเช่นนั้น เอาง่ายๆ ว่า หากคุณเกิดหลงป่า วิธีการที่ง่ายและน่าจะเอาตัวรอดได้ โดยไม่ต้องถึงขั้นไปทำอะไรแผลงๆ เช่น กินสัตว์เป็นๆ ปล้ำจระเข้ กินกองมูลช้าง ก็คือคุณแค่พยายามก่อกองไฟให้ได้ เพราะหากคุณทำได้ คุณก็รอดแล้ว เพราะมันจะช่วยลดอันตรายของทั้งอาหารและน้ำ ที่คุณจะหามากินและดื่ม ให้ปลอดภัยได้ระดับหนึ่งโดยผ่านการเผาหรือต้ม

สารคดีนี้ทำให้ผู้ชมทางบ้าน ได้ประโยชน์ในแง่ว่า นี่คือเทคนิคการเอาตัวรอดในป่า

แบร์ กริล โชว์กินสัตว์ป่าสดๆ ใน สารคดี Man VS Wild ทางช่อง Discovery
นอกจากนี้ กองไฟ ยังสามารถเป็นเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น ตัวชี้วัดคนที่เก่งที่สุดในการเอาตัวรอดในป่าได้ คืออะไร ก็คือ คนที่ก่อกองไฟเป็นนั่นเองแหละ
เข้าป่าบ่อยๆ แบบนี้ เคยหลงป่าไหม?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หมอล็อต ตอบพวกเราว่า “เคยสิ ทำไมจะไม่เคย” ตอนนั้น ก็เลยอาศัยใช้วิธีหาแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด เพราะที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นก็จะมีอาหาร แล้วพอตกเวลากลางคืน ก็ขึ้นไปนอนบนต้นไม้สูง เพื่อเลี่ยงการถูกสัตว์ป่าทำร้าย จากนั้นก็คอยสังเกตทิศทาง จากเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตกเอา ส่วนหากไม่มีอะไรจะกินจริงๆ ก็จะหาพืชหรือใบไม้กิน หากพืชชนิดไหนไม่รู้จักก็ลองชิมดู หากรสชาติปะแล่มๆ พอกินได้ก็กินไปก่อน เพราะฉะนั้นใครจะเข้าป่า ควรระลึกอยู่เสมอว่า อย่าทำตัวเก่งกว่าคนในพื้นที่ อย่าคิดว่าอ่านแผนที่ได้ มีเข็มทิศ หรือแม้กระทั่งมีอุปกรณ์ไฮเทคแล้วจะรอด เพราะป่าทุกแห่งมีลักษณะจำเพาะแตกต่างกัน ส่วนตัวแล้วเข้าป่าไหน จะพยายามไม่เดินนำหน้าคนในพื้นที่แน่นอน

แบร์ กริล (Bear Grylls) มนุษย์ที่กำลังสร้างความพิศวงกับวีรกรรมที่โชว์สกิลที่สุดแสนจะเหลือเชื่อ
cr.
http://www.thairath.co.th/content/545033
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หวังว่าจะช่วยทำให้หายข้องใจไปได้มาก
ถ้าชอบฝากโหวตด้วยน้า
