ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 14 Aug 2008
ตอบ: 10619
ที่อยู่: มหานคร
โพสเมื่อ: Sun Feb 14, 2016 1:00 pm
คอลัมน์เด็กผี "ลูกกรอกไม่คะนอง"


เพิ่งมีบทสัมภาษณ์ขนาดยาวของสองอดีตนักเตะผู้ผ่านศึกโชกโชน ปัจจุบันหันมารับงานเป็นกูรูทางทีวีทั้งคู่

ร็อบบี้ ซาเวจ กับ ริโอ เฟอร์ดินานด์

ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะหัวข้อระดับ ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่างเลสเตอร์ ซิตี้ จะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ได้หรือไม่

เพราะ ร็อบบี้ ซาเวจ เองก็เคยเป็นหนึ่งในขุนพลจิ้งจอกยุคสร้างความฮือฮาเมื่อ 10 กว่าปีก่อนครั้ง มาร์ติน โอนีล ยังเป็นกุนซือหนุ่มไฟแรง

แล้วก็เพราะในยุคเดียวกันนั้น ริโอ เฟอร์ดินานด์ เพิ่งจะอายุผ่านหลัก 20 มาไม่นาน เคยเผชิญหน้ากับเลสเตอร์ยุคปะหน้าเสื้อว่า วอล์คเกอร์ ในสนามเก่า ฟิลเบิร์ต สตรีท มาแล้ว

อีกหนึ่งสิ่งที่ทั้งคู่เคยผ่านมาเหมือนๆ กันก็คือ การเคยเป็นสมาชิกของครอบครัวใหญ่ที่ชื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

หนึ่งในหัวข้อสนทนากันก็คือ ทั้งคู่เคยเจอนักเตะเยาวชนคนไหนที่คิดว่าเก่งที่สุด

ซาเวจอาจไม่สามารถก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของปีศาจแดงได้ แต่เขาก็คือหนึ่งในทีม "นกน้อยของเฟอร์กี้" ไม่งั้น คงกลายเป็นหนึ่งใน "คลาส ออฟ 92 ไปแล้ว"

นั่นหมายถึง เขาคุ้นเคยกับอะคาเดมี่ของแมนฯ ยูไนเต็ด ในยุครุ่งเรืองสุดขีดมาแล้วด้วยประสบการณ์ตรง

ตัวเลือกของซาเวจ จึงเป็น แอเดรียน โดเฮอร์ตี้ ผู้ที่ซาเวจเองนิยามว่าเป็น "กิ๊กซี่เท้าขวา"

(น่าเศร้า เขาเสียชีวิตในฮอลแลนด์ ก่อนวันเกิด 27 ปีแค่วันเดียว หลังพลาดตกลงในคลองจนอาการโคม่า ตั้งแต่ปี 2000 เรื่องราวของเขาหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต นี่คือเพชรเม็ดงามที่อาการบาดเจ็บพรากไปจากเกมฟุตบอล)

ส่วนตัวเลือกของริโอนั้นชี้เป้าไปที่ ราเวล มอร์ริสัน ซึ่งริโอบอกเหมือนที่เฟอร์กี้ บอกเปี๊ยบ ว่านี่คือดาวรุ่งที่เก่งที่สุดเท่าที่บรมกุนซือสกอตต์เคยเห็นมา

ริโอเผยว่าในตอนอายุ 16-17 นั้น กระทั่ง ปอล ป็อกบา กับ อัดนาน ยานูซาย ยังยกย่อง อยากเก่งให้ได้แบบราเวลด้วยซ้ำ

ชุดนั้นยังมีสองพี่น้องตระกูลคีน, ไทเลอร์ แบล็คเก็ตต์, ไรอัน ทันนิคลิฟฟ์, เอเซเกล ฟรายเออร์ส เป็นต้น

นักเตะเยาวชนจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยขึ้นชื่อ และเป็นจุดเด่นของสโมสรมาโดยตลอด

เคยรุ่งเรืองในยุค เซอร์ แม็ทท์ บัสบี้ หลังจากนั้นกลับมาซบเซาจนกระทั่ง เฟอร์กี้ เข้ามาแทนที่ บิ๊กรอน แอ็ทกินสัน ในปี 1986 มันจึงถูกรื้อพรมขึ้นมาปูใหม่อีกครั้ง

อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เล่าไว้ในหนังสือเล่มแรก Managing My Life ว่าเขาต้องสังคายนาหลายเรื่องตอนเข้ามารับงาน หนึ่งในนั้นคือระบบเยาวชน

เฟอร์กี้อยากวางรากฐานให้สโมสรต่อยอดความสำเร็จไปได้อีกหลายปี และอีกหลายสิบปี

ตอนแรกมีแมวมองแค่ 5 คน ขนาดที่อเบอร์ดีน ต้นสังกัดเก่าของเขายังมีตั้ง 17 คน ว่าแล้ว เฟอร์กี้เลยเร่งว่าจ้างแมวมองเพิ่มจำนวนมาก สโมสรยอมลงทุนเพื่ออนาคต

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ ร็อบบี้ ซาเวจ เองเสียด้วยซ้ำ เพราะมันต่อยอดมาถึงแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ ปี 1992

เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวตีแผ่ระบบเยาวชนของแมนฯ ยูไนเต็ด ว่าทุกวันนี้มีการลดงบประมาณ การบริหารยุ่งยากซับซ้อน กว่าจะเบิกเงินขอซื้ออุปกรณ์เพิ่มยังต้องรอเป็นเดือนๆ

ตื่นมาเช้าวันเสาร์เจอข่าว พอล แม็คกินเนสส์ อำลาสโมสรเข้าให้อีก ทำเอาแฟนผีถึงกับใจหาย

พอล เป็นบุตรชายของ วิลฟ์ แม็คกินเนสส์ ผู้เคยประสบชะตากรรมเดียวกันกับ เดวิด มอยส์ มาก่อน เข้ามาคุมทีมต่อจากผู้ยิ่งใหญ่ คือ แม็ทท์ บัสบี้ และล้มเหลวไม่เป็นท่า

ส่วนพอล ลูกชายนั้นเคยเป็นเด็กปั้นของแมนฯ ยูไนเต็ด จากนั้นเล่นให้ครูว์ อเล็กซานดร้า และกลับมาแมนฯ ยูไนเต็ด อีกครั้งในยุคเฟอร์กี้ กระทั่งเลิกเล่นก็ถูกดึงกลับมาช่วยงานในสโมสร

เด็กๆ เยาวชนของปีศาจแดงพูดกันปากต่อปากว่า แม็คกินเนสส์ ที่ตำแหน่งสุดท้ายคือเฮดโค้ชชุด ยู-18 นั้นขึ้นชื่อหนักหนาว่าเฮี้ยบ

ในแถลงการณ์ฉบับอำลาเขาขอบคุณสโมสร ขอบคุณเซอร์ อเล็กซ์ กับ 23 ปีสุดท้ายในการทำงานให้สโมสร เขาดีใจที่ได้เห็นนักเตะมากมายก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นอาชีพ และมีถึง 23 คนที่ติดทีมชาติชุดใหญ่ของแต่ละคน

เขาให้เหตุผลว่าต้องการไปเติมเต็มความฝันในเส้นทางลูกหนัง ซึ่งจำเป็นต้องเป็นที่อื่น ไม่ใช่ที่นี่

ทั้งที่ 2-3 สัปดาห์ก่อน แม็คกินเนสส์ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นถึงความตื่นเต้นในการทำงานกับเด็กๆ ชุดนี้อยู่ด้วยซ้ำ

ปีนี้ชุด ยู-18 ของ พอล แม็คกินเนสส์ นั้นมีผลงานไม่ดีเอาเสียเลย เป็นบ๊วยใน พรีเมียร์ ลีก ยู-18 นอร์ท ดิวิชั่น ตามหลังจ่าฝูง แมนฯ ซิตี้ 33 แต้ม

ก็อย่างที่ข่าวออกมาว่า บอร์ดบริหารลดงบประมาณในทีมเยาวชนลงเหลือปีละแค่ 3.5 ล้านปอนด์

ขณะที่แมนฯ ซิตี้ ยอมลงทุนสร้างศูนย์ฝึกครบวงจร งบของอะคาเดมี่ตกปีละ 12 ล้านปอนด์ และยังเสริมด้วยการให้นักเตะเยาวชนลงเรียนภาคพื้นฐาน เผื่อเอาไว้ในอนาคต

ตรงนี้เหมือนกับที่เลสเตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเลสเตอร์ ให้ข้อมูลว่า ผู้เล่นเยาวชนของเลสเตอร์ต้องมีความรู้ บังคับเรียนจบมัธยมปลาย เนื่องจากโลกแห่งความจริง คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถก้าวมาเป็นนักเตะอาชีพได้

ปัญหาเริ่องทีมเยาวชน และอะคาเดมี่ของแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นมีวี่แววเลวร้ายขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การไร้หัว หมายถึง ผู้อำนวยการศูนย์เยาวชน ตำแหน่งที่เคยเป็นของ ไบรอัน แม็คแคลร์

"ช้อคกี้" ทำงานกับทีมเยาวชนของสโมสรมาโดยตลอดนับแต่แขวนสตั๊ด แต่เมื่อ 12 เดือนก่อนเขาโดน สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ เซ็นสัญญาล่วงหน้าให้ไปนั่งตำแหน่งผอ.เทคนิค แทนที่ มาร์ค ว็อทเท่อ โค้ชชาวดัตช์ผู้มาปูพิมพ์เขียวการพัฒนานักเตะ (เลียนแบบเบลเยียมและเยอรมัน) เอาไว้

แม็คแคลร์แยกทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด ไปในเดือนพฤษภาคม และนั่งตำแหน่งให้กับชาติบ้านเกิดในเดือนมิถุนายน ถึงตรงนี้ผ่านมาเกือบปีแล้ว แต่ปีศาจแดงยังปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่าง

นอกจากนั้น เมื่อเดือนก่อนก็มีรายงานว่า เดเร็ค แลงลี่ย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน ก็จะอำลาสโมสรเช่นกันหลังสิ้นสุดฤดูกาลนี้

แมนฯ ยูไนเต็ดพยายามไปเจรจาดึง จอห์น แม็คเดอร์ม็อตต์ จากท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ เข้ามาแทนที่ไว้ล่วงหน้า แต่ทั้งๆ ที่แม็คเดอร์ม็อตต์เองเป็นแฟนผีตั้งแต่เด็ก ก็ยังตอบปฏิเสธเรียบร้อย ก็งานที่ท็อตแน่มนั้นสบายและไปได้สวยกว่านี่นา

พิจารณาจากความยุ่งยากเรื่องเยอะ และงบน้อยของอะคาเดมี่ ดูแล้วไม่น่าแปลกที่บุคลากรทยอยอำลาออกไป คนใหม่ก็ไม่อยากมาทำงานด้วย

เชื่อกันว่าที่สโมสรตัดงบทีมเยาวชน เป็นเพราะค่าใข้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในทีมชุดใหญ่ ทั้งงบเสริมทัพ ซื้อตัวแพงๆ ทั้งค่าเหนื่อยระยับของนักเตะแต่ละคน

ชื่อเสียงด้านศูนย์เยาวชนหรือนักเตะทีมชุดเล็กของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เคยเป็นหนึ่ง เป็นจุดเด่นมาโดยตลอด เริ่มถึงคราวตกต่ำ

เสพข่าวของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุกวันนี้แฟนผีต้องทำใจ มีเรื่องให้กังวล หัวเสียได้แทบทุกวัน

ถามว่าทำไมทีมชุด ยู-21 ยังคงผลงานดี นั่นก็เพราะนักเตะส่วนใหญ่ผ่านทีมเยาวชน ยู-18 ขึ้นมาตั้งแต่ในยุคที่ เซอร์ อเล็กซ์ ยังกุมบังเหียนเมื่อ 3 ปีที่แล้วโน่น

นอกจากนั้นทีม ยู-21 ยังมีโควตาให้นักเตะชุดใหญ่ลงเล่นได้ นักเตะบางคนที่ยังเก้ๆ กังๆ กับอนาคตแต่อายุไม่เกินก็ลงเล่น อย่างเช่น วิลล์ คีน, อัดนาน ยานูซาย, เมมฟิส เดอปาย หรือ อันเดรียส เปเรยร่า ซึ่งพวกนี้เก่งเกินทีม ยู-21 แต่ก็ชั้นยังไม่ถึงชุดใหญ่

เอาเข้าจริง ทีมยู-18 ของสโมสรเองก็มีนักเตะที่ว่ากันว่ามีพรสวรรค์สูงหลายราย

อักเซิ่ล ตวนเซเบ้ เคยมานั่งเป็นสำรองในทีมชุดใหญ่มาแล้ว เช่นกันกับ มาร์คัส แรชเฟิร์ด, ทิโมที โฟซู เมนซาห์ ก็ได้รับกาารจับตามอง, แคลลั่ม กริบบิน ถูกยกย่องจากหลายคนว่าโดดเด่นสุด, โร ชอน วิลเลี่ยมส์ ก็มาเล่นให้ทีม ยู-21 แล้ว

ล่าสุด เอ็ด วูดเวิร์ด ออกมาแถลงว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่ในเรื่องของโครงสร้างระบบเยาวชน

ซีอีโอจอมทุ่มยืนยันว่า อะคาเดมี่ยังคงเป็นหัวใจของสโมสร และการให้โอกาสนักเตะเยาวชน ยังคงเป็นปรัชญา แนวทางของสโมสร มันคือ DNA ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เขายังบอกอีกว่า ได้ใช้โอกาสที่ ไบรอัน แม็คแคลร์ อำลาสโมสรไปนี้ ในการวางระบบโครงสร้างของศูนย์เยาวชนเสียใหม่

สื่อมองว่าไม่แน่ ตำแหน่งผู้อำนวยการเยาวชนอาจแยกกันไปเลยระหว่างทีม ยู-21 และทีม ยู-18 และต่ำกว่านั้น คือแบ่งคนดูแลกันให้ชัดเจน ซึ่งสโมสรก็ไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้

นอกจากนั้น เอ็ดยังได้ทิ้งท้ายว่าการปรับโครงสร้างนั้นได้เสร็จแล้ว และการเปลี่ยนแปลงบุคลากรก็กำลังดำเนินไป จะมีการแถลงออกมาในไม่กี่วันข้างหน้า

อนาคตของเด็กๆ ปีศาจแดงจะมีเป็นอย่างไร ระบบเยาวชนที่เคยเป็นจุดแข็งของสโมสรจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน

อีกไม่กี่วัน รอฟังจากปากของ เอ็ด วูดเวิร์ด ได้เลย

Credit : ซันเดย์ จาก นสพ. Starsoccer
Website : http://www.siamsport.co.th/Column/160214_042.html


อ่านจบแล้ว มันเหมือนครอบครัวเกลเซอร์กำลังทำให้ผีเข้าสู่ยุคตกต่ำลงเรื่อยๆ จริงๆ แฮะ

0
0
เข้าร่วม: 26 Jan 2008
ตอบ: 611
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Sun Feb 14, 2016 1:43 pm
[RE]คอลัมน์เด็กผี "ลูกกรอกไม่คะนอง"
คิดว่าหลักๆเลยเป็นเพราะทีมไม่ประสบความสำเร็จช่วงหลังๆ ทำให้มันต้องโฟกัสไปเรื่องชุดใหญ่ก่อนอะ แถมไอ่ผู้จัดการทีมมันก็จะอยู่แค่ 3 ปี ไม่ได้มองอนาคตด้วย

ปล.ที่ไออ้วนกัลเคยบอกสนับสนุนเยาวชนอะนะ จริงๆไม่ใช่ไรหรอก เด็กๆมันสอนง่าย เชื่อฟัง ไม่หือไม่อือไง
0
0
เข้าร่วม: 05 Dec 2015
ตอบ: 8167
ที่อยู่: JJPEREZ คนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความห่วงใย
โพสเมื่อ: Sun Feb 14, 2016 5:21 pm
[RE: คอลัมน์เด็กผี "ลูกกรอกไม่คะนอง"]
ยาวไปไม่อ่าน
0
0