[ความรู้คู่ฟุตบอล] 120 ปี ชาตกาล บิดาการพลศึกษาประเทศไทย
เนื่องในวันที่ 22 มกราคม ตรงกับวันเกิดของบุคคลสำคัญของวงการกีฬาไทยท่านหนึ่ง ซึ่งชื่อของท่านได้นำไปตั้งเป็นชื่อสนามกีฬาแห่งชาติในประเทศไทย ที่แห่งนี้เคยมีความทรงจำที่ดีมากมายเกี่ยวกับฟุตบอลไทยมาตลอดหนึ่งศตวรรษ ผ่านการจัดแข่งขันฟุตบอลทั้งในระดับนักเรียนไปจนถึงระดับนานาชาติมาหลายรายการจวบจนถึงปัจจุบัน วันนี้จะไปทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญผู้เป็นเจ้าของชื่อสนามกีฬาแห่งชาติท่านนี้กัน
“นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น.” ชื่อเดิมคือ บุง ศุภชลาศัย เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2438 ที่จังหวัดพระนคร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2454 จากนั้นได้เข้าสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือ จนสำเร็จการศึกษา และเริ่มต้นรับราชการในปี พ.ศ. 2461 โดยประจำการบนเรือรบสุครีพครองเมือง และรับราชการกองทัพเรือเรื่อยมา ปี พ.ศ. 2475 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยในเวลาต่อมา และยังเป็นผู้ถือหนังสืออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ขณะนั้นแปรพระราชฐาน ณ พระราชวังไกลกังวลกลับสู่พระนครอีกด้วย
ต่อมา พ.ศ. 2476 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้สถาปนากรมพลศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนในปีต่อมา หลวงศุภชลาศัยจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก โดยเป็นผู้วางรากฐานการพลศึกษาของไทย อาทิเช่น การบรรจุหลักสูตรวิชาพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาทั่วประเทศ การกำหนดสัญลักษณ์ วงกลมห่วงสามสี ประดิษฐานอยู่ใต้พระพลบดี โดยห่วงสีขาวแทนความรู้ ห่วงสีเหลืองแทนความประพฤติ และห่วงสีเขียวแทนพลานมัย ทั้งสามห่วงวางทับกันอย่างมีเอกภาพ และยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกีฬานักเรียนของกรมพลศึกษา มีการมอบเสื้อสามารถแก่นักกีฬายอดเยี่ยมในประเภทต่างๆ รวมทั้งการจัดแข่งขันกีฬาในระดับประชาชน
พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงบริเวณที่เคยเป็นวังวินเซอร์เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อดำเนินการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2484 ต่อมา พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามจากกรีฑาสถานมาเป็น “สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงศุภชลาศัย ผู้มีบทบาทสำคัญของวงการพลศึกษาของประเทศไทย
หลังจากนั้น หลวงศุภชลาศัยยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ และยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2500 ด้วย หลวงศุภชลาศัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 อายุ 70 ปี ต่อมาปี พ.ศ. 2538 ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่าน กรมพลศึกษาได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น “บุคคลพลศึกษาของชาติ” สาขาการบริหารพลศึกษา
นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ เคยใช้สำหรับการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติหลายรายการ อาทิเช่น กีฬาแหลมทอง (เซียฟเกมส์) ครั้งที่ 1, กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5, 6 และ 8, ฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2007, ฟุตบอลเอเชียน คัพ รอบสุดท้าย ปี 1972

กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 (สมัยนั้นเรียกว่ากีฬาแหลมทอง) พ.ศ. 2502

เอเชี่ยนเกมส์ ปี พ.ศ. 2521
ในประเทศก็ได้แก่ สนามเหย้าของทีมชาติไทย (ในอดีต) ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ (ในอดีต), นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลทั้งเอฟเอคัพและลีกคัพ, ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี 4 สถาบัน, ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกวดวงโยธวาทิตนักเรียน นักศึกษา ชิงถ้วยพระราชทาน ฯลฯ
ไฮไลต์ฟุตบอลเอเชียนคัพ 1972 รอบชิงชนะเลิศ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

ฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย กับออสเตรเลีย

ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี 4 สถาบัน

ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ประกวดวงโยธวาทิต
และอีกหนึ่งรายการสำคัญคือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก หรือ Super Cup ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 จะเล่นกันวันที่ 24 มกราคมนี้ ระหว่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก กับบางกอกกลาส เอฟซี แชมป์เอฟเอคัพ ใครที่มีเวลาสะดวกและอยากมีส่วนร่วมสัมผัสบรรยากาศของแมตช์เกียรติยศประจำปีนี้ ก็ไปชมกันได้ครับ
ที่มา
ประวัติหลวงศุภชลาศัย เรียบเรียงใหม่จาก
http://www.siamfootball.com/index.php?option=com_content&view=article&id=16%3A2009-09-06-04-38-47&catid=137&Itemid=153
ภาพประกอบการนำเสนอค้นหาจาก google
นำเสนอโดย เพจ
Soccerศาสตร์ ความรู้คู่ฟุตบอล
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการเยี่ยมชมครับ
