ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 11 Feb 2017
ตอบ: 2267
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Fri Jul 28, 2017 2:04 am
ถนนชื่อนี้ . . . มีที่มาอย่างไร?


หลังจากที่ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีที่นายกฤษฎา อินทามระ ฟ้องกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ กทม. ปลัด กทม. ผอ.เขตพญาไท และ ผอ.เขตดินแดง เรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเปลี่ยนชื่อถนนอินทามระเป็นถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ไม่ถูกต้องจากประวัติความเป็นมาของทะเบียนประวัติถนน ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นให้ กทม.เปลี่ยนชื่อให้เป็นไปตามประวัติทะเบียนถนนภายใน 180 วัน

อนึ่ง ที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากปี 2503 มีการตั้งชื่อถนนใหม่ โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เผ่า ได้ขออนุญาตนำนามสกุลของ “พล.ต.ท.โต๊ะ อินทามระ” หัวหน้ากองคลังกรมตำรวจในขณะนั้น ได้เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาพื้นที่บริเวณสุทธิสาร และสะพานควายให้เป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการตำรวจ จนประสบความสำเร็จ อีกทั้ง นามสกุล “อินทามระ” เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2464 ด้วย จึงตั้งเป็นชื่อเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล

ส่วน “ถนนสุทธิสารวินิจฉัย” นั้น พล.ต.อ.เผ่า ได้เจรจากับ “ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค” ทายาทผู้เป็นบุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย เพื่อขอซื้อที่ดินบางส่วนเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน และได้ตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ เพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยขอให้ใช้ชื่อว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย เพื่อเป็นอนุสรณ์

ทั้งนี้ “ถนนสุทธิสารวินิจฉัย” จะเริ่มตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปถึงสะพานควายตอนต้น เข้าไป 500 เมตร ขณะที่ “ถนนอินทามระ” จะเริ่มตั้งแต่ถนนพหลโยธินไปถึงสะพานควายต่อจากถนนสุทธิสารวินิจฉัย

ต่อมาในปี 2547 กทม. ได้ปรับปรุงระบบเลขหมายประจำบ้าน โดยยกเลิกระบบหมู่ และเปลี่ยนเป็นระบบถนน ตรอก ซอย ตามมาตรฐานสากลให้เหมือนกันทั้ง 50 เขต

แต่จากการตรวจสอบในขณะนั้น ถนนสายดังกล่าวมีเพียงป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ไม่มีป้ายชื่อถนนอินทามระ แต่มีซอยอินทามระ 1 ถึงซอยอินทามระ59 กทม. จึงมีความเห็นว่าประชาชนรู้จักแต่ชื่อถนนสุทธิสารฯมาเป็นเวลานาน หากเปลี่ยนชื่อถนน จะมีผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้ง หากต้องตั้งชื่อถนนสายเดียวเป็นสองชื่อตามประวัติถนน น่าจะไม่ถูกต้องตามหลักสากล แต่ให้คงชื่อซอยอินทามระไว้คงเดิม

นอกจากนี้ ตามประวัติทะเบียนถนน พ.ศ.2503 ยังไม่เคยปรากฏว่า กทม.เคยรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ทำให้คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สืบค้นข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พบว่า ชื่อถนนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน โดยการตั้งชื่อถนนในสมัยก่อนนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้รับพระราชทาน หรือตั้งโดยใช้ชื่อบุคคลสำคัญที่สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง หรือการตั้งชื่อตามเมืองลูกหลวงในสมัยก่อน ภายหลังเมื่อกทม. เข้ามาดูแล จึงยึดตามกฎเกณฑ์เดิมที่เคยปฏิบัติกันมา โดยมีนายทะเบียนท้องถิ่น คือ ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้ออกประกาศ และสำนักการจราจรและขนส่ง เป็นผู้ทำทะเบียนชื่อถนน ตรอก ซอย ทางแยกของกทม. ทีมข่าว จึงขอยกตัวอย่างที่มาที่ไปของชื่อถนนมาให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับรู้ทั่วกัน...

“ถนนพหลโยธิน” ตั้งเป็นอนุสรณ์แก่ “พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา”

“ถนนพหลโยธิน” เดิมมีชื่อว่า “ถนนประชาธิปัตย์” ยาวไปถึงดอนเมือง มีระยะทางเพียง 22 กม. กระทั่ง ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ขยายเส้นทางต่อ และอนุมัติให้ตั้งชื่อว่า “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พจน์ พหลโยธิน หัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ของประเทศไทย

ปัจจุบัน “ถนนพหลโยธิน” เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพฯ-แม่สาย เป็นถนนสายหลักในกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งในทางหลวงสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย ประกอบด้วย ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม โดยเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ผ่านภาคกลาง และมุ่งเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย สิ้นสุดที่ด่านพรมแดนแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย บริเวณชายแดนประเทศพม่า รวมระยะทางยาวเกือบ 1,000 กม.



“ถนนเพชรบุรี” หรือชื่อเดิม “ถนนประแจจีน”

“ถนนเพชรบุรี” เดิมมีชื่อว่า “ถนนประแจจีน” โดยหลังจากสร้างเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม จากชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพเป็นลายประแจจีน แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประแจจีนเป็น “ถนนเพชรบุรี” ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

“ถนนจรัญสนิทวงศ์” ตั้งตามชื่อ “หลวงจรัญสนิทวงศ์”

“ถนนจรัญสนิทวงศ์” เป็นถนนในฝั่งธนบุรี ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ “หลวงจรัญสนิทวงศ์” หรือ หม่อมหลวงจรัญ สนิทวงศ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม แต่เดิมทีนั้น กรุงเทพฯ ติดป้ายชื่อถนนว่า ถนนจรัลสนิทวงศ์ ต่อมาได้แก้ไขเป็น จรัญสนิทวงศ์ ตามนามของหลวงจรัญ

“ถนนงามวงศ์วาน” ตั้งตามชื่อผู้ควบคุมการก่อสร้าง

“ถนนงามวงศ์วาน” เป็นถนนที่กรมทางหลวงตัดขึ้นเชื่อมระหว่างเขตบางเขน จ.กรุงเทพฯ กับ จ.นนทบุรี โดยการตั้งชื่อว่าถนนงามวงศ์วานนั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายดำรง งามวงศ์วาน อดีตนายช่างกำกับหมวดนนทบุรี กรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างถนนสายนี้ ตามนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ให้ตั้งชื่อถนนตามชื่อของนายช่างที่กำกับการก่อสร้างหรือผู้บังคับบัญชา

“ถนนแจ้งวัฒนะ” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นายช่างคุมก่อสร้าง

“ถนนแจ้งวัฒนะ” เป็นถนนที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายชลอ แจ้งวัฒนะ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางกรุงเทพที่ 2 กรมทางหลวง ซึ่งเป็นนายช่างที่ควบคุมการก่อสร้างถนนสายนี้



“ถนนสุขุมวิท” จากราชทินนามของ “พระพิศาลสุขุมวิท”

“ถนนสุขุมวิท” ตั้งตามราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท หรือ ประสพ สุขุม บุตรของเจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ โดยพระพิศาลสุขุมวิท เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 และเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที ซึ่งพระพิศาลสุขุมวิทได้ทุ่มเทในการก่อสร้างทางหลวงสำคัญของประเทศ ทำให้คณะรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมีมติให้ตั้งชื่อทางเหลวงสายกรุงเทพ-ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท

ปัจจุบัน “ถนนสุขุมวิท” เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 สายบางนา-หาดเล็ก เป็นหนึ่งในทางหลวงแผ่นดินสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีเส้นทางไปตามชายทะเลภาคตะวันออก และสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดต่อกับชายแดนเกาะกง ประเทศกัมพูชา รวมระยะทางยาวทั้งสิ้นประมาณ 488 กม.



“ถนนวิภาวดีรังสิต” จากพระนาม “พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต”

“ถนนวิภาวดีรังสิต” ตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต โดยพระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต พระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่บำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ได้ทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ จนกระทั่ง เฮลิคอปเตอร์ที่เสด็จถูกผู้ก่อการร้ายระดมยิงจนสิ้นชีพิตักษัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต

ปัจจุบัน “ถนนวิภาวดีรังสิต” เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 สายดินแดง-ดอนเมือง เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานในภาคกลาง เชื่อมต่อถนนในกรุงเทพฯ กับ ถนนพหลโยธิน สู่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย



"ถนนประดิษฐ์มนูธรรม" ตั้งตามราชทินนาม "ปรีดี พนมยงค์"

ย้อนไปในสมัยผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล นั่งเก้าอี้พ่อเมืองกรุงเทพฯ นั้น คณะผู้บริหารได้มีมติเปลี่ยนชื่อ “ถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์” เป็นชื่อ “ถนนประดิษฐ์มนูธรรม” โดยมีที่มาจากราชทินนามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ผู้ซึ่งได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสของสังคมไทย

ทั้งนี้ ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เป็นถนนที่ขนาดไปกับแนวทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา รวมระยะทาง 12 กม. พาดผ่านพื้นที่ทั้ง 6 เขต คือ บางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ ลาดพร้าว วังทองหลาง และห้วยขวาง

กว่าจะมาเป็น...ถนนประเสริฐมนูกิจ

ต่อมาในสมัย ผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช เกิดไอเดียต้องการเปลี่ยนชื่อถนนจาก “ถนนเกษตร-นวมินทร์” เป็นชื่อ “ถนนประเสริฐมนูกิจ” โดยให้เหตุผลในเรื่องความสะดวกในการจัดส่งไปรษณีย์ ขณะนั้น มีหลายกระแสต่อต้านคัดค้านเรื่องนี้มากมาย แต่ก็มิอาจทานความตั้งใจของผู้ว่าฯ สมัครได้ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนประเสริฐมนูกิจ ตามราชทินนามของ หลวงประเสริฐมนูกิจ หรือ นายประเสริฐ ศิริสัมพันธ์ นักกฎหมายและอาจารย์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชื่อถนนจะเปลี่ยนใหม่ไปแล้วหลายปี แต่บางคนก็ยังเรียกเป็นชื่อต้นทาง-ปลายทางของถนนอยู่ดี นั่นก็เพราะว่า ประชาชนบางกลุ่มยังคุ้นชินกับชื่อเก่าอยู่



ที่มา https://www.thairath.co.th/content/1017165
เข้าร่วม: 27 Sep 2008
ตอบ: 2100
ที่อยู่: แมนซิมิลาน
โพสเมื่อ: Fri Jul 28, 2017 3:33 am
[RE: ถนนชื่อนี้ . . . มีที่มาอย่างไร?]
แบบนี้นี่เอง
0
0
เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 2991
ที่อยู่: Emirates Stadium
โพสเมื่อ: Fri Jul 28, 2017 7:04 am
[RE: ถนนชื่อนี้ . . . มีที่มาอย่างไร?]
โหวตไว้ เดี๋ยวมาอ่าน
0
0