ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 08 Aug 2009
ตอบ: 24919
ที่อยู่: Architecture l KMITL
โพสเมื่อ: Sat Jul 22, 2017 9:21 pm
เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานจากโรคซึมเศร้า เปลี่ยนบทเพลงให้กลายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ
HIGHLIGHTS:

มีศิลปินและนักแสดงชื่อดังหลายคนที่มีอาการของโรคนี้ และจะว่าไป บุคคลเหล่านี้ก็เป็นอีกเสียงสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักและตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคซึมเศร้า ผ่านทั้งผลงานเพลง ตลอดจนพฤติกรรมส่วนตัว

เคิร์ต โคเบน ฟรอนต์แมนผู้ล่วงลับแห่งวง Nirvana ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งความซึมเศร้า ประโยคประจำตัวของเขาที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในบทความและงานศิลปะของเคิร์ตคือ “I hate myself, I want to die” ซึ่งประโยคนี้เกือบจะถูกตั้งเป็นชื่ออัลบั้มสุดท้ายของวง

เอียน เคอร์ติส ทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี ประกอบกับอาการของโรคลมบ้าหมูที่บั่นทอนสุขภาพ ทำให้เขากังวลว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการแสดงของวง เขาแต่งเพลง Atmosphere ขึ้นมาในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งเนื้อหาแสดงถึงสภาพจิตใจที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อย่างชัดเจน



ข่าวการเสียชีวิตของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park ช็อกวงการเพลงทั่วโลก หลังจากผ่านปัญหารุมเร้าชีวิตและอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า สร้างความหดหู่ไปทั่วโลกดนตรี
เชสเตอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวันคล้ายวันเกิดคริส คอร์เนลล์ เพื่อนรักของเขา (20 กรกฎาคม)
คริส คอร์เนลล์ นักร้องนำวง Soundgarden และ Audioslave เป็นศิลปินอีกคนที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า และมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่านี่คือสาเหตุการตัดสินใจจบชีวิตของเขา
โรคซึมเศร้า เป็นอาการเจ็บป่วยที่ถูกค้นพบมานานแล้ว มีบันทึกที่กล่าวอ้างอิงตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักและได้ยินแพร่หลายขึ้นในวงกว้างช่วงหลายสิบปีหลังมานี้ มีศิลปินและนักแสดงชื่อดังหลายคนที่มีอาการของโรคนี้ และจะว่าไป บุคคลเหล่านี้ก็เป็นอีกเสียงสำคัญที่ทำให้โลกรู้จักและตระหนักถึงการมีอยู่ของโรคซึมเศร้า ผ่านทั้งผลงานเพลง ตลอดจนพฤติกรรมส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินที่เลือกจบชีวิตตัวเองก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมจนนำไปสู่การตื่นตัว และการพยายามทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับโรคนี้ในวงที่กว้างขึ้น

ในอีกมุมหนึ่ง สภาวะบางอย่างของโรคนี้ก็เป็นเหมือนตั๋วทองคำจากวิลลี่ วองกา เป็นบัตรอภิสิทธิ์ให้ผ่านเข้าสู่ดินแดนหวงห้ามแห่งสภาวะจิตที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง และศิลปินที่ได้รับสิทธินี้ก็ได้ใช้สัญชาตญาณความเป็นศิลปินในการบันทึกและถ่ายทอดสิ่งที่พบเห็นจากดินแดนแห่งนั้นผ่านบทเพลงให้พวกเราได้ฟัง

และนี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงที่มีความข้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า บางเพลงถูกถ่ายทอดโดยตรงจากสภาวะจิตของศิลปินที่เป็นโรคนี้ บางเพลงได้มาจากมุมมองของศิลปินที่มีต่อคนใกล้ชิดที่เป็นโรคซึมเศร้า และบางเพลงเกิดขึ้นมาจากเจตนาของตัวศิลปินเองที่ต้องการให้บทเพลงเป็นเครื่องเยียวยาและให้กำลังใจ



1. Nirvana: Lithium (1992)
เคิร์ต โคเบน ฟรอนต์แมนผู้ล่วงลับแห่งวง Nirvana ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งความซึมเศร้า ประโยคประจำตัวของเขาที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในบทความและงานศิลปะของเคิร์ตคือ “I hate myself, I want to die” ซึ่งประโยคนี้เกือบจะถูกตั้งเป็นชื่ออัลบั้มสุดท้ายของวง แต่ในที่สุด ชื่ออัลบั้มนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็น In Utero งานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นที่เรารู้จักนั่นเอง

เคิร์ตป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดไบโพลาร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้เขามีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งก็กระตือรือร้นสุดขั้ว และในบางคราวก็เซื่องซึมสุดขีด และตัวยาที่ใช้ควบคุมอาการไบโพลาร์นี้ก็มีชื่อว่า Lithium นั่นเอง ซึ่งเคิร์ตคุ้นเคยกับการใช้ Lithium ตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับไมค์ ไทสัน นักมวยเฮฟวี่เวตผู้โด่งดัง ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการเดียวกัน

เนื้อหาของเพลงนี้แสดงถึงความสับสนวุ่นวายในอารมณ์อย่างเต็มขั้น บวกกับไดนามิกสุดเขย่งของดนตรีที่มีตั้งแต่เบาๆ ลอยๆ และกระชากขึ้นไปถึงขั้นสำรอกอย่างหนักหน่วง ราวกับว่าเคิร์ตเข้าใจและยอมรับในอาการเจ็บป่วยนี้อย่างดี หรือเขาอาจตั้งใจจะผูกมิตรกับมันก็เป็นได้ ประเมินจากเนื้อเพลงในท่อนที่ว่า “I’m so happy because today I’ve found my friends, they’re in my head.” ไม่เคยมีใครได้พบเจอเพื่อนฝูงที่อาศัยอยู่ในหัวของเคิร์ตนอกจากตัวเขาเอง และไม่มีใครรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเคิร์ตกับเพื่อนกลุ่มนี้เป็นไปอย่างราบรื่นเพียงใด แม้กระทั่งวันสุดท้ายของชีวิตที่เคิร์ตตัดสินใจระเบิดหัวตัวเองด้วยปืนพก



2. Green Day: Basket Case (1994)
อีกหนึ่งตัวแสบแห่งวงการพังก์ร็อก ที่นักร้องนำของวงอย่างบิลลี่ โจ อาร์มสตรอง เลือกที่จะอธิบายอาการของโรคซึมเศร้าที่ตัวเองประสบอยู่ด้วยการถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง Basket Case (คำว่า Basket Case เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ แปลว่า คนสติแตก) เขาให้เหตุผลว่า การเขียนเพลงออกมาเป็นทางเดียวที่จะอธิบายสภาวะจิตที่เขากำลังประสบอยู่ได้

พลังลบแห่งโรคซึมเศร้าไม่ได้มีอำนาจในการทำลายล้างเสมอไป เมื่อบิลลี่ โจ เลือกที่จะรีดพิษของมันออกมาสกัดเป็นเซรุ่มที่ใช้ในการเยียวยารักษา และมันยังแผ่อานุภาพความมันไปทั่วโลก เมื่อเพลงนี้ตัดเป็นซิงเกิลและกลายเป็นเพลงฮิตตลอดกาลของวง Green Day จนถึงทุกวันนี้ในทุกคอนเสิร์ตของวง เพลง Basket Case ยังคงส่งพลังให้คนดูทั้งฮอลล์โยกหัวอย่างลืมแก่ลืมตายได้เสมอ

โรคซึมเศร้าอาจเป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้นของบิลลี่ โจ ที่คอยผลักดันให้เขาสร้างผลงานสุดแสบมาได้ตลอด 3 ทศวรรษในวงการดนตรี จน Green Day ขึ้นหิ้งเป็นหนึ่งในตำนานวงร็อกที่ยังมีลมหายใจไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือลมหายใจยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดลงง่ายๆ หรือแม้แต่จะแผ่วลงสักนิด ในวัยสี่สิบกลางๆ Green Day ยังคงสร้างผลงานเพลงและวิ่งพล่านอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตชั้นนำทั่วโลก โรคซึมเศร้าไม่สามารถฉุดรั้งพลังของบิลลี่ โจ ได้เลย มันอาจจะพยายามแล้ว แต่เจ้าหมอนี่มันบ้าดีเดือดกว่านั้น



3. R.E.M.: Everybody Hurts (1992)

เพลงที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ต้องตีความหลายตลบนี้เคยได้รับการโหวตจากชาวอังกฤษผ่านหนังสือพิมพ์ The Telegraph ให้เป็นเพลงที่หดหู่ที่สุดตลอดกาล แต่ทว่าเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจผู้คน R.E.M. เคยกล่าวว่า พวกเขาเลือกใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อให้คนหมู่มากเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเหตุนี้ เพลงจึงทะลุทะลวงเข้าไปถึงใจคนได้อย่างง่ายดายด้วยประโยคที่ว่า “Everybody hurts, everybody cries. Hold on, you are not alone.” (ใครๆ ก็ต้องเจ็บปวด ใครๆ ก็ต้องร้องไห้ ไม่ใช่แค่เธอเพียงแค่คนเดียวหรอก เข้มแข็งเอาไว้)

เพลงที่เขียนจากความปรารถนาดีย่อมส่งผลดีในการช่วยปลอบประโลมโลกอันบูดเบี้ยวใบนี้ ด้วยคุณูปการของบทเพลงนี้เอง ทำให้มีการก่อตั้งโครงการฮอตไลน์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางจิตใจโดยองค์กร Samaritans ในประเทศอังกฤษ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายมีตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง แต่กลับยังไม่มีบริการสาธารณะที่คอยให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และแน่นอน เพลง Everybody Hurts ไม่เพียงแค่เป็นเพลงประกอบแคมเปญนี้เท่านั้น แต่มันยังนำไปใช้เป็นชื่อของโครงการด้วย และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ดนตรีได้ช่วยชีวิตผู้คน



4. Joy Division: Atmosphere (1980)

สุดยอดความปรารถนาของเอียน เคอร์ติส นักร้องนำของ Joy Division คือการประสบความสำเร็จในวงการเพลงอังกฤษ แต่เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ความสำเร็จนั้นจะเดินทางมาถึง เขาก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยการผูกคอตายภายในบ้านพักของตัวเอง

Atmosphere เป็นซิงเกิลที่ปล่อยออกมาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังการจากไปของเคอร์ติสในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 และกลายเป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพลงหนึ่งของวง Joy Division และในปี 2000 เพลงนี้ได้รับการโหวตให้เป็นเพลงยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษ โดยผู้ฟังรายการวิทยุ BBC Radio One ซึ่งจัดโดย จอห์น พีล ดีเจชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ

เอียน เคอร์ติส ทุกข์ทรมานกับโรคซึมเศร้าอยู่หลายปี ประกอบกับอาการของโรคลมบ้าหมูที่บั่นทอนสุขภาพ ทำให้เขากังวลว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการแสดงของวง เขาแต่งเพลง Atmosphere ขึ้นมาในช่วงท้ายของชีวิต โดยเนื้อหาแสดงถึงสภาพจิตใจที่กำลังตกต่ำย่ำแย่อย่างชัดเจน โทนของเพลงนี้หมองหม่นราวกับเป็นเพลงสวดศพ และสุดท้ายในปี 2007 เพลงนี้ก็ได้ใช้ในพิธีศพของโทนี่ วิลสัน ผู้ก่อตั้ง Factory Records ต้นสังกัดของ Joy Division นั่นเอง



5. Ed Sheeran: The A Team (2011)
ศิลปินดาวรุ่งแห่งยุคอย่างเอ็ด ชีแรน ก็เคยเขียนเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวอันดำมืดเช่นกัน เพลงนี้เขียนขึ้นหลังจากที่เอ็ดได้ไปแสดงที่ สถานสงเคราะห์คนไร้บ้าน และได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ทุกข์ทรมานจากการติดยาเสพติด เธอยอมเป็นโสเภณีเพื่อหาเงินมาซื้อยาเสพติด และแน่นอน ยาเสพติดได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญสำหรับอาการซึมเศร้าของเธอ โดยผู้หญิงคนนี้มีอาการหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเอง

เอ็ดใช้ภาษาในเชิงอุปมาอุปไมยตลอดทั้งเพลง เพื่อลดระดับความดำมืดขั้นสุดของเนื้อหา ทั้งยังมีการส่งสาส์นลับให้กับคนฟัง เช่น The A Team หมายถึง ยาเสพติดคลาส A (โคเคน) เป็นต้น



6. James Taylor: Fire And Rain (1970)
เจมส์ เทย์เลอร์ เขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อระบายความหดหู่ในจิตใจกับหลายๆ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ตั้งแต่การสูญเสียเพื่อนสนิทที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ไปจนถึงการผจญกับสภาวะโรคซึมเศร้าของตัวเอง

ในวิชาวิทยาศาสตร์ เราได้เรียนรู้ว่าพลังงานหลากหลายรูปแบบสามารถแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในวาระโอกาสต่างๆ กันได้ และในวิชาศิลปะ เจมส์ ได้แสดงให้เห็นว่า พลังงานลบแห่งความซึมเศร้าก็สามารถแปรรูปเป็นบทเพลงที่สวยงามและทรงคุณค่าได้เช่นกัน มันคือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสดีๆ นี่เอง และแล้วเพลงนี้ก็ถูกขึ้นแท่นเป็นบทเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่งของเขา



7. Amy Winehouse: Rehab (2006)
การใช้สารเสพติดเป็นเหมือนการขอยืมความสุขในอนาคตมาใช้ชั่วคราว และเมื่อมันหมดฤทธิ์ ความสุขที่ขอยืมมาก็ต้องถูกทดเวลาแทนที่ด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่มีใครรู้ว่าสำหรับเอมี่ ไวน์เฮาส์ เธอต้องทดเวลาไปมากมายเท่าไร จนถึงวาระสุดท้ายที่ร่างกายเธออ่อนแอเกินจะทานทน จนต้องยอมจำนนให้กับพิษแอลกอฮอล์ เมื่อร่างไร้วิญญาณของเธอถูกพบในบ้านพักส่วนตัวในเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม 2011

เอมี่ใช้ยาเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเพื่อระงับอาการซึมเศร้าชนิดไบโพลาร์ เธอปฏิเสธที่จะเข้าบำบัดอาการติดสุรา เพราะเธอเชื่อว่าไม่ได้ดื่มเพราะติดมัน แต่เป็นการดื่มเพื่อบรรเทาอาการอกหักต่างหาก ซึ่งพ่อของเธอก็เห็นด้วยว่าไม่ต้องไปบำบัดหรอก สุดท้ายเธอจึงแวะไปที่สถานบำบัดเพียง 15 นาทีเพื่ออธิบายว่า “ฉันดื่มเพราะฉันเคยมีความรัก แต่ก็ได้ทำมันพังไปแล้ว เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่ได้เป็น alcoholic นะ แค่นี้แหละ”

และนี่ก็เป็นที่มาของเพลงฮิตที่ได้รับรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด อย่าง Rehab



8. Twenty One Pilots: Holding On To You (2012)
นี่คือบทเพลงแห่งการต่อสู้กับตัวเองอย่างหนักหน่วงของไทเลอร์ โจเซฟ จากดูโอสุดแสบอย่างวง Twenty One Pilots โจเซฟใช้บทเพลงนี้เป็นสื่อในการประกาศสงครามกับโรคซึมเศร้าที่รุมเร้าเข้ามา ถึงเวลาแล้วที่เขาจะลุกขึ้นมาทวงร่างกายและจิตใจของตนคืน หลังจากโดนรุกหนักด้วยความฟุ้งซ่านในจิตใจทุกๆ คืน จนเขาต้องประกาศกร้าวกับความรู้สึกของตัวเองว่า “You belong to me. This ain’t a noose, this is a leash. And I have news for you, you must obey me!” (เขาเอาเชือกผูกมัดความรู้สึกของเขาไว้แล้วบอกกับมันว่า “เอ็งเป็นของข้า เชือกนี้ไม่ใช่บ่วงพันธนาการ แต่มันคือบังเหียนที่ข้าจะใช้ควบคุมเอ็ง และเอ็งต้องเชื่อฟังข้าจากนี้ไป”)

และคำว่า ‘You’ ในชื่อเพลงนี้ก็หมายถึง ‘ความเชื่อ’ นั่นเอง เขาบอกกับตัวเองว่า จงยึดมั่นในความเชื่อเพื่อนำพาตัวเองออกจากสภาวะซึมเศร้านี้ให้ได้ นายเจ๋งมากไทเลอร์!



9. Garbage: Medication (1998)
เพลงช้าจากวงซินธ์ร็อกสุดเปรี้ยวนี้เขียนขึ้นมาจากความรู้สึกของเชอร์ลีย์ แมนสัน นักร้องนำของวง ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม สืบเนื่องมาจากการถูกอันธพาลในโรงเรียนกลั่นแกล้ง เธอมักจะทำร้ายตัวเองด้วยของมีคมเมื่อรู้สึกเครียดและวิตกกังวล แต่พวกเด็กอันธพาลเหล่านั้นคงไม่รู้ว่า สุดท้ายแล้วเชอร์ลีย์จะก้าวข้ามผ่านบาดแผลห่วยๆ ที่ถูกกระทำโดยคนห่วยๆ จนกลายมาเป็นนักร้องนำของหนึ่งในวงดนตรีที่เจ๋งที่สุดในโลก และตัวเธอเองยังกลายเป็นไอคอนของแนวคิดแบบเฟมินิสต์ (การสนับสนุนสิทธิสตรี) แห่งยุค 90s อีกด้วย และในช่วงที่วง Garbage กำลังฮอตสุดๆ เชอร์ลีย์ยังได้รับเลือกให้เป็นนางแบบของแบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein อีกต่างหาก

ในวัย 50 ทุกวันนี้เชอร์ลีย์ยังคงมีสไตล์ที่เก๋ไก๋ตามวัย และเป็นหนึ่งในเซเลบริตี้ไม่กี่คนที่ปฏิเสธการศัลยกรรมเพื่อชะลอริ้วรอยของวัย โดยเธอให้เหตุผลว่า “มันเหมือนเป็นการขี้โกงต่อตัวเอง”



10. U2 : Stuck In A Moment You Can’t Get Out Of (2001)
นี่เป็นอีกบทเพลงที่กระแทกถึงจิตใจ และถูกเขียนขึ้นมาอย่างคมคายเช่นเคยจากลายมือของโบโน่ นักร้องนำของวงในตำนานอย่าง U2 เขาตั้งใจแต่งเพลงนี้เพื่ออุทิศให้กับเพื่อนรัก ไมเคิล ฮัตเชนซ์ อดีตนักร้องนำวง INXS และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เสียชีวิตด้วยอัตวินิบาตกรรม

โบโน่ได้เขียนถึงสิ่งที่เขาอยากบอกกับไมเคิลในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ คล้ายเป็นข้อความเตือนสติจากเพื่อนถึงเพื่อนในการดึงรั้งเพื่อนคนนี้ให้หลุดพ้นขึ้นมาจากหลุมดำ แต่น่าเสียดายที่ไมเคิลไม่มีโอกาสได้รับข้อความนี้ อย่างไรก็ตาม พลังแห่งถ้อยคำอันทรงปัญญาบทนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องเตือนสติและให้กำลังใจเราได้อย่างดี เมื่อเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาสู่สาธารณชน ถ้อยคำทุกบรรทัดถูกเขียนขึ้นมาอย่างแยบยลจนตัดสินใจได้ยากว่าจะหยิบยกท่อนไหนขึ้นมานำเสนอเป็นตัวอย่าง

“And if the night runs over, And if the day won’t last.
And if your way should falter, Along the stony path.
It’s just a moment. This time will pass.”


หากแม้ความมืดมิดจะยาวนาน หากแม้แสงสว่างไม่ยืนยง
หากแม้ทางขรุขระไม่มั่นคง ต้องย่ำลงบนโขดหินที่ทิ่มแทง
มันเป็นเพียงภาวะอันชั่วคราว สั้นหรือยาวมันก็ต้องผ่านพ้นไป

หากเพลงนี้ถูกเขียนขึ้นมาก่อนที่ไมเคิล ฮัตเชนซ์ จะตัดสินใจจบชีวิตตนเอง และถ้าเขาได้ฟังมันสักครั้ง เขาอาจจะเปลี่ยนการตัดสินใจในวันนั้นก็ได้ ไม่มีใครรู้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นจากอีกหลายร้อยบทเพลงที่สืบเนื่องมาจากโรคซึมเศร้า และทำให้เราตระหนักได้ว่าโรคนี้วนเวียนอยู่รอบตัวเรานี่เอง มันอาจจะอาศัยอยู่ในตัวผู้คนรอบข้าง หรือบางทีมันก็อาจจะอยู่ในตัวเราเองนี่แหละ

ขนาดว่าในหมู่ศิลปิน ยังมีจำนวนคนที่เป็นหรือได้รับผลกระทบจากโรคนี้จำนวนมากจนสามารถนำมาแต่งเป็นเพลงได้อีกมากมาย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ถ้าผู้คนในสังคมทั่วไปอย่างเราๆ จะต้องพานพบหรือต้องเผชิญกับมันในวาระใดวาระหนึ่งของชีวิต จะผ่านผู้คนรอบข้าง หรือตัวเราเองโดยตรงก็ตามแต่

ชื่อเสียงเงินทองไม่ใช่เครื่องรับประกันความสุขเสมอไป เราเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากศิลปินหลายๆ คนตามที่กล่าวมา ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนความซึมเศร้าเป็นงานศิลปะ และสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ในที่สุด

https://thestandard.co/culture-music-depressive-disorder-inspire-to-create-songs-for-therapy-mdd-patient/

ตอนผมเลิกกับแฟน ผมเกื่อบที่จะกินยาเกินขนาด เพื่อให้ตัวเองหลับแล้วตายไปเลย เกื่อบที่จะทิ้ง thesis เก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ไปเรียน ไม่ไปคุยงานอาทิตย์นึง ดื่มเหล้าทุกวัน 2 อาทิตย์ หนีจากเพื่อนฝูงอะไรทุกอย่าง จนผมคิดว่าชีวิตผมคงพังแล้ว แต่ได้เพลง "Everybody Hurts' นี่แหละ ช่วยชีวิตผมเอาไว้ จนกลับมาทันจนทำ thesis จบ และใช้ชีวิตตัวคนเดียวอย่างมีความสุขในทุกวันนี้
เข้าร่วม: 26 Feb 2010
ตอบ: 13662
ที่อยู่: Weserstadion
โพสเมื่อ: Sat Jul 22, 2017 9:43 pm
[RE: เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานจากโรคซึมเศร้า เปลี่ยนบทเพลงให้กลายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ]
ส่วนเพลงนี้ เขาว่าเป็นเพลงต้องห้ามของคนเป็นโรคซึมเศร้าเลย
หลายๆเว็บพุดตรงกัน ว่าถ้าป่วยดวยโรคซึมเศร้า หรือผิดหวังมากๆจากอะไรมา
อย่าได้คิดเปิดฟังเชียว ถึงเพลงมันจะเพราะมากก็เถอะ

แต่ในความจริง เคยมีเคยเลิกคิดฆ่าตัวตายเพราะเพลงนี้นะ

เรียกว่าเป็นเพลงยาแรงละกัน ฟังแล้วไม่หายก็ตายไปเลย



เนื้อหาของเพลง แปล

ใช้เวลาทั้งชีวิต.....เฝ้ารอคอย
ที่จะได้พักสักครั้ง เผื่อว่าทุกสิ่้งทุกอย่างจะดีขึ้น

มันมักจะมีเหตุผลบางอย่าง
ที่ทำให้รู้สึกว่า ยัง ยังดีไม่พอ
และมันยากเหลือเกิน ที่จะหลับตาลงให้พ้นไปในแต่ละวัน

ฉันเพียงต้องการปล่อยใจให้มันได้ลอยไป
การปลดปล่อยที่สวยงามนั้น
จ่ากความทรงจำ ที่แผ่นซ่านไหลผ่านไปในทุกเส้นเลือดในกาย

ให้ฉันได้ปล่อยวาง
ให้หัวใจได้ไร้น้ำหนักกดทับบ้าง
บางที....ฉันอาจได้พบความสงบในค่ำคืนนี้

ในอ้อมกอดของนางฟ้า
โบยบินไปให้ไกลแสนไกลจากที่นี่
จากความมืดมน ความเหน็บหนาว
และภาวะอันดูจะไร้จุดจบ ที่น่าหวาดกลัวนั้น

ได้ถูกฉุดดึง ขึ้นมาจากซากปรักหักพัง
ของความฝัน ที่ได้แต่เก็บเงียบเอาไว้ในใจ
อยู่ในอ้อมกอดของเทวดาแล้ว
บางที อาจได้พบการปลอบประโลมหัวใจ ณ ที่แห่งนี้

เหนื่อยเหลือเกิน กับเส้นทางที่ทอดยาว กับถนนที่คดเคี้ยว
สุดท้ายลงเอยด้วยการถูกฉีกทึ้งฉกฉวยจากข้างหลัง

พายุค่อยๆก่อตัว คำลวงถูกสร้างขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงเพื่อจะได้พบกับความขาดไร้

ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้
มันง่ายกว่า ที่จะเชื่อในความสับสนอันแสนหวานนี้
ชัยชนะของความโศกเศร้านั้น มันทำให้ถึงกับล้มลง

ในอ้อมกอดของนางฟ้า
โบยบินไปให้ไกลแสนไกลจากที่นี่
จากความมืดมน ความเหน็บหนาว
และภาวะอันดูจะไร้จุดจบ ที่น่าหวาดกลัวนั้น

ได้ถูกฉุดดึง ขึ้นมาจากซากปรักหักพัง
ของความฝัน ที่ได้แต่เก็บเงียบเอาไว้ในใจ
อยู่ในอ้อมกอดของเทวดาแล้ว
บางที อาจได้พบการปลอบประโลมหัวใจ ณ ที่แห่งนี้

อยู่ในอ้อมกอดของเทวดาแล้ว
บางที อาจได้พบการปลอบประโลมหัวใจ ณ ที่แห่งนี้