ผู้ตั้ง
ข้อความ
เข้าร่วม: 05 Sep 2013
ตอบ: 2107
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Wed Nov 25, 2015 8:52 pm
นักเตะกำหนดแทกติก? วิเคราะห์หลังเกม เอล กลาซิโก้
ประเด็นสำคัญจากเกม เอล กลาซิโก้ (21.11.15)


- การจัดตัวรุกของ มาดริด ส่งผลหายนะต่อเกมรับของพวกเขา
- กองกลางและเกมโดยรวมของ มาดริด เสียสมดุลเมื่อขาด คาเซมิโร่
- เนย์มาร์ และ อิเนียสต้า ใช้ประโยชน์จากพื้นว่างเพื่อโจมตี เรอัล มาดริด



บาร์เซโลน่า ยิงประตูในฐานะทีมเยือนติดต่อกันมาแล้ว 16 เกม (45 ลูก) คิดเป็นเฉลี่ย 2.8 ประตูต่อเกม


รายชื่อผู้เล่น

Real Madrid (4-4-2//4-2-3-1): Keylor; Danilo, Varane, Ramos, Marcelo; James, Kroos, Modric; Bale, Benzema, Ronaldo.

Subs: Kiko Casilla, Pepe, Casemiro, Carvajal, Kovacic, Jesé, Isco.

Barcelona (4-3-3): Bravo; Alves, Piqué, Mascherano, Alba; Rakitic, Busquets, Iniesta; Roberto, Suárez, Neymar.

Subs: Ter Stegen, Vermaelen, Mathieu, Adriano, Munir, Messi, Sandro.



กองกลางและเกมโดยรวมของ มาดริด เสียสมดุลเมื่อขาด คาเซมิโร่



ซีซั่นนี้ เรอัล มาดริด ไม่สามารถชนะคู่แข่งได้เลยใน 3 เกมลีกที่ คาเซมิโร่ ไม่ลงสนาม (เสมอ 2 แพ้ 1)


หนึ่งในคำถามที่ถูกยิงไปยัง ราฟาเอล เบนิเตซ มากที่สุดหลังเกม เอล กลาซิโก้ คือเหตุใดเขาจึงดรอป คาเซมิโร่ ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าจะต้องต่อกรกับหนึ่งในแนวรุกที่อันตรายที่สุดในโลก ณ ตอนนี้

หรือการจัดตัวผู้เล่นที่เน้นซูเปอร์สตาร์ เป็นคำสั่งจากท่านประธาน ฟลอเรนติโน เปเรซ?

โดยอดีตกุนซือ บาเลนเซีย เปิดเผยผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสรว่าเขาต้องการเลือกผู้เล่นที่มีประสบการและบุคลิกสำหรับเกมใหญ่แบบนี้ แต่ทว่าทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามแผน

“The plan was to pick quality players with experience and personality for a game of this magnitude, but things didn’t work out.” – Rafael Benitez

ถึงแม้จะไม่มีไครรู้เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไม ราฟา จึงครอป คาเซมิโร่ แต่พูดได้เลยว่าหลายคนคงเห็นแล้วถึงผลกระทบของการครอป ‘มดงานเกรด เอ’ อย่างเขาในเกมสำคัญแบบนี้

หากดูที่ Fig.1 ด้านล่างจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับมิดฟิลด์คนอื่นๆ แล้ว คาเซมิโร่ คือผู้เล่นที่มีศักยภาพเกมรับโดดเด่นที่สุด โดยดาวเตะชาวบราซิลเลี่ยนครองอันดับหนึ่งผู้เล่นที่มีค่าเฉลี่ยในการสกัดบอล (3.67), ตัดบอล (2.91), บล็อค (0.77) และ ดวลลูกกลางอากาศ (2.60) ต่อเกมดีที่สุดในบรรดากองกลางทั้งหลาย



Fig.1 กราฟฟิกเปรียบเทียบคุณสมบัติเกมรับของกองกลาง เรอัล มาดริด (เฉลี่ยทุก 90 นาที) // (บนลงล่าง) สกัดบอลสำเร็จ, ตัดบอล, บล็อค และ ชนะการดวลลูกกลางอากาศ


เข้าใจได้ว่า เรอัล มาดริด ลงทุนมหาศารเพื่อสร้างกาลาคติกอสชุดปัจจุบัน และต้องการเล่นเกมรุกเอนเตอร์เทนแฟนบอลอย่างเต็มที่ แต่ทว่าพวกเขาก็ไม่ควรมองข้ามตัวตัดเกมซึ่งคอยปิดทองหลังพระ ทำงานหลัก เพื่อให้เหล่าดาราอย่าง เบล และ โรนัลโด้ ได้ฉายแสง เล่นเกมรุกกันอย่างอิสระ

ช่างเป็นเรื่องตลกที่ตัวอย่างของความสมดุลนี้ คือบทบาทของ บุสเกตส์ ในแดนกลาง บาร์ซ่า โดยในเกมนี้ บุสเกตส์ เข้าสกัดบอลสำเร็จทั้งหมด 5 ครั้ง มากสุดที่ในสนาม ทั้งๆ ที่ บาร์ซ่า เป็นฝ่ายบุกตลอด 90 นาที

นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ มาดริด เสียท่าเพราะไม่เห็นค่าของตัวตัดเกม เพราะก่อนหน้านี้ เปเรซ ก็เคยโละยอดกลางรับอย่าง โคล้ด มาเกเลเล่ ทิ้งมาแล้ว โดยตอนนั้น เปเรซ ให้เหตุผลว่า มาเกเลเล่ “แทบจะไม่จ่ายบอลเกิน 3 เมตรเลย” (หลังจากเสีย มาเกเลเล่ ไป เรอัล มาดริด ไม่สามารถคว้าแชมป์ได้เลยเป็นเวลา 3 ฤดูกาลติดต่อกัน)

หากแต่ คาเซมิโร่ นั้นไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับที่มีดีแต่เพียงการทำลายเกม เพราะเขาเองก็มีความสามารถในการต่อบอลที่ดีไม่แพ้เพื่อนร่วมทีมเลย วัดได้จากเปอร์เซ็นการจ่ายบอล 84%, เป็นระยะทางเฉลี่ย 20 เมตร (ไกลกว่าทั้ง โครส และ โมดริช), 2 แอสซิสต์ และ สร้างโอกาสให้เพื่อนไปแล้ว 5 ครั้งในซีซั่นนี้

นอกจากนี้ 82% ของลูกจ่ายทั้งหมดจาก คาเซมิโร่ ยังเป็นการจ่ายบอลขึ้นหน้าอีกด้วย ในขณะที่คู่แข่งภายในโดยตรงของ คาเซมิโร่ อย่าง มาเตโอ โควาชิซ ซึ่งน่าจะถนัดเกมรุกมากกว่า กลับไม่สามารถแอสซิสต์ให้เพื่อนได้เลย อีกทั้งยังจ่ายบอลขึ้นหน้าเพียง 58%



การจัดตัวรุกของ มาดริด ส่งผลหายนะต่อเกมรับของพวกเขา




นเกมนี้ โรนัลโด้ และ เบล ต่อบอลระหว่างกันและกันเพียง 5 ครั้ง (เป็นการจ่ายจาก โรนัลโด้ ไปยัง เบล 3 ครั้ง และ เบล ไปยัง โรนัลโด้ 2 ครั้ง)


อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วด้านบนว่าการดรอป คาเซมิโร่ คือความผิดมหันต์ของ เบนิเตซ ซึ่งความจริงที่โหดร้ายคือนั้นไม่ใช่ข้อผิดพลาดเดียวของเขา แต่มันคือ ‘วิธีการเล่น’ ที่ ราฟา วางแผนมาต่างหากที่เปิดช่องให้ บาร์เซโลน่า ฉวยโอกาสจากการขาดหายไปของ คาเซมิโร่ ได้ง่ายๆ

“เราตั้งใจมาบุก, เพรสซิ่ง และ ชิงบอลในแดนสูง(หน้าประตูคู่แข่ง) ในบางจังหวะเราสามารถทำได้ตามนั้น ในบางจังหวะก็ไม่ และนั้นจึงทำให้เราโดนลงโทษ” ราฟาเอล เบนิเตซ กล่าวถึงแผนการเล่นผ่านทางเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสร

“We wanted to attack, press and win possession high up the pitch.We managed to that on a few occasions but not on others, and were made to pay for that.” – Rafael Benitez

ราฟา วางแผนให้ลูกทีมมาเพรสซิ่งสูง แต่เขากลับเลือกส่ง โรนัลโด้, เบล, เบนเซม่า, ฮาเมส โรดริเกซ ลงพร้อมกัน

เป็นอะไรที่ฟังดูแล้วไม่เข้าท่าเอามากๆ เนื่องจากใครๆ ก็รู้ดีว่าทั้ง 4 คนนั้นไม่ใช่ผู้เล่นที่ถนัด(หรือยอม)ที่จะเล่นเกมเพรสซิ่ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรนัลโด้ และ เบนเซม่า) นี่จึงกลายเป็นการทำลายระบบเกมรับซึ่ง มาดริด ทำได้ดีมาโดยตลอดในช่วงต้นซีซั่นนี้

Fig.2 ด้านล่างแสดงให้เห็นตัวอย่างรูปทรง/ระบบการเล่นเกมรับของ มาดริด ซึ่งอาศัยการเพรสซิ่งพื้นที่กลางสนาม (Medium-Block) เพื่อทำลายเกมคู่แข่ง (เรอัล มาดริด ปะทะ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง)

ในยุคของ เบนิเตซ มิดฟิลด์ทั้ง 5 (สีเหลือง)ในระบบ 4-2-3-1 จะเป็นผู้ที่คอยไล่เพรสซิ่งพื้นที่เล่นของฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ โรนัลโด้ มีหน้าที่รักษาตำแหน่ง รอรับบอลที่แย่งได้จากการเพรสซิ่งเพื่อโต้กลับ

สิ่งที่ทำให้ ‘กล่องเพรสซิ่ง’ ของ ราฟา มีประสิทธิภาพคือการที่ 1. คู่แข่งไม่สามารถจ่ายบอลทะลุพื้นที่ข้างในกล่องเพรสซิ่งของมิดฟิลด์ มาดริด ได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องผ่านบอลอ้อมกล่องเพรสซิ่งดังกล่าว เป็นการปิดช่องในการเข้าทำของคู่แข่งไปโดยปริยาย 2. มาดริด มีผู้เล่นอย่าง เฆเซ่, อิสโก้ และ ลูคัส วาสเกวซ ซึ่งมีความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่นไม่แพ้ เบล หรือ ฮาเมส แต่ก็พร้อมที่จะเพรสซิ่งคู่แข่งเมื่อทีมต้องการ อย่างเช่นในตัวอย่างด้านล่าง



Fig.2 ระบบเกมรับของ เรอัล มาดริด โดย เกรเกอร์ แม็คเกอร์ (Gregor MacGregor) จาก fourfourtwo.com



การส่ง โรนัลโด้, เบล, เบนเซม่า และ ฮาเมส ลงสนามพร้อมกันหมายความว่าพวกเขาเหลือผู้เล่นที่คอยไล่บอลอย่างจริงจังตลอด 90 นาที เพียง 2 คน (ในกรณีนี้ได้แก่ โครส และโมดริช) เป็นเหตุให้ไม่สามารถสร้างกล่องเพรสซิ่งได้อย่างที่เคย เท่ากับว่า บาร์ซ่า ซึ่งเล่นในระบบ 4-3-3 ได้โอกาสโจมตี มาดริด ด้วยจำนวนผู้เล่น 6 ต่อ 6 และในบางจังหวะยังเพิ่มจำนวนเป็น 7-8 ต่อ 6 เมื่อแบ็คซ้าย/ขวา เติมเกมริมเส้น

ทั้ง 4 ประตูที่ มาดริด เสียล้วนมีที่มาจากการจัดนักเตะที่เน้นเกมรุกมากไปจนสูญเสียเสถียรภาพในแดนกลาง



ประตูที่ 1




- เบนเซม่า และ โรนัลโด้ ยืนตัวเปล่า ไม่เข้าเพรสซิ่งพื้นที่เล่นหรือนักเตะฝ่ายตรงข้าม เท่ากับ มาดริด มีผู้เล่นที่ยืนตัวเปล่า 2 คน จากที่ปกติมีเพียง โรนัลโด้ คนเดียวเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้

- ณ จุดนี้ สถานการณ์ของ มาดริด ยังดูเหนือกว่าเนื่องจากพวกเขามีผู้เล่นในแดนกลาง 4 คน ในขณะที่ บาร์ซ่า มี 3 (โมดริช, โครส, ฮาเมส, เบล, vs อิเนียสต้า, บุสเกตส์, เซร์คิโอ โรแบร์โต้)



- ปิเก้ ผ่านบอลไปยัง บุสเกตส์ (โดยไม่ถูกกดดันหรือเร่งจังหวะจาก เบนเซม่า แต่อย่างใด)

- โมดริช และ โครส เข้าเพรสซิ่ง บุสเกตส์

- เซร์คิโอ โรแบร์โต้ ออกตัวไปยังพื้นที่ว่างด้านหลัง โมดริช ซึ่งเป็นผลของการเข้าบีบ บุสเกตส์

- เบล อยู่ในมุมที่มองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด และควรจะรู้ว่าทีมกำลังตกอยู่ในอันตราย แต่ทว่าเขากับยืนดูเฉยๆ ไม่รีบวิ่งตาม เซร์คิโอ โรแบร์โต้ เพื่อช่วยเกมรับอย่างที่ควรจะทำ





- เซร์คิโอ โรแบร์โต้ พาบอลขึ้นหน้า

- ฮาเมส คืออีกคนที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ไม่ทำอะไร โดยสิ่งที่เขาควรทำคือวิ่งไปประจำตำแหน่งในวงกลมเส้นปะสีดำเพื่อปิดพื้นที่เล่นของ โรแบร์โต้ (แค่ปิดทางวิ่ง ไม่จำเป็นต้องเข้าสกัดก็หยุดคู่แข่งได้แล้ว)

- หากย้อนไปดูจากชอทแรกอีกที จะสังเกตได้ว่า โรนัลโด้, เบนเซม่า, เบล และ ฮาเมส ได้แต่ยืนดูนักเตะ บาร์เซโลน่า เล่น (แทบไม่ขยับเลยทีเดียว) ปล่อยให้ โมดริช และ โครส ไล่บอลกันอยู่เพียง 2 คน





- เซร์คิโอ โรแบร์โต้ จ่ายทะลุช่องให้ หลุยส์ ซัวเรซ ยิงประตูออกนำ 1-0



ประตูที่ 2


เบติเนซ ตัดสินใจดรอป อิสโก้ ซึ่งเล่นได้โดดเด่นมาตลอดในช่วงที่ เบล และ ฮาเมส มีอาการบาดเจ็บ และการครอป อิสโก้ ก็ส่งผลให้ มาดริด ขาดผู้เล่นที่ค่อยเชื่อมเกมระหว่างพื้นที่ที่ 1 ไปยังพื้นที่ที่ 2 เห็นได้จากสถิติการจ่ายบอลระหว่างผู้เล่น โดยคนที่ต่อบอลให้กันและกันมากที่สุดของ มาดริด ได้แก่ โครส และ โมดริช ที่ 27 ครั้ง(โครส ให้ โมดริช 15 ครั้ง และ โมดริช ให้ โครส 12 ครั้ง)

ในขณะที่ผู้เล่นเอาท์ฟิลด์ซึ่งจ่ายบอลให้ โรนัลโด้ มากสุดอย่าง โมดริช สามารถออกบอลไปยังกองหน้าความหวังของทีมได้เพียง 6 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความทักษะการเชื่อมเกมที่สูญเสียไปพร้อมๆ กับ อิสโก้ (ยิ่งน่าหดหู่ขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่าคนที่จ่ายให้ โรนัลโด้ มากที่สุดคือเคย์เลอร์ นาบาส 7 ครั้ง)





- นักเตะ มาดริด ยืนเรียงหน้ากระดาน ทำให้ โมดริส ไม่มีตัวเลือกในการต่อบอล (นอกเสียจากจะเสี่ยงโยนยาวข้ามแผงหลัง บาร์ซ่า)

- ซัวเรซ และ ราคิติช รุมเพรสซิ่ง โมดริช





- บุสเกตส์ ออกบอลไปที่ อิเนียสต้า เพื่อสวนกลับทันทีที่ บาร์ซ่า ชิงบอล

- โมดริช รีบวิ่งกลับหลังทันทีที่เสียบอล

- โครส บีบ อิเนียสต้า เพื่อชะลอเกมบาร์ซ่า





- โครส ชะลอ อิเนียสต้า ได้ แต่ บาร์ซ่า ก็ได้ครองบอล

- อิเนียสต้า จ่ายทะลุช่องให้ เนย์มาร์ หลุดไปยิงประตูที่ 2 ของทีม



ประตูที่ 3


ประตูที่ 3 ของ บาร์ซ่า ช่างดูสวยงามเรียบง่ายเหลือเกิน และที่เป็นแบบนั้นก็เพราะมีเพียง โมดริช และ โครส เท่านั้นที่ไล่บอล(ตามเคย) เนย์มาร์, ราคิติช และ อิเนียสต้า จึงต่อบอลหนึ่งสองผ่านนักเตะเจ้าบ้านได้สบายๆ





- เป็นอีกครั้งที่ บาร์ซ่า พาบอลทำเกมบุกขึ้นมาในขณะที่ มาดริด ตั้งรับกันเพียง 6 คน (หลัง 4 กลาง 2)





- โครส เข้าเพรสซิ่ง เซร์คิโอ โรแบร์โต้

- เนย์มาร์ ขยับจากฝั่งซ้ายมาขวาเพื่อสร้างสามเหลี่ยมต่อบอลกับ ดานี่ อัลเวส และ
เซร์คิโอ โรแบร์โต้

- โรนัลโด้ ไม่ไล่เพรสซิ่งคู่แข่งเช่นเคย





- โมดริช วิ่งตามมาบีบ เนย์มาร์ จากฝั่งซ้าย

- ผู้เล่น บาร์ซ่า ต่อบอลกันเป็นสามเหลี่ยมจาก อัลเวส ไป เนย์มาร์ ต่อด้วย ราคิติช





- ราคิติช ถ่ายบอลไปยังให้ อิเนียสต้า ด้านซ้าย





- อิเนียสต้า เล่นจังหวะหนึ่งสองกับ เนย์มาร์ ก่อนจะยิงลูกที่ 3 ให้เจ้าบุญทุ่ม นำห่างเจ้าบ้าน



ประตูที่ 4


เมสซี่ ถูกเปลี่ยนลงสนามแทน ราคิติช และมีส่วนสำคัญกับประตูที่ 4 (ซึ่งแทบจะเป็นรีเพลย์ของประตูที่ 3 ก่อนหน้านี้)





- เป็นอีกครั้งที่มิดฟิลด์ตัวกลางอย่าง โครส ต้องออกมาเพรสซิ่งนักเตะ บาร์ซ่า บริเวณริมเส้น (ดานี่ อัลเวส)





- รามอส บีบ เซร์คิโอ โรแบร์โต้ ซึ่งกำลังจะรับบอลจาก ดานี่ อัลเวส





- เมื่อถูกกดดัน เซร์คิโอ โรแบร์โต้ จึงออกบอลเร็วคืนไปให้ ดานี่ อัลเวส ก่อนแบ็คขวา บา์ซ่า จะผ่านบอลต่อไปที่ เมสซี่

- เบนเซม่า เข้าเพรสซิ่ง เมสซี่ (ช้าไป/ไม่ดุดันพอ)





- เมสซี่ ใช้ความคล่องตัวหนีการกดดันออกจากวงล้อมของผู้เล่น มาดริด ทั้ง 3 คนได้ (เบนเซม่า, รามอส และ โครส)

- การที่ รามอส ออกมาเพรสซิ่งคู่แข่งทำให้เกิดพื้นที่ว่าง/ช่องโหว่ในแผงหลัง มาดริด





- เบล ไม่ยอมเข้าสกัดหรือตัดเกม เมสซี่ ทำเพียงแต่แหย่ขาครึ่งๆ กลางๆ

- เมสซี่ ออกบอลไปที่ ฆอร์ดี้ อัลบ้า

- อัลบ้า ชิ่งบอลไปให้ ซัวเรซ ซึ่งยืนรักษาไลน์อยู่ในพื้นที่ว่างที่ รามอส ทิ้งไว้


พูดได้เลยว่าการจัดตัวของ เบนิเตซ ในเกมนี้คือการส่ง โครส และ โมดริช ไปทรมานชัดๆ และคงไม่มีไครอธิบายถึงผิดหวังในตัวเพื่อนร่วมทีม(และวิธีการเล่น)ได้ดีเท่า โมดริช

“ทีมเราไม่มีความคอมแพค เราปล่อยให้ บาร์ซ่า มีพื้นที่และนั้นคือสิ่งที่อันตราย พวกเราต้อง[เล่น]เป็นทีม เราเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากในยามเรา[เล่นอย่าง]คอมแพคและสู้ไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไม่[ช่วยกันเล่น]… มันยากที่จะพูดว่าเกิดอะไรขึ้น… นี้ไม่ใช้ครั้งแรก… เราต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” มิดฟิลด์’ชุดขาว’กล่าวหลังเกม เอล กลาซิโก้



เนย์มาร์ และ อิเนียสต้า ใช้ประโยชน์จากพื้นว่างเพื่อโจมตี เรอัล มาดริด



นี้เป็นนัดแรกที่ อิเนียสต้า ทั้งยิงและจ่ายพร้อมกันในเกม เอล กลาซิโก้


ถ้าคุณอ่านมาถึงจุดนี้ก็คงไม่ต้องบอกแล้วว่า มาดริด แพ้เพราะตัวพวกเขาเอง แต่นั้นก็คงไม่แฟร์สำหรับ บาร์ซ่า ซึ่งเล่นได้ดีและใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดทางแทคติกของ มาดริด ได้เต็มที่

ผู้เล่นอย่าง ปิเก้ เป็นฐานขึ้นเกมได้ดีด้วยสถิติการจ่ายบอล 96% (สูงสุดในทีม) และเป็นจุดเริ่มต้นของประตูแรก ซึ่งประกอบด้วยการต่อบอล 24 จังหวะ มากสุดในลีก ณ ตอนนี้

เซร์คิโอ โรแบร์โต้, บุสเกตส์ และ ราคิติช แสดงให้เห็นถึงความดุดันและความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเอาชนะมิดฟิลด์ มาดริด ได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ เซร์คิโอ โรแบร์โต้ ซึ่งทำได้ 1 แอสซิสต์ ส่งผลให้เขาเป็นผู้เล่น บาร์ซ่า ที่แอสซิสต์เยอะที่สุดในลีก (4 แอสซิสต์)

ถึงแม้จะเป็นเกมใหญ่แต่ ดาเนียล อัลเวส และ ฆอร์ดี้ อัลบ้า ก็มีอิสระในการเติมเกมเยอะ เนื่องจากผู้เล่นริมเส้นของ มาดริด ไม่ขยันช่วยเกมรับ

โดย อัลบ้า คือผู้ที่จ่ายบอลมากที่สุดในสนาม (79 ครั้ง) และ 27 ครั้งในนั้นเป็นการจ่ายให้กับ เนย์มาร์ ซึ่งไม่มีนักเตะคนไหนจ่ายบอลให้เพื่อนร่วมทีมคนใดคนหนึ่งบ่อยเท่ากับการที่ อัลบ้า ประสานงานกับ เนย์มาร์ (รองลงมาคือ อัลบ้า ให้ อิเนียสต้า 18 ครั้ง)

นอกจากจะยิง 2 ประตูสุดสวยให้ทีมแล้ว หลุยส์ ซัวเรซ ขยันไล่เพรสซิ่ง มาดริด ตั้งแต่แดนหน้าตลอดทั้งเกม จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนยกให้เขาเป็น แมน ออฟ เดอะ แมตช์ แต่ทว่า เนย์มาร์ และ อิเนียสต้า ก็โชว์ผลงานได้ดีไร้ที่ติไม่แพ้กัน

อิเนียสต้า คือผู้ที่เลี้ยงผ่านคู่แข่งมากที่สุดในสนาม (4/4 ครั้ง) อีกทั้งยังทำได้ 1 ประตูกับอีก 1 แอสซิสต์อีกด้วย

ทาง เนย์มาร์ ก็ทำได้ 1 ประตูกับอีก 1 แอสซิสต์ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่สร้างสรรค์โอกาสให้ทีมของตนได้มากที่สุดในสนามที่ 6 ครั้งอีกด้วย (รองลงมาได้แก่ เบล ผู้ซึ่งสร้างโอกาสให้ทีมได้ 3 ครั้ง)



กราฟฟิกแสดงการส้รางสรรค์โอกาสของ เนย์มาร์ // เหลือง: บอลสำคัญ, ฟ้า: แอสซิสต์



สรุป


ก่อนอื่นต้องสารภาพก่อนว่าผมไม่ใช่แฟนของ ราฟาเอล เบนิเตซ ในฐานะ ‘ผู้จัดการทีม’ (Manager) หากแต่เพียงนับถือและเชื่อว่า ราฟา คือ ‘โค้ช’ ที่มีความเข้าใจในรายละเอียดและแทคติกฟุตบอลมากที่สุดในโลกคนหนึ่งเลย

การออกสตาร์ทที่ดีในซีซั่นนี้ ด้วยระบบการเล่นที่รัดกุม(กล่องเพรสซิ่ง)ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เล่นที่ทั้งขยันและมีทักษะดีคือเครื่องพิสูจน์แล้วว่า เบนิเตซ มีความสามารถในด้านแทคติก แต่คือทักษะในการจัดการบุคลากรของทีมน้ันเองที่ ราฟา ยังคงขาดอยู่

ทำไมถึงจับซุปเปอร์สตาร์ที่ไม่มีเวิร์กเรต(workrate)มาเล่นเกมเพรสซิ่งพร้อมกันถึง 4 คน? ทำไมถึงต้องเพรสซิ่งสูงทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มาดริด ตั้งโซนรับบริเวณกลางสนามมาโดยตลอด? ทำไมถึงเปลี่ยนไม่ใช้สไตล์การเล่นที่ตัว ราฟา เองและ นักเตะ ถนัด?

แทกติกเลือกนักเตะ หรือ นักเตะเลือกแทกติก?

“หลังเกมจบลง ผมคงต้องยอมรับว่าผมจัด 11 ตัวจริงผิดพลาด นักเตะเหล่านี้มีศักยภาพที่น่าจะทำได้ดีกว่าที่เราทำในเกมนี้ เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบ และต้องพยายามกลับมาให้ได้” ราฟาเอล เบนิเตซ กล่าวถึงการจัด 11 ตัวที่ผิดพลาดของเขา




CREDIT : https://tactictimes.wordpress.com/


เข้าร่วม: 12 Aug 2014
ตอบ: 446
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Wed Nov 25, 2015 10:12 pm
[RE: นักเตะกำหนดแทกติก? วิเคราะห์หลังเกม เอล กลาซิโก้]
ผมชอบโมดริชนะ

เพราะโมดริช มิชโด โดนัท นัทมีเรีย เนียมีรัด รัดมาก รากมัด มัดนาก มากนัด นัดทำไม ไมจัด ก็มัดใจ ทำให้ได้ลงตลอด
0
0
เข้าร่วม: 11 Jul 2010
ตอบ: 30547
ที่อยู่: C05
โพสเมื่อ: Wed Nov 25, 2015 10:18 pm
[RE: นักเตะกำหนดแทกติก? วิเคราะห์หลังเกม เอล กลาซิโก้]
0
0



เข้าร่วม: 14 Aug 2012
ตอบ: 3406
ที่อยู่:
โพสเมื่อ: Thu Nov 26, 2015 2:07 am
[RE: นักเตะกำหนดแทกติก? วิเคราะห์หลังเกม เอล กลาซิโก้]
อ่านอันนี้แล้วรู้เลยว่าทำไมโครสกาก

ก่อนหน้านี้ผมเคยตั้งกระทู้ถามไปทีนึงแล้วว่าเพื่อนร่วมทีมเป็นอะไรกับโครสมากไหม ?
แต่คำตอบที่ได้รับมักจะไปทางอวยโครส ผมก็เลยพอดีกว่า

ถ้าโครสอยู่ที่ทีมที่นักเตะเล่นเพื่อทีมอย่างจริงจัง ผมว่าน่าจะเด่นกว่านี้เยอะ
ดูจากตอนอยู่กับบาร์เยิร์น ทุกคนช่วยกันซัพพอร์ตดีมาก

แต่พอโครสมาอยู่ที่นี่ ไม่มีคนลงมาแทนตำแหน่งเลย มีแต่ตัวรุกทั้งนั้น
ทำให้ไม่กล้าทิ้งตำแหน่งไปไกลนัก พอนานๆเข้าสไตล์การเล่นก็เปลี่ยนกลายเป็นปลัด2เลย

โมดิรชเป็นนักเตะที่ผมว่าฟอร์มเด่นที่สุดในทีมชุดนี้ แต่ผมว่าถ้าเกิดไปอยู่บาร์ซ่า
ฟอร์มน่าจะดีกว่านี้นะ

ดูมาริดชุดนี้ทีไร อดคิดถึง สไปซ์บอย ไม่ได้เลยจริงๆ
0
0
เข้าร่วม: 04 Sep 2013
ตอบ: 4366
ที่อยู่: ใต้ฟ้าบนดิน
โพสเมื่อ: Thu Nov 26, 2015 2:19 am
[RE: นักเตะกำหนดแทกติก? วิเคราะอ่านมันส์ห์หลังเกม เอล กลาซิโก้]
อ่านมันส์มาก อยากให้มีกระทู้แบบนี้บ่อยๆ จังเลย ขอบคุณมากค่ะ
0
0